การสวนปัสสาวะ (Urinary catheterization)

เผยแพร่ครั้งแรก 29 พ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 7 นาที
การสวนปัสสาวะ (Urinary catheterization)

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • สายสวนปัสสาวะ ใช้สำหรับระบายปัสสาวะออกจากกระเพาะปัสสาวะ  เรียกการใส่สายสวนปัสสาวะนี้ว่า แคทธีเตอร์ (Catheter)
  • เหตุผลที่ต้องใช้สายสวนปัสสาวะ มีหลายสาเหตุ เช่น ผู้ป่วยมีปัญหาด้านการปัสสาวะ หรือต้องการทำให้กระเพาะปัสสาวะว่างเปล่าในระหว่างที่คลอดบุตร หรือเข้ารับการผ่าตัด
  • สายสวนปัสสาวะ แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ สายสวนปัสสาวะแบบปล่อยหรือสวนเป็นครั้งคราว และสายสวนปัสสาวะแบบคาสายหรือสวนค้าง
  • รีบไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการผิดปกติเหล่านี้ ซึ่งได้แก่ สายสวนปัสสาวะอุดตัน ปัสสาวะรั่วไหลออกมา มีเลือดในปัสสาวะ ปวดเกร็งหน้าท้อง มีไข้ หนาวสั่น หรือสายสวนหลุดออก
  • เพื่อความปลอดภัยในการใช้สายสวนปัสสาวะ ในครั้งแรกที่ใช้ควรทำโดยแพทย์ หรือพยาบาล และหากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดูแลสายสวนปัสสาวะหลังออกจากโรงพยาบาลควรสอบถามอย่างละเอียด (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่)

การสวนปัสสาวะ คือ ขั้นตอนที่ใช้ในการระบายปัสสาวะออกจากกระเพาะปัสสาวะ โดยการใส่สายสวนปัสสาวะหรือเรียกว่า แคทธีเตอร์ (Catheter)

การสวนปัสสาวะสามารถทำได้โดยแพทย์หรือพยาบาลภายในโรงพยาบาล สามารถใส่ได้ 2 ช่องทางคือผ่านท่อปัสสาวะ (Urethral catheter) หรือผ่านช่องท้อง (Suprapubic catheter) โดยส่วนมากจะคาสายสวนเอาไว้ในกระเพาะปัสสาวะแล้วให้ปัสสาวะไหลผ่านท่อและเก็บไว้ในถุง 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สายสวนมีหลายประเภทขึ้นอยู่กับการใช้งาน โดยสายสวนแต่ละชนิดแตกต่างกัน สามารถคาไว้ระยะสั้นเป็นนาที หรือชั่วโมง หรือหลายวัน บางชนิดคาไว้ได้ในระยะยาว หรือถาวรก็ได้ 

ทำไมต้องใช้สายสวนปัสสาวะ

สายสวนจะใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ปัสสาวะลำบาก หรือใช้ในกรณีที่ต้องการให้กระเพาะปัสสาวะว่างเปล่าในก่อน และหลังการผ่าตัด หรือใช้ในการทดสอบบางชนิด หรือเหตุผลต่างๆ ดังเช่น

  • เพื่อให้ปัสสาวะระบายออก ในกรณีที่มีการอุดตันในท่อปัสสาวะ เช่นในผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต
  • ในกรณีผู้ป่วยที่กล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะอ่อนแรง หรือปลายประสาทถูกทำลาย ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ไม่สามารถปัสสาวะด้วยตนเองได้
  • ทำให้กระเพาะปัสสาวะว่างเปล่าในระหว่างที่คลอดบุตร ในกรณีที่ให้ยาชาทางช่องไขสันหลัง
  • เพื่อระบายปัสสาวะออกก่อน หลัง หรือ ระหว่างการผ่าตัดต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณช่องท้อง
  • ทำในกรณีที่ต้องการนำยาไปสู่กระเพาะปัสสาวะโดยตรง เช่น ในการทำเคมีบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
  • เป็นการรักษาภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้เมื่อรักษาโดยวิธีอื่นไม่ได้ผล 

ชนิดของสายสวนปัสสาวะ

สายสวนประกอบด้วย 2 ประเภทหลัก ได้แก่

  • สายสวนปัสสาวะแบบปล่อย หรือสวนเป็นครั้งคราว (Intermittent catheters) เป็นสายที่ใส่ไว้แค่ชั่วคราว ถอดออกเมื่อระบายปัสสาวะออกจากระเพาะปัสสาวะออกหมดแล้ว
  • สายสวนปัสสาวะแบบคาสาย หรือสวนค้าง (Indwelling catheters) เป็นสายที่คาไว้เป็นวันหรือเป็นสัปดาห์ โดยสายชนิดนี้เป็นที่นิยมมากกว่าเนื่องจากสะดวกและเลี่ยงการถอดใส่สายบ่อยๆ แต่การคาสายไว้นานก็จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อเช่นกัน

ขั้นตอนการใส่สายสวนปัสสาวะนั้นจะระคายเคืองต่อผู้ป่วย ดังนั้นจึงควรใช้เจลยาชาทาก่อนเพื่อลดความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วย และอาจจะรู้สึกไม่สบายตัวได้ถึงแม้สายสวนจะเข้าที่แล้ว แต่ในผู้ป่วยส่วนมากจะรู้สึกชินไปเองหลังจากระยะเวลาหนึ่ง 

วิธีการดูแลสายสวนปัสสาวะ

หากผู้ป่วยจำเป็นต้องคาสายสวนไว้หลังจากออกจากโรงพยาบาล ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตัวและวิธีดูแลสายสวนปัสสาวะ และรวมถึงการเตรียมสายสำรองไว้ วิธีการปฏิบัติตัวเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ หรือเลือดออกกะปริบกะปรอย 

ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติขณะคาสายสวนอยู่ โดยถุงเก็บปัสสาวะนั้นจะเก็บไว้ใต้เครื่องแต่งกายได้ และผู้ป่วยสามารถทำงาน ออกกำลังกาย ว่ายน้ำ หรือแม้แต่มีกิจกรรมทางเพศได้ปกติ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ความเสี่ยงและปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในการใส่สายสวนปัสสาวะ

ปัญหาหลักที่อาจเกิดขึ้นได้คืออาจมีการติดเชื้อในท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ หรืออาจติดเชื้อในไตก็ได้แต่เกิดได้น้อยกว่า ซึ่งประเภทของการติดเชื้อดังกล่าวเรียกว่า โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection: UTI) และส่วนมากต้องรักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะ

สายสวนปัสสาวะยังสามารถทำให้เกิดปัญหาอื่นได้ เช่น การหดเกร็งของกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอาการคล้ายกับการปวดเกร็งหน้าท้อง กระเพาะปัสสาวะรั่ว อุดกั้น หรือเสียหายไปถึงทางเดินปัสสาวะได้ 

ประเภทของสายสวนปัสสาวะ

สายสวนปัสสาวะแบ่งได้หลายประเภท สายแต่ละประเภทก็มีการใช้ที่แตกต่างกัน โดยประเภทหลักมีดังนี้

1. สายสวนปัสสาวะปล่อยหรือสวนเป็นครั้งคราว (Intermittent catheters) 

เป็นสายที่ใส่ไว้แค่ชั่วคราว ถอดออกเมื่อระบายปัสสาวะออกจากระเพาะปัสสาวะออกหมดแล้ว โดยจะมีการสอนผู้ป่วยให้ใช้สายสวนด้วยตนเอง ซึ่งจะเรียกว่า การสวนปัสสาวะแบบสะอาดด้วยตนเอง (Clean intermittent self-catheterisation: CISC) 

สายสวนชนิดนี้จะถูกสอดใส่เข้าไปในกระเพาะปัสสาวะโดยผ่านท่อปัสสาวะ ซึ่งสายสวนจะผ่านการฆ่าเชื้อและเคลือบด้วยสารหล่อลื่น พร้อมสวนทันทีเพื่อลดความเจ็บปวด ระคายเคืองขณะใส่สายสวน ปลายของสายสวนจะเป็นปลายเปิดสำหรับระบายปัสสาวะออกหรือปลายเปิดเชื่อมต่อกับถุงเก็บปัสสาวะก็ได้ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ส่วนปลายอีกด้านของสายสวนจะใช้สวนใส่เข้าไปผ่านท่อปัสสาวะจนไปถึงกระเพาะปัสสาวะและระบายปัสสาวะออกมาได้ สายประเภทนี้จะถูกถอดออกเมื่อปัสสาวะระบายออกมาหมดแล้ว และใช้สายเส้นใหม่เมื่อต้องการระบายปัสสาวะอีกครั้ง

2. สายสวนปัสสาวะแบบคาสายหรือสวนค้าง (Indwelling catheters) 

เป็นสายที่คาไว้เป็นวัน หรือเป็นสัปดาห์ โดยสายชนิดนี้ปลายด้านหนึ่งจะเป็นถุงน้ำเพื่อป้องกันการหลุดออกของสายสวน เรียกว่าสายโฟเล่ (Foley catheters) 

ปัสสาวะจะถูกระบายออกทางท่อซึ่งปลายทอจะมีถุงเชื่อมติดอยู่เพื่อเก็บปัสสาวะ ซึ่งถุงเก็บนี้จะเก็บไว้บริเวณขาด้านใน หรือติดอยู่กับขาตั้งที่วางไว้บนพื้นก็ได้ 

สายสวนชนิดนี้บางประเภทอาจจะมีวาล์วติดอยู่ได้ โดยวาล์วนี้สามารถเปิดไว้เพื่อให้ปัสสาวะระบายออก หรือปิดไว้เพื่อให้กระเพาะปัสสาวะกักเก็บปัสสาวะไว้ให้เต็มก่อนที่จะระบายออกก็ได้ โดยสายสวนชนิดนี้เหมาะสมกับการคาสายไว้ไม่เกิด 3 เดือน หากเกินนั้นควรเปลี่ยนสายใหม่

3. สายสวนแบบผ่านบริเวณหัวหน่าว (Suprapubic catheters) 

สายสวนประเภทนี้เป็นหนึ่งในสายสวนชนิดคาสาย หรือสวนค้าง สายสวนชนิดนี้ใส่โดยการเจาะรูผ่านช่องท้อง และใส่สายสวนเข้าไปสู่กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งการเจาะเปิดช่องท้องจะทำโดยการผ่าตัด และให้ยาสลบแก่ผู้ป่วย 

สายสวนชนิดนี้จะใช้เมื่อท่อปัสสาวะของผู้ป่วยอุดกั้น หรือมีความเสียหายทำให้ไม่สามารถใช้สายสวนแบบเป็นครั้งคราวได้ 

สายสวนชนิดนี้จะติดและเก็บไว้บริเวณข้างลำตัวและเชื่อมต่อกับถุงเก็บปัสสาวะ และควรเปลี่ยนทุกๆ 6-8 สัปดาห์ 

การใช้ชีวิตโดยมีสายสวนปัสสาวะ

ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติแม้มีการคาสายสวนปัสสาวะเอาไว้ โดยผู้ป่วยจะชินกับการใช้งานและ ก่อนจะต้องจากโรงพยาบาล พยาบาลจะแนะนำการใช้งานและวิธีการดูแลสายสวนให้แก่ผู้ป่วย

ชุดอุปกรณ์สวนปัสสาวะ

ผู้ป่วยจะได้รับอุปกรณ์สวนปัสสาวะก่อนที่จะออกจากโรงพยาบาล พร้อมทั้งข้อมูลในการหาซื้อชุดสวนปัสสาวะในอนาคต โดยมากชุดอุปกรณ์สายสวนสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์การแพทย์ และจะได้รับการสอนในเรื่องการระบายปัสสาวะออกและเปลี่ยนชุดอุปกรณ์

การสวนปัสสาวะด้วยตนเอง

หากได้รับการสอนจากโรงพยาบาลในการสอดสายสวนชนิดปล่อยเป็นครั้งคราวแล้ว ผู้ป่วยควรสอดสายสวนปัสสาวะประมาณ 2-3 ครั้งต่อวันเพื่อที่จะระบายปัสสาวะออกออกจากถุงเก็บปัสสาวะ ซึ่งสายสวนชนิดนี้ถูกออกแบบมาให้ใช้แล้วทิ้งเท่านั้น 

จำนวนการเปลี่ยนสายต่อวันนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล อาจจะแบ่งช่วงเวลาเปลี่ยนต่อวัน หรือเปลี่ยนแต่ละครั้งที่รู้สึกอยากปัสสาวะก็ได้

ส่วนสายสวนชนิดคาไว้ สามารถระบายถุงเก็บปัสสาวะบริเวณขาออกได้ซึ่งบริเวณก้นถุงสามารถเปิดก๊อกระบายปัสสาวะออกได้ หรืออาจระบายปัสสาวะออกโดยใช้วาล์วก็ได้ ซึ่งถุงเก็บปัสสาวะควรระบายออกเมื่อถุงเต็มแล้วหรือหนึ่งในสามของถุงก็ได้ 

ตัววาล์วจะสามารถใช้เปิด-ปิดเพื่อระบายปัสสาวะระหว่างวันได้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีปัสสาวะคั่งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ โดยทั้งถุงและวาล์วควรเปลี่ยนทุกๆ 5-7 วัน 

ในเวลากลางคืนผู้ป่วยควรใช้ถุงขนาดใหญ่ขึ้น และเชื่อมต่อกับวาล์ว โดยถุงควรจะแขวนไว้กับขาตั้งใกล้กับเตียงและพื้นห้องเพื่อกักเก็บปัสสาวะในขณะนอนหลับ ซึ่งถุงที่ใช้กลางคืนมีหลายแบบขึ้นอยู่กับชนิดของถุง โดยอาจจะเปลี่ยนในตอนเช้า หรือระบายออก ทำความสะอาด และนำกลับมาใช้ก็ได้

อย่างไรก็ตาม สายสวนนี้จะต้องถอดและเปลี่ยนอย่างน้อยทุกๆ 3 เดือน ซึ่งการเปลี่ยนจะทำโดยแพทย์ หรือพยาบาลเท่านั้น 

การป้องกันการติดเชื้อหรือโรคร่วมอื่นในการสวนปัสสาวะ

การใช้สายสวนชนิดคาไว้จะเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หรือปัญหาอื่นๆได้ เช่น ทางเดินปัสสาวะอุดกั้น ผู้ป่วยจะได้รับการแนะนำในการลดความเสี่ยงการติดเชื้อ เช่น

  • การล้างมือ อาบน้ำ และล้างสายสวนด้วยน้ำอุ่นและสบู่ โดยควรล้างมือก่อนและหลังสัมผัสกับอุปกรณ์สวนปัสสาวะ
  • ดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอ โดยดื่มจนปัสสาวะมีสีอ่อน
  • ป้องกันอาการท้องผูก โดยการดื่มน้ำให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงเช่นผัก และผลไม้
  • ตรวจสอบการบิดงอของสายสวนปัสสาวะ และให้ถุงเก็บปัสสาวะอยู่ต่ำกว่าระดับของกระเพาะปัสสาวะเสมอ 

การทำกิจวัตรประจำวันของผู้ใช้สายสวนปัสสาวะ

ผู้ป่วยที่ต้องใช้สายสวนสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติ โดยผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรในกิจวัตรประจำวันเบื้องต้น และการไปทำงาน ออกกำลังกาย ว่ายน้ำ ใช้เวลาในช่วงวันหยุด และมีกิจกรรมทางเพศได้อย่างปลอดภัย

หากผู้ป่วยใช้สายสวนแบบชั่วคราวหรือเจาะผ่านช่องท้อง ผู้ป่วยสามารถมีกิจกรรมทางเพศได้อย่างปกติ สายสวนชนิดคาไว้อาจเป็นปัญหาได้ 

แต่ผู้ป่วยก็สามารถมีกิจกรรมทางเพศได้ทั้งที่ยังคาสายสวนอยู่ เช่น ผู้ชายสามารถม้วนสายไว้กับอวัยวะเพศ และสวมถุงยางอนามัยทับไว้ได้ ในบางกรณีอาจถอดสายออกเพื่อให้มีกิจกรรมทางเพศได้ง่ายขึ้น 

เมื่อต้องการคำแนะนำเกี่ยวกับสายสวนปัสสาวะ

ผู้ป่วยควรติดต่อพยาบาล หรือแพทย์ประจำตัวของท่าน หากมีอาการเช่น หดเกร็งของกระเพาะปัสสาวะซึ่งมีอาการคือปวดเกร็งหน้าท้อง มีการอุดตันของสายสวนปัสสาวะ หรือปัสสาวะรั่วไหลออกมา มีเลือดในปัสสาวะ

หรือมีอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เช่น ปวด มีไข้ หนาวสั่น หรือสายสวนหลุดออก ควรไปพบแพทย์ทันที 

ความเสี่ยงในการใช้สายสวนปัสสาวะ

ความเสี่ยงหลักในการใช้สายสวนปัสสาวะคือบางครั้งจะมีแบคทีเรียเข้ามาในร่างกายได้ ซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อในท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ หรือไตได้ การติดเชื้อบริเวณเหล่านี้เรียกว่า กลุ่มโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infections: UTIs) 

การเป็นกลุ่มโรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะจากการสวนปัสสาวะ

กลุ่มโรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้สายสวนปัสสาวะอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งความเสี่ยงในการเกิดโรคจะสูงขึ้นหากผู้ป่วยใช้สายสวนประเภทคาไว้ (indwelling catheter)

อาการของโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเนื่องจากการใช้สายสวนมีอาการดังนี้

  • ปวดท้องบริเวณช่วงล่างและรอบๆขาหนีบ
  • ไข้สูง
  • หนาวสั่น
  • รู้สึกสับสน มึนงง

หากมีอาการเหล่านี้แนะนำให้พบแพทย์ เพื่อเริ่มรักษา โดยการรักษาจะใช้ยาปฏิชีวนะ

ความเสี่ยงอื่นๆ

  • มีการหดเกร็งของกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอาการคือปวดเกร็งหน้าท้อง และเกิดได้บ่อยในผู้ป่วยที่มีสายสวนอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ โดยการปวดเกร็งนั้นเกิดจากกระเพาะปัสสาวะพยายามที่จะบีบตัวให้ลูกโป่งด้านในกระเพาะปัสสาวะออกไป อาจจะใช้ยาลดการปวดเกร็งหน้าท้องได้
  • มีการรั่วของสายสวนแบบคาสาย อาจเกิดจากการหดเกร็งของกระเพาะปัสสาวะ หรือมีการเกิดช่องท้อง การรั่วไหลอาจบ่งชี้ได้ว่ามีการอุดกั้นของสายสวน ดังนั้นการระบายปัสสาวะออกจากสายสวนจึงมีความสำคัญมาก
  • มีเลือดปนอยู่ในสายสวน เกิดได้บ่อยในสายสวนชนิดคาสาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาการอุดกั้นของสายสวนได้ ควรพบแพทย์เพื่อแก้ไขปัญหา
  • อาการที่อาจเกิดขึ้นได้แต่ไม่บ่อยนัก ได้แก่ มีการบาดเจ็บเกิดขึ้นภายในท่อปัสสาวะ ขณะสอดใส่สายสวน หรือท่อปัสสาวะแคบลงเนื่องจากเนื่อเยื่อหนาตัวขึ้นจากการสอดสายสวนเป็นเวลานาน หรือมีการบาดเจ็บของกระเพาะปัสสาวะ
    หรือทวารหนักเนื่องจากการสอดสายสวนที่ผิดวิธี หรือการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งโดยมากเกิดจากการใช้สายสวนเป็นเวลาหลายปี

สายสวนปัสสาวะจำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินปัสสาวะ อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน ควรขอคำแนะนำจากแพทย์ หรือพยาบาลหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้งาน และรีบไปพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดเกร็งหน้าท้อง มีไข้ หนาวสั่น หรือสายสวนหลุดออก

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android 


9 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Urinary catheter: Uses, types, and what to expect. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/324187)
Urinary catheters. MedlinePlus. (https://medlineplus.gov/ency/article/003981.htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)