การปฐมพยาบาล

เผยแพร่ครั้งแรก 12 ก.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 14 นาที
การปฐมพยาบาล

ทุก ๆ ปีจะมีผู้คนจำนวนหลายพันคนเสียชีวิตหรือบาดเจ็บร้ายแรงจากเหตุต่าง ๆ การเสียชีวิตหลายกรณีนั้นสามารถป้องกันได้ด้วยการปฐมพยาบาลก่อนที่ความช่วยเหลือจากแพทย์จะมาถึง

สิ่งที่คุณสามารถทำได้

หากคุณพบผู้บาดเจ็บ คุณควร:

ตรวจสอบว่าคุณและผู้บาดเจ็บไม่ได้อยู่ในอันตรายใด ๆ และหากเป็นไปได้ก็ให้ทำให้ทั้งคุณและผู้บาดเจ็บอยู่ในสถานการณ์ที่ปลอดภัยที่สุด

หากจำเป็น ให้ติดต่อขอความช่วยเหลือเรียกโรงพยาบาลมา

ดำเนินขั้นตอนการปฐมพยาบาลเบื้องต้น

หากผู้บาดเจ็บหมดสติและหายใจอยู่

หากผู้บาดเจ็บหมดสติแต่ยังคงมีลมหายใจ และไม่มีการบาดเจ็บที่ทำให้พวกเขาขยับตัวไม่ได้ ให้ขยับร่างกายพวกเขาไปอยู่ในท่าพักฟื้น (recovery position) เพื่อรอความช่วยเหลือมาถึง

พยายามสังเกตอาการของผู้บาดเจ็บตลอดเวลาเพื่อให้มั่นใจว่าพวกเขายังคงหายใจอยู่ และไม่มีสิ่งกีดขวางหลอดลมของพวกเขา

หากผู้บาดเจ็บหมดสติและไม่หายใจ

หากผู้บาดเจ็บไม่หายใจหลังประสบเหตุ ให้เรียกรถพยาบาลและทำการผายปอด (CPR) ทันที แต่หากคุณไม่เคยได้รับการฝึกฝนการช่วยหายใจมาก่อน ควรใช้แต่การ CPR ด้วยมือเท่านั้น

อุบัติเหตุและเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้นบ่อย

รายการต่อไปนี้คือเหตุบาดเจ็บที่ต้องเข้ารับการรักษาฉุกเฉิน และข้อมูลการรับมือกับเหตุเหล่านั้น: ภาวะภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (anaphylaxis) เลือดออก แผลไฟไหม้และน้ำร้อนลวก สำลัก จมน้ำ ไฟดูด กระดูกหัก หัวใจวาย ได้รับพิษ ภาวะช็อค ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ (stroke)

ภาวะภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน

ภาวะภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลัน (anaphylaxis) เป็นปฏิกิริยาแพ้รุนแรงที่มักเกิดขึ้นหลังโดนแมลงต่อย หรือหลังจากทานอาหารบางประเภท ปฏิกิริยานี้จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมากภายในหนึ่งวินาทีหรือไม่กี่นาทีหลังต้องกับสิ่งเร้า

ระหว่างภาวะช็อคจากอาการแพ้รุนแรง (anaphylactic shock) จะทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบากมากเนื่องจากลิ้นกับลำคอบวมขึ้นจนขวางหลอดลม

ให้คุณเรียกรถพยาบาลมาทันทีหากคุณเห็นผู้ที่ประสบกับเหตุช็อคจากอาการแพ้รุนแรง

ตรวจสอบว่าผู้ป่วยพกยาประจำตัวมาด้วยหรือไม่ เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจตระหนักดีว่าพวกเขามีภาวะแพ้รุนแรงและจำต้องพกยาฉีดอะดรีนาลีนติดตัวไว้ คุณสามารถช่วยหยิบฉวยยาให้พวกเขาจัดการฉีดให้กับตัวเอง หรือหากคุณเคยผ่านการฝึกฉีดยาอะดรีนาลีนมาก่อน คุณก็สามารถฉีดยาให้แก่ผู้ป่วยก็ได้

หลังการฉีดยา ให้คอยสังเกตอาการของผู้ป่วยจนกว่าหน่วยแพทย์จะมาถึงที่เกิดเหตุ ผู้บาดเจ็บที่ได้รับการฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อหรือใต้ผิวหนังจะต้องถูกตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลังการฉีดยาทันที

พยายามทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายที่สุดเพื่อให้พวกเขาหายใจได้เองขณะรอความช่วยเหลือจากแพทย์ หากพวกเขายังคงมีสติอยู่ จัดให้พวกเขานั่งตัวตรงจะเป็นท่าทางที่ดีที่สุด

เลือดออก

หากผู้บาดเจ็บมีเลือดออกรุนแรง วิธีช่วยคือการหยุดเลือดที่ไหลเพื่อลดโอกาสการเกิดภาวะช็อคจากการสูญเสียเลือดมากเกินไป

อันดับแรกให้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากทางโรงพยาบาลทันที หากคุณมีถุงมือสำหรับใช้แล้วทิ้ง คุณสามารถใช้ถุงมือนี้ในการดูแลผู้ป่วยเพื่อลดโอกาสติดเชื้อ

ตรวจสอบว่ามีสิ่งแปลกปลอมฝังอยู่ในบาดแผลหรือไม่ หากมี พยายามอย่ากดสิ่งนั้นลงไปแต่ใช้วิธีจับด้านข้างของสิ่งนั้น ๆ อย่างมั่นคงและประคบปากแผลโดยรอบด้วยพันผ้าปิดแผลเพื่อไม่ให้สิ่งที่ฝังอยู่ได้รับการกระทบกระเทือนมากเกินไป

หากไม่มีวัตถุแปลกปลอมฝังอยู่ที่แผล:

ให้กดปากแผลด้วยถุงมือ ทำความสะอาดหรือปิดแผล (หากทำได้) และกดแผลไปเรื่อย ๆ จนกว่าเลือดจะหยุดไหล

ใช้ผ้าหรือวัสดุแต่งแผลพันแผลที่สะอาดปิดแผลอย่างแน่นหนา

หากผู้บาดเจ็บยังมีเลือดออกผ่านที่ปิดแผลอยู่ ให้กดที่บาดแผลไปเรื่อย ๆ จนกว่าเลือดจะหยุด และค่อยใช้วัสดุปิดแผลอีกชั้นปิดเหนือผ้าปิดแผลชั้นแรก ห้ามนำผ้าปิดแผนเดิมออกแต่ต้องคอยตรวจดูว่าเลือดหยุดไหลหรือยัง

หากมีชิ้นส่วนอวัยวะถูกบั่นออก เช่นนิ้วมือ ให้นำอวัยวะนั้นใส่ถุงพลาสติกหรือพันไว้ก่อนนำให้ผู้บาดเจ็บติดตัวไปโรงพยาบาลด้วย

พยายามติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากแพทย์ทุกครั้งเว้นแต่แผลเลือดออกนั้นไม่รุนแรงมาก

หากเป็นภาวะเลือดกำเดาที่ไม่หยุดภายใน 20 นาที ให้ไปพบแพทย์ทันที

ผ้าปิดห้ามเลือดและทูนิเก้

บางสถานการณ์ที่ซึ่งผู้บาดเจ็บมีเลือดออกรุนแรงมากจากอวัยวะสำคัญของร่างกาย เช่นศีรษะ คอ และท้อง พยายามใช้วิธีปิดแผลห้ามเลือดที่เหมาะสมหรือใช้ทูนิเก้ (tourniquet)

ผ้าปิดห้ามเลือดจะมีองค์ประกอบที่ช่วยทำให้เลือดจับลิ่มเร็วขึ้น ส่วนทูนิเก้คือแผ่นพันแผลสำหรับพันรอบอวัยวะแขนขาเพื่อหยุดเลือด ทั้งผ้าปิดห้ามเลือดกับทูนิเก้ควรถูกใช้งานโดยผู้ที่ผ่านการฝึกฝนการใช้งานมาก่อนแล้วเท่านั้น

แผลไฟไหม้และน้ำร้อนลวก

หากคุณพบผู้บาดเจ็บจากไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก:

พยายามทำให้แผลไหม้เย็นตัวลงให้เร็วที่สุดเท่าที่จะด้วยการเปิดน้ำก๊อกให้ไหลรดบาดแผลเป็นเวลาอย่างน้อย 10 นาที หรือจนกว่าความเจ็บปวดจะทุเลาลง

เรียกรถพยาบาลมารับตามความจำเป็น

ในขณะที่กำลังทำให้แผลไหม้เย็นตัว ค่อย ๆ ถอดเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับออกนอกจากว่าสิ่งเหล่านี้ติดกับผิวหนัง

หากคุณกำลังทำความเย็นให้กับแผลไหม้ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะหากผู้บาดเจ็บเป็นเด็กทารก เด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ พยายามระมัดระวังไม่ให้เกิดภาวะตัวเย็นเกิน (hypothermia)

ปิดแผลไหม้ด้วยฟิล์มถนอมอาหารบาง ๆ หากไม่มีฟิล์มถนอมอาหาร ให้ใช้ผ้าหรือวัสดุปิดแผลสะอาดที่ไม่เป็นขุยปิดแทน ห้ามใช้วิธีพันบาดแผลไหม้แน่น ๆ เพราะจะทำให้เกิดอาการบวมจนสร้างการบาดเจ็บเพิ่มเติมได้

ห้ามทาครีม โลชั่น หรือ สเปรย์กับแผลไหม้

สำหรับแผลไหม้จากสารเคมี คุณต้องทำการสวมถุงมือป้องกันก่อนกำจัดเสื้อผ้าที่เปื้อนสารออกก่อนล้างแผลไหม้ด้วยวิธีเปิดน้ำก๊อกให้ไหลผ่านแผลเพื่อล้างสารเคมีตกค้างเป็นเวลาอย่างน้อย 20 นาที หากเป็นไปได้ควรหาชนิดของสารเคมีที่ทำเกิดแผลให้เจอ

ในสถานการณ์ที่ต้องมีการใช้สารเคมีอันตรายเป็นประจำ ควรมียาถอนพิษสำหรับสารเคมีนั้น ๆ เตรียมเอาไว้ตลอดเวลา

ระมัดระวังไม่ให้สารเคมีโดนผิวหนังของคุณด้วยการสวมเสื้อป้องกันสารเคมีตลอดเวลาตามที่จำเป็น

ให้ติดต่อเรียกโรงพยาบาลเพื่อขอรับความช่วยเหลือทันที

สำลัก

ข้อมูลต่อไปนี้จะกล่าวถึงอาการสำลักของผู้ใหญ่และเด็กที่อายุมากกว่าหนึ่งปีขึ้นไป

อาการสำลักไม่รุนแรง

หากหลอดลมถูกกีดขวางเพียงบางส่วน ผู้บาดเจ็บมักจะสามารถพูด ร้องไห้ ไอ หรือหายใจได้อยู่ ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้บาดเจ็บมักจะสามารถช่วยเหลือตนเองได้ด้วย: การไอเพื่อขจัดสิ่งอุดกั้นในหลอดลมออก พยายามบ้วนสิ่งอุดกั้นในหลอดลมออกทางปาก ทั้งผู้บาดเจ็บและผู้ที่พยายามช่วยเหลือห้ามใช้นิ้วแหย่เข้าไปในปากเพื่อป้องกันการกัดโดยไม่ตั้งใจ

หากวิธีไอไม่ได้ผล ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในหัวข้อย่อยถัดไป

อาการสำลักรุนแรง

หากเกิดการสำลักรุนแรง ผู้บาดเจ็บมักจะไม่สามารถพูด ร้องไห้ ไอ หรือหายใจได้ และหากไม่ได้รับการช่วยเหลืออาจทำให้หมดสติได้

วิธีช่วยเหลือมีดังต่อไปนี้:

  • ยืนอยู่ข้างหลังผู้บาดเจ็บโดยเบี่ยงตัวเองออกด้านข้างเล็กน้อย ใช้มือข้างหนึ่งโอบหน้าอกของผู้บาดเจ็บไว้ก่อนเอนตัวผู้บาดเจ็บไปข้างหน้าเพื่อให้สิ่งกีดขวางในหลอดลมเคลื่อนออกมาทางปาก
  • ตบบริเวณสะบักไหล่ของผู้บาดเจ็บห้าทีแรง ๆ ด้วยส้นมือของคุณ (จุดที่ขั้นระหว่างฝ่ามือกับข้อมือ)
  • ตรวจสอบว่าสิ่งกีดขวางหลอดลมหลุดออกมาแล้วหรือไม่
  • หากไม่ ให้เปลี่ยนไปใช้วิธีอัดรัดท้อง (abdominal thrusts) ผู้บาดเจ็บแทน
  • วิธีอัดรัดท้องไม่ควรใช้กับเด็กที่อายุต่ำกว่าหนึ่งปี ผู้หญิงมีครรภ์ หรือผู้ที่มีภาวะอ้วน
  • ในการปฏิบัติวิธีช่วยด้วยการรัดท้องนั้น: คุณต้องยืนข้างหลังผู้บาดเจ็บที่กำลังสำลัก โอบแขนท้องสองข้างรอบเอวผู้บาดเจ็บและเอนตัวไปข้างหน้าพอประมาณ บีบกำปั้นของตนเองข้างหนึ่งและประคองไว้ตำแหน่งเหนือสะดือของผู้ป่วย ใช้แขนอีกข้างวางบนมือข้างที่กำลังกำมืออยู่และกระแทกเข้าข้างในลำตัวผู้บาดเจ็บโดยเฉียงขึ้นเล็กน้อย ทำเช่นนี้ซ้ำ ๆ ประมาณห้าครั้ง
  • การทำเช่นนี้จะทำให้สิ่งกีดขวางหลอดลมเคลื่อนตัวออกทางปากในแต่ละครั้ง จึงอาจไม่จำเป็นต้องทำครบห้าครั้งก็ได้
  • หากสิ่งกีดขวางไม่ยอมออกมาหลังจากกระแทกรัดท้องซ้ำ ๆ ให้ขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน และคอยทำตามขั้นตอนข้างต้นซ้ำ ๆ จนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึง
  • ผู้บาดเจ็บ (สำลัก) ควรเข้าพบผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลังจากนำสิ่งกีดขวางออกแล้วเพื่อตรวจหาสิ่งตกค้างหรือการบาดเจ็บ

จมน้ำ

หากพบผู้ประสบเหตุในน้ำ ห้ามคุณเข้าไปในน้ำเพื่อช่วยเหลือพวกเขานอกจากว่าจะจำเป็นจริง ๆ

เมื่อนำผู้ประสบเหตุขึ้นจากน้ำแล้วและพวกเขาไม่หายใจ ให้เปิดหลอดลมและช่วยเหลือการหายใจด้วยวิธี CPR หากคุณอยู่คนเดียวให้คุณทำ CPR ต่อไปเป็นเวลาหนึ่งนาทีก่อนขอรับความช่วยเหลือจากโรงพยาบาล

หากผู้ประสบเหตุยังคงไม่ได้สติ แต่หายใจอยู่ ให้จัดท่าทางพวกเขาในท่าพักฟื้นด้วยการจัดให้ศีรษะอยู่ต่ำกว่าร่างกาย จากนั้นให้คุณโทรศัพท์เรียกรถพยาบาลมารับทันที

ให้คอยสังเกตอาการของผู้ประสบเหตุเพื่อระวังการหายใจหรือการอุดตันของหลอดลมจนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึง

ไฟดูด

หากพบผู้ประสบเหตุไฟดูด ให้รีบตัดกระแสไฟที่สะพานไฟหลักก่อนเข้าสัมผัสตัวผู้ประสบเหตุ

หากคุณไม่สามารถไปยังจุดจ่ายไฟหลักได้:

ห้ามเข้าใกล้ผู้บาดเจ็บจนกว่าคุณจะมั่นใจว่ากระแสไฟถูกตัดแล้ว

เมื่อกระแสไฟถูกตัด และผู้ประสบเหตุไม่หายใจ ให้ติดต่อเรียกรถพยาบาลทันที

หลังจากนั้นให้เข้าพบแพทย์นอกจากว่าเหตุไฟดูดนั้นไม่รุนแรง

กระดูกหัก

เป็นการยากที่จะบอกได้ว่าผู้บาดเจ็บกระดูกหรือข้อต่อหัก หรือแม้แต่เป็นเพียงอาการบาดเจ็บที่กล้ามเนื้อ หากคุณไม่มั่นใจคุณก็สามารถทำการปฐมพยาบาลด้วยวิธีดูแลกระดูกหักไปก่อนก็ได้

หากผู้บาดเจ็บไม่มีสติ มีอาการหายใจลำบาก หรือมีเลือดออกรุนแรง คุณต้องจัดการกับอาการเหล่านี้ก่อนด้วยการควบคุมเลือดด้วยการกดปากแผลและ CPR

หากผู้บาดเจ็บมีสติอยู่ คุณต้องทำการป้องกันความเจ็บปวดหรือการบาดเจ็บด้วยการดูแลกระดูกที่หักให้อยู่นิ่งที่สุดเท่าที่จะทำได้จนกว่าผู้บาดเจ็บจะไปถึงโรงพยาบาล

หากอาการเจ็บปวดไม่รุนแรง คุณสามารถส่งตัวผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาลได้ ควรจัดหาบุคคลที่สามเป็นคนขับรถเพื่อให้คุณคอยดูแลผู้บาดเจ็บตลอดเวลา เพราะพวกเขาอาจหมดสติจากความเจ็บปวดหรือเริ่มมีอาการอาเจียนได้ กระนั้นวิธีส่งตัวที่ดีที่สุดคือการเรียกรถพยาบาลมารับ

แต่หากว่า:

ผู้บาดเจ็บรู้สึกเจ็บปวดอย่างมากและต้องใช้ยาแก้ปวดชนิดแรง ห้ามเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บแต่เรียกรถพยาบาลมารับเท่านั้น

หากชัดเจนว่ากระดูกขาหัก ห้ามขยับผู้บาดเจ็บ แต่พยายามจัดให้พวกเขาอยู่ในท่าเดิมตลอดจนกว่ารถพยาบาลจะมารับ

หากคุณคาดว่าผู้บาดเจ็บหลังหัก ห้ามเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บแต่เรียกรถพยาบาลมารับเท่านั้น

ห้ามให้ผู้บาดเจ็บดื่มหรือรับประทานอะไรเพราะพวกเขาอาจต้องได้รับยาชาเมื่อไปถึงโรงพยาบาล

หัวใจวาย

ภาวะหัวใจวายเป็นภาวะหัวใจร้ายแรงที่เกิดขึ้นบ่อยมากอย่างไม่น่าเชื่อ

หากคุณคาดว่าคุณพบผู้ที่ประสบกับภาวะหัวใจวาย หรือเพิ่งประสบกับภาวะหัวใจวาย ให้อยู่ใกล้ชิดพวกเขาและจัดให้พวกเขาอยู่ในท่าที่สบายที่สุดจนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึง

อาการของภาวะหัวใจวายมีดังนี้:

เจ็บหน้าอก: ความเจ็บปวดมักจะเกิด ณ ตำแหน่งกลางหรือทางอกด้านซ้าย และอาจรู้สึกเหมือนเกิดแรงดัน แน่น หรือบีบรัด

ความเจ็บปวดที่ส่วนอื่นของร่างกาย: อาจมีความรู้สึกเหมือนความเจ็บปวดวิ่งไปทั่วร่างเริ่มจากหน้าอกลงไปยังแขนข้างหนึ่งหรือสองข้าง หรือเจ็บเข้าไปในกราม ลำคอ แผ่นหลัง หรือหน้าท้อง

คุณควรนั่งอยู่กับผู้ป่วยและจัดให้พวกเขาอยู่ที่ท่าที่สบายตัวที่สุด

หากผู้ป่วยมีสติอยู่ ควรจัดให้พวกเขาทานยาแอสไพรินชนิดเม็ด 300mg ด้วยการเคี้ยวอย่างช้า ๆ (นอกจากคุณทราบดีว่าผู้ป่วยไม่ควรได้รับยาแอสไพริน อย่างเช่นผู้ป่วยเป็นเด็กที่อายุต่ำกว่า 16 ปี หรือแพ้ยาแอสไพริน)

หากผู้ป่วยมียาสำหรับอาการแน่นหน้าอก (angina) ติดตัว อย่างเช่นยาสเปรย์หรือยาเม็ด ช่วยจัดยาของพวกเขาให้แก่พวกเขา และคอยสังเกตอาการสำคัญต่าง ๆ เช่นการหายใจ จนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึง

หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้นจนเริ่มหมดสติ ให้เปิดหลอดลมของผู้ป่วยขึ้นและตรวจสอบการหายใจของพวกเขา และหากจำเป็นให้ทำการ CPR หลังจากนั้นให้แจ้งโรงพยาบาลที่ติดต่อขอความช่วยเหลือไปว่าผู้ป่วยกำลังประสบกับภาวะหัวใจหยุดเต้น (cardiac arrest)

ได้รับพิษ

สารพิษที่เข้าสู่ร่างกายมักจะเป็นอันตรายถึงชีวิต กรณีได้รับพิษส่วนมากเกิดขึ้นเนื่องจากการทานสารพิษเข้าไป อย่างเช่นสารฟอกขาว ยาทางการแพทย์ที่ใช้มากเกินขนาด หรือการทานพืชหรือเห็ดตามธรรมชาติ ภาวะพิษแอลกอฮอล์ (Alcohol poisoning) เองก็ทำให้เกิดอาการคล้ายคลึงกับสารพิษข้างต้น

หากคุณพบผู้ป่วยที่คาดว่าทานสารพิษเข้าไป ให้ขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลเพื่อเรียกรถพยาบาลหรือขอคำแนะนำทันที

ผลจากการได้รับพิษจะแตกต่างไปตามสารที่เข้าสู่ร่างกาย แต่ส่วนมากมักจะทำให้เกิดการอาเจียน หมดสติ เจ็บปวดหรือแสบร้อน โดยคุณสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ได้: ระบุชนิดของสารพิษที่ผู้ป่วยกลืนเข้าไป และแจ้งชนิดที่ทราบแก่แพทย์หรือพยาบาล ห้ามให้ผู้ป่วยดื่มหรือทานอะไรจนกว่าแพทย์จะแนะนำ ห้ามทำให้ผู้ป่วยอาเจียน อยู่กับผู้ป่วยตลอดเพื่อคอยสังเกตอาการ หากผู้ป่วยหมดสติในขณะที่รอความช่วยเหลือ พยายามตรวจสอบการหายใจของพวกเขา และหากจำเป็นก็ให้ทำ CPR ช่วยเหลือทันที

ห้ามใช้วิธีกู้ชีพแบบปากต่อปากหากว่าปากหรือหลอดลมของผู้ป่วยปนเปื้อนสารพิษ

ห้ามปล่อยผู้ป่วยที่หมดสติไว้ลำพังเพราะพวกเขาอาจจะนอนหงายหน้าขึ้นจนทำให้อาเจียนได้ ซึ่งจะทำให้อาเจียนไหลเข้าสู่ปอดและทำให้สำลักได้

หากผู้บาดเจ็บยังคงมีสติอยู่และสามารถหายใจได้ตามปรกติ ให้จัดพวกเขาอยู่ในท่าพักฟื้นและคอยสังเกตอาการของพวกเขาต่อไป

ภาวะช็อค

ในกรณีที่ผู้ประสบเหตุเกิดบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยรุนแรง สิ่งสำคัญคือการสังเกตระวังสัญญาณของภาวะช็อค

ภาวะช็อคคือภาวะร้ายแรงที่เกิดขึ้นเมื่อระบบไหลเวียนโลหิตไม่สามารถส่งผ่านออกซิเจนไปยังเลือดของร่างกายได้จนทำให้อวัยวะสำคัญต่าง ๆ ขาดออกซิเจน

ภาวะนี้มักเกิดขึ้นจากการสูญเสียเลือดปริมาณมาก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นหลังจากโดนไฟครอกรุนแรง จากการอาเจียนรุนแรง ภาวะหัวใจวาย การติดเชื้อแบคทีเรีย หรือภาวะภูมิแพ้รุนแรงได้

ภาวะช็อคมีอยู่หลายประเภท และไม่มีความเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาตอบสนองทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากประสบอุบัติเหตุ (อย่างความรู้สึกตกใจอย่างแรง)

สัญญาณของภาวะช็อคมีดังนี้: ผิวซีด เย็น และบีบตัว เหงื่อออก หายใจหอบหรือถี่ อ่อนแรงและวิงเวียน คลื่นไส้และอาจอาเจียน กระหายน้ำ หาวบ่อย ถอนหายใจบ่อย

ให้ไปพบแพทย์ทันทีที่คุณสังเกตเห็นสัญญาณข้างต้น และหากผู้บาดเจ็บประสบกับภาวะช็อค คุณควร: เรียกรถพยาบาลมารับทันที รักษาบาดแผลที่มองเห็นได้ของผู้บาดเจ็บ จัดผู้บาดเจ็บให้นอนราบ (หากสามารถทำได้โดยไม่ขัดกับการบาดเจ็บทางร่างกาย) และหากเป็นไปได้ให้ยกขาสูง ห้ามให้ผู้บาดเจ็บดื่มหรือทานอะไร ปลอบและทำให้ผู้บาดเจ็บรู้สึกผ่อนคลาย คอยสังเกตอาการของผู้บาดเจ็บ หากพวกเขาหยุดหายใจให้ทำ CPR และแจ้งรถพยาบาลอีกที

ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ

จากข้อมูลของ FAST สิ่งที่พึงจำเมื่อต้องดูแลผู้ที่ประสบกับภาวะหลอดเลือดสมองตีบ (Stroke) คือการพาพวกเขาไปรับการรักษาโดยด่วนที่สุดด้วยการติดต่อขอความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลทันที

คุณสามารถสังเกตผู้ป่วยภาวะหลอดเลือดสมองตีบได้ด้วยการสังเกตอาการดังที่คู่มือ FAST ระบุไว้ดังนี้: ใบหน้าอ่อนแรง: ผู้ป่วยไม่สามารถยิ้มด้วยปากเท่ากันได้ หรือดวงตาหรือปากพวกเขาตกลงหรือไม่? แขนอ่อนแรง: ผู้ป่วยไม่สามารถยกแขนข้างหนึ่งได้หรือไม่? ปัญหาการพูดจา: ผู้ป่วยไม่สามารถพูดคุยหรือทำความเข้าใจสิ่งที่คุณพูดได้หรือไม่?

สิ่งที่ควรปฏิบัติหลังประสบเหตุ

หากคุณพบผู้ประสบเหตุร้ายอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น อันดับแรกคือตรวจสอบว่าคุณและผู้บาดเจ็บไม่ตกอยู่ในอันตรายอื่น ๆ อีก หากอยู่ ควรพยายามทำให้ทั้งตัวคุณและผู้บาดเจ็บอยู่ในสถานการณ์ที่ปลอดภัยที่สุด

เมื่ออยู่ในสถานที่ปลอดภัย คุณต้องประเมินตัวผู้บาดเจ็บและเรียกความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลตามความจำเป็นก่อนเริ่มขั้นตอนการปฐมพยาบาล

การประเมินผู้บาดเจ็บ

สิ่งสำคัญสามประการที่คุณต้องสังเกตผู้บาดเจ็บคือ: หลอดลม (Airway) การหายใจ (Breathing) การไหลเวียนโลหิต (Circulation)

หลอดลม

หากผู้บาดเจ็บไม่ตอบสนอง ลองเรียกพวกเขาด้วยเสียงดังเพื่อตรวจดูว่าพวกเขามีสติอยู่หรือสามารถลืมตาได้หรือไม่ หากพวกเขามีการตอบสนอง คุณสามารถปล่อยให้ผู้บาดเจ็บอยู่ ณ ตำแหน่งเดิมได้จนกว่าความช่วยเหลือจะมารับ ในขณะที่คุณรอ ควรตรวจสอบการหายใจ ชีพจร และระดับความรู้สึกตัวของผู้บาดเจ็บไปก่อน อย่างเช่น: พวกเขารู้สึกตัวดีหรือไม่? พวกเขาตอบสนองต่อเสียงของคุณหรือไม่? พวกเขาตอบสนองต่อความเจ็บปวดหรือไม่? มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือไม่? (พวกเขาหมดสติหรือไม่?)

หากไม่มีการตอบสนอง พยายามจัดให้ผู้บาดเจ็บอยู่ในท่าเดิมและเปิดหลอดลมของพวกเขา หากพวกเขาอยู่ในท่าทางที่ไม่สามารถช่วยเปิดหลอดลมได้ ค่อย ๆ จัดให้พวกเขานอนหงายก่อนทำการเปิดหลอดลม

ในการเปิดหลอดลม ให้คุณวางมือข้างหนึ่งบนหน้าผากและค่อย ๆ ดันศีรษะไปข้างหลังและช้อนคางของผู้บาดเจ็บขึ้นด้วยสองนิ้วเพื่อทำให้ลิ้นเคลื่อนออกจากหลังคอ ห้ามกดใต้คางของผู้บาดเจ็บเพราะจะทำให้ลิ้นดันตัวขึ้นจนขวางการไหลเวียนของอากาศ

หากคุณคาดว่าผู้บาดเจ็บมีการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง ให้ประคองข้างศีรษะของผู้บาดเจ็บด้วยมือสองข้างก่อนใช้ปลายนิ้วค่อย ๆ ยกให้กรามผู้บาดเจ็บเงยขึ้นข้างบนโดยไม่ขยับศีรษะของพวกเขา ห้ามทำการขยับลำคอผู้บาดเจ็บ และต้องพึงจำไว้ว่าการเปิดช่องหลอดลมนั้นมีความสำคัญกว่าอาการบาดเจ็บที่คอ

การหายใจ

ในการตรวจสอบว่าผู้บาดเจ็บหายใจหรือไม่นั้น: สังเกตว่าหน้าอกของพวกเขายกขึ้นลงหรือไม่ ฟังเสียงจากปากและจมูกของพวกเขา ใช้แก้มของคุณรับลมหายใจของคุณเป็นเวลา 10 วินาที

หากผู้บาดเจ็บสามารถหายใจได้ตามปกติ ให้จัดพวกเขาให้อยู่ในท่าพักฟื้นเพื่อทำให้หลอดลมพวกเขาปลอดโปร่ง และคอยสังเกตอาการหายใจของพวกเขาต่อไป หากผู้บาดเจ็บแสดงการหายใจเฮือกหรือมีการหายใจที่ผิดปรกติจะนับว่าพวกเขาไม่สามารถหายใจได้ดี

หากผู้บาดเจ็บไม่หายใจ คุณต้องเรียกความช่วยเหลือจากรถพยาบาลและเริ่มทำ CPR ทันที

การไหลเวียนโลหิต

หากผู้บาดเจ็บไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ คุณต้องเริ่มการกดหน้าอก (chest compressions) ทันที

การหายใจเฮือก (Agonal breathing) เป็นภาวะปรกติที่จะเกิดขึ้นก่อนผู้ป่วยจะเริ่มเข้าสู่ภาวะหัวใจหยุดเต้นกะทันหัน ภาวะหายใจเฮือกนั้นจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและคงอยู่นานไม่กี่นาที ดังนั้นการที่ผู้บาดเจ็บหายใจเฮือกอย่างผิดปรกติจึงเป็นเรื่องร้ายแรงมากที่ต้องเริ่มทำการ CPR ช่วยเหลือทันที

CPR

CPR ด้วยมือ

ในการกดหน้าอกช่วยเหลือนั้น:

ให้วางส้นมือ ณ ศูนย์กลางของกระดูกหน้าอกของผู้บาดเจ็บ วางมืออีกข้างบนมือข้างที่อยู่บนหน้าอกผู้บาดเจ็บและเกี่ยวนิ้วมือเข้าด้วยกัน

จัดให้ไหล่ของคุณอยู่เหนือมือของคุณทั้งสองข้าง

ใช้น้ำหนักร่างกายของคุณ (ไม่ใช้เฉพาะแขน) กดหน้าอกผู้บาดเจ็บลงตรง ๆ ประมาณ 5-6 cm

ขณะคลายน้ำหนักออกต้องปล่อยให้หน้าอกกลับไปสู่ตำแหน่งปกติโดยที่พยายามจัดให้มือของคุณอยู่บนหน้าอกของผู้บาดเจ็บตลอด

ทำการกดหน้าอกเช่นนี้ซ้ำ ๆ ด้วยความถี่ 100 ถึง 120 ครั้งต่อนาทีจนกว่ารถพยาบาลจะมาถึงหรือเมื่อคุณเริ่มหมดแรง

ในปัจจุบัน โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันที่หาง่ายมาก ดังนั้นคุณสามารถโทรศัพท์ติดต่อขอคำแนะนำจากแพทย์เกี่ยวกับวิธี CPR ได้ตลอด

CPR ด้วยการหายใจกู้ชีพ

หากคุณผ่านการฝึกทำ CPR มาก่อน รวมไปถึงการกู้ชีพด้วยการหายใจ และมั่นใจว่าคุณสามารถใช้ทักษะนี้ในสถานการณ์จริงได้ คุณสามารถทำการกดหน้าอกและตามด้วยการช่วยเหลือหายใจได้ หากคุณไม่มั่นใจ ควรทำเฉพาะการกดหน้าอกเท่านั้น

สำหรับผู้ใหญ่

วางส้นมือไว้ที่ศูนย์กลางของหน้าอกผู้บาดเจ็บและวางมืออีกข้างบนมือข้างแรกก่อนกดลงตรง ๆ ให้ลึก 5-6 cm ด้วยความเร็วคงที่ให้ครบ 100 ถึง 120 ครั้งต่อนาที

ทุก ๆ การกดหน้าอก 30 ครั้ง ให้ทำการผายปอดช่วยการหายใจสองครั้งด้วยการ:

ยกศีรษะของผู้บาดเจ็บขึ้นด้วยการช้อนคางด้วยสองนิ้ว หยิกจมูกของผู้บาดเจ็บเบา ๆ และประกบปากของคุณเข้ากับของผู้บาดเจ็บก่อนเบาลมเข้าไปอย่างหนักแน่นเป็นเวลาประมาณ 1 วินาที คอยสังเกตว่าหน้าอกผู้บาดเจ็บยกขึ้นหรือไม่ก่อนทำการผายปอดครั้งที่สอง

ทำวงจรนี้ซ้ำ ๆ (กดหน้าอก 30 ครั้งและผายปอดอีกสอง) จนกว่าผู้บาดเจ็บจะรู้สึกตัวหรือเมื่อความช่วยเหลือมาถึง

สำหรับเด็กที่อายุมากกว่าหนึ่งปี

เปิดหลอดลมของเด็กด้วยการวางมือข้างหนึ่งบนหน้าผากของเด็กและค่อย ๆ ดันศีรษะพวกเขาไปข้างหลังให้คางยกขึ้นสูงและเริ่มการผายปอดช่วยหายใจห้าครั้งเป็นขั้นตอนแรก

วางส้นมือข้างหนึ่งกลางหน้าอกของเด็กและดันลงไปประมาณ 5 cm ซึ่งจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณหนึ่งในสามของหน้าอกเด็กพอดี ความลึกของการกดหน้าอกเด็กเป็นเรื่องสำคัญมากทำให้การใช้ทั้งสองมือไม่อาจกดลงในความลึก 5 cm ได้พอดี

หลังจากกดหน้าอก 30 ครั้งด้วยความถี่ 100-120 ครั้งต่อนาที ให้ผายปอดพวกเขาอีกสองครั้ง

ทำวงจรนี้ซ้ำ ๆ จนกว่าเด็กจะรู้สึกตัวหรือเมื่อความช่วยเหลือมาถึง

สำหรับทากรที่อายุต่ำกว่าหนึ่งปี

เปิดหลอดลมของทารกด้วยการวางมือข้างหนึ่งบนหน้าผากเด็กและค่อย ๆ ดันศีรษะพวกเขาไปข้างหลังให้คางยกขึ้นสูง นำสิ่งอุดตันทางเดินอากาศที่คุณสามารถเห็นได้ออกจากปากและจมูกของทารก

ประกบปากของคุณบนปากและจมูกของเด็กก่อนเป่าลมเข้าไปอย่างหนักแน่นโดยที่คอยสังเกตว่าหน้าอกของเด็กยกขึ้นหรือไม่ แรกเริ่มให้ทำการผายปอดก่อนห้าครั้ง

ใช้นิ้วสองนิ้ววางไว้ที่กลางหน้าอกของทารกก่อนกดลงไปให้ลึกประมาณ 4 cm ซึ่งจะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางหนึ่งในสามของหน้าอกทารก ความลึกของการกดหน้าอกเด็กเป็นเรื่องสำคัญมากทำให้การใช้ทั้งสองมือไม่อาจกดลงในความลึก 4 cm ได้พอดี

หลังจากการกดหน้าอก 30 ครั้งด้วยความถี่ 100-120 ครั้งต่อนาที ให้ทำการผายปอดอีกสองครั้ง

ทำวงจรนี้ซ้ำ ๆ จนกว่าเด็กจะรู้สึกตัวหรือเมื่อความช่วยเหลือมาถึง

ท่าพักฟื้น

หากผู้บาดเจ็บไม่รู้สึกตัวแต่ยังคงหายใจอยู่ และไม่มีภาวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิต คุณควรจัดให้ผู้บาดเจ็บอยู่ในท่าพักฟื้น (recovery position)

การจัดให้อยู่ในท่าพักฟื้นจะช่วยให้หลอดลมเปิดและปลอดโปร่ง อีกทั้งยังเป็นการกันไม่ให้ของเหลวหรืออาเจียนของผู้บาดเจ็บไหลเข้าไปในปอดจนทำให้เกิดอาการสำลัก

คุณสามารถปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้ได้: จัดให้ผู้บาดเจ็บนอนหงายโดยจัดให้เข่าตรงกับลำตัว ยกแขนผู้บาดเจ็บที่อยู่ใกล้คุณที่สุดให้อยู่ในข้างเดียวกับแขนอีกข้าง จัดให้แขนอีกข้างของผู้บาดเจ็บวางอยู่ข้างศีรษะโดยที่จัดให้หลังมือข้างนั้นสัมผัสกับบริเวณแก้ม งอเข่าข้างที่ไกลจากตัวคุณที่สุดไปในมุมที่พอเหมาะ ค่อย ๆ ดันลำตัวผู้บาดเจ็บให้นอนข้างลำตัว โดยข้อศอกของแขนที่คุณจัดท่าไว้ก่อนหน้าจะเป็นตัวยันไม่ให้ผู้บาดเจ็บกลิ้งไปมากกว่าที่ควร ค่อย ๆ เปิดหลอดลมของผู้บาดเจ็บด้วยการดันศีรษะพวกเขาไปข้างหลังและยกคางพวกเขาขึ้น และตรวจสอบว่าไม่มีสิ่งใดขวางกั้นทางเดินอากาศอยู่ คอยสังเกตอาการของผู้บาดเจ็บจนกว่าความช่วยเหลือจะมาถึง

การบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง

หากคุณพบผู้ที่คาดว่าบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง อย่าพยายามเคลื่อนย้ายตัวผู้บาดเจ็บเองจนกว่าแพทย์จะมาถึง

หากจำเป็นต้องทำการเปิดหลอดลมของพวกเขา ให้ประคองศีรษะของผู้บาดเจ็บด้วยมือทั้งสองข้างและค่อย ๆ ยกกรามขึ้นด้วยปลายนิ้วเพื่อเปิดหลอดลม แต่อย่าเคลื่อนไหวลำคอของพวกเขา

คุณควรคาดการณ์ว่าผู้บาดเจ็บมีความเสียหายที่กระดูกสันหลังหากว่า: เป็นผู้บาดเจ็บจากเหตุที่อาจส่งผลโดยตรงกับกระดูกสันหลัง เช่นตกจากที่สูงหรือถูกจนเข้าที่หลัง ผู้บาดเจ็บบอกว่ามีความเจ็บปวดรุนแรงที่คอหรือหลัง ไม่สามารถขยับคอได้ ผู้บาดเจ็บรู้สึกอ่อนแรง ชา หรือเป็นอัมพาต ผู้บาดเจ็บไม่สามารถขยับแขนขา กระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้ใหญ่ได้


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
First aid: Skills, recovery position, and CPR. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/153849)
Introduction to First Aid. Healthline. (https://www.healthline.com/health/first-aid)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)