มารู้จักกับสารต้านอนุมูลอิสระกันเถอะ
อ่านข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับสารต้านอนุมูลอิสระ ได้แก่ โคเอนไซม์-คิว 10 (โค-คิว 10 หรือยูบิควิโนน) กลูตาไทโอน (Glutathione) กรดไลโปอิก และซูเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเทส (Superoxide dismutase: SOD) คำแนะนำสำหรับการรับประทานเป็นอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมทั้งแหล่งของสารอาหารเหล่านี้ สามารถอ่านต่อได้ที่นี่
โคเอนไซม์-คิว 10 (โค-คิว 10 หรือยูบิควิโนน)
สารอาหารต้านอนุมูลอิสระนี้พบได้ในทุกเซลล์ของสิ่งมีชีวิต และมีความสำคัญมากต่อกระบวนการสร้างพลังงาน ซึ่งจำเป็นต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายของเรา หากเราขาดโคเอนไซม์-คิว 10 ไป เซลล์ของเราก็จะหยุดทำงานทันที เมื่อเราอายุมากขึ้น ระดับของโคเอนไซม์-คิว 10 จะลดลง ซึ่งอาจสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลายชนิด และโดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวข้องกับความชรา การรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ความเครียด และการติดเชื้อ อาจส่งผลให้ร่างกายมีปริมาณโคเอนไซม์-คิว 10 ไม่เพียงพอ โคเอนไซม์-คิว 10 มีคุณสมบัติหลายอย่างคล้ายกับวิตามินอี ช่วยเพิ่มพลังงาน เสริมการทำงานของหัวใจ รักษาโรคเหงือก และเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาจากสถาบันโรคทางระบบประสาทและโรคหลอดเลือดสมองแห่งชาติ (National Institute of Neurological Disorders and Stroke) สหรัฐอเมริกา ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Archives of Neurology ฉบับเดือนตุลาคม 2002 ได้สรุปว่า โค-คิว 10 ช่วยชะลออาการผิดปกติและการดำเนินโรคในโรคพาร์กินสันได้ แม้จะยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยัน แต่ก็ถือว่าเป็นข่าวที่น่าตื่นเต้นมาก เพราะถึงแม้ว่าลีวาโดปาและยาอื่นๆ จะช่วยบรรเทาอาการของโรคได้ แต่ยังไม่มีการรักษาใดในปัจจุบันที่ช่วยชะลอการดำเนินโรคได้ นักวิจัยเชื่อว่า โค-คิว 10 ทำงานโดยช่วยให้ไมโตคอนเดรียซึ่งเปรียบเสมือน “ขุมพลังงาน” ของเซลล์ทำงานได้ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีการศึกษาในระยะแรกๆ ที่พบว่า ระดับของโค-คิว 10 ในไมโตคอนเดรียของผู้ป่วยโรคพาร์กินสันต่ำกว่าปกติ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ผู้สูงอายุหลายคนที่มีปัญหาทางด้านการทำงานของหัวใจกล่าวว่า โค-คิว 10 ทำให้รู้สึกเหมือนได้รับการเสริมพลังอย่างทันทีทันใด ในขณะที่ผู้ที่มีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดกล่าว โค-คิว 10 มีประสิทธิภาพในการลดหรือบรรเทาอาการเจ็บหน้าอกมากกว่ายาแผนปัจจุบันที่ใช้อยู่ ยาในกลุ่มสเตตินที่ผู้คนนับล้านๆ รับประทานเพื่อลดระดับคอเลสเตอรอลซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของโรคหัวใจ กลับทำให้ระดับของโค-คิว 10 ในร่างกายลดลง หรืออีกนัยหนึ่งคือ ผู้คนนับล้านๆ รับประทานยาในกลุ่มนี้เพื่อลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ แต่กลับกลายเป็นว่า ยานี้อาจส่งผลเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจได้ หากคุณเป็นคนหนึ่งที่รับประทานยาในกลุ่มสเตติน (โซคอร์ พราวาคอล) การรับประทานโค-คิว 10 เสริมไปด้วยดูจะเป็นทางเลือกที่ฉลาดกว่า
คำแนะนำสำหรับการรับประทานเป็นอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร:
โคเอนไซม์-คิว 10 พบในเนื้อสัตว์ ซีเรียล ผัก ไข่ และผลิตภัณฑ์จากนม แต่ประสิทธิภาพของมันจะลดลงเมื่อเก็บเป็นเวลานาน ผ่านการแปรรูปและการปรุงอาหาร ในการรับประทานเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผมแนะนำให้รับประทานแคปซูลขนาด 30 มก. ครั้งละ 1 ได้ถึงวันละ 3 เวลา โค-คิว 10 ในรูปเจล ซึ่งสารโค-คิว 10 อยู่ในน้ำมันถั่วเหลือง เป็นรูปที่ดูดซึมได้ง่ายที่สุดและยังกลืนได้ง่ายที่สุดด้วย ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มาในรูปของน้ำมันจะดูดซึมได้ดีกว่าและมีประสิทธิภาพกว่า เพราะโค-คิว 10 เป็นสารอาหารที่ละลายได้ดีในไขมัน
กลูตาไทโอน (Glutathione)
สารต้านอนุมูลอิสระยกกำลังสามตัวนี้ ถูกสร้างขึ้นในตับของเราจากกรดแอมิโนสามตัว คือ ซิสเทอีน กรดกลูตามิก และไกลซีน ทำหน้าที่ปกป้องเซลล์ทั่วร่างกาย รวมไปถึงเนื้อเยื่ออวัยวะต่างๆ และยังช่วยป้องกันมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งที่ตับ กลูตาไทโอนทำงานคล้ายเป็นตัวเพิ่มพลังให้กับระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยร่างกายขับโลหะหนักและยาต่างๆ และยังช่วยป้องกันผลร้ายจากแสงรังสี ผลเสียต่อสุขภาพจากการสูบบุหรี่และดื่มสุรา และยังใช้ลดการอักเสบในโรคข้ออักเสบและภูมิแพ้อีกด้วย
คำแนะนำสำหรับการรับประทานเป็นอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร:
กลูตาไทโอนพบในผักและผลไม้ แต่กรรมวิธีการปรุงอาหารอาจทำให้ประสิทธิภาพลดลง ในแง่ของการรับประทานเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผมแนะนำให้รับประทานแคปซูลขนาด 50 มก. วันละ 1-2 ครั้ง กรดแอมิโนเมไทโอนีน ช่วยป้องกันการสูญเสียกลูตาไทโอนได้ ดังนั้น การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยเมไทโอนีน เช่น ถั่ว ไข่ ปลา กระเทียม ถั่วเลนทิล ถั่วเหลือง และโยเกิร์ต ก็เป็นวิธีการที่ดีในการเพิ่มระดับกลูตาไทโอน การรับประทานกรดแอมิโนเสริมที่มีแอล-ซิสเทอีนและแอล-เมไทโอนีน สามารถช่วยกระตุ้นการสร้างกลูตาไทโอนในร่างกายได้
กรดไลโปอิก
สารต้านอนุมูลอิสระที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวนี้ บ่อยครั้งที่ได้รับการขนานนามว่า สารต้านอนุมูลอิสระครอบจักรวาล กรดไลโปอิกคล้ายวิตามินตรงที่ร่างกายสร้างได้เองตามธรรมชาติ แต่ต่างจากสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆ ที่ร่างกายของเราสร้าง ซึ่งมักจะมีหน้าที่หรือตำแหน่งเฉพาะเจาะจง แต่กรดไลโปอิกไม่จำกัดว่าจะละลายได้เฉพาะในน้ำหรือเฉพาะในไขมัน จึงมีความสามารถในการเสริมการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระตัวอื่นๆ และทำหน้าที่ทดแทนสารต้านอนุมูลอิสระตัวอื่นได้ในยามขาดแคลน ยกตัวอย่างเช่น หากระดับวิตามินซีหรืออีที่คุณเก็บสะสมอยู่ในร่างกายต่ำลง กรดไลโปอิกสามารถที่จะเข้าทำงานทดแทนได้ชั่วคราว และด้วยความสามารถในการผ่านระบบ กรองระหว่างเลือดกับสมอง จึงช่วยบรรเทาผลเสียที่เกิดขึ้นกับเนื้อสมองในยามที่เกิดภาวะเส้นเลือดที่มาเลี้ยงสมองตีบหรือแตกได้ กรดไลโปอิกยังช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงจากเบาหวานได้อีกด้วย
คำแนะนำสำหรับการรับประทานเป็นอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร:
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ร่างกายของเรามักสร้างกรดไลโปอิกน้อยลง จนไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดคุณประโยชน์ได้ หากคุณอายุเลยสี่สิบไปแล้ว คุณก็ไม่ควรมองข้ามการรับประทานกรดไลโปอิกเสริมอาหาร กรดไลโปอิกมีจำหน่ายในรูปเม็ดเดี่ยวๆ และแบบรวมกับสารต้านอนุมูลอิสระอื่นๆ ผมแนะนำให้รับประทานขนาด 50 มก.วันละ 1-2 เม็ด
ซูเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเทส (Superoxide dismutase: SOD)
เป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่สารต้านอนุมูลอิสระได้อย่างทรงพลัง โดยเฉพาะกับเนื้อเยื่อผิวหนัง มันช่วยฟื้นฟูความแข็งแรงและลดอัตราการถูกทำลายของเซลล์ มีการทดลองที่พบว่า การฉีดเอสโอดีช่วยรักษาโรคหนังแข็งได้ เอสโอดีช่วยให้ร่างกายใช้แร่ธาตุที่สำคัญอย่างสังกะสี ทองแดง และแมงกานีส แต่หากแร่ธาตุเหล่านี้ไม่เพียงพอ เอนไซม์ก็อาจทำงานไม่ได้ เมื่อเราอายุมากขึ้นร่างกายของเราจะสร้างเอสโอดีน้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้น การรับประทานเอสโอดีเสริมอาหาร อาจเป็นปัจจัยสำคัญในการช่วยลดริ้วรอยและชะลอกระบวนการชราในทุกขั้นตอน
คำแนะนำสำหรับการรับประทานเป็นอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร:
แหล่งของเอสโอดีตามธรรมชาติได้แก่ ข้าวบาร์เลย์ บรอกโคลี กะหล่ำดาว กะหล่ำปลี และต้นอ่อนข้าวสาลี เอสโอดีถูกทำลายโดยน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ดังนั้น หากรับประทานในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ต้องเป็นแบบที่มีสารเคลือบ ให้สามารถลอดผ่านการย่อยของกระเพาะอาหารไปได้ เอนไซม์จึงไม่ถูกย่อยสลาย สามารถผ่านไปดูดซึมที่ลำไส้เล็กได้ เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งในการชะลอกระบวนการชรา แนะนำให้รับประทาน 125 มก.ต่อวัน
หากคุณเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์และอยากอ่านเกี่ยวกับหัวข้อนี้เพิ่มเติม สามารถสนับสนุน ดร.เอิร์ล มินเดลล์ (ผู้แต่ง) พญ. ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล (แปล) ได้โดยการซื้อหนังสือวิตามินไบเบิล