กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ.ธนู โกมลไสย
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ.ธนู โกมลไสย

กะบังลมคืออะไรและมีหน้าที่อย่างไร

รู้จักส่วนประกอบและหน้าที่ของกะบังลม ความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับกะบังลม
เผยแพร่ครั้งแรก 2 ม.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 21 ม.ค. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 20 เม.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
กะบังลมคืออะไรและมีหน้าที่อย่างไร

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • กะบังลม (Diaphragm) เป็นกล้ามเนื้อชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายร่มชูชีพที่กั้นระหว่างส่วนอกและส่วนท้อง ทำหน้าที่เป็นพื้นของช่องอกและเพดานของช่องท้อง
  • กะบังลมยังทำหน้าที่เกี่ยวกับการหายใจเป็นหลัก โดยจะหดตัวเพื่อลดความดันในช่องอกเพื่อให้อากาศไหลเข้าช่องอก เมื่อกะบังลมคลายตัว อากาศก็จะไหลออกตาม
  • นอกจากการใช้กล้ามเนื้อกะบังลมสำหรับการหายใจเข้า หรือการเค้นหายใจออกเท่านั้น แต่ยังใช้ในการไอ การจาม การอาเจียน การปัสสาวะ การถ่ายอุจจาระ (ช่วยในการขยับลำไส้) และการคลอดบุตรด้วย
  • การหายใจโดยใช้กะบังลมเป็นวิธีที่เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกะบังลมได้ เพื่อที่ร่างกายจะสามารถหายใจเอาอากาศเข้า-ออก มากขึ้น วิธีนี้จะทำให้กล้ามเนื้ออกไม่เหนื่อยล้าเกินไปและทำให้ไม่รู้สึกจุกเสียดบริเวณชายโครง
  • หากพบว่า ตนเองมีความผิดปกติเกี่ยวกับการหายใจ เช่น กะบังลมเคลื่อนที่ขึ้นขณะหายใจเข้า และเคลื่อนที่ลงขณะหายใจออก ทำให้หายใจไม่อิ่ม ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย  (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่) 

กะบังลม (Diaphragm) เป็นกล้ามเนื้อชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายร่มชูชีพที่กั้นระหว่างส่วนอกและส่วนท้อง กะบังลมทำหน้าที่เป็นพื้นของช่องอกและเพดานของช่องท้อง

ลักษณะทางกายภาพของกะบังลม

กะบังลมมีช่องเปิดทะลุอยู่ 3 ช่อง ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจปอด วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 290 บาท ลดสูงสุด 64%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  1. ช่องที่มีหลอดอาหารผ่าน (The esophagus opening)
  2. ช่องที่มีเส้นเลือดและน้ำเหลืองสำคัญทั้งสามผ่าน (The aortic opening) ได้แก่ หลอดเลือดเอออร์ตา (Aorta) ท่อน้ำเหลืองทอราซิก (Thoracic duct) และหลอดเลือดอะไซกอส (Azygous vein)
  3. ช่องที่หลอดเลือดอินฟีเรีย เวนา คาวา (Inferior vena cava) ผ่าน (The canal opening) โดยหลอดเลือดดังกล่าว เป็นหลอดเลือดขนาดใหญ่ที่รับเลือดกลับมาจากส่วนขาและส่วนของร่างกายในตำแหน่งใต้หัวใจลงไป 

กะบังลมสามารถมองได้ 2 ด้านหรือเรียกได้ว่า "Hemi-diaphragms” ซึ่งมาจากคำว่า "Hemi" ที่แปลว่า "ครึ่ง" 

ทั้ง 2 ด้านของกะบังลมจะมีเส้นประสาทไปเลี้ยงทั้งฝั่งซ้ายและขวา เส้นประสาทนี้มีชื่อโดยรวมว่า "เส้นประสาทเฟรนิก" (Phrenic nerve) มีต้นกำเนิดมาจากเส้นประสาทบริเวณคอที่อยู่ในระดับกระดูกสันหลังส่วนคอ (Cervical vertebra) 

ดังนั้นเส้นประสาทส่วนที่เลี้ยงกะบังลมฝั่งซ้ายจะเรียกว่า "เส้นประสาทเฟรนิกซ้าย" (Left Phrenic nerve) ส่วนเส้นประสาทที่เลี้ยงกะบังลมฝั่งขวาจะเรียกว่า "เส้นประสาทเฟรนิกขวา" (Right Phrenic nerve)

หน้าที่ของกะบังลม

กะบังลมทำหน้าที่เกี่ยวกับการหายใจเป็นหลัก โดยจะหดตัวเพื่อลดความดันในช่องอกเพื่อให้อากาศไหลเข้าช่องอก เมื่อกะบังลมคลายตัว อากาศก็จะไหลออกตาม

ส่วนมากกะบังลมจะหดตัวภายนอกการควบคุมจากจิตใจทำให้เราสามารถหายใจได้แม้ในยามนอนหลับ แต่กะบังลมก็สามารถหดตัวภายใต้อำนาจของจิตใจได้เช่นกัน 

นอกจากการใช้กล้ามเนื้อกะบังลมสำหรับการหายใจเข้า หรือการเค้นหายใจออกเท่านั้น แต่ยังใช้ในการไอ การจาม การอาเจียน การปัสสาวะ การถ่ายอุจจาระ (ช่วยในการขยับลำไส้) และการคลอดบุตรด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจปอด วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 290 บาท ลดสูงสุด 64%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

วิธีสร้างความแข็งแรงให้กับกะบังลม

โดยปกติแล้วคนเราจะหายใจผ่านกล้ามเนื้อซี่โครงเป็นหลัก ดังนั้นการหายใจโดยใช้กะบังลมจึงเป็นวิธีที่เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกะบังลมได้ เพื่อที่ร่างกายจะสามารถหายใจเอาอากาศเข้า-ออก มากขึ้น 

การหายใจโดยใช้กะบังลมยังไม่ทำให้กล้ามเนื้ออกเหนื่อยล้าเกินไปและทำให้ไม่รู้สึกจุกเสียดบริเวณชายโครง จึงเหมาะสำหรับกลุ่มผู้ที่เป็นนักกีฬาประเภทวิ่ง 

แต่วิธีหายใจโดยใช้กะบังลมจำเป็นต้องมีการฝึกฝนไม่ได้ง่ายนัก แต่หากทำได้ก็จะส่งผลต่อดีต่อร่างกายและทำให้กะบังลมแข็งแรงขึ้น 

วิธีหายใจมีดังนี้

  • เวลาหายใจเข้า ให้หายใจให้หน้าท้องพอง หรือขยายตัว หมายถึง กะบังลมของเรากำลังเคลื่อนตัวลง 
  • เวลาหายใจออก ให้หายใจให้หน้าท้องยุบลง เพื่อให้กล้ามเนื้อกะบังลมเคลื่อนตัวขึ้น 

ภาวะความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับกะบังลม

การสะอึก

การสะอึก (Hiccups) คือ ช่วงเวลาที่กะบังลมเกิดความระคายเคือง เช่น เมื่อดื่มน้ำอัดลมจะทำให้เกิดการหดตัวภายนอกการควบคุมของจิตใจจนเกิดการสะอึกขึ้น โดยเสียงสะอึกเกิดจากการที่มีอากาศไหลออกในช่วงเดียวกับกะบังลมหดตัวนั่นเอง

ภาวะไส้เลื่อนกะบังลม

ไส้เลื่อนกะบังลม (Hiatal hernia) เกิดจากกะบังลมส่วนที่มีหลอดอาหารผ่านเกิดความอ่อนแอจนหย่อนยาน ทำให้หลอดอาหารส่วนล่าง หรือกระเพาะอาหารสามารถทะลุจากช่องท้องเข้ามาในช่องอกได้จนทำให้เกิดภาวะกรดไหลย้อน (Gastroesophageal reflux disease) ได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจปอด วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 290 บาท ลดสูงสุด 64%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

นั่นทำให้ผู้ป่วยมีอาการแสบร้อนที่หน้าอก หรือลิ้นปี่ (Heartburn) และเกิดอาการอาหารไม่ย่อย (Indigestion)

ภาวะไส้เลื่อนกะบังลมแต่กำเนิด

ภาวะไส้เลื่อนกะบังลมแต่กำเนิด (Congenital diaphragmatic hernia) มีโอกาสเกิดประมาณ 1 ในเด็ก 2,000 คน 

อาการของภาวะนี้คือ กะบังลมข้างใดข้างหนึ่งไม่พัฒนา ทำใหอวัยวะภายในช่องท้องสามารถทะลุไปอยู่ในช่องอกได้ ซึ่งอาจทำให้ปอดไม่เจริญเติบโต (Pulmonary hypoplasia) ไปด้วย 

ในปัจจุบันมีการศึกษาเพื่อช่วยเหลือเด็กที่มีอาการดังกล่าว โดยทำการผ่าตัดใส่กะบังลมเทียมเข้าไปแทน 

ภาวะอัมพาตของกะบังลม (Paralysis of the Diaphragm) 

กะบังลมสามารถเข้าสู่ภาวะอัมพาตได้ทั้งแค่บางส่วน หรือทั้งส่วนของกะบังลม ขึ้นอยู่กับการทำลายเส้นประสาทที่มาเลี้ยง ซึ่งเส้นประสาทดังกล่าวสามารถถูกทำลายได้หลายวิธี ดังนี้

  • จากการมีเนื้องอกในช่องอก บริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอ หรือก้านสมองไปกดทับที่เส้นประสาทเฟรนิก เช่น มะเร็งในปอด
  • จากอุบัติเหตุที่ช่องปอด โดยเฉพาะในส่วนที่มีเส้นประสาทไปเลี้ยง
  • จากโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท เช่น เบาหวาน กลุ่มอาการกูเลน-แบร์ (Guillain-Barre syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และโรคกล้ามเนื้อลีบ (Muscular dystrophy)

เมื่อมีด้านใดด้านหนึ่งของกะบังลมเป็นอัมพาต จะทำให้การเคลื่อนที่ของกะบังลมผิดปกติ เช่น กะบังลมเคลื่อนที่ขึ้นขณะหายใจเข้า และเคลื่อนที่ลงขณะหายใจออก ทำให้เกิดการหายใจไม่อิ่ม โดยเฉพาะในขณะนอนหลับ

กะบังลมหย่อนคืออะไร

ผู้หญิงหลายคนอาจเคยได้ยินชื่อ "อาการกะบังลมหย่อน" มาก่อน และอาจมีหลายคนสงสัยว่า อาการนี้เกี่ยวข้องกับอวัยวะกะบังลมที่ได้อธิบายไปข้างต้นหรือไม่ 

ความจริงแล้ว อาการกะบังลมหย่อนคือ ชื่อของโรคเฉพาะในผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับภาวะเคลื่อนต่ำของมดลูก รวมถึงการหย่อนของผนังช่องคลอด ไม่ได้เกี่ยวข้องกับอวัยวะกะบังลมที่ทำงานเกี่ยวกับระบบการหายใจแต่อย่างใด

บทความนี้คงทำให้หลายคนรู้จักกะบังลมมากยิ่งขึ้นว่า กะบังลมเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่เป็นพื้นของช่องอกและเพดานของช่องท้อง และมีบทบาทสำคัญต่อการหายใจ การไอ การจาม การอาเจียน การปัสสาวะ การถ่ายอุจจาระ (ช่วยในการขยับลำไส้) และการคลอดบุตรด้วย

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


18 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Moore, Keith (2014), Clinically Oriented Anatomy (7 ed.). Baltimore: Walters Kluwer. p. 306.
Chandrasekharan, Praveen Kumar, Rawat, Rajeshwari (2017-03-11). "Congenital Diaphragmatic hernia – a review". Maternal Health, Neonatology and Perinatology. 3: 6. doi:10.1186/s40748-017-0045-1. ISSN 2054-958X. PMC 5356475. PMID 28331629.
Cleveland Clinic, Diaphragmatic Breathing Exercises & Techniques (https://my.clevelandclinic.org/health/articles/9445-diaphragmatic-breathing), 10 September 2019.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป