กองบรรณาธิการ HonestDocs
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HonestDocs
ทีมแพทย์และเภสัชกร HonestDocs
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์และเภสัชกร HonestDocs

กรดไหลย้อน (GERD)

เผยแพร่ครั้งแรก 31 ม.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 31 ม.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรคกรดไหลย้อน เป็นโรคที่เกิดจากกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร จนเกิดอาการระคายเคืองคอ
  • โรคกรดไหลย้อนเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น กระเพาะอาหารบีบตัวน้อยลง การตั้งครรภ์ การรับประทานของทอด ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาบางชนิด
  • อาการกรดไหลย้อนโดยหลักๆ คือ แสบร้อนหน้าอก และลิ้นปี่ เรอบ่อย จุกหน้าอก ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ เรอบ่อย
  • วิธีรักษาโรคกรดไหลย้อนทำได้หลายวิธี ทั้งการรับประทานยาลดกรด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน การผ่าตัด การรับประทานสมุนไพร
  • คุณสามารถป้องกันโรคกรดไหลย้อนได้หลายวิธี เช่น หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง รสเผ็ด ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ไม่สวมเสื้อผ้าที่รัดบริเวณเอว ลดความเครียด
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายทุกวัย

โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease: GERD) มีสาเหตุสำคัญจากการไหลย้อนกลับของกรด หรือน้ำย่อยในกระเพาะ ทำให้อาหารย้อนกลับขึ้นไปอยู่ในหลอดอาหารส่วนบน

โรคกรดไหลย้อนพบได้ทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่รวมทั้งผู้หญิงระหว่างตั้งครรภ์ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน หรือแม้แต่ตอนที่ไม่ได้รับประทานอาหารก็ตาม

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ประเภทของโรคกรดไหลย้อน

1.  โรคกรดไหลย้อนธรรมดา หมายถึง โรคที่กรดไหลย้อนขึ้นมาจะอยู่แค่ภายในหลอดอาหาร จะไม่ไหลย้อนขึ้นเกินหูรูดหลอดอาหารส่วนบน ส่วนมากจะมีอาการแค่บริเวณหลอดอาหารเท่านั้น

2. โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอ และกล่องเสียง หมายถึง โรคที่มีอาการทางคอ และกล่องเสียง จากการไหลย้อนกลับของกรดขึ้นมาเหนือหูรูดหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ทําให้เกิดการระคายเคืองของคอ และกล่องเสียง

สาเหตุของกรดไหลย้อน

สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคกรดไหลย้อน มี 3 สาเหตุหลักด้วยกัน และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่กระตุ้นให้เกิดอาการกรดไหลย้อนได้ ดังนี้

1. หูรูดส่วนล่างของหลอดอาหารผิดปกติ 

ส่วนมากพบในผู้สูงอายุ เนื่องจากหูรูดเสื่อมสภาพไปตามอายุ จึงทำให้อาหาร และน้ำย่อยในกระเพาะถูกดันกลับขึ้นมาในหลอดอาหารได้ง่าย เป็นผลให้เกิดอาการกรดไหลย้อน อาการเหล่านี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือการรับประทานยาบางชนิด

2. กระเพาะอาหารบีบตัวลดลง 

ทำให้อาหาร และน้ำย่อยที่ย่อยแล้วคั่งอยู่ในกระเพาะอาหารเป็นเวลานาน เนื่องจากไม่สามารถบีบตัวให้ลงสู่ลำไส้ได้หมดในทันที เป็นผลให้เกิดแรงดันในกระเพาะอาหารมากขึ้น ทำให้หูรูดถูกดันเปิดออก และดันเอาอาหารกับน้ำย่อยย้อนกลับขึ้นไปในหลอดอาหาร

3. ความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหาร 

ทำให้อาหารที่รับประทานลงไป เคลื่อนลงสู่กระเพาะช้า หรือทำให้อาหารที่ไหลย้อนขึ้นมาจากกระเพาะอาหารค้างอยู่ในหลอดอาหารนานกว่าปกติ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

4. ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ

  • โรคอ้วน คนอ้วนจะมีความดันในช่องท้องสูงกว่าคนปกติทั่วไป ส่งผลให้ความดันในกระเพาะอาหารสูงขึ้นตามไปด้วย จึงเสี่ยงเป็นโรคกรดไหลย้อนได้มากกว่าปกติ
  • การตั้งครรภ์ ครรภ์ที่ใหญ่ขึ้นทำให้เกิดความดันในกระเพาะเพิ่มขึ้นไปด้วย ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์จึงเสี่ยงต่ออาการกรดไหลย้อนได้สูง
  • การสูบบุหรี่ เป็นผลให้น้ำลายน้อยลง เกิดการยั้บยั้งกรดที่ช่วยย่อยอาหารทำให้อาการไม่ย่อย เกิดการท้องอืดท้องเฟ้อตามมา กระเพาะอาหารบีบตัวน้อยลง จึงมีโอกาสที่กรดจะไหลย้อนกลับขึ้นมาในหลอดอาหารได้ง่าย
    นอกจากนี้ สารนิโคตินในบุหรี่ยังทำให้หลอดเลือดที่เลี้ยงเยี่อบุกระเพาะและลำไส้ตีบแคบลง เลือดไหลเวียนได้ไม่ดี ทำให้เกิดแผลกระเพาะอาหารได้
  • ความเครียด ส่งผลให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดออกมามากขึ้น จึงทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อโรคกระเพาะและโรคกรดไหลย้อน
  • การรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่ทำให้หูรูดระหว่างหลอดอาหาร และกระเพาะอาหารคลายตัว เช่น ของทอด อาหารที่มีไขมันสูง ช็อกโกแลต กาแฟ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปปเปอร์มินต์
  • การรับประทานอาหาร และเครื่องดื่มที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณหูรูด เช่น อาหารรสจัด อาหารที่มีความเป็นกรดสูง น้ำส้ม น้ำมะนาว น้ำมะเขือเทศ พริกไทย
  • ผลข้างเคียงจากการรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาคลายกังวล ยาปฏิชีวินะบางตัว ยาแอสไพริน ยาลดความดันโลหิตบางตัว ยาขยายหลอดลม ยาเคมีบำบัด

อาการของกรดไหลย้อน

  • แสบร้อนบริเวณหน้าอก และลิ้นปี่ (heartburn)  อาจมีปวดร้าวไปที่บริเวณคอ 
  • รู้สึกเหมือนมีก้อนจุกอยู่ที่คอ กลืนลําบาก กลืนเจ็บ เจ็บคอ แสบคอ 
  • เรอบ่อย คลื่นไส้ รู้สึกเหมือนมีน้ำรสเปรี้ยว หรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาที่คอ หรือปาก 
  • จุกแน่นหน้าอกเหมือนอาหารไม่ย่อย 
  • มีกลิ่นปาก เสียวฟัน หรือฟันผุร่วมด้วยได้ 
  • ท้องอืด แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียนหลังรับประทานอาหาร
  • เสียงแหบเรื้อรัง หรือแหบเฉพาะตอนเช้า อาจมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม เกิดจากกรดที่ไหลย้อนขึ้นมาบริเวณกล่องเสียง ทำให้เกิดกล่องเสียงอักเสบ
  • ไอแห้งๆ กระแอมไอบ่อย มีอาการไอเรื้อรัง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหาร หรือขณะนอน 
  • รู้สึกสำลักน้ำลาย หรือหายใจไม่ออกในเวลากลางคืน  
  • บางคนอาจมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล มีน้ำมูกไหลลงคอ หูอื้อ หรือปวดหูได้

การวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อน

แพทย์จะวินิจฉัยโรคกรดไหลย้อนจากการซักประวัติอาการที่กล่าวมาข้างต้น ตรวจร่างกายทั่วไป จากนั้นจะให้คำแนะนำการปฏิบัติตัวและอาจจ่ายยาเพื่อบรรเทาอาการแก่ผู้ป่วย 

หากปฏิบัติตามคำแนะนำและรับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์อาจจำเป็นต้องสั่งตรวจเพิ่ม ขึ้นกับความเหมาะสมของอาการในแต่ละคนด้วย เช่น

  • ส่องกล้องทางเดินอาหาร ตั้งแต่หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น
  • ตรวจวัดความเป็นกรด-ด่างในหลอดอาหาร
  • เอกซเรย์กลืนสารทึบแสง
  • ตรวจการบีบตัวของหลอดอาหาร
  • ตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์

วิธีรักษากรดไหลย้อน

การรักษาโรคกรดไหลย้อนอย่างถูกวิธีจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ลดความทุกข์ทรมานที่ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง การรักษาโรคกรดไหลย้อน สามารถรักษาได้หลายวิธี ดังนี้ 

1. รับประทานยาลดกรด

เพื่อลดการหลั่งกรดในกระเพาะ ช่วยรักษาและป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร สามารถแบ่งประเภทยาลดกรดได้ ดังนี้

  • ยาลดกรดที่มีองค์ประกอบของอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์ (aluminium hydroxide) และแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ (magnesium hydroxide) ยานี้จะลดความเป็นกรดอย่างรวดเร็ว อาการแสบร้อนกลางอกจะดีขึ้น แต่ไม่ควรใช้ในผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์สามารถลดปริมาณฟอสเฟตในเลือดได้ 
  • ยาที่ออกฤทธิ์ลดการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร ออกฤทธิ์ช้า แต่สามารถลดกรดได้นานถึง 12 ชั่วโมง เช่น ไซเมทิดีน (cimetidine) ฟาโมทิดีน (famotidine) นิซาทิดีน (nizatidine) 
  • ยาที่ป้องกันการผลิตกรดและรักษาหลอดอาหาร ออกฤทธิ์ยับยั้งการหลั่งกรดได้ยาวนานทำให้เนื้อเยื่อที่เสียหายของหลอดอาหารมีเวลาฟื้นฟูกลับมาปกติได้เหมือนเดิม เช่น แลนโซพราโซล (lansoprazole) โอมีพราโซล (omeprazole)

2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยลดอาการต่างๆ ของกรดไหลย้อนและช่วยป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำได้ 

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่เพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะ เช่น อาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด แอลกอฮอล์ เครื่องดื่มคาเฟอีน น้ำอัดลม กระเทียม หัวหอม 
  • ผ่อนคลายความเครียด  เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกกำลังกาย นั่งสมาธิ สวดมนต์ จะช่วยลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารได้เป็นอย่างดี
  • ควบคุมน้ำหนัก โดยเฉพาะในคนอ้วน หรือคนที่น้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน หมั่นออกกำลังกายและควบคุมอาหาร เมื่อน้ำหนักลด ความดันในกระเพาะอาหารก็จะลดลง ทำให้กรดและอาหารในกระเพาะดันหูรูดหลอดอาหารน้อยลง อาการกรดไหลย้อนก็จะลดลงตามด้วย 
  • หลีกเลี่ยงการนอนราบ หรือการก้มหยิบของทันทีหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ ควรรอให้อาหารย่อยก่อน 2-3 ชั่วโมง และไม่ควรออกกำลังกายหลังรับประทานอาหารเสร็จทันทีเช่นกัน เพราะจะทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย
  • ควรรับประทานอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากเกินไป

3. ผ่าตัด

  • เหมาะสำหรับผู้ที่รักษาด้วยยาเป็นเวลานานแล้ว ไม่สามารถควบคุมอาการ หรือหยุดยาได้
  • เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถรับประทานยาได้เป็นเวลานานๆ และได้รับผลข้างเคียงจากยา

4. บรรเทาอาการกรดไหลย้อนด้วยสมุนไพร

  • ขมิ้นชัน งานวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดลพบว่า ขมิ้นชันมีฤทธิ์ช่วยกระตุ้นการหลั่งเมือกในกระเพาะ ช่วยสมานแผล ต้านแบคทีเรีย และป้องกันการเกิดแผลในกระเพาะได้ ขมิ้นชันจึงสามารถช่วยลดอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกรดไหลย้อนได้ อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้
  • ขิง มีฤทธิ์ช่วยขับลม ลดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อจากอาหารไม่ย่อย ทำให้อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกรดไหลย้อนลดลงได้ มีหลายรูปแบบให้เลือกรับประทาน เช่น ยาชง ยาผง ยาแคปซูล 
  • กะเพรา มีฤทธิ์ช่วยบรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้ โดยให้นำกะเพรา 1 กำ มาต้มกับน้ำประมาณ 2-3 ลิตร ด้วยไฟปานกลาง 20 นาที ดื่มครั้งละ 1 แก้ว (250 มล.) หลังอาหาร 3 มื้อ และควรดื่มหลังรับประทานอาหารแล้ว 10-15 นาที

วิธีป้องกันโรคกรดไหลย้อน

1. รับประทานให้น้อยลงแต่บ่อยขึ้น กระเพาะอาหารที่แน่นมากเกินไปจะมีแรงดันต่อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างเพิ่มขึ้น มีโอกาสที่อาหารบางส่วนจะไหลย้อนขึ้นไปในหลอดอาหารได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

2. หลีกเลี่ยงอาหาร และเครื่องดื่มที่เพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะ อาหารที่มีไขมันสูง อาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง  น้ำอัดลม ผักบางชนิด เช่น มะเขือเทศ หัวหอม กระเทียม เป็นต้น

3. ไม่เข้านอนทันทีหลังรับประทานอาหารเสร็จ การนอนหลับไปพร้อมกับกระเพาะที่เต็มแน่นด้วยอาหาร จะทำให้เกิดการกดเบียดหูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง เพิ่มโอกาสที่กรดจะไหลย้อนขึ้นไปได้

4. นอนยกหัวสูง การนอนหัวสูงจะช่วยลดแรงดันจากกระเพาะต่อหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างได้ เช่น วางก้อนอิฐ หิน รองขาเตียงฝั่งหัวนอน หรือใช้หมอนรูปลิ่มหนุนหัวให้สูงขึ้น

5. ควบคุมน้ำหนักให้เหมาะสม ควรพยายามลดน้ำหนักเพราะห่กน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน ความดันในช่องท้องก็จะเพิ่มขึ้นทำให้เกิดกรดไหลย้อนได้มากขึ้น

6. ไม่สวมเข็มขัด หรือเสื้อผ้าที่รัดแน่นบริเวณเอว เสื้อผ้า หรือเครื่องแต่งกายที่รัดแน่นบริเวณท้องจะกดเบียดกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารไหลล้นกลับไปในหลอดอาหารได้ 

7. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ควรเลิกสูบบุหรี่ เนื่องจากนิโคตินในบุหรี่ทำให้หูรูดของหลอดอาหารคลายตัวและบุหรี่ยังกระตุ้นการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร

8. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากแอลกอฮอล์เพิ่มปริมาณการสร้างกรดในกระเพาะอาหาร และทำให้หูรูดหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัว ส่งผลให้กรดไหลย้อนกำเริบได้

9. ลดความเครียด ควรหากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความเครียด เช่น นอนหลับ นั่งสมาธิ ออกกำลังกาย อ่านหนังสือที่ชอบ หรืออะไรก็ตามที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย จะช่วยลดการหลั่งกรดที่มากเกินไปได้

10. จดบันทึกอาการกรดไหลย้อน จดบันทึกเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้อาการกรดไหลย้อนกำเริบ อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น ช่วงเวลาที่เกิดอาการ วิธีการรักษาที่ผ่านมา ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับตัวคุณมากขึ้น ช่วยให้คุณและแพทย์วางแผนการรักษาได้ง่ายและตรงจุดมากขึ้นด้วย

11. รับประทานยาสม่ำเสมอ หากคุณต้องรับประทานยาเพื่อรักษาอาการกรดไหลย้อนและมีแนวโน้มจะลืมได้ง่าย แนะนำให้แปะโน้ตไว้เพื่อเตือนตัวคุณเอง 

รายการอาหารที่เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นกรดไหลย้อน

  • กลุ่มผลไม้ เช่น แอปเปิ้ลสด แอปเปิลแห้ง น้ำแอปเปิล กล้วย
  • กลุ่มผัก เช่น มันอบ บรอกโคลี กะหล่ำปลี แครอต ถั่วเขียว ถั่ว
  • กลุ่มเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อไม่ติดมัน อกไก่ไม่มีหนัง ไก่งวง ไข่ขาว สารทดแทนไข่ ปลาที่ไม่เติมไขมัน
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส feta หรือ goat ครีมชีสชนิดไม่มีไขมัน ซาวครีมชนิดไม่มีไขมัน ชีสถั่วเหลืองไม่มีไขมัน
  • กลุ่มธัญพืช เช่น ขนมปังธัญพืช หรือขนมปังขาว ซีเรียล หรือข้าวโอ๊ต ขนมปังข้าวโพด แครกเกอร์ ข้าวกล้อง
  • กลุ่มเครื่องดื่ม เช่น น้ำเปล่า น้ำแร่
  • กลุ่มไขมัน หรือน้ำมัน เช่น น้ำสลัดไขมันต่ำ
  • กลุ่มขนม รือของหวาน เช่น คุกกี้ไม่มีไขมัน เยลลี่ มันฝรั่งอบ

อาหารที่ต้องหลีกเลี่ยง

  • กลุ่มเครื่องดื่ม เช่น แอลกอฮอล์ คาเฟอีน เครื่องดื่มที่มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำผลไม้ตระกูลส้ม
  • กลุ่มอาหาร เช่น อาหารที่มีไขมัน อาหารทอด อาหารรสเผ็ด กระเทียม หัวหอม มะเขือเทศ มินต์ ช็อกโกแลต ผลไม้ตระกูลส้ม

ถึงแม้โรคกรดไหลย้อนไม่ได้มีความรุนแรงถึงขนาดทำให้เสียชีวิต แต่ทำให้เกิดความทรมาน รบกวนการใช้ชีวิตในประจำวัน และทำให้มีคุณภาพชีวิตแย่ลงได้ 

จุดมุ่งหมายสำคัญในการรักษาโรคนี้คือ ลดปริมาณกรดในกระเพาะและป้องการไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไป การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจึงเป็นวิธีที่ตรงจุดที่สุดที่จะช่วยลดอาการต่างๆ ป้องกันไม่ให้เกิดอาการ และช่วยลดการกลับมาเป็นซ้ำของโรคได้

ดังนั้นควรดูแลตนเองอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดอาการ และปฏิบัติตามคำแนะนำที่ถูกวิธีก็จะช่วยให้คุณห่างไกลจากกรดไหลย้อนได้อย่างยั่งยืน 

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายทุกวัย จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


11 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
GERD (Chronic Acid Reflux). Cleveland Clinic. (Available via: https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/17019-gerd-or-acid-reflux-or-heartburn-overview)
GERD: Acid Reflux Symptoms, Treatment & Heartburn Relief. MedicineNet. (Available via: https://www.medicinenet.com/gastroesophageal_reflux_disease_gerd/article.htm)
Gastroesophageal Reflux Disease (GERD). Johns Hopkins Medicine. (Available via: https://www.hopkinsmedicine.org/health/conditions-and-diseases/gastroesophageal-reflux-disease-gerd)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้
โรคกรดไหลย้อนทำยังไงถึงจะหายขาด
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
มีปัญาชอบเจ็บหน้าอกเป็นบางครั้งเหมือนโดนไฟดูด
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
เจ็บหน้าอกแป๊ปๆ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
วิธีรักษาโรคกรดไหลย้อนที่ได้ผลดีที่สุด
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
อาการแน่นหน้าอกครับเป็นหายเป็นหายครับ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
สวัสดีคะ คำถามคือ ถ้ามีอาการแสบบริเวณท้ายทอย ลักษณะอาการแบบนี้เป็นกรดไหลย้อนหรือไม่ อย่างไรคะ... ขอบคุณคะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)