พอเลิกงานดึก ก็พาลให้มนุษย์วัยทำงานอย่างเราๆกว่าจะได้รับประทานอาหารเย็นก็ปาไปตั้งสี่ห้าทุ่ม รับประทานข้าวเสร็จก็ต้องรีบอาบน้ำเข้านอนเลย เพื่อที่จะเอาแรงไปฝ่าฟันกับภาระงานอันหนักอึ้งของวันพรุ่งนี้ต่อ คุณล่ะ กำลังมีกิจวัตรอย่างนี้อยู่หรือเปล่า ถ้าใช่ล่ะก็ โรคกรดไหลย้อน หรือ GERD โรคยอดฮิตของวัยทำงานเราที่จะมานำมาฝากในวันนี้ ห้ามพลาดเลยเชียวล่ะ
กินแล้วนอน เป็นกรดไหลย้อนได้อย่างไร?
การที่เรารับประทานอาหาร กระเพาะจะมีการหลั่งกรดเพื่อทำการย่อยอาหารเหล่านั้นให้กลายเป็นโมเลกุลขนาดเล็ก โดยปกติหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างจะเป็นหูรูดที่ทำหน้าที่กั้นระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะอาหารไม่ให้กรดไหลย้อนขึ้นมาได้ แต่ในผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน กรดนี้เองได้ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณหลอดอาหาร ก่อให้เกิดการระคายเคือง รู้สึกแสบร้อนบริเวณกลางอก การรับประทานอาหารแล้วนอนทันทีส่งผลให้เกิดกรดไหลย้อนได้จาก
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- อาหารเพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะ
- การนอนราบทำให้กรดที่หลั่งบางส่วนสามารถไหลย้อนขึ้นมาได้ง่ายกว่าการยืนหรือนั่ง
เมื่อพูดถึงหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง เป็นหูรูดรอยต่อระหว่างกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร หูรูดนี้เองมีบทบาทสำคัญในการปิดกั้นไม่ให้กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร ดังนั้นการเอนตัวนอนทันทีหลังรับประทานอาหารจึงไม่ใช่ปัจจัยเพียงปัจจัยเดียวที่ก่อโรค เพราะปัจจัยใดก็ตามที่ส่งผลไม่ให้หูรูดนี้ปิดได้ตามปกติ ก็ก่อให้เกิดโรคกรดไหลย้อนได้เช่นเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มกาแฟอีน อาหารที่มีไขมันสูง สามารถลดความดันหูรูดทำให้หูรูดคลายตัวได้ หรือการใส่ชุดรัดแน่นจะเพิ่มความดันช่องท้อง จนทำให้หูรูดเปิดออก โรคอ้วนด้วยเช่นเดียวกัน แม้กระทั่งในผู้ป่วยบางรายที่เป็นโรคไส้เลื่อนกะบังลม (hiatal hernia) เนื่องมาจากความผิดปกติของกระเพาะอาหารบางส่วนอยู่เลื่อนขึ้นมาจากหูรูดกะบังลม ทำให้หูรูดนี้ไม่มีแรงมากพอที่จะปิดกั้นกรดระหว่างกระเพาะอาหารกับหลอดอาหาร
กรดไหลย้อนมีอาการอย่างไร?
ผู้ป่วยจะรู้สึกแสบร้อนกลางอก อาจรู้สึกลามมาถึงบริเวณลำคอ อาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อนอนราบหรือเวลาก้ม รู้สึกกลืนลำบาก เรอเปรี้ยว รู้สึกขม เปรี้ยวในปาก อาหารขย้อน มีการหลั่งของน้ำลายมาก
ปัจจัยเสี่ยง
พฤติกรรมการรับประทานอาหาร เช่น การรับประทานอาหารไขมันสูง ชอกโกแลต กาแฟอีน แอลกอฮอล์ ซึ่งส่งผลต่อความดันของหูรูด หรือการรับประทานอาหารรสเผ็ด น้ำผลไม้รสเปรี้ยว น้ำส้มสายชู ก็ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อเมือกในกระเพาะอาหารโดยตรง
ปัจจัยด้านพฤติกรรมอื่นๆ เช่น อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ การชอบใส่ชุดรัดแน่น การนอนทันทีหลังรับประทานอาหาร ภาวะโรคอ้วน นอกจากนี้การสูบบุหรี่ก็เป็นปัจจัยการเกิดกรดไหลย้อนด้วยเช่นกัน
การรักษาด้วยยา
ยาที่ใช้ในการรักษากรดไหลย้อนมีอยู่ 3 กลุ่มหลัก กลุ่มแรกเป็นกลุ่มยาลดกรด โดยยาจะสะเทินกรดทำให้ความเป็นกรดในกระเพาะลดลง ประสิทธิภาพในการรักษายังสู้ยาอีกสองกลุ่มไม่ได้ เพราะยาลดกรดไม่ได้ยับยั้งที่ต้นเหตุของการหลั่งกรด การรับประทานยาลดกรดจะให้ผลไวเพราะเป็นการสะเทินที่ตัวกรดทันที แต่มีข้อควรระวังคือการใช้ติดต่อกันสามารถทำให้เกิด acid rebound ได้ คือกรดจะมีการหลั่งเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม อาการกรดไหลย้อนจะรุนแรงขึ้น
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ยาอีกสองกลุ่มจะเป็นยาที่ยับยั้งที่การหลั่งของกรด ได้แก่ H2 receptor antagonist (H2RA) และยากลุ่ม proton pump inhibitor (PPI) ซึ่งยากลุ่ม PPI จะมีประสิทธิภาพในการยับยั้งการหลั่งกรดได้ดีที่สุด เนื่องจากเป็นการยับยั้งการหลั่งกรดในขั้นตอนสุดท้าย ส่วนยากลุ่ม H2RA จะยับยั้งการหลั่งเพียงส่วนต้นที่เกิดจาก histamine ทำให้ประสิทธิภาพไม่ดีเท่ายากลุ่ม PPI
สิ่งที่เราควรทราบและต้องปฏิบัติตามเมื่อทำการรักษาด้วยยากลุ่ม PPI คือจะต้องรับประทานยาก่อนอาหาร 30 ถึง 60 นาที และจำเป็นต้องมีการใช้ยาอย่างต่อเนื่องทุกวันตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร ไม่ควรหยุด หรือเปลี่ยนยาด้วยตัวเอง การใช้ยาเฉพาะเมื่อมีอาการไม่มีประสิทธิภาพในการรักษากรดไหลย้อน จึงเป็นข้อเน้นย้ำที่จำเป็นต้องปฏิบัติตามเพื่อรักษากรดไหลย้อนให้ได้ประสิทธิภาพ
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสำคัญที่สุด
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อาการเหล่านี้สามารถควบคุมได้ในผู้ป่วยที่เป็นกรดไหลย้อนระดับรุนแรงปานกลาง ผู้ป่วยควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ไม่รับประทานอาหารมื้อใหญ่เกินไป เปลี่ยนเป็นรับประทานมื้อเล็ก แต่บ่อยมื้อขึ้น หลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดการไหลย้อนของกรด ลดน้ำหนัก และลดการสูบบุหรี่รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้เพื่อป้องกันกรดไหลย้อนในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง แนะนำให้ใช้หมอนรูปลิ่ม ที่ลาดขึ้นมาจากแนวระนาบ 6 ถึง 8 นิ้ว นอนหนุนศีรษะเพื่อให้แรงโน้มถ่วงช่วยในการกำจัดกรดออกจากหลอดอาหาร
สมุนไพรกับกรดไหลย้อน
จากการศึกษา กรดไหลย้อนอาจมีสาเหตุเกิดได้จากการอักเสบ และความเครียดออกซิเดชัน ขมิ้นชันเป็นสมุนไพรที่มีสาร Turmeric ซึ่งมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และต้านอนุมูลอิสระ จึงคาดว่าสามารถใช้เพื่อช่วยรักษากรดไหลย้อนได้ กระเจี๊ยบเขียว ก็ถือเป็นสมุนไพรอีกชนิดหนึ่งที่ช่วยรักษาโรคที่เกี่ยวกับกระเพาะอาหารได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมือกและเส้นใยที่อยู่ในฝักกระเจี๊ยบเขียวเป็นเสมือนเมือกลื่นป้องกันกระเพาะจากกรด และยังมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียอีกด้วย
แต่อย่างไรก็แล้วแต่ หัวใจหลักของการรักษากรดไหลย้อนคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากคุณอ่านมาถึงจุดนี้ แล้วรู้สึกว่าตัวเองเริ่มมีอาการของกรดไหลย้อนแล้วล่ะก็ คงถึงเวลาแล้วสำหรับการเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเราเองแล้วล่ะ