แพทย์ผิวหนังบางคนเชื่อว่า อาการรูขุมขนอักเสบและคันที่เกิดขึ้นในภาวะตั้งครรภ์ (Pruritic Folliculitis of Pregnancy) เป็นรูปแบบหนึ่งของการเกิดสิว โดยมีการวินิจฉัยเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดภาวะดังกล่าวที่แตกต่างกัน โดยอาจเกิดจากแบคทีเรีย (Bacterial folliculitis) หรือเกิดจากเชื้อรา (Pityriasis folliculitis) หรือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีการติดเชื้อ
ลักษณะอาการรูขุมขนอักเสบและคันในภาวะตั้งครรภ์
- ผื่นที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะเป็นตุ่มแดงขนาดเล็ก และอาจจะมีหนอง หรือไม่มีหนองก็ได้
- ตุ่มเหล่านี้มักเริ่มเกิดบริเวณหน้าท้อง บางรายอาจกระจายไปตามแขนส่วนบน ขา บางรายที่เป็นหนักอาจกระจายไปทั่วร่างกาย
- ตุ่มมีลักษณะคล้ายสิว แต่เชื่อว่าไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
- บางรายอาจมีอาการคันร่วมด้วย
ตุ่มชนิดนี้เริ่มปรากฏอาการเมื่อไหร่
ตุ่มที่เกิดจากรูขุมขนอักเสบในภาวะตั้งครรภ์มักจะปรากฏขึ้นในช่วง 28 สัปดาห์เป็นต้นไป และจะหายไปเองหลังคลอดประมาณ 2-3 สัปดาห์
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
สาเหตุของการเกิดรูขุมขนอักเสบและคันในภาวะตั้งครรภ์
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดรูขุมขนอักเสบและคันในภาวะตั้งครรภ์ แต่เชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในขณะตั้งครรภ์ ไม่ได้มีสาเหตุจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน หรือโรคทางพันธุกรรม (Genetic Disorders) แต่อย่างใด
อาการรูขุมขนอักเสบและคันในภาวะตั้งครรภ์นั้นพบมากในหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติภูมิแพ้มาก่อน เช่น โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ (Allergic Rhinitis) หรือที่เรียกว่า แพ้อากาศ และโรคหืด (Asthma) หรือที่เรียกว่า หอบหืด เป็นต้น
วิธีการรักษาอาการรูขุมขนอักเสบและคันในภาวะตั้งครรภ์
เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดจึงยังไม่มีวิธีรักษาภาวะดังกล่าว แต่อย่ากังวล เพราะอาการรูขุมขนอักเสบและคันในภาวะตั้งครรภ์จะสามารถหายไปได้เองหลังคลอดภายใน 2-3 สัปดาห์ โดยวิธีการรักษาเบื้องต้น จะเป็นการรักษาตามอาการคล้ายกับการรักษาสิวทั่วไป
หญิงตั้งครรภ์เมื่อเกิดอาการแล้วจะต้องดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง รักษาความสะอาด และไปตรวจครรภ์ตามนัดหมาย ห้ามกด บีบ หรือเกาตุ่มโดยเด็ดขาด เพราะอาจติดเชื้อเพิ่มเติมได้
ยาที่นิยมใช้ในการรักษาอาการรูขุมขนอักเสบและคันในภาวะตั้งครรภ์
- ยาทารักษาสิวเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl peroxide) ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายและได้ผลดี ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) เพราะอาการนี้ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ
- ยาแก้แพ้ชนิดกิน (Oral antihistamine) ช่วยรักษาอาการคันได้ดี
ยาที่ไม่ควรใช้ในหญิงตั้งครรภ์และหญิงให้นมบุตร
- ยาที่ใช้รักษาโรคผิวหนังกลุ่มเรตินอยด์ (Retinoids) เช่น ไอโซเตร็ดติโนอิน (Isotretinoin)
- ยาต้านมะเร็ง (Antineoplastic agents) เช่น เมโธเทรกเซท (Methotrexate)
- ยาแก้คัน (Antipruritic agents) เช่น ไตรเมพราซีน (Trimeprazine) และด็อกเซปิน (Doxepin) เป็นยาต้านเศร้าในกลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclic Antidepressants: TCAs) ที่สามารถใช้รักษาอาการคันได้
- ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine) จัดว่ามีความเสี่ยงระดับปานกลางสำหรับการตั้งครรภ์ช่วงสามเดือนแรก และมีความเสี่ยงของการเกิดความผิดปกติแต่กำเนิดของทารก (Congenital abnormality)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) เช่น เตตราไซคลีน (Tetracycline) และไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin)
- ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) บางชนิด เช่น อินโดเมทาซิน (Indomethacin)
- ยาทาสเตียรอยด์ (Topical corticosteroid) สามารถใช้ได้ในขนาดที่เหมาะสม และหากมีการใช้ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์ เนื่องจากมีรายงานว่าทำให้ทารกในครรภ์โตช้าลง
- โพวิโดนไอโอดีน (Povidone-iodine) และโพโดฟิลลิน (Podophyllin) มีความเสี่ยงเกิดอันตรายกับทารกในครรภ์และไม่แนะนำให้ใช้ในระหว่างตั้งครรภ์
ข้อควรระวัง
ถึงแม้ว่าวิธีการรักษาอาการรูขุมขนอักเสบและคันในภาวะตั้งครรภ์จะเป็นการรักษาไปตามอาการ แต่ก็ไม่ควรไปซื้อยามาใช้ด้วยตนเอง เพราะยาบางชนิดอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมารดาและทารกได้ วิธีที่ดีที่สุดคือ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการ และสั่งซื้อยาตามใบสั่งแพทย์จะปลอดภัยกว่า
เนื่องจากอาการคันในหญิงตั้งครรภ์ไม่ได้เกิดจากสาเหตุเดียว หากรู้สึกว่ามีอาการผิดปกติ เช่น อาการคันอย่างรุนแรง หรือมีไข้ร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด
ผลกระทบต่อทารกจากอาการรูขุมขนอักเสบและคันในภาวะตั้งครรภ์
มีรายงานที่แตกต่างกันเกี่ยวกับผลกระทบต่อทารกจากอาการรูขุมขนอักเสบและคันในภาวะตั้งครรภ์ เช่น มีสถิติที่เพิ่มขึ้นของภาวะคลอดก่อนกำหนด (Premature birth) และขนาดของทารกเล็กกว่าอายุครรภ์ (Small for gestation age) เมื่อเทียบกับทารกจากการตั้งครรภ์ปกติ แต่ไม่มีหลักฐานของอัตราที่เพิ่มขึ้นของการแท้ง หรืออัตราการตายของทารกในครรภ์