บทความนี้เขียนโดย พทป. บุญศิริ คณะภักดิ์ แพทย์แผนไทยประยุกต์
หญิงที่เคยมีบุตรมาแล้วหรือกำลังตั้งครรภ์ ย่อมเคยได้ยินคำว่า “น้ำคาวปลา” น้ำคาวปลาเป็นของเหลวออกมาจากช่องคลอดในระยะหลังคลอดบุตร ขับออกมาจากแผลภายในโพรงมดลูกบริเวณที่รกเคยเกาะอยู่ มีลักษณะเป็นเลือดปนเมือกของเหลว ส่วนประกอบของของเหลวนี้มีทั้งเม็ดเลือดแดง เมือก (Mucus) เม็ดเลือดขาว และเยื่อบุมดลูกที่สลายหลุดออกมา ลักษณะของน้ำคาวปลาจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพของแผลที่มีการซ่อมแซม ซึ้งจะค่อย ๆ หมดไปภายใน 4-6 สัปดาห์หลังคลอด โดยมีการแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- Lochia rubra ออกมาในระยะ 3-5 วันแรกหลังคลอด มีลักษณะเป็นสีแดงเข้ม สีคล้ำ ประกอบด้วยเลือด เมือก และเศษรก
- Lochia serosa ออกมาหลังจาก Lochia rubra จนถึงประมาณวันที่ 10 หลังคลอด โดยสีจะจางลงเป็นสีชมพู หรือน้ำตาล และค่อย ๆ กลายเป็นสีเหลืองใส ลักษณะเป็นเลือดจาง ๆ มีมูกปน เนื่องจากในช่วงนี้น้ำคาวปลาจะประกอบด้วยน้ำเหลือง เยื่อเมือก เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว
- Lochia alba ออกต่อจากน้ำคาวปลาสีเหลืองใสไปจนถึงประมาณ 6 สัปดาห์หลังคลอด ในระยะนี้น้ำคาวปลาจะมีสีเหลืองขุ่น หรือสีขาว เนื่องจากมีเม็ดเลือดแดงลดน้อยลง แต่เม็ดเลือดขาว ไข เมือก และเซลล์บุผนังช่องคลอดมากขึ้น ปริมาณจะค่อยๆ ลดน้อยลงจนแห้งสนิท
โดยปกติกลิ่นคาวปลาจะกลิ่นเหมือนประจำเดือน หากมีกลิ่นเหม็นเน่าจะแสดงถึงการติดเชื้อ
น้ำคาวปลาแบบไหนที่ผิดปกติ?
น้ำคาวปลาลักษณะดังต่อไปนี้หมายถึงอาการผิดปกติ หากมีแล้วควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็นเน่า พร้อมกับมีอาการปวดมดลูกมาก อาจมีไข้ร่วมด้วย ซึ่งแสดงถึงการติดเชื้อ
- น้ำคาวปลามีปริมาณมากจนเมื่อสวมใส่ผ้าอนามัยรองรับไว้ต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุก 1 ชั่วโมง มีสีแดงสด มีก้อนเลือดหรือลิ่มเลือดออกมา จะเป็นภาวะเลือดออกผิดปกติหลังคลอด ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจาก การรับประทานยาขับเลือด การมีชิ้นส่วนรกค้างอยู่ในมดลูก การติดเชื้อในเยื่อบุโพรงมดลูก ความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด เป็นต้น
- น้ำคาวปลาจางไปแล้วกลับมามีสีแดงสดอีกครั้ง
- มีน้ำคาวปลาออกมาก ร่วมกับมีอาการเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว
ดูแลตัวเองอย่างไรในช่วงที่มีน้ำคาวปลา?
ในช่วงมีน้ำคาวปลา คุณแม่หลังคลอดควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
- รักษาความสะอาดของร่างกาย ดูแลอวัยวะเพศให้สะอาด ไม่อับชื้น
- เปลี่ยนผ้าอนามัยตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมม อับชื้น ซึ่งอาจทำให้เกิดการสะสมเชื้อโรคต่างๆ ได้
- ไม่แช่อ่างน้ำหรือว่ายน้ำ เนื่องจากปากมดลูกยังเปิดอยู่ อาจทำให้มีน้ำเข้าไปในโพรงมดลูก ทำให้เกิดการติดเชื้อได้
- ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ในช่วงหลังคลอด อย่างน้อย 3 เดือน
- ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่สบายๆ ไม่ควรใส่กางเกงรัดรูป เพราะอาจทำให้เกิดการอับชื้นสะสมได้
- หลีกเลี่ยงการทำงานหนักและยกของหนัก
จะเห็นได้ว่ามารดาหลังคลอด ในช่วงที่มีน้ำคาวปลา จะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาก ดังนั้นจึงควรดูแลรักษาความสะอาด หมั่นสังเกตลักษณะน้ำคาวปลารวมถึงอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น หากมีความผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ วินิจฉัย และรักษาอย่างทันท่วงที ป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่รุนแรงตามมา