กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

Myasthenia gravis: MG (โรคไมแอสทีเนียกราวิส)

เผยแพร่ครั้งแรก 9 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 27 ต.ค. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที

ความหมาย เป็นโรคเรื้อรั้งทางระบบประสาท พบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 61 : 39 หากอายุหลังจาก 50 ปีขึ้นไป จะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

สาเหตุ เป็นภาวะผิดปกติที่ตำแหน่งรอยต่อระหว่างเส้นใยประสาทและเส้นใยกล้ามเนื้อ (Neuromuscular junction) ส่งผลกระทบต่อการส่งกระแสประสาทในร่างกาย เป็นโรคที่เกิดจากร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านเนื้อเยื่อตนเอง ทำให้การส่งกระแสประสาทระหว่างประสาทและกล้ามเนื้อบกพร่อง

พยาธิสรีรภาพ เป็นความผิดปกติที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่เกี่ยวข้องกับต่อมไทมัส ซึ่งจะสร้างแอนติบอดีมาทำลายตำแหน่งที่รับสารสื่อประสาท (Acetylcholine receptor; AchR) ตรงรอยต่อระหว่างเส้นใยประสาทและกล้ามเนื้อ (Neuromuscular junction) ทำให้มีระดับสารสื่อประสาทอะเซทิลโคลีนลดลง แม้ว่าเส้นประสาทสั่งงานหลั่งสารสื่อประสาทเพียงพอแต่ไม่สามารถจับกับตัวรับ (Receptor) ในปริมาณที่เพียงพอที่จะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหดตัว ทำให้กล้ามเนื้อบางมัดเกิดอาการอ่อนแรง ส่วนใหญ่พบที่บริเวณลำคอและแขนขา และมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการหายใจซึ่งเป็นอันตรายมาก

อาการ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งอาการจะมากขึ้นหลังจากมีการออกแรง เช่น หวีผม พูดคุย เป็นต้น อาการจะดีขึ้นหลังได้รับการพักผ่อนหรือได้ยาแอนติโคลิเนสเตอเรส (Anticholinesterase) มองเห็นภาพไม่ชัด เห็นภาพซ้อน (Diplopia) หนังตาตก (Ptosis) มีอาการเหมือนง่วงนอน ย่นหน้าผากไม่ได้ ไม่สามารถแสดงออกทางสีหน้าได้เหมือนใส่หน้ากาก การออกเสียงผิดปกติ พูดเสียงขึ้นจมูกและพูดไม่ชัดเจน มีปัญหาด้านการเคี้ยวและกลืน เสี่ยงต่อการเกิดทางเดินหายใจถูกปิดกั้นและสำลัก กล้ามเนื้อบริเวณมือและแขนอ่อนแรง กล้ามเนื้อกะบังลมอ่อนแรงมากขึ้นอาจทำให้กดการหายใจ อาการเหล่านี้จะเป็นมากขึ้นหลังมีการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และหลังรับประทานยาที่เป็นฮอร์โมนไทรอยด์ ได้รับการผ่าตัด มีการตั้งครรภ์ มีการคลอดบุตร หรือมีอาการภูมิแพ้

การวินิจฉัยโรค มีประวัติกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นๆ หายๆ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อลูกตา กล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการกลืน และกล้ามเนื้อทั่วๆไป อาการจะมากขึ้นเมื่อออกกำลังกายหรือใช้งานกล้ามเนื้อมัดนั้นๆ ทดสอบเพื่อยืนยันการวินิจฉัยโรคซึ่งอาจทำได้โดยฉีดยา

Edrophonium chloride (Tensilon) เข้าทางหลอดเลือดดำ เรียกว่า Tensilon test จะพบว่าการส่งกระแสประสาทของประสาทและกล้ามเนื้อดีขึ้น กำลังของกล้ามเนื้อจะดีขึ้นภายใน 30 วินาที แต่อาการดีขึ้นเกิดเพียงชั่วคราวเท่านั้น การถ่ายภาพรังสี Computed tomography (CT) scan หรือ Magnetic resonance imaging (MRI) เพื่อหาเนื้องอกของต่อมไทมัส (Thymoma) และ เพื่อช่วยพิจารณารักษาโดยการผ่าตัดหรือรักษาโดยรังสีรักษา

การรักษา โดยการใช้ยา Anticholinesterase ช่วยให้กล้ามเนื้อเพิ่มการตอบสนองต่อกระแสประสาทให้ยา Pyridostigmine bromide (Mestinon), Corticosteroid therapy (Prednisolone) และการผ่าตัดเอาต่อมไทมัสออก (Thymectomy) ช่วยให้อาการหายได้หรือช่วยให้อาการทุเลาลง ในรายที่เป็นเนื้องอกรักษาโดย Plasmapheresis ซึ่งเป็นการแยกเอาพลาสมาออกจากเลือดแล้วให้พลาสมากลับเข้าไปในผู้ป่วยใหม่ นอกจากนี้รักษาตามอาการ

การพยาบาล ดูแลให้ได้รับยาตามแผนการรักษา แสดงความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจ ให้ความรู้เรื่องโรคแก่ครอบครัว ดูแลผู้ป่วยให้ได้รับอาหารอย่างเพียงพอ โดยให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารทีละน้อยบ่อยๆ ครั้ง ให้รับประทานอาหารที่มีแคลอรีสูงๆ ในรายที่มีภาวะซีด ให้รับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็กและวิตามินบี 12 เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยพูดแสดงความรู้สึก ปรึกษานักกายภาพบำบัดเพื่อฝึกเดิน วางแผนการทำกิจกรรมและการใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน หากเดินไม่ได้ให้ทำ Passive exercise และป้องกันการเกิดภาวะ Myasthenic crisis คือ กล้ามเนื้อกะบังลมอ่อนแรงมากขึ้น (อาจทำให้กดการหายใจจนเกิดภาวะฉุกเฉินซึ่งจะเป็นมากขึ้นหลังมีการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย การตั้งครรภ์ การคลอดบุตร หรือมีอาการภูมิแพ้) โดยป้องกันการสำลักอาหาร ขณะป้อนอาหารควรยกศีรษะสูง 90 องศา ค่อยๆ ป้อนอาหารทีละน้อย ไม่เร่งรีบ ดูแลให้ทางเดินหายใจโล่ง


10 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
medlineplus, Myasthenia Gravis (https://medlineplus.gov/myastheniagravis.html )
University of Illinois-Chicago, School of Medicine, What's to know about myasthenia gravis? (https://www.medicalnewstoday.com/articles/179968.php), January 22, 2018
Deborah Weatherspoon, PhD, RN, CRNA , Myasthenia Gravis (https://www.healthline.com/health/myasthenia-gravis), April 23, 2018

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)