โรคที่พบมากและพบได้บ่อยๆ ได้ทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในวัยผู้สูงอายุก็คือโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) องค์การอนามัยโลกได้รายงานเกี่ยวกับโรคนี้ไว้ว่า พบผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ประมาณ 1 พันล้านคน ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนา อีกทั้งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตจากโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคหัวใจ
สาเหตุของการเกิดโรค Hypertension
Hypertension หรือโรคความดันโลหิตสูงนั้น หากเป็นผู้ที่มีความดันปกติจะมีค่าตั้งแต่ 90/79 จนถึง 140/79 แต่ถ้ามีค่าตั้งแต่ 140/80 หรือภาวะที่ความดันเลือดช่วงบนมากกว่า 140 และช่วงล่างมากกว่า 80 มิลลิเมตรปรอท จึงจะเรียกว่าภาวะความดันโลหิตสูง
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
โรคความดันโลหิตสูงมักจะพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และพบได้สูงถึง 50% ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีทั้งแบบไม่มีอาการและแบบมีอาการอย่างเช่นรู้สึกมึนงงหรือปวดศีรษะ หากเป็นมากจะเกิดอาการโคม่าและเสียชีวิตได้อีกด้วย ซึ่งมีสาเหตุมาจากดังต่อไปนี้
- ไม่มีสาเหตุแน่ชัด ข้อนี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุรวมกัน โดยพบว่าผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงจะขึ้นอยู่กับพันธุกรรมด้วย ถ้าคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูงก็จะมีความเสี่ยงมากขึ้น รวมทั้งเชื้อชาติและพฤติกรรมการรับประทานอย่างเช่นรสเค็มจัดเป็นเวลานานๆ หรือความไม่สมดุลในเกลือแร่ของร่างกาย
- มีสาเหตุแน่ชัด โรคความดันโลหิตสูงประเภทนี้มักเกิดจากโรคประจำตัวชนิดอื่นที่มีผลต่อหลอดเลือด หัวใจ และความสมดุลของเกลือแร่ อย่างเช่นโรคไตหรือโรคเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต เป็นต้น
การรักษาโรค Hypertension
เมื่อพบว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงก็ควรต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ โดยได้รับการรักษาด้วยการรับประทานยาเพื่อรักษาระดับความดันโลหิตให้คงที่ รวมทั้งตัวผู้ป่วยจะต้องพยายามควบคุมโรคประจำตัวที่เป็นปัจจัยเร่งความดันด้วย ส่วนการให้ยานั้นมีทั้งยารับประทานและยาฉีด ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของแต่ละคนที่อยู่ในดุลพินิจของแพทย์
วิธีการดูแลตนเองและการป้องกันโรค Hypertension
วิธีป้องกันโรค Hypertension สามารถทำได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสม สำหรับผู้ป่วยหลังจากพบแพทย์เพื่อรับยามารับประทานแล้ว ควรปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
- รับประทานยาและปฏิบัติตนตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ระดับความดันถูกควบคุมให้คงที่อย่างเหมาะสม
- ต้องจำกัดและหลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นตัวเร่งให้ความดันสูงได้ เช่น อาหารที่มีรสเค็มจัด ไขมัน แป้งและน้ำตาลสูง
- งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินจากมาตรฐานหรืออ้วนเกินไป
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 40 – 60 นาที
- ไปพบแพทย์ตามนัดอย่างเคร่งครัด ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษะมาก เหนื่อย ใจสั่น เจ็บหน้าอก เป็นลม อ่อนเพลียจัด ปากเบี้ยว หรืออาเจียน ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาอาการเหล่านี้ได้ทันท่วงที
- ผู้ที่ยังไม่มีโรคประจำตัวก็ควรหมั่นตรวจสุขภาพปีละครั้งเพื่อเป็นการเฝ้าระวัง
การใช้ยาและสมุนไพรต่างๆ
ความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่ต้องรับประทานยาอย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอ อีกทั้งยาเหล่านี้จะต้องอยู่ในการควบคุมดูแลของแพทย์ รวมทั้งต้องมีการปรับเพิ่มหรือลดยาโดยที่ผู้ป่วยไม่ควรปรับหรือซื้อยามารับประทานเอง ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบันหรือยาสมุนไพร
ทั้งนี้โรคความดันโลหิตสูงยังเป็นโรคเรื้อรังที่รักษายากและต้องรับประทานยาตลอดชีวิต หากควบคุมไม่ดีจะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคไต หรือโรคหลอดเลือดที่ตา ซึ่งผลให้ตาบอด ไตวาย และเส้นเลือดสมองแตกจนเสียชีวิตได้
ปัจจุบันพบว่ามีผู้คนเป็นโรคความดันโลหิตสูงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เสียชีวิตได้ก่อนวัยอันควร เพราะเมื่อควบคุมความดันโลหิตได้ไม่ดีก็จะนำไปสู่โรคร้ายแรงได้ โดยสมาพันธ์ความดันโลหิตสูงได้กำหนดให้วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันความดันโลหิตสูง เพื่อให้ทุกคนทั่วโลกได้ตระหนักและระวังดูแลตนเองไม่ให้เป็นโรคนี้กันมากขึ้น