การนอนหลับช่วง REM และ Non - REM คืออะไร และมีผลต่อลูกอย่างไร

เผยแพร่ครั้งแรก 5 ก.พ. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 15 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
การนอนหลับช่วง REM และ Non - REM คืออะไร และมีผลต่อลูกอย่างไร

ปกติทารกนอนหลับวันละถึง 16-18 ชั่วโมง การนอนหลับของทารกไม่ใช่เพียงแค่การพักผ่อนของร่างกายเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับการพัฒนาการของลูกน้อยด้วย โดยสามารถแบ่งออกตามช่วงเวลาได้ 2 ช่วงเวลาใหญ่ๆ ได้แก่ การนอนหลับช่วง REM (Rapid Eye Movement) และช่วง Non-REM ซึ่งการนอนทั้ง 2 ช่วงเวลาจะมีผลอย่างไรกับการนอนของลูก มาลองทำความเข้าใจกัน

การนอนหลับในช่วง REM (Rapid Eye Movement)

เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายหลับแต่สมองยังคงทำงานอยู่ หลายคนเชื่อว่าเป็นช่วงที่สมองประมวลผลและอาจจะสั่งสมประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เราเกิดความฝัน สังเกตได้ง่ายๆ ว่าทารกกำลังหลับในช่วงนี้หรือไม่ก็คือ เด็กจะหายใจไม่สม่ำเสมอ อาจจะนอนผวา ลูกตากรอกไปมาใต้เปลือกตาที่ปิดอยู่และจะตื่นง่ายเมื่อได้ยินเสียงหรือสิ่งกระตุ้นจากภายนอก หากลูกของคุณคลอดก่อนกำหนด โอกาสที่ลูกมักจะหลับในช่วง REM นานกว่าเด็กคนอื่นจะสูงถึง 80% ในขณะที่เด็กที่คลอดเอง จะนอนหลับในช่วง REM เพียง 50% ของจำนวนชั่วโมงในการนอนทั้งหมดของลูก

ทางการแพทย์มีความเชื่อว่า การนอนหลับในช่วง REM มีผลและมีความจำเป็นต่อการพัฒนาการของเด็กทารก เมื่อเด็กโตขึ้นช่วงการนอนในระดับ REM จะลดลงเรื่อยๆ เมื่อลูกอายุครบ 3 ปีอาจจะเหลือเพียง 30% ของชั่วโมงการนอนทั้งหมดของลูก และจะลดลงเรื่อยๆ อีกเหลือเพียงประมาณ 20% เมื่อลูกก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น

การนอนหลับในช่วง Non REM (Non Rapid Eye Movement)

ถ้าจะเรียกตามภาษาบ้านๆ ก็เป็นช่วงหลับลึกนั้นเอง โดยช่วงนี้ร่างกายจะได้รับการพักผ่อนมากที่สุด จะสังเกตได้โดยจะนอนนิ่งๆ ลมหายใจสม่ำเสมอ หายใจลึก และเด็กทารกอาจจะทำปากขมุบขมิบ หรือมีอาการกระตุกเป็นพักๆ โดยเด็กทารกจะพัฒนาช่วงการนอน Non REM ให้สมบูรณ์ขึ้นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือนไปแล้ว หากลูกของคุณเริ่มหลับเข้าสู่ช่วงนี้แล้วจะตื่นยากขึ้น

ขณะที่ลูกเริ่มนอนหลับ หากเป็นเด็กทารกแรกเกิด - 6 เดือน จะเริ่มหลับในช่วง REM ก่อน และจะค่อยๆ เข้าสู่การหลับลึกหรือ Non REM และก็จะสลับกลับไปเป็นช่วง REM แบบนี้ทุกๆ 20 นาทีพอลูกอายุครบ 3 เดือน การเปลี่ยนจาก REM ไปเป็น Non REM จะขยายเวลาเป็น 60 นาที และเมื่อโตมากขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ก็จะเปลี่ยนเป็น 90 นาทีต่อรอบ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในช่วง 6 เดือนแรกที่การนอนของลูกในระดับ Non REM ยังไม่สมบูรณ์ ลูกของคุณจึงตื่นได้ง่าย หรือดูเหมือนว่า ลูกของคุณจะนอนเพียงครั้งละ 20 นาทีก็รู้สึกตัวแล้ว ขอให้คุณพ่อคุณแม่อดทนและเข้าใจลูกด้วย เมื่อลูกอายุมากขึ้น จะสามารถนอนหลับได้นานขึ้น และตื่นยากขึ้น


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Nat Sci Sleep. 2011; 3: 101-104 [1] Nat Sci Sleep. 2011; 3: 101-104
Infact Child Dev. 2011 Jan 1; 20(1): 35-46.
Children (Basel). 2017 Oct; 4(10): 90.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป