มีพ่อแม่หลายท่านที่พาลูกวัยเรียนช่วงประถมต้นมารับบริการที่คลินิกจิตเวชโดยให้ประวัติว่า ลูกเป็นเด็กดื้อ ไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตามคำสั่ง สอนอะไรมักไม่ใส่ใจ ไม่ยอมทำการบ้าน เป็นเด็กดื้อมากจนบางครั้งต้องลงโทษด้วยวิธีรุนแรง ในที่สุดก็ไม่รู้ว่าจะใช้วิธีไหนที่จะทำให้ลูกหายเป็นเด็กดื้อได้เสียที เมื่อทำการซักประวัติอย่างละเอียดเด็กที่พ่อแม่แจ้งว่า เป็นเด็กดื้อแล้วมักพบว่า เด็กส่วนใหญ่มักคลอดก่อนกำหนด เคยมีประวัติชักเกร็ง เด็กดื้อบางรายมีพัฒนาการช้า มีปัญหาในการเรียน เรียนแล้วไม่จำ และผลการตรวจทางจิตวิทยาคลินิกมักพบว่า ระดับไอคิว หรือความสามารถทางสติปัญญาของเด็กดื้อมักต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ
ทำความรู้จัก
เด็กที่มีระดับสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์คือ เด็กที่มีระดับสติปัญญาในช่วง 70-89 ความสามารถของเด็กกลุ่มนี้ค่อนข้างจะเรียนรู้ได้ช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
พฤติกรรมการแสดงออกมักเป็นไปตามอายุสมองของเด็กแต่ละคน ตัวอย่างเช่น เด็กอายุตัว 10 ขวบ แต่มีผลการตรวจทางจิตวิทยาคลินิกพบว่า มีอายุสมอง 8 ขวบ ดังนั้นพฤติกรรมของเด็กก็จะแสดงออกมาแบบเด็ก 8 ขวบ เช่น ชอบเล่นกับเด็กที่อายุสมองเท่ากัน ไม่ชอบเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกันเนื่องจากเด็กคิดไม่ทัน ไม่เข้าใจกติกา เล่นกับเพื่อนวัยเดียวกันแล้วรู้สึกไม่สนุกและมักถูกรังแกจากเพื่อนวัยเดียวกันอยู่บ่อยๆ ความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ จะเท่ากับเด็ก 8 ขวบ บางครั้งคุณพ่อคุณแม่ให้คำสั่งแก่เด็ก แต่เด็กก็มักตอบสนองด้วยการนิ่งเฉย นั่นอาจเป็นเพราะเด็กไม่เข้าใจคำสั่ง ไม่อยากคิดและทำตามสิ่งที่สั่งไม่ได้
เมื่อไปโรงเรียนเด็กจะไม่สามารถอ่านเขียน หรือทำกิจกรรมได้เท่ากับเพื่อนในวัยเดียวกัน ทำให้เด็กเกิดความเบื่อไม่เข้าใจในสิ่งที่คุณครูสอน เมื่อมีการบ้านเด็กไม่รู้ว่าจะต้องจัดการอย่างไร บางคนแก้ปัญหาง่ายๆ ด้วยการบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าวันนี้ไม่มีการบ้าน แต่พอคุณพ่อคุณแม่รู้ความจริงก็จะคิดว่า เด็กดื้อ เกเร โกหก ขี้เกียจ ก็จะใช้วิธีการลงโทษเด็กด้วยการดุ ด่า ตี ความไม่เข้าใจเหล่านี้ของคุณพ่อคุณแม่และคุณครูจะส่งผลเสียต่อเด็กอย่างมากทำให้เด็กรู้สึกมีปมด้อย เกิดบาดแผลทางจิตใจ โดยที่เขาไม่รู้เลยว่า ตนเองเป็นอะไร ทำไมต้องเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นกับตัวของเขา
เราควรมีวิธีรับมืออย่างไร
- การเข้าใจในความสามารถที่แท้จริงของเด็ก
- ปรับวิธีการสอนการเลี้ยงดูตามระดับอายุสมองของเขา
- ฝึกให้เด็กทำซ้ำๆ บ่อยๆ
บางครั้งแม้ว่า เด็กกลุ่มนี้จะไม่สามารถเรียนรู้ทางวิชาการได้ดี แต่เขามักมีทักษะบางอย่างที่สามารถฝึกฝนจนประสบผลสำเร็จได้ สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำคือ การสังเกตในสิ่งที่เด็กสนใจ ชอบทำในสิ่งนั้นๆ แล้วพยายามพัฒนาจุดเด่น บางครั้งอาจต้องใช้การเสริมแรงทางบวกทำให้เด็กเกิดความมั่นใจว่า เขาสามารถทำได้ เกิดแรงจูงใจที่จะพัฒนาในทักษะนั้น
การเสริมแรงทางบวกอาจเป็นคำชมเชย การปรบมือ การแท็กมือกับเด็กเมื่อเขาทำสำเร็จ การฝึกเด็กเหล่านี้ต้องฝึกแบบซ้ำๆ บ่อยๆ อาจต้องใช้เวลานาน คุณพ่อคุณแม่ต้องมีความอดทนและใจเย็นสิ่งที่ไม่ควรทำกับเด็กกลุ่มนี้คือ การลงโทษด้วยวิธีรุนแรงเพราะนอกจากไม่เกิดผลดีกับเด็กแล้วยังจะส่งผลให้เด็กมีสภาพจิตใจที่แย่ลง เก็บกดความก้าวร้าวไว้ภายใน และระเบิดความก้าวร้าวออกมาโดยการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เด็กกลุ่มนี้ถ้าได้รับการเลี้ยงดู หรือฝึกฝนด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสมตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อโตขึ้นเขาอาจเป็นคนไม่ดีและสร้างความเดือดร้อนให้สังคมได้
ดังนั้นเมื่อพบว่า ลูกในวัยเรียนของคณมีอาการผิดปกติดังกล่าว หรือคล้ายเด็กดื้อ แนะนำให้พาเด็กไปพบบุคลากรด้านจิตเวชเพื่อรับการตรวจประเมินหาสาเหตุของความผิดปกติและรับการบำบัดช่วยเหลืออย่างเหมาะสม