กองบรรณาธิการ HonestDocs
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HonestDocs
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

เป็นเกลื้อน เกลื้อนดอกหมาก เกิดจากอะไร? อันตรายหรือไม่

เป็นเกลื้อน ควรทำอย่างไร? อ่านวิธีดูแลตนเองเมื่อเป็นเกลื้อนได้ที่นี่
เผยแพร่ครั้งแรก 26 ต.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 25 เม.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
เป็นเกลื้อน เกลื้อนดอกหมาก เกิดจากอะไร? อันตรายหรือไม่

การเป็นเกลื้อน หรือ เกลื้อนดอกหมาก (Tinea Versicolor) เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อรา เป็นได้ทุกเพศทุกวัย ไม่มีอันตราย และไม่ค่อยก่ออาการระคายเคืองแสบคันบนผิวหนัง เพียงแต่จะเห็นรอยโรคเป็นดวงขาวๆ ด่างๆ ไม่สวยงาม ทำให้คนสมัยก่อนเรียกกันว่า เกลื้อนดอกหมาก นั่นเอง

ลักษณะและอาการของโรคเกลื้อน

เกลื้อน สามารถเกิดได้กับผิวหนังทั่วร่างกาย โดยเฉพาะผิวหนังบริเวณรอยพับ ใบหน้า คอ แขน หลัง และก้น จะพบบ่อยเป็นพิเศษ โดยลักษณะรอยโรคของเกลื้อนเป็นดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

  • เป็นดวงสีขาวหรือน้ำตาล โดยดวงที่เกิดขึ้นอาจมีสีอ่อนหรือเข้มกว่าผิวหนังรอบๆ ก็ได้
  • ดวงที่เกิดขึ้นมีขนาดแตกต่างกันไป และอาจเกิดขึ้นทีละหลายๆ ดวง ทำให้บริเวณที่เป็นเกลื้อนลุกลามจนมีขนาดใหญ่
  • ผิวหนังส่วนที่เป็นเกลื้อนมักแห้ง ตกสะเก็ด และบางครั้งอาจมีอาการคันแต่ไม่รุนแรง
  • ไม่ค่อยพบอาการเจ็บ แสบ หรือระคายเคืองรุนแรง
  • เมื่ออากาศร้อนชื้น รอยโรคของเกลื้อนอาจขยายใหญ่ขึ้นได้

สาเหตุของโรคเกลื้อน

เกลื้อนเกิดจากเชื้อรา Malassezia furfur  โดยปกติราชนิดนี้ พบได้ตามผิวหนังปกติ แต่หากมีปัจจัยบางอย่างมากระตุ้นอาจทำให้เชื้อราเจริญเติบโตมากเกินไป ก็จะกลายเป็นโรคเกลื้อนได้  ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคเกลื้อน ได้แก่

  • สภาพอากาศที่ร้อนชื้น
  • มีเหงื่อออกมาก ผิวมัน
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่อับชื้น ไม่ระบายอากาศ
  • มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ติดเชื้อ HIV 

แม้เกลื้อนจะเป็นโรคติดเชื้อบนผิวหนัง แต่จะไม่ติดต่อไปสู่ผู้อื่น แม้จะมีการสัมผัสรอยโรคโดยตรงก็ตาม เนื่องจากเชื้อรา Malassezia นั้นอาศัยอยู่บนผิวหนังของคนทั่วไปอยู่แล้ว

การรักษาโรคเกลื้อน

  • การใช้ยาต้านเชื้อรา 
    • ชนิดรับประทาน เช่น Fluconazole และ Itraconazole ซึ่งเหมาะกับโรคเกลื้อนที่ขยายตัวเป็นวงกว้าง โดยต้องรับประทานทานติดต่อกัน 1 - 4 สัปดาห์ 
    • ชนิดทา ที่เป็นรูปแบบครีมหรือเจล เช่น Clotimazole ซึ่งใช้สำหรับทาเฉพาะจุดที่เป็นเกลื้อนวันละ 1 - 2 ครั้ง แต่อาจมีผลข้างเคียง คือ เกิดอาการผิวหนังแสบร้อนได้
  • การใช้แชมพูขจัดเชื้อรา
    เป็นรูปแบบยาที่ใช้ทาบนผิวหนังที่เป็นเกลื้อนทิ้งไว้ 5 - 10 นาทีแล้วล้างออก ใช้ติดต่อกันประมาณ 1 สัปดาห์ จะช่วยกำจัดเชื้อราที่รอยโรคได้ มีผลข้างเคียง คือ อาจทำให้ผิวหนังแสบร้อนระคายเคืองได้

    ตัวยาที่ใช้ในแชมพูขจัดเชื้อรา เช่น Ketoconazole เป็นต้น

  • การรักษาด้วยสมุนไพร
    มีสมุนไพรหลายชนิด ที่มีสรรพคุณช่วยกำจัดเชื้อรา Malassezia และช่วยรักษาโรคเกลื้อน เช่น ข่า ใบชุมเทศ ทองพันชั่ง และกระเทียม

    วิธีการใช้ คือ ให้นำหัวข่าแก่มาล้างน้ำ ทุบให้แตกและแช่น้ำมะนาว จากนั้นนำมาทาผิวหนังที่เป็นเกลื้อนวันละ 3 ครั้ง จนกว่าจะหาย
    อีกสูตรหนึ่ง คือ ให้นำใบชุมเทศ ทองพันชั่ง และกระเทียม มาตำเข้าด้วยกัน และทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน จะช่วยรักษาเกลื้อนดอกหมากให้หายได้

การป้องกันโรคเกลื้อน

  • หลีกเลี่ยงไม่ให้เหงื่อออกมาก หากมีเหงื่อออกตามร่างกายควรเช็ดให้แห้ง หรืออาบน้ำ ชำระล้างร่างกายไม่ให้มีเหงื่อสะสม
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนชื้น อบอ้าว
  • เลือกสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดแน่นเกินไป

เชื่อว่าหลายๆ คน เมื่อได้อ่านบทความนี้แล้วคงไม่ต้องกังวลอีกต่อไป เพราะเมื่อเป็นเกลื้อนแล้ว สามารถรักษาและป้องกันได้ เพียงเราดูแลทำร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ เลือกสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ ไม่รัดแน่นจนเกินไป ใช้ยาทาบริเวณที่เป็นเกลื้อน หรือรับคำปรึกษาจากแพทย์ผิวหนังหากเป็นเกลื้อนที่ขยายวงกว้างแล้ว


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Sahoo, A. K., & Mahajan, R. (2016). Management of tinea corporis, tinea cruris, and tinea pedis: A comprehensive review. Indian dermatology online journal, 7(2), 77–86. doi:10.4103/2229-5178.178099
Abd Elmegeed, A. S., Ouf, S. A., Moussa, T. A., & Eltahlawi, S. M. (2015). Dermatophytes and other associated fungi in patients attending to some hospitals in Egypt. Brazilian journal of microbiology : [publication of the Brazilian Society for Microbiology], 46(3), 799–805

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป