ทีมแพทย์และเภสัชกร HonestDocs
เขียนโดย
ทีมแพทย์และเภสัชกร HonestDocs
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ และสิทธิบัตรทอง กับการฟอกไต

รู้ทันสวัสดิการเกี่ยวกับการฟอกไต ทั้งสิทธิประกันสังคม ข้าราชการ บัตรทอง เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการรักษา
เผยแพร่ครั้งแรก 20 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 10 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ และสิทธิบัตรทอง กับการฟอกไต

เป็นที่ทราบกันว่า การรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายนั้นจะต้องมีการฟอกไต ซึ่งใช้เวลายาวนานต่อเนื่องหลายปี และมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง สิ่งหนึ่งที่จะช่วยแบ่งเบาภาระค่ารักษาได้ และคนส่วนมากมีสิทธิ์อยู่แล้ว คือสิทธิประกันสังคม ซึ่งหากผู้ป่วยและญาติมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและสิทธิการรักษา ก็จะช่วยให้สามารถตัดสินใจรับการรักษาได้อย่างเหมาะสม และเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องได้ โดยเกิดผลกระทบต่อภาระการเงินของครอบครัวน้อยที่สุด

ปัจจุบันการฟอกไตที่นิยมทำในประเทศไทยมี 2 แบบ ได้แก่ การฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) กับการฟอกของเสียผ่านทางเยื่อบุช่องท้อง (Peritoneal dialysis) ค่าใช้จ่ายของการฟอกไตทั้ง 2 แบบแตกต่างกัน โดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมจะมีค่าใช้จ่ายในการทำเส้นสำหรับการฟอกเลือดแบบเหมาจ่าย ในอัตรา 5,000-22,000 บาท/ครั้ง และมีค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมประมาณครั้งละ 2,000 บาทขึ้นไป/ราย ขึ้นอยู่กับประเภทของสถานบริการสุขภาพ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจไต ฟอกไต รักษาโรคไต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 50 บาท ลดสูงสุด 83%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมจะต้องเข้ารับการฟอกเลือด 2-4 ครั้ง/สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำงานของไตที่เหลืออยู่ของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตที่ให้การรักษา

สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่รับการฟอกของเสียผ่านทางเยื่อบุช่องท้อง ในปัจจุบันรัฐบาลสนับสนุนค่าบริการเหมาจ่ายผู้ป่วยแต่ละรายในอัตรา 2,500 บาท/เดือน

นอกจากค่าใช้จ่ายในการฟอกไตจะต่างกันตามรูปแบบการรักษาแล้ว การฟอกไตทั้งสองวิธียังมีค่าใช้จ่ายในการรักษาต่างกันตามสิทธิการรักษาอีกด้วย โดยสิทธิการรักษาของประชาชนชาวไทยมี 3 ระบบ ได้แก่ สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการ สิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพ

สิทธิค่าใช้จ่ายในการฟอกไต

สิทธิการรักษาแต่ละระบบมีรายละเอียดเกี่ยวกับผู้มีสิทธิและรายการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฟอกไต ดังนี้

  1. สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ หมายถึง สิทธิคุ้มครองบริการรักษาพยาบาลให้แก่ข้าราชการและบุคคลในครอบครัว (บิดา มารดา คู่สมรส และบุตร ที่ถูกต้องตามกฎหมาย) เมื่อเจ็บป่วยสามารถเข้าบริการรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลของรัฐ โดยมีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ทำหน้าที่ดูแลระบบและออกกฎระเบียบ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้แจ้งผ่านประกาศกระทรวงการคลังเกี่ยวกับสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลผู้มีสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ในการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ครั้งละ 2,000 บาท และสามารถเบิกจ่ายค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ และค่าชันสูตรได้ตามสิทธิ
  2. สิทธิประกันสังคม สิทธิ์นี้จะคุ้มครองบริการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้ประกันตนตามสิทธิสามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลที่เลือกลงทะเบียน โดยสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ทำหน้าที่ดูแลระบบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แจงสิทธิประโยชน์คุ้มครองผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรัง สนับสนุนค่าใช้จ่ายกรณีเตรียมเส้นสำหรับฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม หรือวางท่อเพื่อฟอกของเสียผ่านทางเยื่อบุช่องท้อง จำนวน 20,000 บาท/ราย/ 2 ปี สำหรับการสนับสนุนการฟอกของเสียกรณีฟอกของเสียผ่านทางเยื่อบุช่องท้อง สปส. สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการฟอกของเสียจำนวน 20,000 บาท/คน/เดือน และสนับสนุนกรณีค่าฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

    ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมอาจเบิกค่าฟอกไตได้ไม่เท่ากัน โดยแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ดังนี้
    • กลุ่มที่ 1 ผู้ที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังก่อนเป็นผู้ประกันตน จะได้เบิกค่ารักษาพยาบาลในอัตราครั้งละไม่เกิน 1,000 บาท และไม่เกิน 3,000 บาท/สัปดาห์
    • กลุ่มที่ 2 ผู้ที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังหลังเป็นผู้ประกันตน จะได้เบิกค่ารักษาพยาบาลในอัตราครั้งละไม่เกิน 1,500 บาท และไม่เกิน 4,500 บาท/สัปดาห์
  3. สิทธิหลักประกันสุขภาพ หรือ สิทธิ 30 บาท หรือ สิทธิบัตรทอง สิทธิ์นี้จะคุ้มครองบุคคลที่เป็นคนไทยมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ที่ไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการข้าราชการ หรือสิทธิประกันสังคม หรือสิทธิสวัสดิการรัฐวิสาหกิจ หรือสิทธิอื่นๆ จากรัฐ ให้ได้รับบริการสาธารณสุขที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่บริหารจัดการระบบเพื่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีมาตรฐานอย่างทั่วถึง ตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด

ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีสิทธิหลักประกันสุขภาพและได้รับการบำบัดทดแทนไต

ปัจจุบันมี 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2551 และกลุ่มที่ได้รับการบำบัดทดแทนไตหลังวันที่ 1 ตุลาคม 2551 เป็นต้นไป

  1. ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต อนวันที่ 1 ตุลาคม 2551 หรือ โดยทั่วไปเรียกว่า “ผู้ป่วยฟอกไตรายเก่า” ที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพในการฟอกไต ก่อนรัฐบาลจะประกาศใช้นโยบายส่งเสริมการล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก หรือ CAPD first policy จะได้รับสิทธิในการฟอกไตครั้งละ 1,500 บาท และเบิกได้ไม่เกิน 3 ครั้ง/สัปดาห์ แต่สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปและมีโรคเรื้อรังเกี่ยวกับอวัยวะอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ ปอด ตับร่วมด้วย และฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมในหน่วยบริการ หรือสถานบริการขนาดใหญ่ที่มีการให้บริการหอผู้ป่วยไอซียู จะได้รับสิทธิในการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมครั้งละ 1,700 บาท เบิกได้ไม่เกิน 3 ครั้ง/สัปดาห์
  2. ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ได้รับการบำบัดทดแทนไต หลังวันที่ 1 ตุลาคม 2551 หรือ โดยทั่วไปเรียกว่า “ผู้ป่วยฟอกไตรายใหม่” ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพ สามารถไปลงทะเบียนใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพได้ที่หน่วยบริการตามสิทธิ เพื่อให้คณะกรรมการฯ ระดับจังหวัดพิจารณาการให้บริการทดแทนไตที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่คณะกรรมการพิจารณาให้รับการรักษาด้วยการล้างไตผ่านทางเยื่อบุช่องท้องอย่างต่อเนื่อง สปสช. ได้จัดบริการส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้านโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อให้เข้าถึงบริการทดแทนไตได้ง่ายขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

    แพทย์จะเป็นผู้นัดผู้ป่วยมารับการตรวจเพื่อติดตามอาการประมาณทุก 1-2 เดือน ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ประสงค์รับการฟอกไตด้วยการล้างไตผ่านทางเยื่อบุช่องท้อง และประสงค์จะรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ผู้ป่วยจะต้องชำระค่าฟอกไตเอง ยกเว้นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีโรคเรื้อรังเกี่ยวกับอวัยวะอื่นๆ เช่น โรคหัวใจ ปอด ตับร่วมด้วย หรือผู้ป่วยที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตพิจารณาและลงความเห็นว่ามีข้อจำกัดในการรับการรักษาด้วยการล้างไตผ่านทางเยื่อบุช่องท้อง จะได้รับสิทธิในการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเช่นเดียวกับ “ผู้ป่วยฟอกไตรายเก่า”

ช่องทางตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลตามกฎหมาย

สิทธิการรักษาและสิทธิในการได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมาก อาจยากต่อการทำความเข้าใจสำหรับประชาชนโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม คนไทยทุกคนมีสิทธิรักษาพยาบาลตามกฎหมายสิทธิใดสิทธิหนึ่งและสามารถตรวจสอบสิทธิของตนเองได้ 2 ช่องทาง ได้แก่

  1. ติดต่อด้วยตนเองได้ที่สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำหรับผู้พักอาศัยในกรุงเทพมหานคร สามารถติดต่อสำนักงานเขตของ กทม. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพสุชภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กทม.
  2. ตรวจสอบสิทธิรักษาพยาบาลผ่านระบบอัตโนมัติ ดังนี้
    1. โทร. 1330 กด 2 ตามด้วยเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก (เสียค่าบริการ 3 บาท/ครั้ง)
    2. ผ่านเว็บไซต์ www.nhso.go.th

หากต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการรักษาด้วยการฟอกไตอย่างละเอียด สามารถขอรับข้อมูลได้จากหน่วยฟอกไตของคลินิก หรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน เพราะข้อมูลเรื่องสิทธิในการรักษากรณีฟอกไตมีรายละเอียดปลีกย่อยที่มากกว่าค่าใช้จ่ายในการฟอกไต และผู้ป่วยจำเป็นต้องรู้เพื่อบริหารจัดการค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่มากกว่าการได้รับการสนับสนุนตามสิทธิ


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. (2559). คู่มือบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2560: การบริหารงบริการผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง.
สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน, ประกันสังคม แจงสิทธิคุ้มครองผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคไต (www.sso.go.th), เข้าถึงเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2562.
กระทรวงการคลัง. หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังด้วยวิธีการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (https://www.cgd.go.th), เข้าถึงเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2562.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ฟอกไตแบบไหนดี
ฟอกไตแบบไหนดี

รู้จักการฟอกไตด้วยเครื่องและการฟอกไตทางช่องท้อง แนวทางรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะท้ายๆ ที่ไม่ว่าใครก็ไม่อยากเจอ

อ่านเพิ่ม