นพ. ปัญญาวุฒิ ลิ้มสุขวัฒน์ แพทย์เฉพาะทางด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา
เขียนโดย
นพ. ปัญญาวุฒิ ลิ้มสุขวัฒน์ แพทย์เฉพาะทางด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา

Myoma Uteri (เนื้องอกมดลูก)

เผยแพร่ครั้งแรก 17 ก.พ. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • เนื้องอกมดลูก คือ โรคเนื้องอกที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยเพศหญิง โดยมีสาเหตุมาจากเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกที่มีการแบ่งตัวผิดปกติ
  • ตำแหน่งที่เกิดเนื้องอกมดลูกแบ่งออกได้ 3 ตำแหน่ง คือ ตำแหน่งผิวด้านนอกมดลูก ตำแหน่งกล้ามเนื้อมดลูก ตำแหน่งยื่นเข้าไปในโพรงมดลูกด้านใน
  • เนื้องอกมดลูกสามารถไปกดเบียดอวัยวะข้างเคียงได้ จนทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยตามมา เช่น กระเพาะปัสสาวะ ทางเดินปัสสาวะ ซึ่งสามารถทำให้ผู้ป่วยปัสสาวะบ่อย หรือปัสสาวะไม่สุดได้ จนอาจเกิดโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะในภายหลังได้
  • เนื้องอกมดลูกสามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยารักษา การผ่าตัด การใช้ไฟฟ้า หรือเลเซอร์ตัดเนื้องอกออก รวมกับการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง
  • เปรียบเทียบราคาตรวจโรคมะเร็งสำหรับผู้หญิง

เนื้องอกมดลูก หรือเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูก (Uterine fibroids) เป็นเนื้องอกที่พบได้บ่อย และเป็นสาเหตุของการผ่าตัดมากที่สุดในผู้ป่วยที่เป็นโรคทางนรีเวช พบได้เกือบครึ่งหนึ่งของผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ 

อาการของผู้ป่วยในแต่ละรายอาจไม่เหมือนกัน ดังนั้นการรักษาจึงต้องคำนึงถึง อาการ อาการแทรกซ้อนต่างๆ และความต้องการมีบุตร

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ในปัจจุบันแนวทางในการรักษาโรคดังกล่าวมีความหลากหลายมาก ซึ่งแต่ละวิธีก็จะมีข้อดีข้อเสียและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน

สาเหตุการเกิดโรคเนื้องอกมดลูก

เนื้องอกมดลูก เกิดจากการที่เซลล์กล้ามเนื้อมดลูกมีการแบ่งตัวอย่างมากผิดปกติ และมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันอื่นๆ ร่วมอยู่ในก้อนด้วย

ถ้าผ่าตัดเอาตัวก้อนออกมาจะเห็นลักษณะหน้าตาเป็นก้อนวงๆ สีขาวเทา และมีลักษณะที่เป็นเหมือนมีปลอกหุ้ม

สาเหตุที่ทำให้เกิดการแบ่งตัวของเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกดังกล่าวนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด บางการศึกษาพบว่า เกิดจากการกลายพันธุ์ของสารพันธุกรรมของเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกในกลุ่มเซลล์ที่มาจากเซลล์เดียวกัน และมีการแบ่งแบบขาดการควบคุม

ขนาดเนื้องอกมดลูกจะเล็ก หรือใหญ่ มาจากอิทธิพลของฮอร์โมนเอสโตรเจน ดังจะเห็นได้ว่า ผู้หญิงที่มีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้น เช่น ภาวะอ้วน ก็พบว่าจะมีความเสี่ยงในการเกิดเนื้องอกมดลูก หรือเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกมากกว่าผู้หญิงทั่วไป

เนื้องอกมดลูกหรือเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกสามารถแบ่งได้ 3 ชนิด ตามตำแหน่งของตัวก้อน โดยอ้างอิงกับชั้นต่างๆ ของตัวมดลูก ดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจมะเร็งทั่วไปวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 340 บาท ลดสูงสุด 64%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  1. เนื้องอกในตำแหน่งบริเวณผิวด้านนอกมดลูก บางครั้งตัวก้อนอาจจะยื่นออกไปจากตัวมดลูกมาก ทำให้มีคล้ายติ่งที่ยื่นออกจากมดลูกได้
  2. เนื้องอกในตำแหน่งกล้ามเนื้อมดลูกโดยตรง เป็นชนิดที่พบได้บ่อย จึงทำให้เรียกโรคนี้ว่า เนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกได้
  3. เนื้องอกในตำแหน่งยื่นเข้าไปในโพรงมดลูกด้านใน ซึ่งตำแหน่งนี้จะทำให้โพรงมดลูกด้านในบิดเบี้ยวไปจากปกติ บางครั้งอาจจะใหญ่และยื่นยาวลงมาเลยปากมดลูก หรือปากช่องคลอดได้ ตำแหน่งดังกล่าวนี้เป็นตำแหน่งที่พบเนื้องอกได้น้อยที่สุด

การประเมินชนิดของเนื้องอกมดลูกตามตำแหน่งของเนื้องอกนั้นมีความจำเป็นเนื่องจาก ในแต่ละชนิดอาจมีอาการแสดงไม่เหมือนกัน รวมทั้งอาจมีผลต่อแนวทางการรักษาที่ไม่เหมือนกัน

อาการของโรคเนื้องอกมดลูก

อาการและอาการแสดงต่างๆ ของโรคดังกล่าวนี้มีหลากหลายอาการ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยเช่น ตำแหน่งของตัวก้อน ขนาดของตัวก้อน ขนาดหน้าท้องและน้ำหนักตัวของผู้ป่วย

อาการที่พบได้บ่อยๆ มีดังนี้

1. ประจำเดือนมามากผิดปกติ

ผู้ป่วยส่วนมากที่ประจำเดือนมามากผิดปกติ มักสัมพันธ์กับเนื้องอกในโพรงมดลูกด้านใน หรือตำแหน่งกล้ามเนื้อมดลูกที่ดันเข้ามาในโพรงมดลูกมาก

โดยทั่วไปแล้วจะยังคงมีประวัติที่ประจำเดือนมาเป็นรอบๆ ตามปกติ แต่ปริมาณประจำเดือนจะมาก หรือมีประจำเดือนกินระยะเวลานานกว่าปกติมากๆ เช่น ใช้ผ้าอนามัยมากกว่าสิบผืนชุ่มต่อวัน หรือประจำเดือนมารอบละสิบวัน

หรือถ้าตัวก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่มากๆ ก็อาจจะทำให้ประจำเดือนนั้นออกตลอดต่อเนื่องทุกวันเลยก็ได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจมะเร็งสำหรับผู้หญิงวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 495 บาท ลดสูงสุด 79%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ในผู้ป่วยบางรายที่ไม่ได้สังเกตลักษณะประจำเดือนของตนเอง อาจจะมาพบแพทย์ด้วยอาการเหนื่อยอ่อนเพลีย และตรวจเลือดพบความเข้มข้นเลือดต่ำก็อาจเป็นไปได้

2. ปวดท้องน้อย

อาการปวดท้องน้อยมักไม่สัมพันธ์กับรอบประจำเดือน แต่ในบางรายอาจมีอาการที่ปวดมากขึ้นในขณะที่มีประจำเดือนได้ ซึ่งมักพบในผู้ป่วยที่ภาวะอื่นร่วมด้วยเช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

3. คลำพบก้อนในบริเวณท้องน้อยหรืออุ้งเชิงกรานได้เอง

อาการดังกล่าวสามารถพบได้ในเนื้องอกทุกชนิด แต่มักจะพบมากในเนื้องอกชนิดที่อยู่บริเวณผิวของมดลูก และพบในผู้ป่วยที่มีความหนาหน้าท้องน้อย หรือผอม

4. มีประวัติมีบุตรยาก

ในผู้ป่วยที่พยายามมีบุตรมานานเกิน 6 เดือน-1 ปีแล้วยังไม่สำเร็จ หรือมีการแท้งบ่อยๆ ควรเข้ารับการตรวจภายใน หรืออัลตราซาวด์ดูในมดลูกว่า มีเนื้องอกมดลูกหรือไม่

ทั้งนี้ถ้ามีโรคดังกล่าว ขนาด และตำแหน่งของเนื้องอกก็อาจส่งผลให้การเดินทางมาเจอกันของไข่กับสเปิร์มเพื่อปฏิสนธิเป็นตัวอ่อน หรือการฝังตัวของตัวอ่อนเองอาจจะผิดปกติได้ นำมาซึ่งการมีบุตรยากต่อไป

5. เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ระหว่างตั้งครรภ์

ในผู้ป่วยที่เป็นเนื้องอกมดลูก หรือเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกนั้นอาจพบภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ตลอดการตั้งครรภ์จนกระทั้งหลังคลอด เช่น แท้งบุตร เจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด ทารกอยู่ในท่าผิดปกติ คลอดยาก คลอดลำบาก คลอดติด หรือแม้กระทั้งตกเลือดหลังคลอด

ดังนั้น หากผู้ป่วยเนื้องอกมดลูกจะมีการตั้งครรภ์ ควรรีบฝากครรภ์และรับคำแนะนำกับแพทย์ที่เชี่ยวชาญ

นอกจากนี้ผู้ป่วยเนื้องอกมดลูกยังอาจมีอาการจากการที่ก้อนไปกดเบียดอวัยวะข้างเคียง มักพบในเนื้องอกชนิดที่ยื่นออกมากจากผิดมดลูก หรืออาจเกิดได้ในชนิดอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่มากๆ เช่น โตกว่า 10 เซนติเมตร

อวัยวะใกล้เคียงที่เนื้องอกอาจจะไปกดเบียดได้ เช่น กระเพาะปัสสาวะ ทางเดินปัสสาวะ อาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะไม่บ่อยๆ ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะไม่ออก

หรือถ้าก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่มากๆ อาจไปกดจนทำให้ท่อไตบวมได้ ถ้าก้อนไปกดเบียดบริเวณลำไส้ใหญ่หรือลำไส้ตรง ก็อาจจะทำให้มีอาการท้องอืด ท้องผูก ถ่ายอุจจาระลำบาก หรือปวดลงก้นได้

การรักษาเนื้องอกมดลูก

การเลือกว่าจะรักษาหรือไม่ หรือเลือกแนวทางการรักษาแบบไหนนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อาการ ความรุนแรงของอาการ ขนาด ตำแหน่งของเนื้องอก ความต้องการมีบุตร อายุของผู้ป่วย ความกังวลใจของผู้ป่วย

ในผู้ป่วยบางรายอาจพิจารณาไม่รับการรักษาใดๆ หรือใช้เพียงแค่การตรวจติดตามประจำปีบ่อยๆ ก็ได้ เช่นผู้ป่วยที่เนื้องอกมีขนาดเล็ก ไม่มีอาการของตัวโรค อาจจะทำเพียงตรวจภายในประจำปี 

แนวทางการรักษาเนื้องอกมดลูกแบ่งเป็น 2 แนวทางหลักๆ คือ

1. การรักษาด้วยยา

จุดประสงค์หลักของวิธีนี้ คือ เพื่อรักษาตามอาการ เช่น ลดอาการปวด ลดปริมาณประจำเดือน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนการผ่าตัด แต่สำหรับผู้หญิงวัยทองที่มีโรคประจำตัวมาก และเสี่ยงต่อการผ่าตัด ในปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาระบุว่ ายาตัวใดทำให้หายขาด ไม่กลับมาเป็นซ้ำหลังหยุดยา

ยาที่ใช้รักษาโรคเนื้องอกมดลูก ได้แก่

  • ยาคุมกำเนิดชนิดเม็ด ใช้ในกรณีที่ต้องการควบคุมปริมาณประจำเดือน หรือควบคุมให้ประจำเดือนออกเป็นรอบๆ โดยยาดังกล่าวไม่มีผลต่อขนาดของเนื้องอก
  • ยาคุมกำเนิดชนิดฉีดรายสามเดือน ใช้ในกรณีที่ต้องการควบคุมปริมาณประจำเดือนให้น้อยลงเช่นกัน แต่ผลข้างเคียงของยาตัวดังกล่าวอาจทำให้มีเลือดออกแบบกะปริบกะปรอยได้ ดังนั้นควรติดตามการรักษากับแพทย์ที่ทำการรักษาอย่างสม่ำเสมอ
  • ใส่ห่วงคุมกำเนิด นิยมใช้เพื่อควบคุมปริมาณของประจำเดือนให้น้อยลง โดยไม่พิจารณาใช้ในเนื้องอกมดลูกที่ยื่นเข้าไปในโพรงมดลูกมากๆ
  • ยากลุ่มใหม่ๆ เช่น GnRHa, Danazol, Aromatase inhibitor, SPRM ยากลุ่มนี้ หากจะใช้ต้องพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อพิจารณาเลือกให้ รวมถึงแนะนำข้อดี ข้อเสีย ข้อห้าม และผลข้างเคียงให้ทราบก่อนใช้

2. การรักษาด้วยการผ่าตัด

การผ่าตัดรักษาเนื้องอกมดลูกมีหลายแบบ ได้แก่

การผ่าตัดเลาะเฉพาะก้อนเนื้องอก 

สามารถพิจารณาทำได้ 2 ทาง คือ ผ่านทางหน้าท้องในกรณีเนื้องอกชนิดที่ยื่นจากผิวมดลูก หรือจากกล้ามเนื้อมดลูก และทางช่องคลอดในกรณีที่เป็นเนื้องอกชนิดที่ยื่นเข้าโพรงมดลูกด้านใน

การผ่าตัดเลาะเฉพาะก้อนนี้จะพิจารณาในผู้ป่วยที่ยังคงต้องการเก็บมดลูกส่วนมากไว้ ต้องการมีบุตร และก้อนมีขนาดไม่ใหญ่เกิน 4 เซนติเมตร และจำนวนก้อนเนื้องอกในมดลูกมีไม่มาก

การผ่าตัดแบบนี้นั้นมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำสูง และมีโอกาสเสียเลือดมากระหว่างการผ่าตัดได้

ถ้ามีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นภายหลังการผ่าตัดนี้ อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น มดลูกแตกได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีประวัติผ่าตัดเลาะหลายก้อน หรือการผ่าตัดนั้นมีการทะลุเข้าไปถึงโพรงมดลูกด้านใน

การตัดมดลูก 

พิจารณาในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง เช่น ตกเลือดมาก ได้รับยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น มีก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ จำนวนก้อนมาก หรือไม่ต้องการมีบุตรแล้วก็สามารถเลือกวิธีดังนี้ได้

ในปัจจุบันการตัดมดลูกออกสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ผ่าตัดเปิดออกทางหน้าท้องโดยตรง ผ่าตัดส่องกล้องและนำเนื้องอกออกทางช่องคลอด หรือปั่นก้อนให้ละเอียด นำออกผ่านทางเจาะของเครื่องมือทางหน้าท้อง

การผ่าตัดทำลายเนื้องอกโดยใช้ไฟฟ้า หรือเลเซอร์ 

เป็นวิธีการใหม่ยังไม่มีการศึกษาอย่างแน่ชัดถึงผลของการรักษา และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ

นอกจากการรักษาเนื้องอกมดด้วยแนวทางหลักๆ 3 แนวทางอย่างที่กล่าวไปแล้ว ยังมีการใช้สารไปอุดตันเส้นเลือดแดงที่ไปเลี้ยงมดลูกได้

ซึ่งเมื่อมีการอุดเส้นเลือดแดงใหญ่ที่ไปเลี้ยงมดลูก จะทำให้มดลูกฝ่อ เสื่อมสลายเล็กลง โดยปกติจะพิจารณาทำในเนื้องอกที่มีขนาดไม่เกิน 8 เซนติเมตร และไม่ใช้ในกรณีที่เป็นเนื้องอกชนิดยื่นเข้ามาในโพรงมดลูกที่มีหลายก้อน

การรักษาวิธีนี้ต้องใช้เครื่องมือ และทีมแพทย์หลายหน่วยร่วมทำการรักษา ไม่สามารถทำได้ในทุกโรงพยาบาล

อีกวิธีที่มีการใช้กัน ได้แก่ ใช้คลื่นเสียงความถี่สูงทำให้เกิดความความร้อนเพื่อทำลายเนื้องอก

การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นเนื้องอกมดลูก

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบห้าหมู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผักและผลไม้ โดยการศึกษาพบว่า การกินผลไม้เช่นแอปเปิล มะเขือเทศ และผักเช่นบบร็อกโคลีและกะหล่ำปลี สามารถลดโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดเนื้องอกมดลูกได้ และการกินอาหารจำพวกธัญพืชก็สามารถลดอาการผิดปกติจากเนื้องอกดังกล่าวเช่นกัน
  2. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เช่น ของทอด เนื้อแดง อาหารรสหวานจัด หรืออาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลทรายปริมาณมาก
  3. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์
  4. งดสูบบุหรี่
  5. ควบคุมโรคประจำตัวในอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เช่น โรคความดันโลหิตสูง ความเครียด ในการศึกษาปัจจุบันบางฉบับพบว่า การลดความเครียดจากการเล่นโยคะหรือการนวด ก็สามารถลดอาการที่เกิดจากเนื้องอกมดลูกได้บางส่วน
  6. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มาก หรือน้อยจนเกินไป

เนื้องอกมดลูกสามารถทำให้เกิดอาการลุกลามไปถึงอวัยวะอื่นๆ และส่งผลรุนแรงต่อระบบสืบพันธุ์ได้ แต่ด้วยปัจจัยการเกิดเนื้องอกที่ยากจะควบคุม คุณผู้หญิงทุกคนจึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ รวมถึงตรวจภายในเมื่ออายุถึงเกณฑ์ เพื่อจะได้รู้เท่าทันความผิดปกติที่เกิดขึ้นในมดลูก

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจโรคมะเร็งสำหรับผู้หญิง จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


21 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
What are Uterine Fibroids? - Symptoms, Causes, and Treatment. Planned Parenthood. (Available via: https://www.plannedparenthood.org/learn/health-and-wellness/uterine-fibroids)
Uterine Fibroids. NICHD - Eunice Kennedy Shriver National Institute of Child Health and Human Development. (Available via: https://www.nichd.nih.gov/health/topics/uterine)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)