April 21, 2017 09:14
ตอบโดย
ชยากร พงษ์พยัคเลิศ (นพ.)
สาเหตุการเกิดโรค
1. เกิดตามหลังอาการไข้หวัด เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุด โดยเฉพาะในรายที่เป็นหวัดแล้วไม่พักผ่อนอย่างเพียงพอ การดำน้ำลึก หรือกระโดดน้ำ อาจทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการไซนัสอักเสบอยู่เดิมเกิดกำเริบได้
2. เป็นโรคภูมิแพ้
3. โรคริดสีดวงจมูก หรือเนื้องอกในโพรงจมูก
4. ฟันกรามแถวบนอักเสบ
5. มีสิ่งแปลกปลอมเข้ารูจมูก เช่น ลูกปัด เม็ดถั่วเขียว พบมากในเด็ก
6. ประสบอุบัติเหตุกระดูกใบหน้าแตกร้าว ต่อมอะดินอยต์มีขนาดโตและติดเชื้อ
7. ผนังจมูกคด
วิธีการดูแลตนเองเมื่อเป็นไซนัสอักเสบ
1. พักผ่อนเพียงพอ
2. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่หักโหม
3. หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำเมื่อมีอาการคล้ายหวัดกำเริบ
4. หลีกเลี่ยงภาวะอุณหภูมิแปรเปลี่ยนฉับพลัน
5. ถ้ามีอาการมากขึ้นควรรีบพบแพทย์ รับประทานยา และติดตามการรักษาสม่ำเสมอ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ตอบโดย
เจริญ คำสิงห์ (พญว.)
สาเหตุของไซนัสอักเสบ
1.ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน) มักเป็นโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนและโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (หวัดภูมิแพ้) โดยเชื้อที่ทำให้ไซนัสอักเสบอาจเกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสโรคหวัด (ทำให้มีอาการเป็นหวัด น้ำมูกไหล นานกว่า 7-10 วัน และหายได้เองเป็นส่วนใหญ่) เชื้อแบคทีเรีย (ส่วนใหญ่ ได้แก่ สเตรปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) และฮีโมฟิลัส อินฟลูเอ็นซาอี (Haemophilus influenzae) และส่วนน้อยอาจเกิดจากเชื้อรา เช่น แอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) ซึ่งถ้าพบในผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ป่วยเอดส์มักมีอันตรายร้ายแรง สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่พบได้ คือ
โรคหวัดเรื้อรัง ทำให้เยื่อบุจมูกบวม รูเปิดไซนัสอุดตัน จึงทำให้เกิดการอักเสบของไซนัสได้
โรคภูมิแพ้ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้จะมีอาการคันในจมูก คัดจมูก น้ำมูกไหล ทำให้ต้องขยี้จมูกและสั่งน้ำมูกอยู่บ่อย ๆ ส่งผลให้เยื่อบุจมูกบวม รูเปิดไซนัสอุดตัน จึงทำให้ไซนัสอักเสบได้ง่ายขึ้น
การติดเชื้อของฟัน โดยเฉพาะฟันกรามน้อยและฟันกรามด้านบน โดยทั่วไปพบว่าประมาณ 10% ของการอักเสบของไซนัสที่โหนกแก้มจะมีสาเหตุมาจากฟันผุ เพราะผนังด้านล่างของไซนัสบริเวณนี้จะติดกับรากฟัน บางรายจะแสดงอาการชัดเจนภายหลังที่ไปถอนฟันมาแล้วเกิดรูทะลุระหว่างไซนัสโหนกแก้มและเหงือกขึ้น (Oroantral Fistula)
โรคติดเชื้อต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ โรคไอกรน โรคหัด
เป็นผู้ที่ชอบใช้ยาพ่นจมูกโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะยาพ่นจมูกบางตัวจะทำให้เกิดภาวะติดยาและเยื่อจมูกบวมเรื้อรังได้ และยังทำให้ความรู้สึกในการรับรู้กลิ่นลดลงอีกด้วย
มีความผิดปกติของโพรงหลังจมูก เช่น เป็นริดสีดวงจมูก, เนื้องอกในจมูก, ผนังกั้นช่องจมูกคด หรือมีสิ่งแปลกปลอมในจมูก (เช่น ลูกปัด เม็ดถั่วเขียว เมล็ดผลไม้ต่าง ๆ ฯลฯ) ซึ่งพบบ่อยในเด็กเล็ก ในผู้ป่วยเหล่านี้ก็จะมีการอุดตันของรูเปิดไซนัสได้ง่ายเช่นกัน
การสูบบุหรี่จัดหรือการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น การอยู่ในชุมชนแออัด อยู่ในย่านโรงงาน การได้รับมลพิษทางอากาศ เพราะจะมีผลทำให้ภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อลดลง จึงมีโอกาสเป็นไซนัสอักเสบได้มากขึ้น
การว่ายน้ำบ่อย ๆ หรือดำน้ำลึก ๆ เพราะอาจทำให้เกิดการสำลักน้ำเข้าไปในจมูกและไซนัสได้ และอาจมีเชื้อโรคเข้าไปด้วยจนทำให้เกิดการอักเสบได้ นอกจากนี้ สารคลอรีน (Chlorine) ในสระว่ายน้ำ ยังเป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อบุไซนัสได้ด้วยเช่นกัน
การกระทบกระแทกที่บริเวณใบหน้าอย่างแรง เพราะอาจทำให้ไซนัสโพรงใดโพรงหนึ่งแตกหัก ช้ำบวม หรือมีเลือดออกภายในโพรง ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบติดเชื้อตามมา
การเปลี่ยนแปลงความดันอากาศรอบ ๆ ตัวแบบทันที (Barotrauma หรือ Aerosinusitis) เช่น ในขณะที่เครื่องบินขึ้นหรือลงจอด หรือจากการดำน้ำลึก เป็นต้น ถ้ารูเปิดของไซนัสในขณะนั้นบวมอยู่ เช่น กำลังเป็นหวัด หรือโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้กำเริบ ก็จะส่งผลให้เยื่อบุบวมมากขึ้น รวมทั้งอาจมีการหลั่งสิ่งคัดหลั่งออกมาหรือมีเลือดออกได้ และก่อให้การอักเสบขึ้นได้ ซึ่งพบบ่อยที่ไซนัสหน้าผาก
2.ไซนัสอักเสบเรื้อรัง ส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ เชื้อแบคทีเรียที่ไม่พึ่งออกซิเจน (Anaerobic bacteria), สแตฟีโลค็อกคัส (Staphylococcus), ฮีโมฟิลัส อินฟลูเอ็นซาอี (Haemophilus influenzae), เคลบเซลลา นิวโมเนียอี (Klebsiella pneumoniae), กลุ่มแบคทีเรียแกรมลบ (Gram-negative bacteria) และบางครั้งอาจมีการติดเชื้อหลายชนิดร่วมกัน ส่วนน้อยอาจเกิดจากเชื้อรา เช่น แอสเปอร์จิลลัส (Aspergillus) ที่มักทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังอันเนื่องมาจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อเชื้อรา (Allergic fungal sinusitis) ซึ่งพบได้ในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคแข็งแรงเป็นปกติ โรคไซนัสอักเสบเรื้อรังนี้มักพบเป็นภาวะแทรกซ้อนจากไซนัสอักเสบเฉียบพลันที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ยังพบปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดไซนัสอักเสบเรื้อรัง ได้แก่
การไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเพียงพอในขณะที่เป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลันดังที่กล่าวมา ซึ่งอาจเกิดจากผู้ป่วยเองที่ขาดการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง
การติดเชื้อของทางเดินหายใจส่วนบนซ้ำซาก
การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี เช่น การอยู่ในชุมชนแออัด อยู่ในย่านโรงงาน การได้รับมลพิษทางอากาศ ควันบุหรี่ รวมถึงการสูบบุหรี่จัด
การมีโรคหรือภาวะที่ทำให้มีการอุดตันของรูเปิดของไซนัส ได้แก่ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) ทำให้เยื่อบุจมูกบวม, โรคริดสีดวงจมูก (Nasal Polyps), เนื้องอกในโพรงจมูกหรือไซนัส, ผนังกั้นช่องจมูกคด (Deviated nasal septum), มีเดือยหรือกระดูกงอกที่ผนังกั้นช่องจมูก (Septal spur), ผนังด้านข้างของโพรงจมูกโค้งงอผิดรูป (Paradoxical turbinate), การมีเซลล์ผิดปกติขนาดใหญ่ในผนังด้านข้างของจมูก เรียกว่า เซลล์อากาศ (Air cell) ทำให้ผนังดังกล่าวมีขนาดใหญ่ขึ้นมากจนก่อให้เกิดการอุดตันรูเปิดของโพรงอากาศ, ต่อมอะดีนอยด์โตหรือมีสิ่งแปลกปลอมในจมูกเด็กเป็นเวลานาน ๆ เช่น ลูกปัด เม็ดถั่วเขียว เมล็ดผลไม้ต่าง ๆ, เป็นผู้ป่วยที่ใส่ท่อช่วยหายใจหรือใส่สายให้อาหารทางจมูกอยู่เป็นเวลานาน
การมีโรคหรือภาวะที่ทำให้ขนอ่อน (Cilia) ที่คอยโบกพัดเพื่อระบายสิ่งคัดหลั่งออกข้างนอกเสียไป จึงเกิดการสะสมของสิ่งคัดหลั่งในไซนัส ก่อให้เกิดการอักเสบติดเชื้อได้ เช่น ในภาวะหลังเป็นโรคหวัด
เป็นโรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง (Laryngopharyngeal reflux – LPR)
เป็นโรคทางทันตกรรมเรื้อรัง
มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำหรือลดลง เช่น ผู้ป่วยเอดส์ เบาหวาน ปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้มีภาวะโลหิตจาง ขาดสารอาหาร มีอารมณ์แปรปรวน มีความเครียดสูง เป็นต้น
มีปัจจัยเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการบวมของเยื่อบุจมูก เยื่อบุไซนัส และรูเปิดไซนัสบวม ทำให้มีสิ่งคัดหลั่งสะสมอยู่ในไซนัสและก่อให้เกิดการติดเชื้ครับ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ไม่ทราบว่าไซนัสอักเสบเกิดจากอะไรคะ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรคหรือการรักษา คุณควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหากมีอาการน่ากังวล)