กระดูกร้าวจากการใช้งานมาก หรือสเตรสแฟรกเจอร์ (stress fracture) เกิดขึ้นเมื่อมีการใช้งานกระดูกชิ้นใดชิ้นหนึ่งบ่อยๆ จนกระดูกไม่มีโอกาสซ่อมแซมตัวเอง กระดูกชิ้นนั้นจึงเกิดการหักร้าวในระดับอนุภาคเล็กๆ (micro fracture) ซึ่งมักมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าหรือจากการเอ็กซเรย์กระดูกเอ็กซเรย์ธรรมดา
กระดูกหักร้าวจากสาเหตุนี้พบได้ในกระดูกเกือบทุกชิ้น แต่ที่พบบ่อย (เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย) ได้แก่ กระดูกแข้ง กระดูกเท้า กระดูกน่อง กระดูกต้นขา
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ปัจจัยเสี่ยงกระดูกร้าว
ปัจจัยเสี่ยงของกระดูกแตกร้าวจากการใช้งาน ได้แก่ อาชีพ เช่น ทหาร นักกีฬาประเภทลู่ เป็นต้น หรือคนที่ไม่เคยออกกำลังกายและมาออกกำลังกายหักโหมทันที ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนถาวร คนที่มีฝ่าเท้าแบนราบกับพื้น และผู้ป่วยภาวะกระดูกบางและกระดูกพรุน
อาการกระดูกร้าว
โดยปกติแล้วกระดูกร้าวจากการใช้งานมาก กระดูกจะยังไม่ผิดรูป ยังใช้งานได้ และไม่มีรอยฟกช้ำ (ซึ่งต่างจากกระดูกหักทั่วไป) แต่จะมีอาการปวดเรื้อรัง ซึ่งอาการปวดจะค่อยเป็นค่อยไป และอาจกดเจ็บในบริเวณกระดูกหักร้าวได้ อาจมีบวมและบวมมากขึ้นเมื่อใช้งาน แต่อาการต่างๆ จะดีขึ้นเมื่อพักการใช้งาน
ถ้าหากพักการใช้งานแล้วไม่รู้สึกดีขึ้น มีอาการรุนแรงมากกว่าเดิม ควรรีบพบแพทย์ทันที
การวินิจฉัยกระดูกร้าว
แพทย์วินิจฉัยกระดูกหักร้าวจากการใช้งานมากได้จากประวัติส่วนตัว ซักถามอาการ ตรวจร่างกาย ซึ่งจำเป็นต้องตรวจด้วยการเอ็กซเรย์กระดูก ตรวจภาพถ่ายกระดูกด้วยเอ็มอาร์ไอ หรือการตรวจภาพกระดูกจากการสแกนกระดูกด้วยน้ำยาแร่รังสี (เป็นการตรวจทางการแพทย์ด้านเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ซึ่งสามารถตรวจภาพกระดูกหักชนิดมองไม่เห็นจากการเอกซเรย์) และการตรวจอื่นๆ ตามดุลพินิจของแพทย์
แนวทางการรักษากระดูกร้าว
เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ คือ รับประทานยาบรรเทาอาการปวด และใช้เครื่องช่วยพยุงกระดูกส่วนนั้น ที่สำคัญเลย คือ พักการใช้กระดูกส่วนนั้นอย่างน้อย 4 - 12 สัปดาห์ เพื่อให้กระดูกฟื้นฟูตัวเอง แต่อาจนานกว่านั้น ขึ้นกับตำแหน่งและความรุนแรงของอาการ หรือบางครั้งอาจต้องผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์
ผลข้างเคียงและความรุนแรง
กระดูกหักร้าวจากการใช้งานมากเป็นโรคไม่รุนแรง แต่ส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลง
การดูแลตนเองและการพบแพทย์
- พักการใช้งานกระดูกชิ้นนั้น เช่น หากเกิดการร้าวในกระดูกขา ควรงดการลงน้ำหนักในขาข้างนั้น
- ปฏิบัติตามที่แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัดแนะนำ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อกระดูก (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ"กระดูกหัก" เลือกทานอาหารอย่างไรให้ฟื้นตัวเร็ว)
- ใช้น้ำแข็งประคบ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดและลดบวม ควรทำในช่วง 24 ชั่วโมงแรกของอาการปวด
- เมื่อแพทย์อนุญาตให้กลับไปทำงาน ต้องค่อยๆ เริ่มงานและต้องมีเวลาพักการใช้งานกระดูกมากขึ้นกว่าเดิม
- พบแพทย์ตามนัดเสมอ และรีบพบแพทย์ก่อนนัดเมื่ออาการต่างๆ แย่ลงหรือผิดปกติไปจากเดิม
การป้องกันกระดูกร้าว
- สวมรองเท้าให้เหมาะสมกับลักษณะเท้า และลักษณะกิจกรรมที่ทำ
- เมื่อประกอบอาชีพที่เป็นปัจจัยเสี่ยง ควรหาทางพักการใช้งานกระดูกและควรปฏิบัติตามกติกาหรือตารางการฝึกฝน เช่น การอบอุ่นร่างกายก่อนเริ่มงาน
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อการเสริมสร้างมวลกระดูก เช่น ปลาเล็กปลาน้อย นม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม เป็นต้น
- ในปัจจุบัน คนส่วนใหญ่หันมาวิ่งมาราธอนมาก ซึ่งควรจะบริหารตารางการวิ่งและฝึกซ้อมให้ดี ไม่ควรวิ่งติดต่อกันมากจนเกินไป