กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ปวดหัวข้างขวา สาเหตุ และวิธีบรรเทาอาการด้วยตนเอง

สาเหตุของการปวดหัวข้างขวา และวิธีแก้ปัญหาด้วยตนเอง
เผยแพร่ครั้งแรก 27 มิ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 3 พ.ค. 2023 ตรวจสอบความถูกต้อง 21 ส.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ปวดหัวข้างขวา สาเหตุ และวิธีบรรเทาอาการด้วยตนเอง

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • อาการปวดหัวข้างขวาเกิดได้จากหลายสาเหตุ และแต่ละสาเหตุจะมีอาการร่วมที่ต่างกัน เช่น ไมเกรน มักมีอาการตาพร่ามัว อ่อนเพลีย และคลื่นไส้ หลอดเลือดที่ขมับอักเสบ จะเกิดอาการปวดแบบฉับพลัน ปวดแบบคลัสเตอร์ จะปวดหัวในช่วงเวลาเดิมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
  • เมื่อเกิดอาการปวดควรพักสายตาจากสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ นวดเบาๆ เพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ จะช่วยให้อาการปวดดีขึ้น
  • สามารถใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันหลายวัน และควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยา
  • การพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายเป็นประจำ สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ครั้งละ 30 นาทีขึ้นไป จะช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่างๆ รวมทั้งทำให้อาการปวดหัวข้างขวาดีขึ้นด้วย
  • หากอาการเกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป อาการเกิดขึ้นเฉียบพลัน มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น มีไข้ ตาพร่ามัว น้ำหนักตัวลด หมดสติ หรือเป็นผู้มีโรคร้ายแรง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคมะเร็ง ควรไปพบแพทย์ (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่)

อาการปวดหัวไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่บริเวณใดก็ตาม เช่น ขมับทั้ง 2 ด้าน ปวดด้านซ้ายหรือขวา หรือปวดหัวลามไปถึงบริเวณดวงตาหรือเบ้าตา ย่อมต้องมีสาเหตุและที่มาที่ไปของอาการ 

การปวดหัวข้างขวาก็เช่นกันกับการปวดหัวบริเวณอื่น ซึ่งอาการปวดดังกล่าวอาจเกิดจากการปวดฟัน แล้วส่งผลกระทบมาถึงอาการปวดหัว หรือประสบปัญหาภาวะความเครียด ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องสังเกตตนเองอยู่เสมอ เพื่อจะได้ทราบว่าสาเหตุที่แท้จริงของการปวดหัวข้างขวานั้นเกิดจากอะไร

ลักษณะอาการปวดหัวข้างขวา

อาการปวดหัวข้างขวาจะมีความรุนแรงและลักษณะที่แตกต่างกันไป โดยอาจเป็นไปตามต้นเหตุของโรค หรือความผิดปกติภายในร่างกาย ซึ่งสามารถแจกแจงได้ดังนี้  

1. โรคไมเกรน

โรคไมเกรน (Migraine) เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวโดยอาจปวดเพียงข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น หรือปวดทั้ง 2 ข้างก็ได้ และอาจมีอาการปวดตุ้บๆ แปล๊บๆ เล็กน้อยร่วมด้วย หรือผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกปวดจี๊ดๆ เหมือนรู้สึกเจ็บเป็นจังหวะอยู่ในหัว และสุดท้ายก็จะปวดลามไปทั้งศีรษะ และอาจลามลงมาท้ายทอยได้อีกด้วยเช่นกัน 

นอกจากนี้ โรคไมเกรนยังมักจะมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วยคือ ตาพร่ามัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และหิวบ่อย แต่โรคไมเกรนจะไม่มีอาการปวดทั้งวัน โดยอาจปวดเป็นพักๆ แล้วหายไปภายใน 72 ชั่วโมง สาเหตุของโรคไมเกรนเกิดจากหลอดเลือดในสมองขยายตัว และสารเคมีในสมองหลั่งผิดปกติ

2. หลอดเลือดที่ขมับอักเสบ 

มักเกิดกับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นการปวดที่ขมับด้านใดด้านหนึ่ง หรือทั้ง 2 ด้านพร้อมกัน โดยจะเกิดขึ้นแบบฉับพลันและสามารถสังเกตได้จากการกดที่ขมับ แล้วมีอาการเจ็บไปตามแนวหลอดเลือดบริเวณกราม 

นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยก่อนที่จะมีอาการปวดหัวข้างขวาจากสาเหตุนี้ เช่น ตาพร่ามัว มีไข้ และมีอาการอ่อนเพลีย

3. ปวดแบบคลัสเตอร์ 

อาการปวดแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headaches) เป็นอาการปวดหัวในช่วงเวลาเดิม เช่น ปวดช่วงเช้า หรือช่วงเย็นเป็นชุด ชุดละหลายครั้ง ระยะเวลาที่ปวดแต่ละครั้งจะประมาณ 1-3 ชั่วโมง และจะปวดนานติดต่อกันหลายสัปดาห์ หรืออาจเป็นเดือนก็ได้ และมักจะมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย ดังนี้

  • ปวดบริเวณขมับขวาหรือซ้าย 
  • น้ำตาและน้ำมูกไหล
  • ลืมตาลำบาก
  • รู้สึกกระสับกระส่าย

4. ปวดหัวข้างขวาพร้อมกับมีน้ำตาไหล 

เป็นอาการปวดบริเวณขมับ หรือรอบๆ ดวงตาไม่นานมากจนถึง 10 นาที เกิดขึ้นบ่อยๆ ตั้งแต่จำนวน 20–100 ครั้งต่อวัน พร้อมๆ กับมีอาการน้ำตาไหล เป็นหวัด เปลือกตาบวม และหนังตาตก

วิธีบรรเทาอาการปวดหัวข้างขวาด้วยตนเอง

  • นวดเบาๆ เพื่อผ่อนคลายบริเวณกล้ามเนื้อต้นคอหรือกดตรงขมับ จะช่วยให้อาการปวดทุเลาลงหรือผ่อนคลายได้
  • พักสายตา จากการใช้สมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์เป็นระยะๆ ด้วยการมองไปไกลๆ กระพริบตาถี่ๆ หรือเปลี่ยนอิริยาบถไปทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ สัปดาห์ละ 3–4 ครั้ง จะช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่างๆ รวมทั้งอาการปวดหัวข้างขวาก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
  • พักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอต่ออย่างเหมาะสม อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง จะช่วยป้องกันอาการปวดศีรษะอันเนื่องมาจากพักผ่อนน้อยได้
  • การใช้ยา หากเป็นอาการปวดเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาแก้ปวด หรือยาลดไข้ตามปกติได้ หรือหากเป็นเพราะโรคไมเกรน ก็ให้รับประทานยาแก้ไมเกรนตามอาการ หรือถ้าเป็นอาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์ ให้ใช้ยากลุ่มทริปเทนต์ (Triptan) ร่วมกับการสูดดมออกซิเจน ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดหัวข้างขวาได้เช่นกัน

    แต่หากหลังรับประทานยาแล้วผู้ป่วยยังคงมีอาการต่อเนื่องหลายวัน และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ตาพร่ามัว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด เดินเซ เกร็งชัก มีไข้ หนาวสั่น หมดสติ ผู้ป่วยจะต้องถูกรีบพาตัวไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องโดยเร็วที่สุด

การรักษาด้วยสมุนไพรหรือสารสกัดจากธรรมชาติต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดหัวข้างขวานั้น ควรได้รับคำแนะนำจากเภสัชกรหรือแพทย์เกี่ยวกับผลดีผลเสีย รวมทั้งอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ 

ซึ่งเราไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยปราศจากความรู้ความเข้าใจ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับสุขภาพตามมาภายหลัง

สิ่งที่ไม่ควรละเลยเมื่อปวดหัวข้างขวา

สิ่งที่ผู้มีอาการปวดศีรษะเป็นประจำไม่ควรละเลยคือ ต้องหมั่นสังเกตตัวเองอย่างละเอียดว่าเมื่อมีอาการปวดขึ้น แล้วมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลให้แพทย์วินิจฉัยได้ว่าอาการปวดศีรษะนั้นมาจากสาเหตุใด และจะได้ทำการรักษาอย่างถูกต้อง 

เพราะการปวดหัวข้างขวาในครั้งนี้ อาจหมายถึงสัญญาณของโรคร้ายบางชนิด เช่น โรคหลอดเลือดตีบตัน หรือโรคมะเร็ง 

แต่เพื่อไม่ให้เกิดความวิตกกังวลจนเกินไป เพราะอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นในหลายๆ ครั้งก็ไม่ได้เป็นอาการหรือสัญญาณที่ร้ายแรงขนาดนั้น 

คุณสามารถดูปัจจัยดังต่อไปนี้ เพื่อตรวจเช็กว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อโรคร้ายหรือความผิดปกติที่เป็นอันตรายหรือไม่

1. อาการปวดศีรษะที่ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ ได้แก่

  • อายุน้อยกว่า 30 ปี
  • มีประวัติการปวดศีรษะแบบเดียวกันมาก่อน
  • ตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติทางระบบประสาท
  • ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของแบบแผนการปวดศีรษะ หรือตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติใหม่
  • ไม่มีโรค หรือภาวะร่วมที่ถือว่าเป็นความเสี่ยง เช่น การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV)

2. อาการปวดศีรษะที่ถือว่ามีความเสี่ยง ได้แก่

  • มีอาการของระบบอื่นร่วม เช่น มีไข้ ตาพร่ามัว น้ำหนักลด หรือหมดสติ
  • มีโรคอื่นร่วม เช่น การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือโรคมะเร็ง
  • มีอาการเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน
  • อาการเกิดขึ้นหลังอายุ 40 ปี
  • มีการเปลี่ยนแปลงของแบบแผนการปวดศีรษะจากที่เคยเป็น

อาการปวดหัวข้างขวาเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุที่ร้ายแรง และไม่ร้ายแรง หากเกิดอาการติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หรือมีอาการตาพร่ามัว น้ำหนักลด หรือหมดสติร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และรับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ

หากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้อาการปวดหัวข้างขวาร้ายแรงขึ้น รวมถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดพัฒนาจนกลายเป็นโรคร้ายแรงได้

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
C. Randall Clinch, DO, MS, Chapter 28. Evaluation & Management of Headache (https://accessmedicine.mhmedical.com/content.aspx?bookid=377§ionid=40349420)
Goadsby PJ, Raskin NH. Chapter 14. Headache. In: Longo DL, Fauci AS, Kasper DL, Hauser SL, Jameson J, Loscalzo J. eds. Harrison's Principles of Internal Medicine, 18e. New York, NY: McGraw-Hill; 2012.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
จัดการกับอาการปวดคอด้วย Cervical Roll
จัดการกับอาการปวดคอด้วย Cervical Roll

จัดให้คอของคุณอยู่ในท่าที่เหมาะสมขณะหลับ

อ่านเพิ่ม
อาหารและเมนูสำหรับกรดไหลย้อน (Heartburn)
อาหารและเมนูสำหรับกรดไหลย้อน (Heartburn)

แค่ปรับอาหารและพฤติกรรมการรับประทานให้เหมาัะสม ก็สามารถรักษาอาการกรดไหลย้อนได้

อ่านเพิ่ม