ก้อนที่ต่อมไทรอยด์อาจเป็นเนื้องอกธรรมดาหรือเป็นมะเร็งก็ได้
ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมที่มีรูปร่างคล้ายผีเสื้อ ตั้งอยู่บริเวณฐานของลำคอ โดยต่อมนี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนที่มีบริเวณที่เรียกว่า thyroid isthmus เชื่อมทั้ง 2 ส่วนเข้าด้วยกัน หน้าที่ของต่อมไทรอยด์คือการหลั่งฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด เช่น triiodothyronine (T3), tetraiodothyronine (T4 หรือ thyroxine) และ calcitonin เพื่อให้ร่างกายสามารถเผาผลาญพลังงานและมีการเจริญเติบโตได้ ในบางครั้ง อาจพบก้อนเนื้อเกิดขึ้นบนต่อมไทรอยด์ได้ ก้อนเหล่านี้ส่วนใหญ่มักเป็นเนื้องอกธรรมดาที่ไม่ใช่มะเร็ง แต่มีประมาณ 5% ที่เป็นมะเร็ง อ้างอิงจากสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา ภาวะนี้มักพบได้ในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และยังมักเกิดในผู้สูงอายุ อ้างอิงจากข้อมูลของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ
ชนิดและสาเหตุของก้อนที่ต่อมไทรอยด์
ก้อนที่ต่อมไทรอยด์นั้นเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ โดยก้อนอาจมีลักษณะต่างๆ เช่น
- ก้อนเดี่ยว หรือก้อนขนาดเล็กหลายก้อนอยู่รวมกัน
- ก้อนที่เต็มไปด้วยสารน้ำ (ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้ในการเก็บไทรอยด์ฮอร์โมน)
- ก้อนแข็ง ก้อนลักษณะนี้มักจะเป็นมะเร็ง
- ก้อนที่หลั่งไทรอยด์ฮอร์โมน
American Thyroid Association ได้กล่าวว่าในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้เกิดก้อนเนื้อที่ต่อมไทรอยด์ส่วนใหญ่ แต่พบว่าภาวะ Hashimoto’s thyroiditis ซึ่งเป็นภาวะที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าโจมตีเนื้อเยื่อของต่อมไทรอยด์ และการขาดไอโอดีน สามารถทำให้เกิดก้อนที่ต่อมไทรอยด์ได้
อาการของการมีก้อนที่ต่อมไทรอยด์
ส่วนใหญ่แล้วก้อนเหล่านี้ไม่ได้ทำให้เกิดอาการใดๆ และคนส่วนมากมักไม่ทราบว่าตนเองมีก้อนเหล่านี้อยู่ แต่หากก้อนมีขนาดใหญ่ อาจเห็นได้ชัดเวลากลืน และอาจมีการกดโครงสร้างในลำคอที่ตั้งอยู่ใกล้เคียง ทำให้เกิดอาการต่อไปนี้
- เจ็บคอ
- เสียงแหบ
- หายใจลำบาก โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในท่านอน
- กลืนลำบาก
ก้อนที่มีการผลิตไทรอยด์ฮอร์โมนนั้นสามารถทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูงกว่าปกติได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการต่อไปนี้
- กระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข
- ชีพจรเต้นเร็ว
- เหงื่อออกมาก ขี้ร้อน
- น้ำหนักลด
- อยากอาหารมากขึ้น
- ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ
- ผิวหนังแดง
- มือสั่น
โรค Hashimoto นั้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำที่พบได้บ่อย ดังนั้นหากมีก้อนที่เกิดจากโรคนี้ จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการของภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำได้ เช่นอ่อนเพลีย ซึมเศร้า ผมร่วง หนาวสั่น และน้ำหนักเพิ่ม
การวินิจฉัยก้อนที่ต่อมไทรอยด์
แพทย์มักตรวจพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์จากการตรวจร่างกายประจำปีหรือจากการตรวจทางรังสีวินิจฉัยที่ส่งทำจากปัญหาอื่นๆ หลังจากที่ตรวจพบก้อน แพทย์อาจส่งตรวจเพิ่มเติมดังนี้
- ตรวจเลือดเพื่อดูระดับของ T4, thyroid-stimulating hormone (TSH) หรือฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์อื่นๆ เพื่อดูว่าต่อมไทรอยด์ทำงานปกติหรือไม่
- ตรวจต่อมไทรอยด์ด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อให้เห็นภพของต่อมไทรอยด์ ระบุตำแหน่งและขนาดของก้อน และดูลักษณะของก้อนว่าเป็นก้อนแข็งหรือมีสารน้ำอยู่ภายใน
- Thyroid scan เป็นการใช้สารไอโอดีนทึบรังสีเพื่อช่วยระบุว่าก้อนนั้นเป็นเนื้องอกธรรมดาหรือเป็นมะเร็ง
- การใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ
การรักษาก้อนที่ต่อมไทรอยด์
การรักษาก้อนที่ต่อมไทรอยด์นั้นมีได้หลายวิธีขึ้นกับชนิดของก้อนที่คุณเป็นและสุขภาพของคุณ หากก้อนนั้นเป็นเนื้องอกธรรมดา (ซึ่งส่วนมากมักจะเป็นเนื้องอกธรรมดา) แพทย์อาจแนะนำให้ติดตามอาการไปเรื่อยๆ เพื่อดูว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ แพทย์อาจทำการตัดต่อมไทรอยด์ออกหากก้อนที่ตรวจพบมีลักษณะต่อไปนี้
- เป็นมะเร็ง
- น่าสงสัยว่าเป็นมะเร็ง
- ทำให้เกิดอาการที่รุนแรงเช่นหายใจลำบากหรือกลืนลำบาก
- ทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสูง
หากคุณเป็นเนื้องอกธรรมดาที่ไม่ได้หลั่งฮอร์โมน แพทย์อาจพยายามลดขนาดของก้อนด้วยการใช้ thyroid hormone suppression therapy การรักษาวิธีนี้จะทำให้ต่อมใต้สมองผลิตฮอร์โมน TSH ซึ่งทำให้ต่อมไทรอยด์โต ออกมาลดลง หากก้อนดังกล่าวมีการผลิตฮอร์โมนบางชนิดมากเกินไป แพทย์อาจเลือกใช้การรักษาด้วยการใช้ไอโอดีนทึบรังสี ซึ่งจะสามารถลดขนาดและการทำงานของก้อนได้