ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
การสูญเสียการทำงานของกล้ามเนื้อจะเกิดขึ้นเมื่อกล้ามเนื้อไม่สามารถทำงานหรือหรือไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ หากเกิดขึ้นเพียงบางส่วน (Partial muscle function loss) มักเกิดจากการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) แต่หากมีความรุนแรงมาก หรือกล้ามเนื้อสูญเสียการทำงานโดยสมบูรณ์ จะทำให้เกิดภาวะอัมพาต (Paralysis) ซึ่งมักเกิดขึ้นในผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณไขสันหลังอย่างรุนแรง
ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการอัมพาตแขนขาทั้งสองข้าง จะเรียกว่า Quadriplegia แต่ถ้าอัมพาตเฉพาะส่วนล่างของร่างกาย จะเรียกว่า Paraplegia
สาเหตุของการสูญเสียการทำงานของกล้ามเนื้อ
การสูญเสียการทำงานของกล้ามเนื้อ มักเกิดจากความล้มเหลวของเส้นประสาทในการส่งสัญญาณจากสมองไปยังกล้ามเนื้อที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว โดยมีสาเหตุจากโรคที่ส่งผลต่อกล้ามเนื้อและระบบประสาท ดังนี้
- โรคของกล้ามเนื้อ : โรคที่เป็นสาเหตุของการสูญเสียการทำงานของกล้ามเนื้อที่พบบ่อย ได้แก่
- โรคกล้ามเนื้อเสื่อม (Muscular Dystrophy) : เป็นกลุ่มของโรคที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงลงเรื่อยๆ ต่อเนื่อง
- โรคกล้ามเนื้อและผิวหนังอักเสบ (Dermatomyositis) : เป็นโรคที่มีการอักเสบที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงและมีผื่นที่ผิวหนัง
- โรคของระบบประสาท : ความผิดปกติในระบบประสาทบางชนิดอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาตได้ เช่น
- โรคใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก (Bell’s Palsy)
- โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Amyotrophic Lateral Sclerosis หรือ Lou Gehrig’s Disease)
- โรคโบทูลิซึ่ม (Botulism)
- โรคเส้นประสาท (Neuropathy)
- โรคโปลิโอ (Polio)
- โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- โรคสมองพิการ (Cerebral palsy)
- การบาดเจ็บและสาเหตุอื่นๆ : การบาดเจ็บอย่างรุนแรงเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเป็นอัมพาต เช่น การพลัดตกจากบันไดและมีการบาดเจ็บที่ไขสันหลัง นอกจากนี้ การใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน และผลข้างเคียงจากการใช้ยา ก็เป็นสาเหตุของการสูญเสียการทำงานของกล้ามเนื้อได้เช่นกัน
การวินิจฉัยสาเหตุของการสูญเสียการทำงานของกล้ามเนื้อ
แพทย์จะวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุของการสูญเสียการทำงานของกล้ามเนื้อก่อนเป็นอันดับแรก โดยจะเริ่มจากการทบทวนประวัติทางการแพทย์ ตรวจดูตำแหน่งที่มีอาการ และอาการอื่นๆ ที่เป็นร่วมด้วย ซึ่งก็อาจต้องมีการตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทเพิ่มเติมดังต่อไปนี้
- การนำตัวอย่างเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อไปตรวจ (Muscle Biopsy)
- การนำตัวอย่างชิ้นเนื้อเส้นประสาทไปตรวจ (Nerve Biopsy)
- การตรวจเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) เพื่อสแกนสมองว่ามีก้อนเนื้องอกหรือมีลิ่มเลือดอุดตันในสมองหรือไม่
- การตรวจการชักนำประสาท (Nerve conduction study) เพื่อตรวจสอบการทำงานของเส้นประสาทโดยใช้การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า
การรักษาการสูญเสียการทำงานของกล้ามเนื้อ
ทางเลือกในการรักษาการสูญเสียการทำงานของกล้ามเนื้อ ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว และความรุนแรงของอาการ ซึ่งประกอบไปด้วยวิธีการดังนี้
- กายภาพบำบัด
- กิจกรรมบำบัด
- การใช้ยา เช่น Aspirin หรือ Warfarin เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
- การผ่าตัดเพื่อรักษาความเสียหายที่เกิดขึ้นกับกล้ามเนื้อหรือเส้นประสาท
- การกระตุ้นกล้ามเนื้อให้ทำงาน (Functional Electrical Stimulation) โดยการใช้กระแสไฟฟ้าช็อตเข้าไปที่กล้ามเนื้อเพื่อกระตุ้นให้กล้ามเนื้อที่เป็นอัมพาตอยู่กลับมาทำงานอีกครั้ง
การป้องกันการสูญเสียการทำงานของกล้ามเนื้อ
แม้การป้องกันการสูญเสียการทำงานของกล้ามเนื้อจะไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด แต่ก็สามารถหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะหลอดเลือดสมอง และการบาดเจ็บของกระดูกไขสันหลังได้ ด้วยวิธีการดังนี้
- รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเน้นที่อาหารประเภทผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี จำกัดการบริโภคเกลือ น้ำตาล ไขมันอิ่มตัว และธัญพืชที่ผ่านการขัดสีแล้ว
- ออกกำลังกายเป็นประจำ หากออกกำลังกายด้วยความหนักปานกลาง ควรทำอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือหากออกกำลังกายที่ใช้แรงมาก ควรทำอย่างน้อย 75 นาทีต่อสัปดาห์
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และจำกัดการดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และขับรถ และคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งขณะโดยสารรถยนต์
- จัดเก็บทางเดินในบ้านให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันการสะดุด
- ถ้าคุณต้องใช้บันไดปีน ให้วางบันไดไว้บนพื้นที่เรียบ เปิดบันไดให้สุดก่อนการใช้ และระมัดระวังการปีนบันไดเสมอ
ที่มาของข้อมูล
April Kahn, What Causes Decreased Muscle Function? (https://www.healthline.com/symptom/decreased-muscle-function), February 25, 2016.