March 06, 2017 11:45
ตอบโดย
ชัยวัฒน์ จิรานันท์สกุล (หมอเปี๊ยก) (นพ.)
การป้องกันมะเร็งปากมดลูก แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ
การป้องกันปฐมภูมิ คือ การป้องกันโดยการหลีกเลี่ยง การลด หรือขจัดสาเหตุ หรือปัจจัยเสี่ยง เช่น
หลีกเลี่ยงการมีคู่นอนหลายคน
หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เมื่ออายุน้อย
ให้ฝ่ายชายสวมถุงยางอนามัยเสมอเมื่อมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อต่างๆทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งเชื้อ เอชพีวี และเชื้อ เอชไอวี
คุมกำเนิดโดยใช้ถุงยางอนามัย
หลีกเลี่ยงการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะการติดเชื้อเอชพีวี และเอชไอวี
เลิกสูบบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่
ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี (วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก) ซึ่งในปัจจุบัน ยังมีราคาแพง และป้องกันโรคได้ประมาณ 70% และต้องมีข้อปฏิบัติเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนให้ได้ผล
การป้องกันทุติยภูมิ คือ การค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกโดยยังไม่มีอาการ หรือ การตรวจคัดกรอง (วิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูก โรคมะเร็งเต้านม และโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ )
การป้องกันตติยภูมิ คือ การรักษาโรคมะเร็ง เพื่อป้องกันการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ซึ่งก็คือ เพื่อให้ผู้ป่วยหายจากโรคมะเร็ง มีชีวิตยาวนาน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้ผลการรักษา ขึ้นกับระยะโรค อายุ และสุขภาพของผู้ป่วย
**********************************************************
การรักษามะเร็งปากมดลูกระยะที่ 1 มีการรักษาที่เป็นมาตรฐานอยู่ 2 วิธี
1. การรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดจะเป็นการตัดมดลูกแบบถอนรากถอนโคน คือการตัดมดลูกออกแบบกว้างขวาง หมายความว่า จะตัดเนื้อเยื่อรอบตัวมดลูกออกด้วย ส่วนการจะตัดรังไข่ออกหรือไม่นั้น อาจจะพิจารณาจากอายุผู้ป่วยว่ายังจำเป็นต้องการฮอร์โมนจากรังไข่หรือไม่ การผ่าตัดนี้รวมถึงการเลาะต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานออกด้วย เนื่องจากการผ่าตัดนี้เป็นการผ่าตัดที่ค่อนข้างใหญ่ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจำเป็นต้องคาสายปัสสาวะไว้หลายวันหลังจากผ่าตัดจึงจะถอดสายปัสสาวะออกได้ การผ่าตัดรักษามักจะทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคได้ ประมาณมากกว่า 80%
โดยทั่วไปผู้ป่วยมักจะกลัวความเจ็บปวด ซึ่งปัจจุบันการแพทย์เจริญมาก มีวิธีทางการแพทย์และรวมทั้งมียาที่ช่วยให้ผู้ป่วยแทบไม่มีอาการเจ็บปวดระหว่างและหลังการผ่าตัดเลย และอีกอย่างหนึ่งที่ผู้ป่วยกลัวคือความเสี่ยงของการผ่าตัด ซึ่งเทคโนโลยีทางการแพทย์ช่วยให้ความปลอดภัยของการผ่าตัดรักษาสูงมากเกือบ 100% จึงไม่น่าจะต้องเป็นห่วงเกินไป ผู้ป่วยบางคนเข้าใจผิดว่าการผ่าตัดทำให้มะเร็งกระจาย ซึ่งไม่เป็นความจริง การได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เกิดความสูญเสียร้ายแรง แม้กระทั่งการสูญเสียชีวิตโดยไม่จำเป็น
2. การรักษาโดยรังสีรักษา ซึ่งปัจจุบันนิยมให้ร่วมกับยาเคมีบำบัด เพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีขึ้น การรักษาวิธีนี้ได้ผลการหายใกล้เคียงกับการรักษาด้วยการผ่าตัด รังสีรักษาประกอบด้วย การฉายแสงบริเวณอุ้งเชิงกรานเพื่อครอบคลุมส่วนที่โรคอาจจะกระจายออกไป และการใส่แร่ซึ่งเน้นการทำลายมะเร็งที่บริเวณปากมดลูก รังสีรักษาไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด แพทย์มักแนะนำให้รับการรักษาวิธีนี้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงในการรักษาโดยการผ่าตัดสูง หรือผู้ป่วยที่อายุมาก ๆ
การรักษามะเร็งปากมดลูกระยะที่ 2 – 4
การรักษามาตรฐาน คือ การรักษาโดยรังสีรักษา ซึ่งได้กล่าวแล้วว่าในปัจจุบันแพทย์จะให้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย ช่วยให้อัตราการหายจากโรคสูงขึ้น
หลังจากการรักษาแล้วแพทย์จะนัดตรวจติดตามผลเป็นระยะ ๆ อย่างน้อยเป็นเวลา 5 ปี โดยใน 2 ปีแรกจะนัดตรวจประมาณ 3 – 4 เดือนครั้ง หลังจากนั้นจะนัดตรวจ 6 เดือนครั้ง โปรดร่วมมือมาตรวจตามนัด
โปรดจำไว้ว่ามะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่รักษาให้หายขาดได้สูง อย่าหลงผิดไปรักษาผิดทาง เช่น การไปรักษาโดยยาสมุนไพร หรือกลัวการรักษาจนเกินเหตุ ทำให้โรคเป็นมากขึ้น จนโอกาสหายจากโรคน้อยลง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะย้ำเตือนคือ มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคัดกรองเป็นระยะ ๆ และปัจจุบันนี้มีวัคซีนซึ่งช่วยป้องกันได้อย่างน้อย 70% จึงช่วยให้การป้องกันโรคนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
Reference: ภาควิชาสูติศาสตร์ – นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
http://www.si.mahidol.ac.th/th/department/obstretrics_gynecology/dept_article_detail.asp?a_id=969
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
มะเร็งปากมดลูกสามารถรักษาได้ด้วยวิธีใดและมีวิธีป้องกันอย่างไร
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรคหรือการรักษา คุณควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหากมีอาการน่ากังวล)