ระบบสืบพันธุ์เพศชาย (Male Reproductive System)

ระบบสืบพันธุ์เพศชายคืออะไร มีกระบวนการทำงานอย่างไร และความผิดปกติอะไรบ้างที่ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์
เผยแพร่ครั้งแรก 2 พ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 3 ก.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
ระบบสืบพันธุ์เพศชาย (Male Reproductive System)

ระบบสืบพันธุ์เพศชายคืออะไร

สิ่งมีชีวิตเกือบทั้งหมดจะมี 2 เพศ คือเพศหญิง และเพศชาย โดยแต่ละเพศจะมีลักษณะเฉพาะของระบบสืบพันธุ์ที่มีความแตกต่างกัน ทั้งโครงสร้าง และรูปร่าง 

ระบบสืบพันธ์ุของมนุษย์นั้น มีหน้าที่ในการสืบพันธุ์ หล่อเลี้ยงชีวิต นำส่งไข่ หรืออสุจิ ซึ่งระบบสืบพันธุ์เพศหญิง ส่วนประกอบของอวัยวะเพศเกือบทั้งหมดจะอยู่ภายในกระดูกเชิงกราน ในขณะที่ระบบสืบพันธุ์เพศชาย ส่วนประกอบของอวัยวะจะปรากฏทั้งภายใน และภายนอกร่างกาย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อวัยวะที่เป็นส่วนประกอบของระบบสืบพันธุ์เพศชาย มีดังนี้

  • ถุงอันฑะ
  • ระบบท่อ ประกอบด้วย หลอดเก็บอสุจิ (Epididymis) และหลอดนำตัวอสุจิ (Vas deferens)
  • ต่อมต่างๆ ซึ่งรวมถึงถุงผลิตน้ำเลี้ยงอสุจิ (Seminal vesicles) และต่อมลูกหมาก (Prostate gland)
  • องคชาต

ถุงอันฑะ

ถุงอัณฑะ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือฝั่งซ้าย และฝั่งขวา ทำหน้าที่สร้าง และบรรจุเซลล์อสุจิไว้หลายล้านตัว มีลักษณะเป็นถุงรูปทรงไข่ มีความยาวประมาณ 2 นิ้ว และมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว

ลูกอัณฑะถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบต่อมไร้ท่อ ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนต่างๆ รวมถึงฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ทำให้เด็กชายที่กำลังเข้าสู่วัยหนุ่มมีเสียงทุ้มต่ำ มีการสร้างกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดขนตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย และทำหน้าที่กระตุ้นการผลิตอสุจิ

ระบบท่อ

ด้านหลังของลูกอัณฑะจะมีกลุ่มของหลอดเล็กๆ จำนวนมากขดไปขดมา คือหลอดเก็บอสุจิ และหลอดนำตัวอสุจิ ทำหน้าที่เป็นตัวนำระบบท่อต่างๆ ของระบบสืบพันธุ์เพศชาย โดยหลอดนำตัวอสุจิมีลักษณะเป็นกล้ามเนื้อท่อที่เชื่อมต่อหลอดเก็บอสุจิ กับหลอดปัสสาวะในต่อมลูกหมาก ทำหน้าที่ส่งผ่านของเหลวจากถุงอัณฑะ เรียกว่า น้ำอสุจิ (Semen)

หลอดเก็บอสุจิ และลูกอัณฑะนั้น เป็นส่วนที่ยื่นออกมาจากร่างกาย อยู่ในถุงที่ห่อหุ้มไว้เรียกว่า ถุงอัณฑะ (Scrotum) โดยถุงดังกล่าวจะช่วยรักษาอุณหภูมิในถุงอัณฑะให้คงที่ โดยทั่วไปภายในถุงอัณฑะจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิร่างกายประมาณ 1.5-2.0 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะกับการสร้างอสุจิ

เมื่อร่างกายมีอุณหภูมิลดลง ถุงอัณฑะจะหดตัว และตึงขึ้น เพื่อรักษาอุณหภูมิภายในถุงอัณฑะ และเมื่อร่างกายอุ่นขึ้น ถุงอัณฑะก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น และอ่อนตัวลง เพื่อระบายความร้อนออกไป คุณไม่อาจสังเกตได้ว่า มีกระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากเป็นกระบวนการที่เกิดจากการสั่งงานของสมอง และระบบประสาทสู่ถุงอัณฑะโดยตรงจนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดขึ้นนั่นเอง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ต่อมต่างๆ

ต่อมขนาดเล็กต่างๆ ซึ่งรวมถึงถุงผลิตน้ำอสุจิ (Seminal vesicles) และต่อมลูกหมาก (Prostate gland) 

ถุงผลิตน้ำอสุจิ ทำหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการผลิตของเหลวเพื่อลำเลียงสู่ระบบท่อ และสร้างสารอาหารเลี้ยงอสุจิ โดยถุงผลิตน้ำอสุจิมีลักษณะเป็นถุงที่เชื่อมติดกับหลอดเก็บอสุจิ และอยู่บริเวณข้างกระเพาะปัสสาวะ

ในขณะที่ต่อมลูกหมากทำหน้าที่ผลิตของเหลวสีขาวคล้ายน้ำนม มีฤทธิ์เป็นด่างอ่อน เข้าผสมกับอสุจิในท่อปัสสาวะ ต่อมลูกหมากนั้น ตำแหน่งอยู่ล้อมรอบท่อฉีดน้ำอสุจิบริเวณใต้ท่อปัสสาวะด้านล่างของกระเพาะปัสสาวะ

ท่อปัสสาวะจะทำหน้าที่ส่งผ่านอสุจิให้สามารถออกสู่ภายนอกร่างกายได้ผ่านทางองคชาต และเป็นส่วนหนึ่งของระบบทางเดินปัสสาวะที่เป็นช่องทางในการขับถ่ายของเสีย หรือน้ำปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะออกนอกร่างกายนั่นเอง

องคชาต

อวัยวะเพศชายประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนลำที่เป็นกล้ามเนื้อ และส่วนปลายองคชาต ซึ่งส่วนลำที่เป็นกล้ามเนื้อนั้นจะเป็นส่วนหลักของอวัยวะเพศ ในขณะที่ส่วนปลายจะอยู่ที่บริเวณหัวขององคชาต ตรงกลางของส่วนปลายสุดองคชาตจะเป็นรูเปิดของท่อปัสสาวะ และอสุจิ ส่วนด้านในประกอบด้วยเนื้อเยื่อลักษณะคล้ายฟองน้ำสามารถยืดหดได้

เด็กผู้ชายทุกคนจะเกิดมาพร้อมกับหนังหุ้มปลายองคชาต ซึ่งแพทย์อาจทำการ “ขลิบ” บริเวณนี้ตั้งแต่เกิดมาได้เพียง 2-3 วัน หรือขณะที่ยังเป็นทารกอยู่ แม้ว่าการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศนั้นบางครั้งไม่ได้มีความจำเป็นทางการแพทย์ แต่ผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกชายของตนขลิบหนังหุ้มปลายนั้นมักเกิดจากความเชื่อทางศาสนา ความกังวลในเรื่องของความสะอาด หรือวัฒนธรรมทางสังคม 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อย่างไรก็ตาม ระบบการทำงานต่างๆ ของอวัยวะเพศสามารถทำงานได้ตามปกติ แม้ว่าจะมีการขลิบ หรือไม่มีการขลิบก็ตาม

กระบวนการทำงานของระบบสืบพันธุ์เพศชาย

อวัยวะเพศชายจะทำงานโดยการสืบพันธุ์ และปล่อยอสุจิเข้าสู่ระบบสืบพันธุ์เพศหญิงในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ ระบบสืบพันธุ์เพศชายยังทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศเพื่อให้เด็กผู้ชายพัฒนาไปสู่วัยเจริญพันธุ์ หรือวัยหนุ่มได้อย่างเต็มตัว

เมื่อเด็กทารกชายเกิดมา เขาจะมาพร้อมกับระบบสืบพันธุ์เพศชายที่สมบูรณ์แล้ว แต่จะยังไม่สามารถใช้งานเพื่อการสืบพันธุ์ได้จนกว่าจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ซึ่งจะอยู่ในช่วงอายุประมาณ 9-15 ปี โดยต่อมใต้สมองจะหลั่งฮอร์โมนที่กระตุ้นอัณฑะให้เกิดการผลิตฮอร์โมนเพศชาย ซึ่งกระบวนการผลิตฮอร์โมนเพศชายจะส่งผลให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในช่วงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์นั่นเอง

แม้ช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของเด็กผู้ชายแต่ละคนนั้นมีความแตกต่างกัน แต่ขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์โดยปกติจะเป็นไปตามลำดับ ดังนี้

  • ถุงอัณฑะ และอัณฑะจะโตขึ้นในระยะแรกของการเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์
  • อวัยวะเพศชายจะยาวขึ้น และถุงน้ำอสุจิ รวมไปถึงต่อมลูกหมากจะมีขนาดใหญ่ขึ้น
  • มีขนขึ้นบริเวณหัวหน่าว หลังจากนั้นจะมีหนวดเคราบนใบหน้า และมีขนใต้วงแขน ในช่วงเวลานี้เสียงอาจจะทุ้มต่ำลงด้วย
  • ช่วงเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เด็กผู้ชายจะอยู่ในภาวะที่เติบโตเร็วมาก ทำให้พวกเขามีส่วนสูง และน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

อสุจิ

เมื่อเด็กผู้ชายเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์อย่างเต็มตัวแล้ว พวกเขาจะสามารถผลิตอสุจิได้เป็นล้านๆ ตัวในแต่ละวัน ซึ่งอสุจิจะมีขนาดที่เล็กมากเพียง 1/600 นิ้ว หรือยาวประมาณ 0.05 มิลลิเมตรเท่านั้น

อสุจิจะถูกผลิตขึ้นในหลอดสร้างอสุจิในอัณฑะ เมื่อแรกเกิดหลอดสร้างอสุจิเหล่านี้จะบรรจุไปด้วยเซลล์ทั่วไป  แต่เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ เซลล์เหล่านี้จะกลายเป็นอสุจิ ซึ่งเกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมนเพศ และฮอร์โมนอื่นๆ 

ตัวอสุจิ แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนหัว และส่วนหาง มีลักษณะคล้ายลูกอ๊อด ส่วนหัวจะประกอบไปด้วยยีน และหางจะทำหน้าที่แหวกว่ายเคลื่อนตัวอสุจิสู่หลอดน้ำอสุจิ ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ในการเคลื่อนตัว หลังจากนั้น อสุจิก็จะเคลื่อนที่สู่หลอดนำอสุจิ หรือท่ออสุจิ โดยถุงผลิตน้ำอสุจิ และต่อมลูกหมากจะผลิตของเหลวสีขาว เรียกว่า “น้ำอสุจิ” มาผสมรวมกับตัวอสุจิ

เมื่อผู้ชายถูกกระตุ้นทางเพศ องคชาตที่โดยปกติแล้วอ่อนตัวก็จะแข็งตัวขึ้นเมื่อมีอารมณ์ทางเพศ หลังจากที่องคชาตที่แข็งตัวถูกกระตุ้น กล้ามเนื้อบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ก็จะบีบให้มีการปล่อยน้ำอสุจิผ่านออกมาทางท่อปัสสาวะนั่นเอง

น้ำอสุจิที่ถูกบีบออกจากร่างกายผ่านท่อปัสสาวะ เรียกว่า การหลั่งน้ำอสุจิ ทุกครั้งที่หลั่งน้ำอสุจิออกมานั้น จะขับอสุจิออกมามากถึง 500 ล้านตัวต่อครั้ง 

เมื่อหลั่งอสุจิในขณะมีเพศสัมพันธ์ อสุจิจะถูกปล่อยในช่องคลอดผู้หญิง จากนั้นอสุจิจะเดินทางผ่านปากมดลูก เข้าสู่มดลูก และเดินทางสู่ไข่ที่สุกเต็มที่ที่อยู่บริเวณท่อนำไข่ ซึ่งจะมีอสุจิเพียงหนึ่งตัวเท่านั้นที่จะสามารถปฏิสนธิกับไข่ของผู้หญิง และทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้ในที่สุด

ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิแล้ว เรียกว่า ไซโกต (Zygote) ซึ่งประกอบด้วยโครโมโซม 46 ตัว โดยโครโมโซมครึ่งหนึ่งมาจากไข่ และอีกครึ่งหนึ่งมาจากอสุจิ นอกจากนี้ การรวมกันของสารพันธุกรรมชายและหญิง จะส่งผลให้เกิดการสร้างสิ่งมีชีวิตใหม่ขึ้นมาได้ โดยไซโกตจะแบ่งตัวออกมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นทวีคูณจนเจริญเติบโตในโพรงมดลูกผู้หญิง ซึ่งจะกลายเป็นตัวอ่อนในครรภ์ และเป็นทารกในที่สุด

ความผิดปกติที่ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์เพศชาย

ความผิดปกติที่ส่งผลต่อระบบสืบพันธุ์เพศชายจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ความผิดปกติของถุงอัณฑะ อัณฑะและหลอดเก็บอสุจิ กับความผิดปกติขององคชาต โดยมีรายละเอียดดังนี้

ความผิดปกติของถุงอัณฑะ อัณฑะ และหลอดเก็บอสุจิ

  • การบาดเจ็บที่ลูกอัณฑะ แม้อาการบาดเจ็บจะเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เกิดอาการปวดอย่างรุนแรง ช้ำ หรือบวมได้ ซึ่งอาการบาดเจ็บที่อัณฑะส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการถูกตี เตะ หรือถูกทับ โดยมักเกิดจากการออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดการบาดเจ็บได้
  • ภาวะอัณฑะบิดตัว คือการที่อัณฑะซึ่งปกติจะอยู่ในแนวดิ่งในถุงอัณฑะ เกิดการบิดตัวมาอยู่ในตำแหน่งตามแนวขวางในถุงอัณฑะ ทำให้อัณฑะขาดเลือด เมื่อเกิดขึ้นแล้วจำเป็นต้องได้รับการดูแล และรักษาโดยแพทย์
  • ภาวะหลอดเลือดอัณฑะขอด เกิดขึ้นเมื่อหลอดเลือดดำที่เดินทางจากอัณฑะขอดมีอาการบวมผิดปกติ โดยภาวะนี้มักเกิดกับเด็กผู้ชายที่กำลังเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ และอาการที่เกิดขึ้นนั้นไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด แต่อาจส่งผลทำให้ลูกอัณฑะเสียหาย และปริมาณการผลิตอสุจิลดจำนวนลงได้
  • มะเร็งลูกอัณฑะ ถือเป็นมะเร็งชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในเพศชายที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี โดยมะเร็งจะเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ในอัณฑะเกิดการแบ่งตัวอย่างผิดปกติ และมีการสร้างเนื้องอกขึ้นมา ซึ่งมะเร็งชนิดนี้สามารถแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่หากมีการตรวจพบได้เร็วก็จะมีโอกาสรักษาให้หายได้
  • อัณฑะอักเสบ เป็นการอักเสบที่เกิดขึ้นกับหลอดเก็บอสุจิซึ่งเชื่อมต่อกับอัณฑะ และท่อนำอสุจิ โดยอาการอักเสบเกิดจากการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองในเทียม ส่งผลให้เกิดอาการปวดบวมบริเวณลูกอัณฑะข้างใดข้างหนึ่ง
  • ภาวะถุงน้ำอัณฑะ เกิดขึ้นเมื่อมีของเหลวสะสมในเยื่อหุ้มรอบๆ ถุงอัณฑะ ซึ่งภาวะดังกล่าวจะส่งผลให้อัณฑะบวม แต่มักไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ ทว่าในบางกรณีอาจจำเป็นต้องใช้วิธีผ่าตัดเพื่อทำการรักษาด้วยเช่นกัน
  • ภาวะไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ เกิดขึ้นเมื่อลำไส้ได้เคลื่อนที่ออกจากช่องท้องมายังบริเวณขาหนีบ โดยสาเหตุอาจเกิดจากรอยแผลผ่าตัด และผังผืดที่อ่อนแอ ซึ่งไส้เลื่อนจะมีลักษณะเป็นก้อน หรือบวม บริเวณขาหนีบ สามารถรักษาภาวะนี้ได้ด้วยการผ่าตัด

ความผิดปกติขององคชาต

  • การอักเสบขององคชาต ซึ่งจะทำให้มีอาการของการอักเสบ ได้แก่ อาการปวด บวม แดง และคัน โดยอาการอักเสบของปลายองคชาตจะเกิดขึ้นเมื่อปลายองคชาตเกิดการติดเชื้อ
  • ภาวะท่อปัสสาวะเปิดต่ำกว่าปกติ เป็นภาวะที่รูของท่อปัสสาวะเปิดผิดปกติ หรือไม่ได้เปิดที่ปลายสุดของอวัยวะเพศ

หากคุณกังวลว่า อาจมีอาการผิดปกติต่างๆ เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์เพศชาย หรือมีคำถาม หรือข้อสงสัย เกี่ยวกับพัฒนาการทางเพศ แนะนำให้ปรึกษาพ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือแพทย์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องวิตกกังวล เนื่องจากอาการผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับระบบสืบพันธุ์เพศชายนั้นส่วนใหญ่มีทางแก้ไข และสามารถรักษาให้เป็นปกติได้


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สำรวจโลกฮอร์โมน, อัณฑะและฮอร์โมนจากอัณฑะ (https://il.mahidol.ac.th/e-media/hormone/chapter5/testes.htm)
Bahadur G et al., Semen characteristics in consecutive ejaculates with short abstinence in subfertile males (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/26776821), March 2016
Giuseppe Bellastella et al., Dimensions of human ejaculated spermatozoa in Papanicolaou-stained seminal and swim-up smears obtained from the Integrated Semen Analysis System (ISAS®) (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3739080/), November 2010

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)