เวลาที่เรามีอาการเจ็บคอจนแทบจะไม่สามารถกลืนอาหารได้ตามปกติ พูดคุยลำบาก บางครั้งก็มีไข้สูงร่วมด้วย คล้ายๆ เหมือนกับเป็นอาการของโรคหวัด แต่เราควรตรวจวินิจฉัยให้ดีก่อนว่าเป็นอาการของโรคต่อมทอนซิลอักเสบชนิดเฉียบพลันใช่หรือไม่ เพื่อที่จะได้ทำการรักษาได้อย่างถูกต้อง
ต่อมทอนซิลอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงอายุ แต่พบในเด็กมากกว่าวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โดยเกิดขึ้นที่บริเวณต่อมทอนซิลคู่ซ้ายและขวาที่อยู่ในลำคอใกล้กับโคนลิ้น ซึ่งทำหน้าที่กำจัดเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ลำคอ แต่เป็นเนื้อเยื่อที่ไม่มีความสำคัญมากนัก เมื่อตัดออกไปแล้วก็ยังมีต่อมน้ำเหลืองบริเวณอื่นที่สามารถทำหน้าที่แทนได้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
สาเหตุของการเกิดโรคต่อมทอนซิลอักเสบ
ต่อมทอนซิลอักเสบสามารถเกิดจากเชื้อโรคได้ทั้ง 3 ชนิดที่แตกต่างกันออกไปดังต่อไปนี้
- เชื้อไวรัส เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มอะดีโนไวรัส (Adenovirus) และกลุ่มอินฟลูเอนซา (Influenza) ซึ่งเป็นชนิดเดียวกันกับที่ก่อให้เกิดโรคหวัดชนิดธรรมดาและโรคไข้หวัดใหญ่ การติดเชื้อไวรัสเหล่านี้มักพบได้มากกว่าการติดเชื้อชนิดอื่นๆ ถึง 70 – 80% ของโรคต่อมทอนซิลอักเสบทั้งหมด
- เชื้อแบคทีเรีย มักจะเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดสเตรปกลุ่มเอ (Group A beta hemolytic streptococcus) หรือที่รู้จักในอีกชื่อว่า “สเตรปโธรท” (Strep throat)
- เชื้อรา มักจะพบในผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำ อย่างเช่นผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส HIV เป็นต้น
โรคต่อมทอนซิลอักเสบสามารถติดต่อกันได้เหมือนกับโรคหวัดธรรมดาและโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมาจากการสัมผัสเชื้อโรคจากผู้ป่วยที่มีเชื้อเหล่านี้อยู่ในตัว เช่น ลมหายใจ การไอ การจาม การสัมผัสสารคัดหลั่งน้ำมูกหรือน้ำลายของผู้ป่วย รวมถึงการใช้สิ่งของร่วมกันที่สามารถสัมผัสสารคัดหลั่งจากผู้ป่วยได้ เช่น ช้อน แก้วน้ำ และผ้าเช็ดหน้า เป็นต้น
ในทางการแพทย์จะจัดให้โรคต่อมทอนซิลอักเสบอยู่รวมกับโรคลำคออักเสบ เนื่องจากมักจะมีอาการอักเสบเพราะการติดเชื้อที่ลำคอเสมอ โดยมีระยะฟักตัวของโรคประมาณ 2 – 4 วัน แต่ถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรียสเตรปโธรทจะมีระยะฟักตัวสั้นเพียง 12 ชั่วโมง
อาการของต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นหนอง
อาการที่สังเกตเห็นได้ชัดและพบบ่อยก็คือ รู้สึกเจ็บคอเวลากลืนอาหารหรือดื่มน้ำ มีกลิ่นปากไม่พึงประสงค์ เมื่อกดที่บริเวณคอตรงกับตำแหน่งของต่อมทอนซิลจะรู้สึกเจ็บ อาจจะมีไข้สูงหรือไข้ต่ำที่ขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อโรค ถ้าเป็นเชื้อไวรัสจะมีไข้สูงมากกว่าการติดเชื้อแบคทีเรีย
นอกจากนี้ยังมีอาการปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ คัดจมูก มีน้ำมูกใสแต่ไม่มากนัก อาจจะมีอาการปวดหูอันเนื่องมาจากผลกระทบจากการอักเสบที่ลำคอ ซึ่งมีผลต่อการอักเสบของหูด้วยเช่นกัน เพราะเป็นอวัยวะที่เชื่อมต่อถึงกันด้วยท่อจากลำคอถึงหูชั้นกลางนั่นเอง
ต่อมทอนซิลจะมีอาการโตเล็กน้อยหรือโตมากก็ได้ แต่จะโตทั้งสองข้างอักเสบบวมแดง อีกทั้งอาจจะมีสารคัดหลั่งสีเหลืองปกคลุมหรือเป็นหนองกระจายอยู่ทั่วไป ส่วนต่อมน้ำเหลืองที่ด้านหน้าลำคอส่วนบนจะโตทั้งสองข้าง สามารถคลำได้และรู้สึกเจ็บ สำหรับการติดเชื้อแบคทีเรีย แต่ถ้าเป็นเชื้อไวรัสจะเป็นต่อมน้ำเหลืองที่ด้านหลังลำคอบริเวณใกล้กกหู ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าการติดเชื้อแบคทีเรีย
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
การรักษาต่อมทอนซิลอักเสบ เป็นหนอง
เมื่อแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเจ็บป่วยเป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบอย่างแน่นอน โดยจะรักษาตามสาเหตุของชนิดเชื้อโรคนั้นๆ ซึ่งมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกันออกไป หากเป็นเชื้อไวรัสก็จะรักษาประคับประคองตามอาการเท่านั้น สำหรับเชื้อแบคทีเรียจะใช้ยาปฏิชีวนะ ส่วนเชื้อราก็จะใช้วิธีการรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อรา
นอกจากนี้อาจจะมีการใช้ยาแก้ปวดหรือยาลดไข้ร่วมด้วย เพื่อรักษาประคับประคองอาการที่เกิดขึ้นตามมา ในบางกรณีที่เป็นโรคต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง เมื่อได้รับยาปฏิชีวนะแล้วยังไม่ดีขึ้น หรือต่อมทอนซิลมีอาการโตมากจนกระทั่งอุดกั้นทางเดินหายใจ แพทย์มักจะแนะนำวิธีการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อมทอนซิล เนื่องจากเกรงว่าอาจจะเป็นอาการเริ่มต้นของโรคมะเร็งต่อมทอนซิลหรือโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองของต่อมทอนซิลนั่นเอง
ควรหยุดทำงานหรือหยุดเรียนเพื่อให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างเต็มที่อย่างน้อย 1 วัน และเป็นการป้องกันเชื้อโรคแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น ถ้ามีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ประเภทพาราเซตามอล ดื่มน้ำเปล่ามากๆ แล้วแยกของใช้ส่วนตัวจากผู้อื่น โดยเฉพาะช้อนส้อมและแก้วน้ำ
หมั่นบ้วนปากด้วยน้ำเกลือ “นอร์มอลซาไลน์” บ่อยๆ เป็นการรักษาความสะอาดภายในช่องปาก และยังช่วยทำให้ภายในลำคอชุ่มชื้นมากขึ้น หรืออมยาอมที่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านสะดวกซื้อและร้านขายยาทั่วไป แต่ถ้ามีอาการต่อมทอนซิลโตเพียงข้างเดียว หรือไข้ไม่ลดลงภายใน 2 – 3 วัน หายใจลำบาก บริเวณต่อมทอนซิลมีหนอง ไม่สามารถกลืนอาหารหรือน้ำได้เลย ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาทันที
เริ่มต้นจากการดูแลตัวเองตามลักษณะสุขอนามัยที่ดี รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรคที่ดี หมั่นล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ ทั้งก่อนรับประทานอาหารและหลังจากเข้าห้องน้ำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในแต่ละวันหรืออย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง พร้อมกับหลีกเลี่ยงการสัมผัสหรือคลุกคลีกับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคต่อมทอนซิลอักเสบได้มากพอสมควร