ทีมแพทย์และเภสัชกร HonestDocs
เขียนโดย
ทีมแพทย์และเภสัชกร HonestDocs
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ชีวิตจะดำเนินต่อไปอย่างไร หลังจากแพทย์แจ้งว่า “คุณป่วยเป็นไตวายเรื้อรัง”

ไตวายเรื้อรัง อาจฟังดูน่ากลัว แต่หากทำความรู้จักกับโรคให้ลึกซึ้ง เรียนรู้วิธีการรักษาตัวในแต่ละระยะของโรค การอยู่กับมันก็ไม่ร้ายแรงเกินไป
เผยแพร่ครั้งแรก 3 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 18 เม.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ชีวิตจะดำเนินต่อไปอย่างไร หลังจากแพทย์แจ้งว่า “คุณป่วยเป็นไตวายเรื้อรัง”

ปัจจุบันวิถีการดำเนินชีวิตของคนเปลี่ยนไป มีปัจจัยหลายประการที่เป็นสาเหตุส่งเสริมให้เกิดโรคไตวายเรื้อรัง แต่ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าก็เข้ามามีส่วนสนับสนุนให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสามารถดำเนินชีวิตได้เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ เพียงแต่ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังอาจต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเข้าพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามและควบคุมอาการของโรค

ไตวายเรื้อรัง หมายถึงโรคที่ไตไม่สามารถขับของเสียและน้ำออกจากร่างกายด้วยการปัสสาวะได้ ส่งผลให้ของเสียและน้ำค้างอยู่ในเลือด แพทย์วินิจฉัยการเป็นไตวายเรื้อรังได้จาก 2 แนวทาง ดังนี้

  1. วินิจฉัยจากประสิทธิภาพการกรองของของไต โดยประเมินจากการตรวจพบอัลบูมิน (Albumin) หรือ เม็ดเลือดแดงในปัสสาวะ ร่วมกับผลการตรวจพบลักษณะความผิดปกติเชิงโครงสร้างของไต โดยอาจมีความผิดปกติในอัตราการกรองของไต (estimated Glomerular Filtration Rate (eGFR)) ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้
  2. วินิจฉัยจากการคำนวณอัตราการกรองของไต หรือเรียกชื่อย่อว่า ค่าอีจีเอฟอาร์ (eGFR) หรือจีเอฟอาร์ (GFR) หากอัตราการกรองของไตต่ำกว่า 60 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร เป็นเวลา 3 เดือนขึ้นไป โดยอาจมีความผิดปกติในโครงสร้างของไตร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้

การเกิดโรคไตวายเรื้อรังมีหลายสาเหตุ แต่จากการศึกษาในคนไทย ในโครงการ Thai SEEK Study โดยสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยพบว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคไตเรื้อรัง ได้แก่ อายุที่มากขึ้น เพศชาย โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีระดับกรดยูริกในเลือดสูง ประวัตินิ่วในไต และการใช้ยาสมุนไพร เมื่อไตเสียหน้าที่จะไม่สามารถกลับคืนเป็นปกติได้อีก

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจไต ฟอกไต รักษาโรคไต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 50 บาท ลดสูงสุด 83%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ในทางการแพทย์แบ่งระดับความรุนแรงของไตวายเรื้อรัง เป็น 5 ระยะ จำแนกตามอัตราการกรองของไต ดังนี้

  1. ไตวายเรื้อรังระยะที่ 1 พบว่า อัตราการกรองของไตลดลง เท่ากับ 90 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร ในระยะนี้ผู้ป่วยมักมีอาการโปรตีนในปัสสาวะ เนื่องจากเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงไตมีความผิดปกติ ส่งผลให้อัลบูมิน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีอนุภาคขนาดใหญ่ถูกกรองผ่านไตออกมาในปัสสาวะ
  2. ไตวายเรื้อรังระยะที่ 2 พบว่า อัตราการกรองของไตลดลง อยู่ในช่วง 60-89 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร อาจพบว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูงขึ้น เนื่องจากหน้าที่ในการควบคุมความดันโลหิตของไตเสียไป
  3. ไตวายเรื้อรังระยะที่ 3 พบว่า อัตราการกรองของไตลดลง อยู่ในช่วง 30-59 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร ผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการซีด เนื่องจากหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กระตุ้นไขกระดูกในการสร้างเม็ดเลือดแดงเสียไป ไตวายเรื้อรัง ระยะที่ 3 แบ่งเป็น
    • ไตวายเรื้อรังระยะที่ 3a มีค่าอัตราการกรองของไตลดลง อยู่ในช่วง 45-59 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร
    • ไตวายเรื้อรังระยะที่ 3b มีค่าอัตราการกรองของไตลดลง อยู่ในช่วง 30-44 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร
  4. ไตวายเรื้อรังระยะที่ 4 พบว่า อัตราการกรองของไตลดลง อยู่ในช่วง 15-29 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร ผู้ป่วยจะมีอาการซีดมากขึ้น เริ่มมีภาวะเลือดเป็นกรดจากมีปริมาณของเสียสะสมในเลือดในปริมาณสูง ส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายอาจพบโพแทสเซียม (Potassium) ในเลือดสูงได้ บางรายอาจพบภาวะน้ำเกิน เนื่องจากการสูญเสียหน้าที่ในการขับน้ำออกจากร่างกาย ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการเตรียมตัวเพื่อรับการบำบัดทดแทนไต ได้แก่ การเปลี่ยนไต การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม หรือการฟอกไตผ่านทางเยื่อบุช่องท้อง
  5. ไตเสื่อมระยะที่ 5 พบว่า อัตรากรองของไตน้อยกว่า 15 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร ระยะนี้เป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะมีอาการผิดปกติที่รุนแรง ได้แก่ น้ำท่วมปอด ของเสียคั่ง และจำเป็นต้องรับการบำบัดทดแทนไต

การรักษาไตวายเรื้อรังขึ้นอยู่กับระยะความรุนแรงที่เป็น การรักษาไตวายเรื้อรังระยะที่ 1-4 มีวัตถุประสงค์เพื่อชะลอการเสื่อมของไต และยืดเวลาการดำเนินของโรคที่จะเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายให้นานที่สุด ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำเพื่อเข้ารับการรักษาที่มีจุดประสงค์คือควบคุมปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดไตวายเรื้อรัง เช่น ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ควบคุมความดันโลหิตสูง หรือควบคุมการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อชะลอไตเสื่อม เช่น การควบคุมการบริโภคอาหารโปรตีน เกลือ ปริมาณน้ำดื่มต่อวัน เป็นต้น

หากผู้ป่วยไม่เข้ารับการรักษา หรือไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อาจส่งผลให้ไตเสื่อมมากขึ้นอย่างรวดเร็ว และเข้าสู่การเป็นไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเร็วขึ้น สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะที่ 4 ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำเพื่อเตรียมตัวรับการบำบัดทดแทนไต และเมื่อการดำเนินโรคเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะที่ 5 แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตจะพิจารณาให้การรักษาโดยการบำบัดทดแทนไต

การรักษาโดยการบำบัดทดแทนไตมีอยู่ 3 วิธี ได้แก่ การปลูกถ่ายไต (Kidney Transplant) การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) และการฟอกของเสียผ่านทางเยื่อบุช่องท้อง (Peritoneal Dialysis) โดยแต่ละวิธีมีข้อดีและข้อเสียต่างกัน ดังนี้

  • การปลูกถ่ายไต มีข้อดีคือ ผู้ป่วยจะได้รับไตใหม่ที่ทำหน้าที่ได้เหมือนไตของผู้ป่วยมากที่สุด แม้จะต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันเพื่อป้องกันการสลัดไตใหม่ตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันการรักษาไตวายรื้อรังด้วยการปลูกถ่ายไตยังมีข้อจำกัด เนื่องจากจำนวนไตที่ได้รับบริจาคยังไม่มากพอกับความต้องการของผู้ต้องการปลูกถ่ายไต
  • การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม มีข้อดีคือ สามารถขจัดของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ผู้ป่วยต้องเดินทางไปรับการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมจากโรงพยาบาลหรือคลินิกฟอกไตเป็นประจำ สัปดาห์ละ 2-4 ครั้ง อาจส่งผลกระทบต่อเวลาทำงานสำหรับผู้ป่วยที่ต้องทำงานประจำ นอกจากนี้ การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียมยังคงมีค่าใช้จ่ายสูง แม้ว่าผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการสนับสนุนค่าฟอกไตบางส่วนจากรัฐบาล แต่ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางอยู่ดี และขณะรับการรักษา ผู้ป่วยก็ยังต้องควบคุมการบริโภคอาหาร เช่น อาหารโปรตีน เกลือโซเดียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส เพื่อลดการคั่งของของเสียและเกลือแร่ในร่างกายในระหว่างที่เว้นจากการฟอกเลือด
  • การฟอกของเสียผ่านทางเยื่อบุช่องท้อง มีข้อดีคือ ผู้ป่วยสามารถฟอกของเสียด้วยตนเองได้ที่บ้าน และสามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันหรือทำงานประจำได้ ผู้ป่วยจะได้รับการสนับสนุนน้ำยาและอุปกรณ์สำหรับฟอกของเสียผ่านทางเยื่อบุช่องท้องจากรัฐบาล โดยแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจเพื่อติดตามอาการทุก 2-4 เดือน ขณะอยู่ที่บ้าน ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องควบคุมการบริโภคอาหาร ซึ่งต่างจากการฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม แต่จะต้องเข้ารับการอบรมและเตรียมความพร้อมสำหรับการฟอกของเสียผ่านทางเยื่อบุช่องท้องจากโรงพยาบาล ก่อนจะเริ่มฟอกของเสียด้วยตนเองที่บ้าน โดยใช้เวลาในการอบรมประมาณ 1-3 วัน นอกจากนี้ผู้ป่วยต้องเคร่งครัดในการปฏิบัติตามขั้นตอนการทำแผลสายฟอกเลือดและการเปลี่ยนน้ำยาล้างไต เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่แผลและการอักเสบติดเชื้อของเยื่อบุช่องท้อง

หากมีคนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัวป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง สิ่งสำคัญเป็นอันดับแรกคือการให้กำลังใจ และให้เวลาเพื่อให้ผู้ป่วยยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะไตนับได้ว่าเป็นอวัยวะที่สำคัญ ผู้ป่วยบางรายอาจรับรู้ว่า หากไตเสียหน้าที่ อาจทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้เร็วขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่เป็นจริงทั้งหมด เพราะแม้ว่าไตจะเสียหน้าที่ แต่ความรู้ทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่ใช้ในการรักษาในปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก ส่งผลให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังสามารถปฏิบัติกิจกรรมหรือทำงานได้ เช่นเดียวกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตนในการควบคุมอาการของโรค เช่น การจำกัดการรับประทานเกลือโซเดียม อาหารโปรตีน อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง อาหารที่มีฟอสฟอรัส และจำกัดปริมาณน้ำดื่มต่อวัน ควบคุมปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไตวายเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น และไปตรวจตามนัดเพื่อติดตามประเมินการเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายตามที่แพทย์กำหนดทุกครั้ง


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย. (2555). คู่มือ การจัดการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะเริ่มต้น. กรุงเทพฯ: ยูเนียนอุลตร้าไวโอเร็ต จำกัด.
มณีรัตน์ จิรัปปภา. (2557). การชะลอไตเสื่อมจากวัยผู้ใหญ่ถึงวัยสูงอายุ. วารสารวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา, 20(2): 5-16.
Zhang, Q.L., & Rothenbacher, D. (2008). Prevalence of chronic kidney disease in population-based studies systemic review. BMC. Public health., 8 (117), 1-8.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
อาการไตวาย เรื่องที่ควรรู้เพื่อการดูแลสุขภาพ
อาการไตวาย เรื่องที่ควรรู้เพื่อการดูแลสุขภาพ

รู้จักอาการไตวาย ทั้งไตวายเฉียบพลัน และไตวายเรื้อรัง ซึ่งทั้งสองแบบมีสาเหตุ การดำเนินของโรค วิธีรักษา และหลักปฏิบัติต่างกัน

อ่านเพิ่ม