หูน้ำหนวก (Otitis media) คืออาการอักเสบจากการติดเชื้อในหูชั้นกลาง รวมถึงการอักเสบของเยื่อบุช่องหูชั้นกลาง และโพรงอากาศในกระดูกมาสตอยด์ โรคนี้อาจมีสาเหตุมาจากไข้หวัด อาการเจ็บคอ หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
สาเหตุของหูน้ำหนวก
หูน้ำหนวกมักเกิดจากการติดเชื้อบริเวณจมูกและคอ เช่น เชื้อ Beta hemolytic streptococci เชื้อ Pneumococci และเชื้อ Hemophilus influenza ซึ่งเชื้อเหล่านี้ เมื่อลุกลามผ่านทางท่อยูสเตเชียนเข้าสู่หูชั้นกลางจะทำให้เกิดการอักเสบ หรือมีหนองเกิดขึ้นในหูชั้นกลาง โดยเชื้ออาจปนเปื้อนจากการที่น้ำเข้าหู หรือแคะหูด้วยวัสดุที่สกปรกก็ได้
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ชนิดของหูน้ำหนวก
หูน้ำหนวก แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ
- หูน้ำหนวกเฉียบพลัน จะเกิดขึ้นในระยะเวลาไม่เกิน 3 สัปดาห์ โดยอาจมีแก้วหูทะลุ หรือไม่ทะลุก็ได้
- หูน้ำหนวกเรื้อรัง จะอักเสบติดต่อกันนานกว่า 3 เดือน และมีแก้วหูทะลุ
อาการหูน้ำหนวก
- หูน้ำหนวกชนิดเฉียบพลัน จะทำให้มีไข้สูง เยื่อบุในช่องหูชั้นกลางบวม รู้สึกแน่นในหู หูอื้อ เมื่อตรวจดูจะพบแก้วหูโป่ง เห็นเส้นเลือดที่แก้วหู และมีหนองในหูชั้นกลาง ทำให้มีอาการปวดหูอย่างมาก การได้ยินเสียไปอย่างชัดเจน หลังจากนั้นแก้วหูจะเริ่มทะลุ ทำให้มีหนองไหลออกมา เห็นแก้วหูทะลุเป็นรูเล็กๆ และหลังจากนั้นอาการปวดจะลดลง
- หูน้ำหนวกชนิดเรื้อรัง จะส่งผลให้มีน้ำเมือก หรือหนองไหลออกจากหูแบบเป็นๆ หายๆ แต่หากสุขภาพแข็งแรง มีความต้านทานโรคดี น้ำหนวกจะหยุดไหลไปเอง ทั้งนี้ เมื่อเป็นหวัด เจ็บคอ น้ำเข้าหู หรือมีสิ่งสกปรกเข้าหูก็จะอักเสบได้อีก รวมทั้งอาจได้ยินเสียงดังในหูเป็นเสียงต่ำๆ อื้อๆ
เมื่อตรวจดูจะพบว่าแก้วหูทะลุ ในช่องหูอาจมีหนอง หรือไม่มีก็ได้ และการได้ยินผิดปกติเช่นเดียวกับหูน้ำหนวกเฉียบพลัน
การวินิจฉัยหูน้ำหนวก
แพทย์มักวินิจฉัยหูน้ำหนวกได้จากการได้ยินของผู้ป่วยที่เปลี่ยนไป อาการปวดหู หูอื้อ มีไข้ มีน้ำหรือหนองไหลจากหู ตลอดจนอาการเวียนศีรษะ มีเสียงดังในหู และปวดศรีษะ ซึ่งอาจแสดงถึงภาวะหูน้ำหนวกได้เช่นกัน
หลังจากสอบถามอาการ แพทย์จะตรวจหูด้วยเครื่องส่องหู ซึ่งมักจะพบน้ำหรือหนองในช่องหู อาจมีกลิ่นเหม็น และสังเกตได้ว่า ช่องหูบวมแดง แก้วหูทะลุ รวมทั้งอาจมีการถ่ายภาพรังสีกระดูกมาสตอยด์ และตรวจการได้ยิน ซึ่งมักพบว่า การได้ยินเสียไปแบบการนำเสียงผิดปกติ (Conduction hearing)
การรักษาหูน้ำหนวก
หูน้ำหนวกชนิดเฉียบพลัน
ภาวะหูน้ำหนวกชนิดเฉียบพลันต้องได้รับการรักษาเพื่อแก้ไขการติดเชื้อและบรรเทาอาการต่างๆ โดยให้รับประทานยาปฏิชีวนะ และให้ยาแก้ปวด หากอาการไม่ดีขึ้นอาจต้องเจาะแก้วหูเพื่อใส่ท่อระบายของเหลวออกมา ในระหว่างที่แก้วหูยังไม่ปิดต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าหูโดยเด็ดขาด ห้ามแคะหู และต้องรักษาโรคหวัดเจ็บคอ หรือโรคเกี่ยวกับการอักเสบของคอและจมูกให้หายด้วย
หูน้ำหนวกชนิดเรื้อรัง
- ต้องระวังไม่ให้น้ำเข้าหู รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ไม่ให้มีการติดเชื้อบริเวณคอ จมูก
- หากมีน้ำหนวกไหล ต้องรักษาให้แห้งตามสาเหตุของโรค เช่น หากเป็นหวัดจะให้รับประทานยาแก้แพ้ และยาลดบวม
- หากมีหูอักเสบเป็นหนอง ต้องหยอดหูด้วยยาปฏิชีวนะ หรือยาปฏิชีวนะที่ผสมเตียรอยด์ เพื่อช่วยลดการอักเสบและบวมของเยื่อบุภายในช่องหู
- หากรูหูทะลุ อาจต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะชนิดขี้ผึ้ง ในระยะนี้ผู้ป่วยห้ามสั่งน้ำมูกแรงๆ และระวังไม่ให้น้ำเข้าหู
เมื่อไหร่ที่ผู้ป่วยหูน้ำหนวกต้องได้รับการผ่าตัด
- ผู้ป่วยที่มีแก้วหูทะลุจากหูน้ำหนวกและกระดูกหูผิดปกติ อาจต้องผ่าตัดปะแก้วหู (Myringoplasty หรือ Tympanoplasty Type I) เพื่อช่วยลดการอักเสบ และช่วยให้การได้ยินดีขึ้น
- ผู้ป่วยที่มีหูน้ำหนวกเรื้อรัง แก้วหูทะลุ และกระดูกหูบางส่วนถูกทำลาย จะต้องผ่าตัดตกแต่งหูชั้นกลางร่วมกับผ่าตัดปะแก้วหู และตกแต่งกระดูกหู เพื่อให้การได้ยินดีขึ้น และรักษาอาการหูอักเสบ
- ในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นหูน้ำหนวกเรื้อรัง มีขี้ไคลก้อนเล็กๆ และกระดูกสเตียรอยด์อักเสบเล็กน้อย แพทย์จะผ่าตัดกระดูกมาสตอยด์ และปะแก้วหูร่วมกับการตกแต่งกระดูกหู (Tympano-mastoidectomy) เพื่อแก้ไขการอักเสบ และช่วยให้การได้ยินดีขึ้น
- ผู้ที่มีเส้นประสาทเฟเชียลเป็นอัมพาต (Facial nerve paralysis) ต้องผ่าตัดเพื่อลดการกดของเส้นประสาทเฟเชียล (Facial nerve decompression) ซึ่งจะช่วยแก้ไขการกดของเส้นประสาทเฟเชียลที่ผ่านหูชั้นกลาง
การดูแลตัวเองเมื่อเป็นหูน้ำหนวก
หลังการผ่าตัด 1-2 วัน แพทย์จะอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับไปดูแลตัวเองที่บ้าน และจะนัดมาตัดไหมเมื่อครบ 1 สัปดาห์ โดยต้องงดสระผมจนกว่าจะตัดไหม และห้ามให้น้ำเข้าหูนานหลายเดือน หรือจนกว่าแก้วหูจะติดดี ขณะอาบน้ำต้องใช้สำลีแห้งใส่ไว้ในช่องหู และใส่หมวกคลุมผมคลุมใบหูไว้
หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ เป็นหวัด ปวดศีรษะ เวียนศีรษะมาก ควรไปพบแพทย์ เพราะอาจมีการติดเชื้อเกิดขึ้น รวมทั้งควรระมัดระวังในขณะลุกขึ้นยืน หรือเปลี่ยนท่าทาง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากผู้ป่วยอาจมีอาการเวียนศีรษะในระหว่างนี้ นอกจากนี้ ผู้ดูแลควรดูให้แน่ใจว่า ผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะครบตามคำแนะนำของแพทย์
เวลาตื่นนอนมาแล้วลุกขึ้นเดิน ร้สึกปวดส้นเท้ามากเดินแล้วเจ็บ แต่พอเดินไปสักพักก้อหาย อาการนี้มีวิธีรักษามั๊ยคะ