กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
พญ. วรรณวนัช เสถียนธรรมมณี แพทย์ทั่วไป
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
พญ. วรรณวนัช เสถียนธรรมมณี แพทย์ทั่วไป

อาการปวดกระบอกตาเกิดจากสาเหตุอะไร

ปวดกระบอกตาเกิดจากสาเหตุอะไร มีวิธีแก้และป้องกันอย่างไรบ้าง
เผยแพร่ครั้งแรก 27 ก.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 30 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 8 ต.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
อาการปวดกระบอกตาเกิดจากสาเหตุอะไร

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • กระบอกตา คือ กล้ามเนื้อบริเวณรอบๆ ดวงตาซึ่งมักจะเกิดอาการปวดอยู่บ่อยๆ และอาจปวดลามไปถึงบริเวณทั่วขมับ และหน้าผาก
  • ปวดกระบอกตามักเกิดจากความอ่อนล้า หรือความตึงเครียดของกล้ามเนื้อต้นคอ หรือกล้ามเนื้อตา ซึ่งมีสาเหตุมาจากการอ่านหนังสือ การเพ่งจอคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือนานๆ
  • โรคต้อหิน โรคไซนัสอักเสบ โรคไมเกรน โรคต่อมไทรอยด์ ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับดวงตา และโพรงจมูก คือ สาเหตุที่ทำให้ปวดกระบอกตาได้
  • อาการปวดกระบอกตาจะรักษาไปตามอาการของโรคที่ทำให้เกิด เช่น การนวดเบ้าตา หรือขมับ การใช้ยาหยอดตา ล้างจมูก การใช้ยาแก้ปวด
  • วิธีป้องกันอาการปวดกระบอกตาทำได้ไม่ยาก เช่น อย่าเพ่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือนานเกินไป พกยาแก้ปวดติดตัวบ้าง ไม่อยู่ในที่อุณหภูมิร้อนจัด หรือมีแสงแดดจ้า หมั่นไปตรวจสุขภาพตาว่า มีโรคแทรกซ้อนหรือไม่ (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพตาได้ที่นี่)

อาการปวดกระบอกตา มักพบเจอ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ต้องเพ่งหน้าจอคอมพิวเตอร์เกือบทั้งวัน หรือผู้ที่ต้องใช้สายตาในการทำงานเป็นเวลานาน ซึ่งส่วนมากมักจะบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ โดยการรับประทานยาแก้ปวด 

แต่ก็มีผู้ป่วยบางรายที่รับประทานแล้วไม่หาย แถมอาการยังคงเกิดขึ้นซ้ำๆ จนสร้างความรำคาญ และทรมานในระหว่างวัน ซึ่งสาเหตุของอาการปวดกระบอกตาอาจเกิดมาจากปัจจัยทั่วไปในชีวิตประจำวัน หรือเกิดจากโรคร้ายแรงบางชนิดก็ได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจตา รักษาโรคตาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 437 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

รู้จักกับกระบอกตา

กระบอกตา (Orbit wall) คือ กล้ามเนื้อที่อยู่บริเวณรอบๆ ดวงตา ซึ่งบริเวณนี้มักจะมีปัญหาการปวดเกิดขึ้นได้บ่อยๆ โดยอาจเกิดจากความตึงเครียดของกล้ามเนื้อต้นคอ หรือเกิดจากการปวดร้าวไปทั่วบริเวณขมับ และหน้าผาก

สาเหตุของอาการปวดกระบอกตา

ผู้ป่วยที่มีอาการปวดกระบอกตาจะรู้สึกปวดร้าว หรือรู้สึกตึงจากบริเวณด้านหลังของดวงตา นั้นเกิดได้จากทั้งโรคเกี่ยวกับศีรษะ และดวงตา หรือภาวะทางสายตาบางอย่าง ดังนี้

  • กล้ามเนื้อตาล้า: เกิดจากการใช้สายตาอย่างหนัก โดยใช้สายตาเพ่งกับสิ่งที่ละเอียดใกล้ๆ เป็นเวลานาน เช่น  การจ้องมองจอโทรศัพท์มือถือ หรือจอคอมพิวเตอร์ การอ่านหนังสือ หรือการทำงานฝีมือที่ต้องใช้ความละเอียด ซึ่งพฤติกรรมดัง ยังส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้ายทอย ปวดบริเวณขมับ หรือบางรายก็อาจเวียนศีรษะถึงขั้นคลื่นไส้ได้

  • สายตาสั้น ยาว หรือเอียง: ค่าสายตาที่ผิดปกติจะทำให้ผู้ป่วยต้องเพ่งมองขณะจ้องมองวัตถุต่างๆ เพื่อให้การมองเห็นชัดขึ้น ซึ่งจะพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุมาก

  • โรคต้อหิน: โรคนี้จะทำให้ความดันในลูกตาสูง จนส่งผลให้มีอาการปวดศีรษะและลามมาที่กระบอกตาได้

  • โรคไซนัสอักเสบ: โรคนี้จะทำให้จมูกมีอาการคัดแน่น ทำให้ผู้ป่วยหายใจไม่ออก ปวดโพรงจมูก มีไข้ และรู้สึกอ่อนเพลีย ทั้งยังทำให้รู้สึกปวดบริเวณโพรงจมูกไปจนถึงรอบดวงตาด้วย

  • โรคไมเกรน: โรคนี้เกิดได้จากการกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วย เช่น แสงแดด อากาศที่ร้อนจัด ความเครียด การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การใช้สายตามากเกินไป

    สาเหตุเหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดศีรษะ และอาจรู้สึกปวดร้าวลามมาที่กระบอกตาได้ด้วย

  • โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ: เป็นโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันซึ่งร่างกายได้สร้างขึ้นมาเพื่อทำลายตนเอง อีกทั้งยังปล่อยฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากเกินไป จนทำให้กล้ามเนื้อตาโปน และทำให้เกิดอาการปวดด้านหลังดวงตา หรือกระบอกตา

การรักษาอาการปวดกระบอกตา

การรักษาอาการปวดกระบอกตาจำเป็นจะต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เสียก่อนว่า มีสาเหตุมาจากโรคอะไร เมื่อพบสาเหตุแล้วก็จะใช้วิธีการรักษาไปตามโรคนั้น เช่น

  • กล้ามเนื้อตาล้า: เพราะอาการนี้เกิดมาจากการใช้กล้ามเนื้อตาในท่าซ้ำๆ มากเกินไป สามารถรักษาได้จากการนวดเบ้าตา และขมับด้วยนิ้วมือ การกระคบร้อนบริเวณดวงตา เพื่อให้ระบบไหลเวียนโลหิตบริเวณตาทำงานดีขึ้น

    หรือวิธีกระพริบตาบ่อยๆ แล้วให้พักสายตา และกลอกตาเป็นวงกลม ซ้ายไปขวา บนลงล่าง จนกว่าจะหายปวด ก็อาจช่วยได้ และหากมีอาการตาแห้งก็สามารถใช้น้ำตาเทียมหยอดร่วมด้วยก็ได้

  • โรคต้อหิน: สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาหยอดตา เพื่อทำให้ม่านตาแคบลง และเพื่อลดความดันตา ซึ่งเมื่อความดันตาลดลงแล้ว ผู้ป่วยก็อาจต้องระบายน้ำในลูกตาออกด้วย และยังต้องรักษาด้วยการทำเลเซอร์ เพื่อทำให้การไหลเวียนของน้ำในลูกตาเป็นไปอย่างปกติ

  • โรคไซนัสอักเสบ: สามารถรักษาได้จากการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ และรับประทานยาแก้ปวด หรือหากพบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย ก็ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อร่วมด้วย แต่หากผู้ป่วยอาการหนักมาก ก็อาจต้องเข้ารับการผ่าตัด

  • โรคไมเกรน: รักษาด้วยการใช้ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาที่มีฤทธิ์แรงกว่านั้นหากอาการยังไม่ดีขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์

  • โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ: แพทย์จะให้ยาที่ช่วยยับยั้งการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ร่วมกับการให้สารกัมมันตรังสีไอโอดีน (Radioactive Iodine: RAI) หรืออาจรักษาด้วยการผ่าตัดแล้วรับประทานยาทดแทนไทรอยด์ฮอร์โมน

การป้องกันและการดูแลตัวเอง

ผู้ป่วยไม่ควรรับประทานยาเองในขณะที่ยังหาสาเหตุของอาการปวดไม่ได้ เนื่องจากยาอาจไปส่งผลกระทบทำให้ระบบการทำงานส่วนอื่นๆ ของร่างกายผิดปกติไป 

ดังนั้นในเบื้องต้น คุณจึงควรดูแลสุขภาพตามหลักสุขอนามัยทั่วไปก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคที่อาจเป็นสาเหตุของการปวดกระบอกตา และป้องภาวะที่ทำให้เกิดอาการปวดกระบอกตาได้ เช่น

  • ไม่มองหน้าจอโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน และหาเวลาพักสายตาบ้างเพื่อให้กล้ามเนื้อตาผ่อนคลาย
  • พักผ่อนให้เพียงพอ 
  • รับประทานอาหารให้เหมาะสมตามโภชนาการ 5 หมู่ และหมั่นออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อุณหภูมิร้อนจัด หรือต้องเจอกับแสงแดดจ้านานๆ
  • พกยาแก้ปวดติดกระเป๋าไว้บ้าง เพื่อจะได้ระงับอาการปวดที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันได้
  • หมั่นตรวจสุขภาพตาว่า มีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นกับดวงตาหรือไม่ หรือมีค่าสายตาที่เปลี่ยนไปหรือไม่

การรักษาโรคที่เป็นตัวต้นเหตุทำให้เกิดอาการปวดกระบอกตาเป็นทางรักษาที่ดีที่สุด เพื่อให้อาการปวดกระบอกตาดีขึ้น และไม่กลับมาเป็นซ้ำ 

แต่นอกจากการรักษาโดยแพทย์แล้ว ผู้ป่วยก็ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานการณ์ที่เป็นปัจจัยทำให้ปวดกระบอกตาได้ด้วย หรือหากผู้ป่วยรู้สึกปวดไม่มาก ก็ให้รับประทานยาแก้ปวดเป็นรักษาเบื้องต้นไปก่อน 

ทั้งนี้ หากคุณพบว่า มีอาการปวดรุนแรงมากขึ้น หรือปวดบ่อยๆ ร่วมกับมีไข้สูงด้วย ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง และรับการรักษาที่ถูกต้องอย่างเหมาะสมต่อไป

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพตา เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป