กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

รู้จักยาคุมกำเนิด Minidoz และ Minoz ยาคุมเอสโตรเจนต่ำที่สุดในไทย

ผู้หญิงที่ไม่สามารถทนผลข้างเคียงของยาคุมกำเนิดทั่วไปได้ สามารถเลือกใช้ยาคุมชนิดที่มีฮอร์โมนต่ำได้ แต่จะมีข้อดี-ข้อเสีย อย่างไร ไปดูกัน
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ก.พ. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 ม.ค. 2023 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
รู้จักยาคุมกำเนิด Minidoz และ Minoz ยาคุมเอสโตรเจนต่ำที่สุดในไทย

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ยาคุม Minidoz และ Minoz เป็นยาคุมที่มีปริมาณเอสโตรเจนต่ำที่สุดที่มีจำหน่ายในไทย เป็นยาคุมสูตร 24/4 โดย 24 เม็ด เป็นเม็ดยาฮอร์โมน ส่วนอีก 4 เม็ด เป็นเม็ดยาหลอก
  • ข้อดี คือ ช่วยลดผลข้างเคียงจากการเอสโตรเจน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ หรือคัดเต้านมได้
  • ข้อเสีย เนื่องจากมีปริมาณฮอร์โมนต่ำ จึงอาจมีปัญหาเลือดออกกระปริบกระปรอยได้มากกว่ายาคุมยี่ห้ออื่นๆ และหากรับประทานไม่ตรงเวลา หรือลืมรับประทานยาติดต่อกัน 2 วัน จะทำให้ประสิทธิภาพคุมกำเนิดลดลง
  • ผู้ที่ควรระมัดระวังในการใช้ยาคุม เช่น มีอายุมากและสูบบุหรี่จัด น้ำหนักมาก ความดันโลหิตสูง เพิ่งคลอดบุตร เป็นลิ่มเลือดอุดตัด เสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด หรือมะเร็งเต้านม ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยา
  • ยาคุมกำเนิด หากใช้อย่างถูกวิธี จะสามารถคุมกำเนิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ จึงควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ (ดูแพ็กเกจตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ที่นี่)

ยาคุม Minidoz และ Minoz คืออะไร?

ยาคุมยี่ห้อ Minidoz (มินิดอซ) และ Minoz (ไมนอซ) เป็นยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ที่มีปริมาณเอสโตรเจนต่ำที่สุดที่มีจำหน่ายในไทย

ยาคุม minidoz, ยาคุม minoz

ทั้งสองยี่ห้อ เป็นยาคุมสูตร 24/4 ซึ่งหมายถึง ในแต่ละแผงจะมี “เม็ดยาฮอร์โมน” 24 เม็ด และ “เม็ดยาหลอก” 4 เม็ด โดยที่...

  • ยาเม็ดลำดับที่ 1 – 24 มีสีน้ำตาลอ่อน เป็น “เม็ดยาฮอร์โมน” แต่ละเม็ดจะประกอบด้วยตัวยา Ethinylestradiol 0.015 มิลลิกรัม + Gestodene 0.060 มิลลิกรัม
  • ยาเม็ดลำดับที่ 25 – 28 มีสีเขียว เป็น “เม็ดยาหลอก” หรือเม็ดแป้ง

ข้อดีของยาคุม Minidoz และ Minoz

ข้อดีหลักๆ ของยาคุม 2 ชื่อการค้า อาจมีดังต่อไปนี้

  • มีผลข้างเคียงต่ำ เนื่องจากยา Minoz และ Minidoz มีปริมาณเอสโตรเจนต่ำ จึงมีผลข้างเคียงบางชนิดต่ำกว่ายาที่มีเอสโตรเจนมาก เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ คัดตึงเต้านม 
  • เหมาะกับผู้ที่ต้องการใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมอยู่เพื่อให้มีรอบประจำเดือนตามปกติ เนื่องจากการใช้ยาคุมชนิดฮอร์โมนโปรเจสตินเดี่ยว อาจทำให้มีภาวะขาดประจำเดือน
  • ไม่ทำให้เป็นสิว ผิวมัน หรือขนดกเหมือนยาคุมโปรเจสตินรุ่นเก่า เนื่องจาก Midoz และ Minidoz มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนต่ำ อีกทั้งยังใช้โปรเจสตินรุ่นที่สาม หรือ "Gestodene" ซึ่งมีฤทธิ์ Androgen ต่ำกว่าโปรเจสตินรุ่นแรกๆ

นอกจากนี้ การที่มีช่วงปลอดฮอร์โมนสั้น ๆ เพียงแค่ 4 วัน จึงทำให้ยาคุมสูตร 24/4 เหนือกว่ายาคุมสูตร 21/7 เนื่องจากกดการทำงานของรังไข่ได้ดีกว่า ช่วยลดกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน และทำให้จำนวนวันของการมีประจำเดือนมาน้อยลง

ข้อเสียของยาคุม Minidoz และ Minoz

อาจมีปัญหาเลือดออกกะปริบกะปรอยได้มากกว่ายาคุมที่มีปริมาณฮอร์โมนสูง เนื่องจากมินิดอซและไมนอซมีปริมาณฮอร์โมนต่ำ โดยเฉพาะหากรับประทานยาไม่ตรงเวลา 

อีกทั้งยังไม่เหมาะสำหรับคนขี้ลืม เพราะผลในการคุมกำเนิดจะหมดลงหากลืมรับประทานยาติดต่อกันตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป

ถึงแม้ยาคุมจะมีเอสโตรเจนต่ำ ซึ่งช่วยลดผลข้างเคียงที่เกิดจากฮอร์โมนนี้ได้ แต่การนำมาใช้ในกลุ่มคนเหล่านี้ก็สามารถเกิดอันตรายจากการใช้เอสโตรเจนได้เช่นกัน 

  • มีความเสี่ยงหรือมีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านม
  • ผู้ป่วยโรคตับ
  • ผู้ป่วยไมเกรน
  • มีอายุมากและสูบบุหรี่จัด
  • ความดันโลหิตสูง
  • เพิ่งคลอดบุตร
  • เคยมีประวัติ หรือเป็นลิ่มเลือดอุดตัน
  • มีความเสี่ยงหรือมีประวัติเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • น้ำหนักมาก

หากต้องการใช้ยาคุม ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ก่อนเริ่มใช้

ยาคุม Minidoz และ Minoz ใช้แทนกันได้ไหม

สามารใช้แทนกันได้ ยาคุมมินิดอซและไมนอซมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน 

แต่นอกจากจะมีฮอร์โมนชนิดเดียวกัน ในปริมาณเท่ากัน แล้วทำออกมาในรูปแบบ 24/4 เหมือนกันแล้ว ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอื่น ๆ ที่เหมือนหรือต่างกันบ้างหรือไม่นั้น ก็ต้องแกะกล่องยาคุมทั้งสองยี่ห้อมาเปรียบเทียบกัน

ในกล่องยาคุมมินิดอซ จะมีตลับพลาสติกบรรจุแผงยาคุมไว้ ในขณะที่ไมนอซจะมีซองยาบรรจุแผงยาคุมไว้อีกที 

แผงยาของทั้งสองยี่ห้อจะแบ่งเม็ดยาออกเป็น 4 แถว โดยที่สามแถวบนจะมีเม็ดยารูปร่างกลมสีน้ำตาลอ่อน ซึ่งเป็น “เม็ดยาฮอร์โมน” อยู่แถวละ 8 เม็ด มีปริมาณฮอร์โมนเท่ากันทุกเม็ด และเท่ากันทั้งสองยี่ห้อ

ส่วนแถวล่างสุด มีเม็ดยา 4 เม็ด มินิดอซจะทำเป็นเม็ดยารูปวงรีสีเขียว ต่างจากไมนอซที่ทำเป็นเม็ดยารูปวงกลมสีเขียว แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างแบบไหน เม็ดยาสีเขียวนี้ก็เป็นแค่เม็ดแป้งธรรมดา หรือที่เรียกว่า “เม็ดยาหลอก” นั่นเอง

ความแตกต่างระหว่าง Minidoz และ Minoz

เมื่อพิจารณาที่ด้านหลังของแผง ไมนอซจะมีลำดับการใช้เป็นตัวเลข 1 ถึง 28 โดยมีลูกศรกำกับทิศทางในลักษณะลูกโซ่ต่อเนื่องกัน

ต่างจากมินิดอซที่ไม่มีลูกศรหรือลำดับตัวเลขที่ด้านหลังของแผง เนื่องจากผู้ผลิตต้องการให้เก็บแผงยาไว้ในตลับพลาสติกเสมอ เพื่อความสะดวกในการเก็บรักษา หรือพกพาไปใช้ จึงมีการพิมพ์ลำดับการใช้เป็นตัวเลข 1 ถึง 28 พร้อมลูกศรกำกับทิศทางไว้บนตลับพลาสติกแทน 

การเรียงลำดับเป็นแบบลูกโซ่ต่อเนื่องกันเช่นเดียวกับไมนอซ เพียงแต่สลับทิศจากซ้ายเป็นขวา และขวาเป็นซ้าย ซึ่งสุดท้ายก็ได้ผลลัพธ์เดียวกันทั้งสองยี่ห้อ

เมื่อต้องการใช้มินิดอซ ไม่จำเป็นต้องนำแผงยาออกจากตลับพลาสติก สามารถกดเพื่อดันเม็ดยาที่ต้องการออกจากแผงได้เช่นเดียวกับไมนอซ เม็ดยาจะออกจากตลับผ่านช่องที่เจาะไว้

ส่วนความแตกต่างด้านราคาระหว่างมินิดอซ และไมนอซ อาจมีดังนี้ (ข้อมูล ณ มีนาคม 2563) 

  • มินิดอซ อาจมีราคาประมาณ 200-400 บาท 
  • ไมนอซมีราคาประมาณหลักร้อยต้นๆ 

จะเลือกยี่ห้อที่มีตลับพลาสติกเพื่อความสะดวกในการพกพา หรือเลือกยี่ห้อที่มีราคาย่อมเยากว่า ก็แล้วแต่การพิจารณาของผู้ใช้

ยาคุมกำเนิดสามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ จึงควรใช้ถุงยางอนามัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง

ดูแพ็กเกจตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Minoz Dosage & Drug Information. MIMS.com. (https://www.mims.com/thailand/drug/info/minoz)
Minidoz Dosage & Drug Information. MIMS.com. (https://www.mims.com/thailand/drug/info/minidoz)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป