“โรคกรดไหลย้อน” เกิดได้จากสาเหตุเพียงเล็กๆ น้อยๆ แต่เมื่อเป็นแล้วกลับส่งผลกระทบต่อร่างกายอย่างมาก สาเหตุอาจจะเกิดได้จากการกินไปจนถึงขณะนอนพักผ่อน การรักษาจึงควรทำควบคู่กันไปตั้งแต่การปรับการดำเนินชีวิตประจำวัน การรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน และอาจเสริมด้วยการใช้สมุนไพรอย่าง "ขมิ้นชัน"
ทำความรู้จักกับ "ยาขมิ้นชัน"
ขมิ้นชัน เป็นสมุนไพรไทย ที่ใช้หัวเหง้าทำเป็นยารักษา ซึ่งจะมีสีเหลืองอมส้ม มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ที่สำคัญคือ มีงานวิจัยศึกษารองรับว่าขมิ้นชัน ช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ ดังนี้
ผลิตภัณฑ์สำหรับเข่าและกระดูก สูตรเฉพาะ รวมสารสกัดที่ผ่านงานวิจัย คอลลาเจน UC-II ขมิ้นชัน งาดำ และวิตามิน
ซื้อผ่าน HD ประหยัดกว่า / ราคาพิเศษสำหรับ นศ. / ผ่อน 0% / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
- กระตุ้นการหลั่งเมือก (Mucin) มาเคลือบที่กระเพาะ
- มีฤทธิ์ลดการอักเสบ โดยสารสำคัญ ชื่อ เคอร์คิวมิน (Curcumin) มีฤทธื์ต้านการอักเสบได้ แต่ไม่ได้ช่วยแก้ปวด หรือลดไข้
- มีฤทธิ์สมานแผลในกระเพาะอาหาร (Wound healing) โดยมีน้ำมันหอมระเหย ชื่อ เทอเมอร์ริก (Turmeric) เป็นสารออกฤทธิ์ป้องกันและรักษาแผลในกระเพาะอาหาร มีการทดลองทางคลินิกในผู้ที่มีอาการปวดท้องจากแผลในกระเพาะอาหาร โดยให้ขมิ้นชันเทียบกับยาลดกรด รวมถึงอาการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผลเปื่อยในกระเพาะอาหาร พบว่าขมิ้นชันสามารถรักษาโรคกระเพาะอาหาร และบรรเทาอาการไม่สบายท้องต่างๆ ได้
- มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย จากน้ำมันหอมระเหยของขมิ้นชัน
- มีฤทธิ์ป้องกันการเกิดแผล สามารถช่วยไม่ให้แผลในทางเดินอาหารเพิ่มขึ้น
การรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันและสมุนไพรทางเลือก
ในการแพทย์แผนปัจจุบันจะใช้การรักษาโรคกรดไหลย้อน ด้วยการรับประทานยาเคลือบกระเพาะอาหาร หรือยาลดกรดเพื่อรักษาแผลในกระเพาะร่วมกับการปรับพฤติกรรมต่างๆ ส่วนในกรณีที่ใช้ยาสมุนไพร “ขมิ้นชัน” ได้รับการยอมรับว่าสามารถใช้รักษาแทนยาแผนปัจจุบันได้ และเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน โรคแผลในกระเพาะอาหาร ลดอาการ ท้องอืด จุกเสียด ได้ แต่ต้องควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วย
สารอาหารและสรรพคุณทางยาในขมิ้นชัน
ขมิ้นชันอุดมไปด้วยวิตามินหลายชนิด เช่น วิตามินบีรวม วิตามินซี วิตามินอี วิตามินเค นอกจากนั้นขมิ้นชันยังสามารถช่วยบรรเทาอาการโรคกรดไหลย้อนได้จากสรรพคุณทางยาดังต่อไปนี้
- ลดการอักเสบของหลอดอาหารที่ทำให้เกิดการแสบร้อนกลางอก แสบลิ้นปี่ กลืนอาหารลำบาก ช่วยให้อาการเจ็บคอและไอเรื้อรังลดลง
- ลดการอักเสบของแผลในกระเพาะอาหาร เมื่อไม่มีการอักเสบจึงทำให้ไม่ปวดแสบท้อง อีกทั้งอาการท้องอืดแน่นเฟ้อในกระเพาะอาหารก็ลดลงไปด้วย
- ลดอาการอักเสบของตับและช่วยบำรุงตับ
ขนาดและวิธีรับประทานยาขมิ้นชัน
รูปแบบยา: ยาเม็ด ยาแคปซูล
ขนาดและวิธีใช้: รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ถึง 1 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ขมิ้นชัน
ยา ไม่ว่าจะเป็นยาสมุนไพร หรือยาแผนปัจจุบัน สามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียง หรืออาการไม่พึงประสงค์ได้ทั้งสิ้น ซึ่งหากเกิดอาการผิวหนังอักเสบจากการแพ้ หลังรับประทานยาขมิ้นชัน ควรหยุดรับประทาน และเข้าพบแพทย์แผนปัจจุบัน หรือแพทย์แผนไทย เพื่อประเมินอาการ และรับการรักษาใหม่ที่เหมาะสมต่อไป
ข้อห้ามในการใช้ยาขมิ้นชัน
- ห้ามใช้ในผู้ที่ท่อน้ำดีอุดตัน หรือผู้ที่ไวต่อยานี้
- ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ยานี้
คำเตือนในการใช้ขมิ้นชัน
- ควรระวังการใช้ในผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดี ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์
- ควรระวังการใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์
- ควรระวังการใช้ในเด็ก เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิผล และความปลอดภัย
- ควรระวังการใช้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่ม (Anticoagulants) และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (Antiplatelets)
- ควรระวังการใช้ร่วมกับยาที่มีกระบวนการเมแทบอลิซึม ผ่านเอนไซม์ Cytochrome P450
- ควรระวังการใช้ร่วมกับยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด เช่น doxorubicin, chlormethine, cyclophosphamide และ camptothecin เนื่องจาก curcumin อาจมีผลต้านฤทธิ์ยาดังกล่าว
สรุป นับว่าขมิ้นชันเป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่งสำหรับผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน เมื่อใช้ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตั้งแต่การควบคุมน้ำหนัก งดดื่มสุราและสูบบุหรี่ ไม่รับประทานอาหารเย็นในปริมาณมาก และไม่นอนทันทีหลังมื้ออาหาร และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ ก็จะช่วยให้ลดปัจจัยเสี่ยงในการกำเริบของโรคกรดไหลย้อนอย่างเห็นผลชัดเจน