วิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวมีหลายทางด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นใช้ถุงยางอนามัย หรือการรับประทานยาคุมกำเนิด ซึ่งล้วนเป็นวิธีป้องกันที่ปลอดภัย และลดโอกาสตั้งครรภ์ได้สูง
อย่างไรก็ตาม หากวันไหนคุณลืมคุมกำเนิดขึ้นมา ก็อาจพลาดท่าท้องได้เหมือนกัน ดังนั้นการใช้ยาฝังคุมกำเนิด หรือการฝังเข็มคุมกำเนิด จึงเป็นอีกวิธีคุมกำเนิดที่น่าสนใจ เพราะสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ถึง 100% และยังออกฤทธิ์ได้นานหลายปีด้วย
นิยามของยาฝังคุมกำเนิด
ยาฝังคุมกำเนิด หรือ การฝังเข็มคุมกำเนิด (Contraceptive Implant) เป็นวิธีการคุมกำเนิดชั่วคราว โดยใช้หลอดยาเล็กๆ ขนาดไม่เกิน 4.3 x 0.25 เซนติเมตร ฝังเข้าไปใต้ผิวหนังบริเวณท้องแขน
โดยในหลอดยานั้นบรรจุฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) เพียงชนิดเดียว ซึ่งทำให้ร่างกายไม่เกิดการตกไข่ ส่งผลให้เยื่อเมือกที่ปากมดลูกเหนียวข้น จนอสุจิผ่านเข้าไปได้ยาก และทำให้ผนังมดลูกบางลง ไข่ที่ได้รับการผสมจะไม่สามารถเกาะผนังมดลูกได้
การออกฤทธิ์ของยาฝังคุมกำเนิด
หากทำการฝังยาคุมกำเนิดในช่วง 5 วันแรกที่มีประจำเดือน ยาจะสามารถออกฤทธิ์คุมกำเนิดได้ทันที แต่หากฝังหลังจากนั้น หรือหลังหมดประจำเดือน ยาจะสามารถคุมกำเนิดได้หลังการฝังอย่างน้อย 7 วัน ในระหว่างนี้ หากมีเพศสัมพันธ์จึงควรใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย
หลังจากตั้งครรภ์ สามารถฝังยาคุมกำเนิดได้ทันทีหลังการให้กำเนิด หรือแท้งบุตร
วิธีการฝังยาคุมกำเนิด
การฝังยาคุมกำเนิดจะทำบริเวณท้องแขนข้างที่ไม่ถนัด โดยขั้นแรกแพทย์จะทำความสะอาดผิวหนัง และฉีดยาชาที่บริเวณดังกล่าว จากนั้นจะใช้เข็มเปิดแผล และสอดหลอดยาเข้าไปใต้ผิวหนัง เมื่อเรียบร้อยแล้วจึงนำเข็ม และแท่งนำหลอดยาออกมา แล้วปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ ตามด้วยผ้าพันแผล
หลังการฝังยาคุมกำเนิด 24 ชั่วโมง เราสามารถนำผ้าพันแผลออกได้ ส่วนพลาสเตอร์ให้แปะไว้อีก 3-5 วัน แล้วจึงเอาออก ระหว่างนั้นให้ดูแลความสะอาดของแผลให้ดี และหากปวดแผล ให้รับประทานยาแก้ปวดที่แพทย์ให้
ระยะเวลาการอยู่ของยาฝังคุมกำเนิด
ยาฝังคุมกำเนิดมีอายุการใช้งาน 3-5 ปี ขึ้นอยู่กับปริมาณยา หากยาหมดอายุแล้ว ก็สามารถนำออก และฝังยาใหม่ได้ หรือหากต้องการนำยาฝังออกก่อนหมดอายุ ก็สามารถให้แพทย์เอาออกให้ได้ โดยแพทย์จะฉีดยาชาบริเวณที่ฝัง จากนั้นกรีดแผลเล็กๆ และคีบหลอดยาออก ตามด้วยการทำแผลตามปกติ
ข้อดีของยาฝังคุมกำเนิด
- สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดีกว่าการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น รวมถึงไม่จำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยหรือรับประทานยาคุมร่วมด้วย
- คุมกำเนิดได้ยาวนานถึง 3-5 ปี
- เป็นวิธีที่ปลอดภัย จึงสามารถทำได้หลังคลอดบุตร หรือระหว่างให้นมบุตร โดยไม่เป็นอันตรายต่อแม่ และเด็ก
- ช่วยลดอาการปวดประจำเดือนในช่วงปีแรกหลังฝังยาคุมกำเนิด อีกทั้งช่วยให้ปริมาณประจำเดือนน้อยลงด้วย
- ผลจากฮอร์โมนทำให้แบคทีเรียเข้าสู่ช่องคลอดได้ยากขึ้น จึงช่วยลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานได้
- ลดความเสี่ยงต่อความผิดปกติต่างๆ เช่น การท้องนอกมดลูก และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
- ฮอร์โมนจะกระจายในปริมาณน้อย และไม่เกิดการสะสมในร่างกาย หลังนำยาฝังคุมกำเนิดออกจึงสามารถกลับมาตั้งท้องได้เร็วกว่าการฉีดยาคุม
- ไม่ส่งผลต่อการทำงานของตับ
- เหมาะสำหรับผู้ที่ใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานแล้วลืมบ่อย และผู้ที่แพ้ฮอร์โมนเอสโตรเจน
ข้อเสียของยาฝังคุมกำเนิด
- การฝังและถอดยาคุมกำเนิดอาจรู้สึกเจ็บ และต้องให้แพทย์เป็นผู้กระทำ ไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง
- ประจำเดือนอาจมาไม่ปกติ ในช่วงปีแรกของการฝังยาคุมกำเนิด
- หลอดยาที่ฝังอาจเลื่อนหลุดจากตำแหน่งเดิม จนต้องเปิดแผลเพื่อแก้ไขใหม่
- ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
- ยาบางชนิดมีผลต่อประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด โดยเฉพาะยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี ยารักษาวัณโรค และยากันชัก
ผลข้างเคียงของยาฝังคุมกำเนิด
- หลังฝังยาคุมกำเนิดอาจพบเลือดออกกะปริบกะปรอยในช่องคลอด หรือมีตกขาวมาก ในบางรายอาจต้องทานยาคุมที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อลดอาการเลือดออก
- ในช่วง 3 เดือนแรก อาจมีอาการปวดท้องน้อย และประจำเดือนขาด
- ฮอร์โมนอาจส่งผลให้มีอารมณ์แปรปรวน สิวขึ้น คลื่นไส้ เจ็บคัดเต้านมได้
- ในช่วงแรกมักมีอาการปวดแผลบริเวณที่ฝังยาคุม และผิวหนังส่วนนั้นอาจเกิดแผลเป็นได้
- การฝัง และถอดยาคุมอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่แผล จนแผลบวมแดง อักเสบ เป็นหนอง ซึ่งพบได้น้อย
ผลข้างเคียงดังกล่าวมักไม่เป็นอันตรายร้ายแรง แต่หากผู้ที่ฝังยาคุมกำเนิดแล้วมีอาการผิดปกติรุนแรง เช่น ปวดศีรษะมาก แน่นหน้าอก หายใจลำบาก แผลอักเสบติดเชื้อ ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
ข้อควรระวังของการใช้ยาฝังคุมกำเนิด
ผู้หญิงที่มีภาวะต่อไปนี้ ไม่ควรรับการฝังยาคุมกำเนิด
- ผู้ที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีเลือดออกผิดปกติ หรือมีเลือดออกหลังมีเพศสัมพันธ์
- ผู้มีอาการปวดหัวไมเกรน
- ผู้มีภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือด
- ผู้มีประวัติเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดแดง และหลอดเลือดสมอง
- ผู้ป่วยโรคตับอักเสบ ตับแข็ง หรือมีเนื้องอกในตับ
- ผู้มีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านม
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ผู้ที่แพ้ส่วนประกอบในยาคุมกำเนิด
หญิงวัยเจริญพันธุ์สามารถติดต่อขอฝังยาคุมกำเนิดได้ที่โรงพยาบาลทั่วไป โดยผู้หญิงที่เพิ่งคลอดบุตรภายใน 6 สัปดาห์ และวัยรุ่นอายุ 10-20 ปี สามารถเข้ารับการฝังยาคุมกำเนิดได้ฟรี ที่โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ ตามนโยบาย การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นปี 2559
ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง ผู้ชายทุกวัย เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android