เหงือกปลาหมอ (Sea holly)

เหงือกปลาหมอ สมุนไพรสารพัดประโยชน์ และมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ใช้รักษาสิวได้
เผยแพร่ครั้งแรก 14 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 1 นาที
เหงือกปลาหมอ (Sea holly)

เหงือกปลาหมอเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่ง ลักษณะเป็นไม้พุ่ม สูง 0.5-1 เมตร ลำต้นแข็งมีหนามตามข้อ ใบเดี่ยวรูปรี ขอบใบเว้าหยัก ปลายเป็นหนามแหลม แผ่นใบเป็นเคลื่น ผิวเรียบ เป็นมัน

ดอกเป็นดอกช่อออกที่ปลายกิ่ง มี 2 ชนิด คือ ดอกสีขาว มีจุดสีแดงหรือม่วงแดง และดอกสีม่วงอมฟ้า มีแถบสีเหลืองอ่อนกลางกลีบ ผลเป็นฝักรูปไข่หรือทรงกระบอก

ชื่อวิทยาศาสตร์ Acanthus ebracteatus Vahl
ชื่อวงศ์ ACANTHACEAE

สรรพคุณของเหงือกปลาหมอ

แต่ละส่วนของเหงือกปลาหมอ สามารถนำไปผ่านกระบวนการ ให้สรรพคุณดังนี้

  • เหงือกปลาหมอทั้งต้นตำกับพริกไทย ในอัตราส่วน 2 : 1 ผสมน้ำผึ้ง ปั้นเป็นยาลูกกลอนรับประทาน จัดเป็นยาอายุวัฒนะ บำรุงร่างกาย
  • ใบสดหรือแห้งของเหงือกปลาหมอ นำมาต้มดื่ม ใช้ขับปัสสาวะ รักษานิ่ว ถ้าเป็นใบสดนำมาตำให้ละเอียด พอกฝี แผล หรือบริเวณข้อ ช่วยลดการอักเสบ ลดอาการปวด หรือคั้นน้ำมาทาบริเวณศีรษะ มีสรรพคุณช่วยบำรุงรากผม บำรุงหนังศีรษะ
  • ใบและต้นสดของเหงือกปลาหมอ 3-4 กำมือ ใช้ต้มน้ำอาบหรือชะล้างบริเวณผิวหนัง รักษาผื่นคัน ฝีหนอง รักษาแผลเรื้อรัง โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน ลดการอักเสบของผิวหนัง
  • รากสด นำมาต้มดื่ม มีสรรพคุณขับเสมหะ แก้ไอ แก้หืด รักษาระดูขาว รักษางูสวัด
  • เมล็ด รับประทานเป็นยาขับพยาธิ รักษาประจำเดือนผิดปกติ รักษาฝี

เหงือกปลาหมอกับการรักษาสิว

เหงือกปลาหมอมีสารออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ ยับยั้งแบคทีเรีย ช่วยรักษาโรคผิวหนัง และสามารถรักษาสิวอักเสบได้ โดยนำใบเหงือกปลาหมอแห้งมาบดเป็นผง แล้วผสมน้ำ ใช้พอกบริเวณที่เกิดสิว ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้สารสกัดจากเหงือกปลาหมอเป็นส่วนประกอบในเจลรักษาสิว เพื่อให้ใช้ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

การแปรรูปและใช้ประโยชน์เหงือกปลาหมอ

เหงือกปลาหมอสามารถผลิตเป็นยาแคปซูล ยาเม็ด หรือชาชง เพื่อความสะดวกในการใช้สำหรับรับประทาน มีสรรพคุณรักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน ฝี แผล อาการอักเสบต่างๆ

นอกจากนี้ยังมีการสกัดสารจากเหงือกปลาหมอเพื่อนำมาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง เช่น ยาสระผมรักษาโรคหนังศีรษะ สบู่รักษาโรคผิวหนัง โลชันบำรุงผิวและรักษาอาการทางผิวหนัง รวมถึงทำเจลสำหรับแต้มสิว

ข้อแนะนำในการใช้เหงือกปลาหมอ

ในการศึกษาด้านพิษวิทยาและการทดสอบความเป็นพิษของเหงือกปลาหมอ พบว่าไม่มีพิษ

แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ควรใช้สมุนไพรเหงือกปลาหมอในปริมาณสูงและต่อเนื่องนาน เนื่องจากอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อระบบต่างๆ ในร่างกายได้

ทางที่ดีที่สุดก่อนใช้ยาสมุนไพรควรปรึกษาผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เช่น แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ เภสัชกร เพื่อให้ใช้ได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย


8 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
องค์การสวนพฤกษศาสตร์, เหงือกปลาหมอ (http://www.qsbg.org/database/botanic_book%20full%20option/search_detail.asp?botanic_id=1053).
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, เหงือกปลาหมอ (http://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=130).
Wiart Christophe, Acanthus ilicifolius L. (Medicinal Plants Of The Asia-pacific: Drugs for The Future?).

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)