ตากุ้งยิง (Lump in Eyelid, Eyelid bump)

ตากุ้งยิง เกิดจากต่อมน้ำมันในเปลือกตาติดเชื้อแบคทีเรีย แม้จะมีอาการไม่รุนแรงและไม่เป็นอันตราย แต่หากเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น เช่น มองเห็นไม่ชัดเจน ก็ควรไปพบแพทย์ทันที
เผยแพร่ครั้งแรก 30 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 5 ส.ค. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 17 ก.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
ตากุ้งยิง (Lump in Eyelid, Eyelid bump)

โรคตากุ้งยิง คือการพบก้อนนูนสีแดงบริเวณขอบเปลือกตาและมีอาการเจ็บปวดร่วมอยู่ด้วย โดยทั่วไปแล้วก้อนนูนนี้จะเกิดขึ้นตรงรอยต่อของขนตากับเปลือกตาพอดี มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียหรือการอุดตันในต่อมน้ำมันของเปลือกตา

โรคตากุ้งยิงสามารถหายได้เอง และมักไม่เป็นอันตรายต่อดวงตา แต่หากพบว่าอาการตากุ้งยิงเจ็บปวดขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ตอบสนองต่อการรักษาหรือเริ่มรบกวนการมองเห็น ก็ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนบางอย่างได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ตากุ้งยิงหรือก้อนบริเวณเปลือกตา สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท ตามลักษณะของการเกิด ดังนี้

  1. ตากุ้งยิง (Hordeolum) : เกิดขึ้นจากเชื้อแบคทีเรียเข้าไปสัมผัสกับต่อมน้ำมันในเปลือกตา มีลักษณะเป็นตุ่มนูนกลมๆ สีแดงปรากฏใกล้กับขนตา อาจทำให้รู้สึกเจ็บเมื่อเอามือไปกด หรือเมื่อกระพริบตา ในบางรายอาจพบว่าดวงตาไวต่อแสงมากขึ้น หรือมีน้ำตาไหลบ่อย กุ้งยิงชนิดนี้สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันหลายก้อนในครั้งเดียว
  2. ตากุ้งยิงชนิดไม่เจ็บ (Chalazion) : เป็นรอยโรคอักเสบชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อต่อมผลิตน้ำมัน หรือต่อมน้ำตาภายในเปลือกตาอุดตันขึ้น กุ้งยิงชนิดดังกล่าวมักจะกินขอบเขตเข้าไปบนเปลือกตามากกว่ากุ้งยิงขอบเปลือกตา ปกติแล้วกุ้งยิงประเภทนี้จะไม่ค่อยทำให้เกิดความเจ็บปวด แต่จะรบกวนการมองเห็นแทน ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าก้อนเนื้อจะมีขนาดใหญ่เพียงใด
  3. ตุ่มไขมันที่เปลือกตา (Xanthelasma) : มีลักษณะเป็นก้อนสีเหลือง เกิดขึ้นจากการมีไขมันบางชนิดสะสมอยู่ใต้ผิวหนัง สามารถพบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และอาจบ่งชี้ได้ว่ามีคอเลสเตอรอลในร่างกายสูง

อาการของตากุ้งยิง

นอกจากการพบก้อนสีแดงเกิดขึ้นตามขอบของเปลือกตาแล้ว ผู้ที่เป็นตากุ้งยิงมักจะมีอาการ ตาแดงช้ำ น้ำตาไหลง่าย รู้สึกเหมือนมีฝุ่นเข้าตาตลอดเวลา คันตา ตาไวต่อแสง ร่วมอยู่ด้วย

แม้ว่าอาการเหล่านี้จะไม่รุนแรงและไม่เป็นอันตราย แต่หากพบอาการแทรกซ้อนต่อไปนี้ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

  • มีปัญหาในการมองเห็น
  • น้ำตาไหลมาก
  • มีของเหลวอื่นไหลออกจากดวงตา
  • ตาขาวเปลี่ยนสีชัดเจน
  • ปวดตาแม้อยู่ในที่แสงน้อย
  • เปลือกตามีเลือดออก หรือมีขนาดก้อนนูนใหญ่ขึ้น
  • มีอาการเจ็บปวดมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน
  • เปลือกตามีลักษณะเป็นเกล็ด ตกสะเก็ด มีตุ่มน้ำพอง หรือแดงจัดซึ่งบ่งบอกถึงการติดเชื้อ

สาเหตุของตากุ้งยิง

ตากุ้งยิงที่ขอบเปลือกตามักเกิดขึ้นเมื่อแบคทีเรียเข้าสู่ต่อมไขมันที่เปลือกตาจนทำให้เกิดการอักเสบ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเชื้อ Staphylococcus aureus ส่วนตากุ้งยิงภายในสามารถเกิดขึ้นจากต่อมไขมันในเปลือกตาอุดตัน

การรักษาตากุ้งยิง

หากพบว่าอาการตากุ้งยิงที่เกิดขึ้นมีขนาดเล็ก หรือมีอาการไม่รุนแรงมาก สามารถดูแลตัวเองที่บ้านได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ไม่บีบหรือเจาะก้อนนูนให้แตกออก เพราะการกระทำดังกล่าวสามารถเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อและยังสามารถแพร่เชื้อแบคทีเรียไปยังดวงตาได้โดยตรง
  • ประคบอุ่นบริเวณเปลือกตา 10 นาทีอย่างน้อย 4 ครั้งต่อวัน ความร้อนและแรงอัดสามารถช่วยระบายให้กุ้งยิงหลุดออกจากการอุดตันในต่อมน้ำมัน และช่วยให้หายเร็วขึ้น

หากก้อนนูนมีขนาดใหญ่ขึ้นจนรบกวนการมองเห็น แพทย์อาจต้องเจาะเพื่อระบายของเหลวที่ติดเชื้อออก เพื่อทำให้อาการดีขึ้น หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการตากุ้งยิงบ่อยครั้ง และอาการไม่หายไปหลังดูแลตัวเอง ก็อาจจำเป็นจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด หรือใช้ยาปฏิชีวนะชนิดครีมป้ายตาตามที่แพทย์สั่ง

โดยปกติแล้ว กุ้งยิงขอบเปลือกตาจะหายไปเองหลังจากมีการระบายของเหลวออกจากตุ่มนูน ซึ่งมักใช้เวลา 2-3 วันไปจนถึง 1 สัปดาห์ แต่หากไม่ได้ระบายของเหลวออก อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 สัปดาห์จนถึง 1 เดือน

การป้องกันโรคตากุ้งยิง

การป้องกันโรคตากุ้งยิง สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการล้างมือเป็นประจำ ไม่สัมผัสหรือขยี้ดวงตาเพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่ดวงตา หากรู้สึกเคืองตา ให้เริ่มประคบอุ่นบนเปลือกตาทันทีที่รู้สึกระคายเคือง


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
อนิตา มนัสสากร. อาการและอาการแสดงของโรคทางจักษุวิทยา. ต าราจักษุวิทยา จัดท าโดย ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. พ.ศ. 2556, หน้า 18-44
Pathogenesis of Ocular Infections. American Academy of Ophthalmology. Basic and Clinical Science Course Section 8: External Disease and Cornea. San Francisco, CA: American Academy of ophthalmology; 2013-2014, pages 85-87
Amanda Delgado, Eyelid bump (https://www.healthline.com/health/eyelid-bump), 9 March 2016

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ปัญหาที่น่ากังวลเกี่ยวกับเปลือกตา
ปัญหาที่น่ากังวลเกี่ยวกับเปลือกตา

ทำความเข้าใจอาการผิดปกติของเปลือกตา แบบไหนอันตราย แบบไหนต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

อ่านเพิ่ม