สำหรับพ่อแม่ที่มี ลูกพูดช้า การเอากบมาตบปากแบบโบราณนั้นไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ตรงจุด ทั้งนี้คุณพ่อคุณแม่ต้องรู้สาเหตุก่อนว่าการที่เด็กพูดช้านั้นมีสาเหตุจากอะไร และมีวิธีไหนที่รักษาอาการนี้ได้บ้าง
วิธีสังเกตว่า ลูกพูดช้า
- เด็กอายุ 1 ปี ควรจะพูดคำที่มีความหมายเพื่อบอกความต้องการได้ประมาณ 4-5 คำ เช่น หม่ำ ไป แม่ และทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้ เช่น ยิ้มหวาน เดินมาหาคุณพ่อคุณแม่ได้
- เด็กอายุ 1 ขวบครึ่ง ควรจะพูดคำที่มีความหมายได้ประมาณ 50-100 คำและเริ่มพูดคำ 2 พยางค์ เช่น แม่มา กินนม ไปเที่ยว รวมถึงการสื่อสารทางภาษากายที่ซับซ้อนมากขึ้นร่วมกับการพูด เช่น ทำท่าทางบอกด้วยการชี้ ดึง พยักหน้า ผลักตัว แสดงสีหน้าชัดเจนว่าเด็กรู้สึกอย่างไร
- เด็กอายุ 2 ปี ควรจะเริ่มพูดเป็นประโยคสั้นๆ เช่น ไม่อาบน้ำ แม่ไปเซเว่น รวมไปถึงการทำตามคำสั่งได้ 2 ขั้นตอน เช่น เก็บตุ๊กตาแล้วไปใส่รองเท้า เป็นต้น
- เด็กอายุ 3 ปี ควรจะพูดเป็นประโยคที่สมบูรณ์ได้แล้ว เช่น หนูอยากไปบ้านบอล หนูไม่กินแตงโม รวมทั้งเริ่มโต้ตอบและบอกเหตุผลง่ายๆ เช่น คุณแม่ถามลูกว่า “ทำไมหนูถึงไม่อยากไปโรงเรียนละลูก ลูกควรจะตอบได้แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ไม่อยากไปเพราะกลัวครูดุ และเล่าเรื่องง่ายๆผ่านการกระตุ้นถาม
- เด็กอายุ 4-5 ขวบ ควรจะเล่าเรื่องง่ายๆได้ เช่น เล่นอะไรที่โรงเรียน ชอบเล่นอะไร ไม่ชอบใคร ใครแกล้งและพูดเป็นประโยคซับซ้อนได้แล้ว เช่น หนูไม่อยากไปนอนเพราะหนูอยากดูการ์ตูนและหนูยังไม่ง่วงด้วย
สาเหตุที่ทำให้ ลูกพูดช้า
- เด็กที่เป็นออทิสติก
- เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางสติปัญญา
- เด็กที่ขาดการกระตุ้นพัฒนาการ หรือเด็กที่คุณพ่อคุณแม่ให้เล่นโทรศัพท์มือถือตั้งแต่เล็กๆ
- เด็กที่มีประสาทหูพิการ
- เด็กที่สมองพิการ
เมื่อคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าทำไมลูกถึงไม่ยอมพูดสักที สิ่งแรกที่ต้องทำ คือพาลูกมาให้คุณหมอเด็กหรือหมอพัฒนาการเด็กทำการวินิจฉัยเบื้องต้น จากนั้นคุณหมอจะส่งต่อนักแก้ไขการพูดหรือทำการรักษาในขั้นต่อไป
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
วิธีกระตุ้นการพูดของเด็กอายุ 0-7 ปี
- คุณพ่อคุณแม่คือของเล่นที่ดีที่สุดของลูก ในช่วงที่ลูกยังพูดไม่ได้ ยังเล่นของเล่นไม่ได้ ให้สังเกตว่าลูกสนใจอะไรและเข้าไปเล่นในสิ่งที่ลูกสนใจ ให้เล่นเหมือนเป็นเพื่อนกับลูก ไม่ควรใช้คำสั่งให้ลูกทำโน้นทำนี่เพราะลูกจะไม่รู้สึกสนุกด้วย ควรเล่นเป็นธรรมชาติ เมื่อเกิดความสนุก ลูกจะมองหน้า มองปากและเลียนแบบการพูดเอง คุณพ่อคุณแม่ควรเล่นกับลูกอย่างน้อย 70-90% ของเวลาที่ลูกตื่น
- เล่นตามธรรมชาติของเด็ก ไม่ควรจะบังคับหรือสอนเป็นคำๆ อย่างการเล่นไล่จับ ขายของ คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนคำศัพท์ผ่านการเล่นได้ พร้อมกับสังเกตลูกไปด้วยว่าเขาสนใจอะไร หรือรู้สึกอะไรอยู่ รู้ถึงความต้องการของลูก และเล่นในจังหวะเดียวกันกับลูก เหมือนเด็กสองคนเล่นด้วยกัน
- ไม่ควรสอนแบบการท่องคำศัพท์ เนื่องจากในเด็กวัยนี้ควรจะต้องบูรณาการสมองให้ครบทุกด้าน (ภาษา ร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา สังคม) ไปพร้อมๆ กัน หากสอนแบบจำ เด็กจะใช้สมองส่วนความจำเยอะ พัฒนาการจะกำจัดอยู่ด้านเดียว ระหว่างเล่น ควรกระตุ้นให้ลูกคิดแก้ปัญหา เช่น เปิดฝาขวดไม่ได้ ทำอย่างไรดี หรือถามคำถามที่ให้ลูกคิด “หนูอยากเล่นอะไร” “วันนี้จะขายอะไร” คำถามที่ให้ลูกคิดเป็นคำถามที่เราไม่รู้คำตอบ ถามความเห็น ไม่ควรถามคำถามความจำมากเกินไป เช่น “สีอะไร มีกี่อัน”
- ไม่คาดหวังในตัวลูก ว่าลูกต้องเล่นแบบนั้นแบบนี้ ไม่จำกัดในการเล่นของเล่นแต่ละอย่าง
- คุณพ่อคุณแม่แค่ระวังความปลอดภัยในการเล่น ที่ไม่เป็นการทำลายข้าวของ การเล่นที่เป็นอันตรายต่อตัวลูกเองและคนอื่นๆ หากลูกไม่ยอมเล่นด้วย ตื้อลูกได้บ้าง แต่ไม่ควรเข้าไปแทรกแซงลูกจนกลายเป็นการบังคับ
สิยาพัฐ บุญช่วย เรียบเรียง
จากการสัมภาษณ์ คุณวรวรรณ วัฒนาวงศ์สว่าง ความชำนาญพิเศษ กระตุ้นพัฒนาการและจิตวิทยา โรงพยาบาลธนบุรี 2