กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเป็นอย่างไร? รวมทุกข้อมูลที่ควรรู้ทั้งหมด

เมื่อข้อเข่าใช้การไม่ได้ดั่งเดิม การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจเพื่อให้กลับมาใช้งานเข่าได้ดังเดิม
เผยแพร่ครั้งแรก 12 พ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 29 มี.ค. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 16 ส.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 8 นาที
ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเป็นอย่างไร? รวมทุกข้อมูลที่ควรรู้ทั้งหมด

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า เป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมซึ่งผิวข้อสึกหรอไปมาก รักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยา หรือการทำกายภาพบำบัด
  • แพทย์จะผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าโดยการนำผิวกระดูกอ่อนที่เสื่อมสภาพแล้วออก หลังจากนั้นจะนำข้อเข่าเทียมซึ่งทำจากโลหะและโพลีเอทิลีนมาใส่แทนที่ ยึดด้วยซีเมนต์พิเศษ แล้วจัดแกนขาที่ผิดรูปให้กลับมาตรงดังเดิม
  • แพทย์จะใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 1.30-2 ชั่วโมง ต่อการผ่าตัด 1 ข้าง และภายหลังการผ่าตัดผู้ป่วยจะสามารถเคลื่อนไหวข้อเข่าและลงน้ำหนักได้ใกล้เคียงปกติ และเดินได้ไกลมากขึ้น
  • แพทย์มักพิจารณาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมให้เฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุค่อนข้างมาก เนื่องจากข้อเข่าเทียมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีอายุการใช้งานโดยเฉลี่ยประมาณ 20-25 ปี และจะเริ่มเสื่อมสภาพ อีกทั้งการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าครั้งถัดไปอาจให้ผลการรักษาไม่ดีเหมือนครั้งแรกด้วย
  • ราคาการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า เริ่มต้นที่ประมาณ 100,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจและรักษาข้อเข่า

ข้อเข่า เป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้ในการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน

หากข้อเข่ามีความผิดปกติ หรือเสื่อมสภาพลง อาจทำให้รู้สึกเจ็บปวดเวลาเคลื่อนไหว ในผู้ที่ข้อเข่าเสื่อมมาก บางครั้งแค่อยู่เฉยๆ ก็รู้สึกปวดแล้ว และหากไม่ได้รับการรักษาก็อาจทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้นจนไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
รักษา ผ่าตัด กระดูกและข้อวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,673 บาท ลดสูงสุด 80%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

นอกจากการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการอักเสบ ลดอาการเจ็บปวดแล้ว การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ที่มาอาการข้อเข่าเสื่อมสามารถกลับมาเคลื่อนไหว ยืน เดิน หรือนั่ง ได้ใกล้เคียงกับปกติอีกครั้ง

ทำความรู้จักข้อเข่า อวัยวะสำคัญของร่างกาย

ข้อเข่าเป็นข้อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ประกอบด้วย กระดูกแข็ง 3 ชิ้น ซึ่งเป็นโครงสร้างหลัก ได้แก่

  1. ส่วนปลายของกระดูกต้นขา (Femur)
  2. ส่วนบนของกระดูกหน้าแข้ง (Tibia)
  3. กระดูกลูกสะบ้า (Patellar)

โดยกระดูกทั้ง 3 ส่วนจะถูกยึดอยู่ด้วยกัน โดยมีเส้นเอ็น หมอนรองกระดูก และกล้ามเนื้ออยู่ล้อมรอบ ช่วยควบคุมการเคลื่อนไหว รองรับ และกระจายน้ำหนัก ในขณะที่เคลื่อนไหว หรือยืน

บริเวณผิวของกระดูกทั้ง 3 ชิ้น จะปกคลุมด้วยกระดูกอ่อน (Articular Cartilage) ซึ่งมีสีขาว ลักษณะมันเรียบ คล้ายผิวไข่มุก ทำหน้าที่รองรับแรงกระแทกกันของกระดูก และช่วยให้การเคลื่อนไหวลื่นไหลขึ้น

สาเหตุที่ต้องมีกระดูกอ่อน เพราะปลายกระดูกแข็งมีเส้นประสาทอยู่มาก ถ้าไม่มีผิวกระดูกอ่อน กระดูกแข็งที่กดทับ และเสียดสีกันขณะที่มีการงอ หรือเหยียดเข่า ยืน หรือเดินลงน้ำหนัก จะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดได้

ดังนั้นหากกระดูกอ่อนแข็งแรงดี เมื่อมีการงอ เหยียดเข่า และเดินลงน้ำหนัก จะไม่รู้สึกเจ็บปวด หรือขัดในเข่านั่นเอง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
รักษา ผ่าตัด กระดูกและข้อวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,673 บาท ลดสูงสุด 80%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

สาเหตุสำคัญที่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

1. ข้อเข่าเสื่อม (Osteoarthritis of the Knee)

เป็นโรคที่เกิดจากการสึกกร่อนของผิวกระดูกอ่อนบริเวณข้อเข่า มีสาเหตุจากอายุที่มากขึ้น และการใช้งานข้อเข่าหนัก ทำให้มีการขัดสี และถลอกของผิวกระดูกอ่อนที่หุ้มอยู่รอบเข่าจนถึงเนื้อกระดูก จนทำให้เกิดอาการเจ็บปวด

ในบางกรณี ข้อเข่าอาจซ่อมแซมตัวเอง และพอกตัวหนาขึ้น จนเกิดเป็นกระดูกงอกขรุขระขึ้นภายในข้อ ทำให้การเคลื่อนไหวติดขัด และมีเสียงดัง

ผู้ที่มีอาการข้อเข่าเสื่อมรุนแรง หมายถึง ผู้ที่กระดูกงอกผิดปกติ หรือสึกกร่อนไปมาก จนทำให้ขาโก่งเข้าด้านใน หรือเกบิดออกด้านนอก ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้การรับน้ำหนักของข้อเข่าผิดปกติได้

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมจะเป็นผู้สูงอายุ และเพศหญิงมีโอกาสเกิดโรคข้อเข่าเสื่อมมากกว่าเพศชาย

2. ข้ออักเสบเรื้อรัง

ชนิดของโรคข้ออักเสบที่พบบ่อยคือ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)

ข้ออักเสบเรื้อรังจะทำให้เยื่อหุ้มข้ออักเสบหนาตัวขึ้น มีการสร้างน้ำหล่อเลี้ยงข้อมากขึ้นจนทำให้เข่าบวมแดง เมื่อมีการอักเสบนานจะทำให้ส่วนกระดูกถูกทำลาย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษา และผ่าเข่า วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 1,542 ลดสูงสุด 77%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

3. ข้ออักเสบจากอุบัติเหตุ

อุบัติเหตุเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้กระดูกอ่อนผิวข้อถูกทำลาย จากแรงกระแทกที่รุนแรง หรือจากการแตกร้าวของกระดูกและกระดูกอ่อนเป็นผลให้ผิวข้อเสียไม่เรียบ

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าคืออะไร?

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมซึ่งผิวข้อสึกหรอไปมาก รักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานยา หรือการทำกายภาพบำบัด

แพทย์จะผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าโดยการนำผิวกระดูกอ่อนที่เสื่อมสภาพแล้วออก หลังจากนั้นจะนำข้อเข่าเทียมซึ่งทำจากโลหะและโพลีเอทิลีนมาใส่แทนที่ ยึดด้วยซีเมนต์พิเศษแล้วจัดแกนขาที่ผิดรูปให้กลับมาตรงดังเดิมโดยจะใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 1.30-2 ชั่วโมง ต่อการผ่าตัด 1 ข้าง 

ภายหลังจากการผ่าตัดผู้ป่วยจะสามารถเคลื่อนไหวข้อเข่าและลงน้ำหนักได้ตามปกติ หรือใกล้เคียงปกติและเดินได้ไกลมากขึ้น

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมีกี่ชนิด

ข้อเข่าเทียมมีหลายชนิดขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค โดยแบ่งชนิดของข้อเข่าเทียมได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

1. ข้อเข่าเทียมแบบเปลี่ยนผิวข้อเฉพาะบางส่วน 

แบ่งได้ 2 รูปแบบ คือ

  • ข้อเข่าเทียมแบบซีกเดียว (Unicompartmental Knee Arthroplasty) ใช้ทดแทนผิวข้อที่สึกเพียงด้านใดด้านหนึ่ง พบมากในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่าด้านในเพียงด้านเดียวและแกนขาไม่โก่งมาก แพทย์จะนำผิวกระดูกที่เสื่อมสภาพออกไปแล้วใช้ข้อเข่าเทียมชนิดซีกเดียวเปลี่ยนให้
  • ข้อเข่าเทียมแบบสองซีก (Bicompartmental Knee Arthroplasty) เป็นข้อเข่าเทียมที่ใช้เปลี่ยนผิวข้อทางด้านในและลูกสะบ้า เหมาะจะใช้ในผู้ป่วยที่มีผิวข้อเสื่อมทางด้านในและผิวลูกสะบ้าสึกหรอ มีแกนขาโก่งไม่มาก และผิวข้อทางด้านนอกปกติ

2. ข้อเข่าเทียมแบบเต็มข้อ (Total Knee Arthroplasty) 

ใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการข้อเสื่อมรุนแรงมากๆ โดยอาการปวดเข่าทั่วทั้งเข่าและแกนขาผิดรูปมาก แพทย์จะนำผิวข้อที่เสื่อมแล้วออกทั้งหมด แล้วทดแทนด้วยข้อเข่าเทียมแบบเต็มข้อ

เมื่อไรต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า?

ข้อเข่าเทียมที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีอายุการใช้งานโดยเฉลี่ยประมาณ 20-25 ปี แล้วจะเริ่มเสื่อมสภาพ 

แพทย์จึงมักพิจารณาผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมให้เฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุค่อนข้างมาก เนื่องจากการเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมในผู้ป่วยที่อายุน้อยซึ่งยังมีการเคลื่อนไหว และใช้ข้อเข่ามาก จะทำให้ข้อเข่าเทียมสึกหรอเร็ว และมีอายุการใช้งานที่สั้นลง 

อีกทั้งการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าซ้ำอาจให้ผลการรักษาไม่ดีเหมือนครั้งแรก และใช้เวลาพักรักษาตัวนานกว่า

นอกจากนี้แพทย์จะเลือกผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมในผู้ป่วยที่รักษาด้วยวิธีรับประทานยา หรือรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟูมาอย่างเต็มที่แล้วอาการไม่ดีขึ้น โดยสรุปแล้วผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า คือ

  • ผู้ป่วยสูงอายุที่มีข้อเข่าเสื่อมในระยะสุดท้าย
  • ผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาแก้ปวดต่อเนื่องกันทุกวัน
  • ผู้ที่มีอาการปวดมากจนรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน
  • ผู้ที่ทดลองรักษาด้วยวิธีอื่นทั้งหมดแล้วไม่ประสบความสำเร็จ

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า มีความเสี่ยงอะไรบ้าง?

การผ่าตัดเปลี่ยนเข่าเทียมเป็นการผ่าตัดทั่วไปที่ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่ประสบกับภาวะแทรกซ้อนใดๆ แต่ก็มีความเสี่ยงอยู่เช่นกัน โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นมีดังนี้

  • การติดเชื้อที่บาดแผลซึ่งต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ แต่หากมีการติดเชื้อลึก อาจต้องผ่าตัดเพิ่มเติม
  • มีเลือดไหลเข้าในข้อต่อเข่า
  • เอ็นยึด เส้นเลือด หรือเส้นประสาทบริเวณที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเสียหาย
  • อาจมีลิ่มเลือด หรือภาวะเส้นเลือดดำที่ขาตีบขอด (DVT) ทำให้เคลื่อนไหวขาในช่วงสัปดาห์แรกๆ หลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าทำได้น้อยลง
  • มีอาการเจ็บในข้อเข่า หรือชารอบบาดแผล
  • มีการแตกร้าวของกระดูกรอบข้อต่อเทียมระหว่าง หรือหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า
  • มีกระดูกยื่นออกรอบข้อเข่าเทียมจนจำกัดการเคลื่อนไหวของเข่า
  • มีแผลเป็นรอบข้อต่อเทียมจนจำกัดการเคลื่อนไหวของเข่า
  • กระดูกสะบ้าเคลื่อน
  • อาจมีอาการแพ้ซีเมนต์กระดูกที่ใช้ในกระบวนการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าได้

ข้อห้ามในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

  • ผู้ที่มีการติดเชื้อในเข่า และยังรักษาไม่หายขาด
  • ผู้ที่มีการติดเชื้อบางอย่างในร่างกาย เช่น ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ การติดเชื้อในช่องปาก เป็นต้น
  • ผู้ที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อมร่วมกับกล้ามเนื้อต้นขาอ่อนแรง เนื่องจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมไม่สามารถแก้ไขภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงได้ ผู้ป่วยจะไม่สามารถใช้งานขาได้ กรณีนี้จำเป็นต้องรักษาด้วยแนวทางอื่น
  • ผู้ที่มีข้อเข่าเสื่อมร่วมกับการสูญเสียการทำงานของเส้นประสาทรับความรู้สึก ผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่รู้สึกเจ็บที่เข่า แต่การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่ามีจุดประสงค์คือ ลดอาการบาดเจ็บจึงไม่จำเป็นต้องผ่า นอกจากนี้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมในผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสประสบความไม่สำเร็จสูงนัก เช่น ข้อเทียมหลวมก่อนเวลา มีโอกาสที่ข้อเทียมติดเชื้อสูง เป็นต้น

ระยะเวลาฟื้นตัวหลังการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

ระยะเวลาการฟื้นตัวหลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าจะแตกต่างกันตามวิธีการผ่าตัด ซึ่งมี 3 รูปแบบหลักๆ คือ

  1. ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบบมาตรฐานดั้งเดิม (Standard Total Knee Arthroplasty) ผู้ป่วยจะลุกเดินได้ภายใน 4 – 7 วันหลังการผ่าตัด และต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลประมาณ 7-14 วัน
  2. ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบบแผลเล็ก (เนื้อเยื่อบาดเจ็บน้อย) (Minimally Invasive Surgery-Total Knee Arthroplasty: MIS-TKA) ผู้ป่วยจะลุกเดินได้ภายใน 1-2 วันหลังผ่าตัด และต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลประมาณ 3-7 วันหลังผ่าตัด
  3. ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมแบบแผลเล็กโดยใช้คอมพิวเตอร์นำร่อง (Computer Assisted-Minimally Invasive Total Knee Arthroplasty: CAS-MIS-TKA) ผู้ป่วยจะลุกเดินได้ภายใน 1-2 วันหลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า และต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาลประมาณ 3-7 วันหลังผ่าตัด วิธีนี้ผู้ป่วยจะเสียเลือดน้อยกว่า ฟื้นตัวเร็วกว่า แต่ค่าใช้จ่ายก็สูงกว่าเช่นกัน

ระหว่างพักฟื้นที่โรงพยาบาล นักกายภาพบำบัดจะให้คุณฝึกออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้เข่า โดยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของนักกายภาพอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนหรือการเคลื่อนของข้อต่อใหม่

หลังผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าอาจมีอาการไม่สบายเนื้อสบายตัวขณะเดิน หรือออกกำลังกายบ้าง และอาจมีอาการบวมที่ขาและเท้าซึ่งเป็นภาวะปกติหลังการผ่าตัด

ทั้งนี้การลุกขึ้นยืน หรือเดินในช่วงแรกๆ อาจต้องใช้เครื่องช่วยพยุง แต่หลังจากผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าประมาณ 6 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็จะสามารถเดินได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยพยุงใดๆ 

รวมทั้งสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ เช่น ทำงานบ้านเบาๆ ขับรถ เดินทางไปทำงาน (ขึ้นอยู่กับประเภทของงานด้วย) มีเพศสัมพันธ์ ฯลฯ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของแต่ละบุคคลด้วย 

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่คุณฟื้นตัวแล้ว ควรหลีกเลี่ยงการยืนนานๆ เคลื่อนไหวแรงๆ หรือเล่นกีฬาหนักๆ ที่อาจทำให้หกล้มได้

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าอื่นๆ

มีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมรูปแบบอื่นๆ อีกมากมายขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัย เพื่อรักษาอย่างเหมาะสม ดังนี้

1. การผ่าตัดส่องกล้องเพื่อตัดเล็มและชะล้างเนื้อเยื่อ 

ใช้กล้องขนาดเล็กสอดเข้ารอยกรีดที่เข่า โดยแพทย์จะใช้น้ำเกลือล้างเศษกระดูก หรือกระดูกอ่อนออกไป กระบวนการนี้จะไม่แนะนำให้ทำกับผู้ที่มีปัญหาข้ออักเสบรุนแรง

2. การผ่าตัดเพื่อรักษาความบกพร่องของกระดูกอ่อน 

แพทย์จะสร้างรูขนาดเล็กที่พื้นผิวเหนือกระดูกก่อนใช้ไม้ขุดลึกลงไปเพื่อกระตุ้นการเติบโตของกระดูกอ่อน เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสียหายทางกระดูกอ่อนเล็กน้อย แต่กระบวนการนี้ก็ยังไม่ได้รับการพิสูจน์เชิงลึก อีกทั้งผลลัพธ์ก็ไม่ดีเท่าการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าสำหรับผู้ที่มีภาวะข้ออักเสบรุนแรง

3. การผ่าตัดเปลี่ยนแนวกระดูก 

ศัลยแพทย์จะกรีดเปิดกระดูกแข้งเพื่อจัดเรียงตำแหน่งกระดูกใหม่ จุดมุ่งหมายเพื่อให้การลงน้ำหนักไม่ส่งผลโดยตรงกับข้อเข่าที่เสียหายเป็นกระบวนการที่ใช้กับผู้ที่มีปัญหาข้ออักเสบที่มีอายุน้อย เพราะการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่ามีข้อจำกัดและเหมาะกับผู้ที่มีอายุมาก ดังที่กล่าวไปข้างต้น

4. การปลูกถ่ายเซลล์กระดูกอ่อน (ACI) 

แพทย์จะนำเซลล์กระดูกอ่อนของคุณไปเลี้ยงในหลอดทดลองและนำกลับเข้าไปยังตำแหน่งอวัยวะที่เสียหาย มักใช้กับกรณีบาดเจ็บที่เข่ามากกว่าการรักษาโรคข้ออักเสบ

5. การผ่าตัดเปลี่ยนกระดูกอ่อน 

เป็นการโยกย้ายกระดูกอ่อนส่วนหนึ่งพร้อมกับกระดูกบางส่วนของข้อเข่าอีกข้างมาซ่อมแซมพื้นผิวที่เสียหาย

วิธีป้องกันข้อเข่าเสื่อม ป้องกันก่อนต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

แม้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าจะถือว่า เป็นแนวทางการรักษาที่มีประสิทธิภาพ แต่การดูแลตัวเองเพื่อป้องกันข้อเข่าเสื่อมก็ถือเป็นทางเลือกที่ดีกว่ามาก 

ดังนั้นเมื่อเริ่มมีอาการของข้อเข่าเสื่อมในระยะต้นๆ คุณสามารถดูแลรักษาตัวเองควบคู่ไปกับการรักษาโดยแพทย์ได้โดยการปฏิบัติด้วยวิธีง่ายๆ ดังต่อไปนี้

  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติจะช่วยชะลอการเสื่อมของข้อเข่าได้
  • หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหว หรือท่านั่งบางอย่าง เช่น นั่งยอง คุกเข่า พับเพียบ ขัดสมาธิ ซึ่งข้อเข่ามีการงอพับทำให้เข่าต้องรับแรงกดมากจึงทำให้อาการของโรคเพิ่มขึ้นได้
  • ใช้ไม้เท้าช่วยเดินเวลาที่มีอาการปวดมากและต้องเดินไกลๆ ไม้เท้าจะช่วยแบ่งน้ำหนักที่มาลงบริเวณข้อเข่า
  • ถ้ามีอาการปวด สามารถรับประทานยาแก้ปวด หรือยาที่แพทย์จ่ายให้เป็นครั้งคราวเพื่อบรรเทาอาการได้ แต่ไม่ควรรับประทานต่อเนื่องยาวนาน 1-2 สัปดาห์ เพราะอาจมีผลข้างเคียงบางอย่างได้
  • หมั่นออกกำลังบริหารกล้ามเนื้อรอบข้อเข่า และกล้ามเนื้อต้นขา

ผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าได้ที่ไหน ราคาประมาณเท่าไร?

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า จำเป็นต้องกระทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะหากเกิดข้อผิดพลาด อาจส่งผลร้ายแรงตามมาได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ และควรผ่าตัดกับโรงพยาบาลรัฐ หรือเอกชนที่ได้มาตรฐานสากล 

โดยราคาการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่านั้น อยู่ที่ประมาณ 100,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล

การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า เป็นวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพ แต่มีข้อจำกัดหลายอย่าง ผู้ที่มีอาการปวดข้อเข่ามากจึงควรเข้าพบแพทย์เพื่อประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตก่อน โดยแพทย์อาจให้รักษาด้วยวิธีอื่นๆ ไปก่อน หรือใช้วิธีรักษาร่วมกันระหว่างการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า การรับประทานยา และการทำกายภาพบำบัดก็ได้

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจและรักษาข้อเข่า จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android

รวมบทความที่เกี่ยวข้องกับอาการปวดข้อเข่า


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Harvard Health Publishing, 6 signs that it may be time to have a joint replaced (https://www.health.harvard.edu/pain/6-signs-that-it-may-be-time-to-have-a-joint-replaced), 22 December 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป