การจัดการความก้าวร้าวในเด็ก
ธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนมีความก้าวร้าวอันเป็นผลมาจากแรงขับที่อยากจะทำลายติดตัวมาทุกคนตั้งแต่เกิด และผลจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมเด็กไม่ได้รับการตอบสนองความรักอย่างถูกต้องจากพ่อแม่ มีชีวิตที่ขาดๆ เกินๆ พบความโหดร้ายในชีวิต พ่อแม่แสดงความรักต่อลูกไม่เป็น ไม่มีเวลาให้ลูกอย่างเพียงพอหรือพ่อแม่เป็นคนก้าวร้าวชอบใช้ความรุนแรงเลี้ยงไปด่า ไปใช้เด็กเป็นที่ระบายอารมณ์ เมื่อเด็กโตขึ้นเขาจะมีบุคลิกก้าวร้าวทั้งวาจาและพฤติกรรม หากพ่อแม่ปล่อยปละละเลยไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ไม่สั่งสอนหรือไม่ฝึกเด็กให้เรียนรู้ว่าพฤติกรรมดีกับไม่ดีเป็นอย่างไร จะส่งผลให้เด็กไม่สามารถแยกแยะความถูกต้องหรือความเหมาะสมได้ไม่รู้จักการควบคุมอารมณ์และไม่สามารถจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตนเองได้ เมื่อเด็กโตขึ้นเขาจะมีพฤติกรรมอันธพาลก้าวร้าวชอบใช้ความรุนแรง ขาดเหตุผล ขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์สร้างปัญหาให้กับตนเองและสังคม วิธีการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมนี้ พ่อแม่สามารถอบรมสั่งสอนได้ตั้งแต่วัยเยาว์โดยมีวิธีการดังนี้
วิธีการจัดการกับพฤติกรรมก้าวร้าวในเด็ก
- สอนให้เด็กรู้จักเหตุและผล โดยใช้คำพูดสั้นๆ ตรงไปตรงมา อธิบายชี้แจงให้เด็กเข้าใจด้วยวาจาที่หนักแน่นและนิ่มนวล ไม่ใช้อารมณ์ เช่น “ไม่ให้เล่นมีดเพราะมีดจะบาดมือ เลือดจะออกแล้วจะเจ็บมือ”
- ถ้าจำเป็นต้องลงโทษเด็ก ต้องชี้แจงให้เขาเข้าใจว่าที่ถูกลงโทษนี้เพราะสาเหตุเรื่องอะไร ควรกระทำอีกหรือไม่ การลงโทษต้องสมเหตุสมผลกับความผิดที่เด็กกระทำห้ามลงโทษด้วยอารมณ์โกรธ เกลียด หรือไม่รักหรือต้องการประชดบุคคลที่สามเด็ดขาด
- คอยอบรมสั่งสอน ไม่ให้เด็กเป็นคนเจ้าอารมณ์หรือก้าวร้าวทั้งคำพูดและพฤติกรรมควรพัฒนาความก้าวร้าวให้เป็นไปในทางที่สร้างสรรค์โดยสนับสนุนให้เด็กเล่นกีฬา หรือทำกิจกรรมต่างๆ ที่เขาสนใจและชื่นชอบ
- ฝึกให้เด็กรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เพื่อเพิ่มทักษะและทำให้เด็กได้รู้จักตัวเองรู้จุดเด่นจุดด้อย เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ดีและมีศักยภาพต่อไป
- ความเข้าใจและการให้กำลังใจ เป็นสิ่งสำคัญในการสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดี พ่อแม่ควรเข้าใจในศักยภาพว่าเด็กสามารถทำได้แค่ไหน ให้คำชมเชยเมื่อเด็กทำได้ หากเด็กยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรก็ต้องเพิ่มแรงจูงใจด้วยคำพูดเสริมกำลังใจ เช่น “ลูกทำได้นะแต่แม่คิดว่าลูกน่าจะทำได้ดีและสวยกว่านี้ครั้งหน้าค่อยเอาใหม่นะ”