รวม 9 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกระดูก

รวม 9 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกระดูก ผ่านมุมมองทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ
เผยแพร่ครั้งแรก 28 ต.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
รวม 9 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกระดูก

กระดูก เป็นอวัยวะสำคัญ เป็นโครงร่างของร่างกายให้กล้ามเนื้อมายึดเกาะ ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหว และด้วยความที่กระดูกสามารถทนต่อแรงที่มากระทำได้มากเมื่อเทียบกับอวัยวะอื่นๆ จึงช่วยปกป้องอวัยวะได้ด้วย เช่น กะโหลกศีรษะปกป้องสมอง

กระดูกเป็นตัวกำหนดขนาดและรูปร่างของร่างกาย โดยกระดูกที่มีขนาดยาวที่สุดและมีผลต่อความสูงของร่างกายมากที่สุดคือ กระดูกต้นขา (Femur)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจกระดูกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 534 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

ยังมีหน้าที่ของกระดูกที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ ได้แก่ กระดูกเป็นแหล่งสะสมและรักษาสมดุลของเกลือแร่ในร่างกาย โดยประมาณว่า 2 ใน 3 ของน้ำหนักกระดูกเป็นจะเป็นแร่ธาตุที่ถูกเปลี่ยนรูปและสะสมไว้ แร่ธาตุที่มีมากที่สุดคือแคลเซียม ซึ่งจะถูกสะสมไว้ในรูปของแคลเซียมฟอตเฟต แคลเซียมคาร์บอเนต และแคลเซียมฟลูออไรด์

เมื่อไรที่ระดับแคลเซียมในร่างกายไม่สมดุล ต่อมพาราไทรอยด์ก็จะหลั่งฮอร์โมนมาควบคุมระดับแคลเซียมในเลือด เช่นถ้ามีมากไปก็จะนำแคลเซียมส่วนเกินไปสะสมที่กระดูก ถ้าแคลเซียมในเลือดต่ำเกินไปก็จะนำแคลเซียมในกระดูกออกมาใช้

อีกทั้งฮอร์โมนเพศก็มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการนี้บางส่วนด้วย ทำให้หญิงตั้งครรภ์หรือวัยหมดประจำเดือนมีปัญหาเรื่องกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย เพราะฮอร์โมนเพศมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่านั่นเอง

อีกหน้าที่สำคัญของกระดูกคือการสร้างเม็ดเลือด (Hematopoiesis) ซึ่งจะเกิดที่ส่วนที่เรียกว่า ไขกระดูก

โครงสร้างของกระดูกนั้น ถ้าผ่าดูจะพบว่าภายในมีรูพรุน (Spongy bone) ลักษณะคล้ายโครงสร้างของฟองน้ำ ภายในบรรจุไขกระดูก (Bone marrow) ซึ่งทำหน้าที่สร้างทั้งเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง และเกล็ดเลือด จากบริเวณนี้ ก่อนจะส่งไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย

9 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกระดูก

จากข้อมูลข้างต้นอาจจะพอเห็นแล้วว่า กระดูก เป็นอวัยวะที่น่าอัศจรรย์ แต่นอกจากเรื่องหน้าที่และโครงสร้างแล้ว กระดูกยังมีความน่าสนใจอื่นๆ อีกด้วย ตัวอย่างดังนี้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจกระดูกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 534 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

1. เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ จำนวนกระดูกในร่างกายจะน้อยลงเมื่อเทียบกับช่วงแรกเกิด

มีรายงานหลายฉบับชี้ว่า เด็กแรกเกิดมีกระดูกประมาณ 270 ชิ้น แต่เมื่อร่างกายเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่เต็มที่จะพบว่าจำนวนกระดูกลดลง เหลือเพียงแค่ 206 ชิ้นเท่านั้น เนื่องจากกระดูกบางชิ้นจะเชื่อมติดกลายเป็นชิ้นเดียวกัน เช่นกระดูกกระเบนเหน็บ (Sacrum) จาก 5 ชิ้นจะเชื่อมติดเหลือกันแค่ชิ้นเดียวเท่านั้น

กระดูกทั้งหมด 206 ชิ้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

  1. กระดูกแกนกลางของร่างกาย (Axial skeleton) เช่น กะโหลก กระดูกสันหลัง กระดูกซี่โครง มีจำนวนทั้งสิ้น 80 ชิ้น
  2. กระดูกรยางค์ (Appendicular skeleton) เช่น กระดูกแขนและขา มีจำนวน 126 ชิ้น

นอกจากนี้กะโหลกศีรษะของเด็กแรกคลอดจะยังปิดไม่สนิท มีบางส่วนเป็นแค่เยื่อบางๆ เท่านั้น เรียกกันโดยทั่วไปว่ากระหม่อม (Fontanelle) มีทั้งด้านหน้าและด้านหลังของกระโหลกศีรษะ

กระหม่อมหน้าจะปิดสนิทเมื่อเด็กมีอายุประมาณ 1 ปีครึ่ง ส่วนกระหม่อมหลังจะปิดสนิทเมื่อเด็กมีอายุประมาณ 6-8 สัปดาห์

2. ในร่างกายคนเรามีกระดูกเพียง 1 ชิ้นที่ไม่เชื่อมต่อกับกระดูกชิ้นอื่นๆ

โดยปกติ กระดูกทุกชิ้นของร่างกายจะเชื่อมต่อกับกระดูกชิ้นอื่นๆ รอยต่อระหว่างกระดูก 2 ชิ้นจะเรียกว่า ข้อต่อ (Joint) ซึ่งเป็นตัวช่วยให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้อย่างราบรื่น อย่างไรก็ตาม มีกระดูกอยู่ 1 ชิ้นที่ไม่ได้เชื่อมตัวกับกระดูกชิ้นอื่นๆ แต่ถูกยึดด้วยโครงสร้างลักษณะคล้ายพังผืดอย่างอื่น

นั่นก็คือ กระดูกโคนลิ้น (Hyoid bone)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจกระดูกวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 534 บาท ลดสูงสุด 61%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

กระดูกโคนลิ้นมีรูปร่างคล้ายเกือกม้า ทำหน้าที่พยุงกล้ามเนื้อคอและโคนลิ้น อีกทั้งมีบทบาทต่อการกลืนและการออกเสียงด้วย

3. กระดูกไม่ได้ยืดยาวออกได้ทั้งท่อน

การเจริญของกระดูกยาว เช่น กระดูกต้นขา กระดุกต้นแขนนั้น เกิดด้วยกระบวนการแทนที่กระดูกอ่อนด้วยกระดูกแข็ง (Endochondral ossification) ที่บริเวณใกล้กับหัวกระดูกทั้งสองข้าง (Epiphyseal plate) เท่านั้น ไม่ได้เกิดได้ตลอดความยาวของกระดูก

กระบวนการนี้จะถูกกระตุ้นด้วยโกรทฮอร์โมน (Growth hormone) จากต่อมใต้สมองส่วนหน้า ดังนั้นผู้ที่มีความผิดปกติของต่อมใต้สมองส่วนหน้า หรือการทำงานของโกรทฮอร์โมน จึงมักมีรูปร่างที่ผิดปกติ อาจจะเล็กหรือใหญ่เกินไปนั่นเอง

4. กระบวนการสร้างและซ่อมแซมกระดูกเกิดขึ้นตลอดช่วงชีวิต

ส่วนที่เป็นเซลล์ของกระดูก (Organic matter) ประกอบด้วยเซลล์หลายชนิด สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ เซลล์สร้างกระดูก (Osteoblast) กับเซลล์สลายกระดูก (Osteoclast)

อัตราการทำงานของเซลล์สลายกระดูกจะต่ำกว่าเซลล์สร้างกระดูกเมื่ออายุยังน้อย เป็นเหตุให้เด็กมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในทางกลับกัน เมื่ออายุมากขึ้นเซลล์สลายกระดูกจะมีอัตราการทำงานสูงกว่าเซลล์สร้างกระดูก จึงทำให้ผู้สูงอายุมีความแข็งแรงของกระดูกลดลงนั่นเอง

5. กระดูกสามารถเชื่อมต่อกันได้เองเมื่อมีรอยหัก

เนื่องจากกระบวนการเสริมสร้างและซ่อมแซมของกระดูกเกิดขึ้นตลอดเวลา ดังนั้นเมื่อกระดูกหัก ทางการแพทย์จึงทำได้แค่จัดกระดูกให้เข้าที่ ก่อนจะใส่เฝือกเพื่อตรึงกระดูกไว้ที่เดิม จากนั้นรอเวลาให้กระดูกต่อกันจนสมบูรณ์

ในผู้ป่วยที่ไม่สามารถใส่เฝือกได้อาจจะใช้วิธีให้นอนบนเตียงนิ่งๆ พร้อมกับถ่วงน้ำหนักเพื่อจัดตำแหน่งกระดูกให้เหมาะสม ส่วนกรณีที่กระดูกเสียหายมาก เช่น แตกเป็นชิ้นเล็ก ยากต่อการซ่อมแซม อาจจะต้องมีการผ่าตัดเพื่อจัดเรียงหรือใส่อุปกรณ์ดามกระดูกไว้เพื่อไม่ให้กระดูกผิดรูป

6. กระดูกผู้ใหญ่หักง่ายกว่ากระดูกเด็ก

กระดูกเด็กกับกระดูกผู้ใหญ่มีองค์ประกอบต่างกัน โดยทั่วไป กระดูกของผู้ใหญ่จะมีองค์ประกอบเป็นเซลล์และสารให้ความยืดหยุ่นอื่นๆ ประมาณ 1 ใน 3 นอกนั้นเป็นแร่ธาตุต่างๆ แต่กระดูกของเด็กมีส่วนที่เป็นเซลล์และสารให้ความยืดหยุ่นมากกว่า

กระดูกของผู้ใหญ่จึงแข็งแรงกว่า แต่ก็เปราะกว่าเมื่อเทียบกับกระดูกของเด็ก และหากมีการกระดูกหัก กระดูกของผู้ใหญ่จะเชื่อมต่อกันยากกว่า

7. มีกระดูกทำหน้าที่เกี่ยวกับการได้ยินด้วย

มีหูของคนเรา มีกระดูกชิ้นเล็กๆ 6 ชิ้น แบ่งเป็น 2 ชุด ชุดละ 3 ชิ้น ทำงานเกี่ยวกับการได้ยิน ได้แก่ กระดูกค้อน (Malleus) กระดูกทั่ง (Incus) และกระดูกโกลน (Stapes)

กระดูกค้อนจะเชื่อมติดกับเยื่อแก้วหู (Tympanic membrane) รับแรงสั่นสะเทือนจากเสียง ก่อนจะส่งผ่านกระดูกทั่ง และโกลนไปยังหูชั้นใน เพื่อส่งสัญญาณไปแปรผลที่สมองต่อไป

8. กระดูกแข็งแรงกว่าคอนกรีตเสริมเหล็ก?

คำกล่าวนี้มาจากการบรรยายของ โรเบิร์ต โอ. ริตชี (Robert O. Ritchie) นักวัสดุศาสตร์ชาวอเมริกัน โดยที่จริงแล้วเขาเปรียบเทียบโครงสร้างของกระดูกกับการสร้างตึกไว้ว่า

“กระดูก​มี​โครง​สร้าง​คล้ายกับ​คอนกรีต​เสริม​เหล็ก เส้น​เหล็กใน​คอนกรีต​เสริม​เหล็ก​ช่วย​รับ​แรง​ดึง ส่วน​ซีเมนต์ ทราย และ​หิน ​ช่วย​รับ​แรง​อัด”

ซึ่งนำเสนอแนวคิดที่ว่า โครงสร้างทั้งสองชนิดในกระดูก ทั้งส่วนที่เป็นแร่ธาตุและส่วนที่เป็นเซลล์ยึดเหนี่ยวกัน ทำให้กระดูกมีความแข็งแรงมากขึ้น คล้ายกับแนวคิดของการสร้างสถาปัตยกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นความจริง

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวนี้อาจทำให้เข้าใจกันว่ากระดูกของมนุษย์แข็งแรงกว่าเหล็กได้ ซึ่งถ้าจะพิจารณาความสามารถในการรับแรงต่างๆ ของกระดูกจากเส้นโค้งความเค้น-ความเครียด (Stress-Strain curve) ซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับใช้ประเมินความทนทานของวัสดุต่างๆ ยังต้องพิจารณาต่อไปอีกว่ากระดูกนั้นหมายถึงกระดูกชนิดใด และจะเปรียบเทียบกับเหล็กชนิดใดด้วย

ในข้อความนี้ยังขาดข้อมูลดังกล่าว และยังไม่มีการศึกษาอย่างชัดเจน จึงยังไม่สามารถสรุปได้ว่า “กระดูกแข็งแรงกว่าคอนกรีดเสริมเหล็ก” เป็นความจริงหรือไม่

9. การเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก ไม่ได้ต้องการแค่แคลเซียม

ในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำนวนมากอ้างถึงสรรพคุณในการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก ด้วยการกล่าวอ้างถึงปริมาณแคลเซียมในผลิตภัณฑ์นั้นๆ แต่ที่จริงการทำงานของระบบกระดูกนั้นซับซ้อนมาก เกี่ยวเนื่องกับหลายระบบของร่างกาย ดังนั้นแคลเซียมปริมาณมากจึงไม่ใช่คำตอบเดียวของการบำรุงกระดูก

ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ว่า มีอย่างน้อย 4 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและการซ่อมแซมกระดูก ได้แก่

  1. แคลเซียม ปริมาณแคลเซียมที่ได้รับในแต่ละวันต้องเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งแตกต่างไปในแต่ละคน ตามเพศ อายุ และวิถีชีวิต โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 800-1,000 มิลลิกรัมต่อวัน โดยในผู้สูงอายุและหญิงตั้งครรภ์อาจจะต้องการมากถึง 1,200 มิลลิกรัม

  2. วิตามินดี ร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีขึ้นมาได้เองโดยการกระตุ้นของแสงอาทิตย์ ที่มีคำแนะนำสำหรับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีปัญหากระดูกพรุนให้ออกกำลังกายกลางแจ้ง ก็เป็นเพราะเหตุนี้

  3. แรงกระทำต่อกระดูก เป็นที่ยอมรับและมีรายงานหลายฉบับชี้ให้เห็นว่า เพื่อความแข็งแรงของกระดูกจำเป็นจะต้องมีแรงกระทำต่อกระดูกอย่างพอเหมาะด้วย

    ผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยจึงเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนมากกว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก นอกจากนี้ในผู้ป่วยกระดูกหักนักกายภาพบำบัดก็จะกระตุ้นให้มีการลงน้ำหนักที่กระดูกนั้นอย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา เพื่อสนับสนุนในกระเชื่อมกันของกระดูกเป็นไปอย่างสมบูรณ์นั่นเอง
  4. การพักผ่อนที่เพียงพอ เป็นองค์ประกอบสำคัญของการมีสุขภาพกระดูกที่แข็งแรง เพราะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ฮอร์โมนหลายชนิดรวมทั้งโกรทฮอร์โมนซึ่งมีความสำคัญต่อกระดูก ก็หลั่งออกมาเมื่อคุณได้นอนหลับอย่างเพียงพอเช่นกัน

4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สุมาลี ชื่อธนาพรกุล, “การฟื้นฟูผู้ป่วยกระดูกหัก” วารสารเวชศาสตร์ฟื้นฟู, 1996.
กู้เกียรติ ทุดปอ, “Anatomy of Musculoskeletal System” กายวิภาควิทยาศาสตร์และสรีรวิทยาพื้นฐานสำหรับงานสาธารณสุข, ไม่ปรากฎปีที่เผยแพร่.
Schiller AL, Teitelbaum SL. Bones and joints. In: Rubin E, Farber JL, editor. Pathology. 3rd ed. Philadelphia: Lippincott-Raven; 1999.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
10 อาหารสุขภาพที่มีวิตามิน E สูง
10 อาหารสุขภาพที่มีวิตามิน E สูง

รวบรวมอาหารเพื่อสุขภาพที่อุดมด้วยวิตามิน E เพื่อจะได้เติมประโยชน์ได้ร่างกายกันได้ง่ายขึ้น

อ่านเพิ่ม
12 อาหารแคลเซียมสูง รักษากระดูกและฟัน
12 อาหารแคลเซียมสูง รักษากระดูกและฟัน

นอกจาก นม ยังมีอาหารอีกหลายชนิดที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ให้ประโยชน์ในการบำรุงกระดูกและฟัน

อ่านเพิ่ม