การรักษารองช้ำด้วยกายภาพบำบัด

แนวทางการรักษารองช้ำด้วยกายภาพบำบัด และ 5 วิธีรักษาฟื้นฟูอาการรองช้ำด้วยตนเองเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ
เผยแพร่ครั้งแรก 4 ก.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
การรักษารองช้ำด้วยกายภาพบำบัด

บทความนี้เขียนโดย กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล นักกายภาพบำบัด

รองช้ำ หรืออาการปวดใต้ฝ่าเท้า เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเท้าได้บ่อยในทุกเพศและวัย โดยเฉพาะในผู้ที่ออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ซึ่งในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รองช้ำมักส่งผลให้การดำรงชีวิตประจำวันมีความผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเดินลงน้ำหนักที่เท้าได้อย่างปกติ มีอาการเจ็บแปลบอย่างกะทันหันขณะก้าวเดิน หากเป็นเรื้อรังอาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมาได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
กายภาพบำบัดและนวดเพื่อการรักษาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 198 บาท ลดสูงสุด 92%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

รองช้ำคืออะไร มีสาเหตุมาจากอะไร?

รองช้ำ เป็นภาษาชาวบ้านใช้เรียกอาการพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ (Plantar fasciitis) โดยพังผืดใต้ฝ่าเท้านี้เป็นโครงสร้างที่ปกคลุมตั้งแต่กระดูส้นเท้า (Calcaneus) ไปถึงโคนนิ้วเท้าทุกนิ้ว (Metatarsal bone) นับว่าเป็นพังผืดที่มีขนาดใหญ่และหนาพอสมควร มีหน้าที่ลดแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้นกับโคร้งสร้างในเท้าขณะที่มีการลงน้ำหนัก ไม่ว่าจะเป็นการยืน การเดิน หรือการวิ่ง

สาเหตุที่ก่อให้เกิดการอักเสบต่อพังผืดใต้ฝ่าเท้านั้นมีด้วยกันมากมาย เช่น การใช้งานซ้ำๆ (Overuse) ทั้งจากการยืน เดิน วิ่งอย่างไม่ถูกวิธีซ้ำ หรือออกกำลังกายอย่างไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย การเลือกรองเท้าที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก หรือผู้สูงอายุที่ไขมันในฝ่าเท้าลดน้อยลง ส่งผลให้โครงสร้างในเท้าได้รับการบาดเจ็บง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ภาวะรองช้ำมีความสัมพันธ์กับความตึงตัวที่ผิดปกติของกล้ามเนื้อน่อง (Triceps surae) ด้วย

การอักเสบของพังผืดอาจจะทำให้มีจุดกดเจ็บหลายจุดใต้ฝ่าเท้าได้ แต่จุดที่กดเจ็บที่สุดมักจะอยู่ใกล้กับกระดูกส้นเท้า หรือบริเวณกลางฝ่าเท้าด้านใน การอักเสบนี้พบในเพศหญิงบ่อยกว่าเพศชาย สามารถเป็นที่เท้าทั้งสองข้างพร้อมกันได้

อาการของรองช้ำมีอะไรบ้าง?

การอักเสบของผังผืดใต้ฝ่าเท้าในภาวะรองช้ำมักจะไม่พบอาการบวมหรือแดงของฝ่าเท้า อาการแสดงที่สำคัญที่สุดคือ มักจจะพบจุดกดเจ็บ (Tenderness) อย่างน้อยหนึ่งจุดในบริเวณฝ่าเท้า และจุดที่กดเจ็บที่สุดมักจะอยู่ใกล้กับกระดูกส้นเท้า หรือกึ่งกลางฝ่าเท้าด้านใน (Medial arch of foot) นอกจากนี้อาการจะรุนแรงมากที่สุดตอนตื่นนอนเมื่อก้าวเท้าสัมผัสพื้นก้าวแรกมักจะเจ็บแปลบขึ้นมาทันที และอาการจะค่อยๆ ทุเลาลงเมื่อเดินไปสักระยะ และเมื่อใช้เท้าไปอีกพักหนึ่งจะกลับมาปวดอีกได้ เมื่อนั่งพักระหว่างวันอาการจะดีขึ้น และเมื่อเริ่มเดินใหม่ก็จะมีการเจ็บแปลบขึ้นมาได้อีก

การวินิจฉัยทางกายภาพบำบัดของภาวะรองช้ำทำได้อย่างไร?

การวินิจฉัยที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ นักกายภาพบำบัดจะให้ความสำคัญแก่การซักประวัติของอาการตลอด 24 ชั่วโมงเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้การตรวจร่างกายด้วยการคลำหาจุดกดเจ็บในฝ่าเท้าก็จะช่วยระบุตำแหน่งและยืนยันได้ว่าโครงสร้างที่มีปัญหาคือพังผืดใต้ฝ่าเท้าจริงๆ

นอกจากนี้การทดสอบชนิดพิเศษที่นิยมมากคือ การกระดกข้อเท้าและนิ้วเท้าทุกนิ้ว (Maximal ankle dorsiflexion and maximal toe extension) หากท่านี้กระตุ้นให้เกิดอาการได้ ก็ยืนยันได้ว่าจุดกดเจ็บในฝ่าเท้านั้นเกิดขึ้นที่พังผืดใต้ฝ่าเท้า

การรักษาและฟื้นฟูทางกายภาพบำบัดสำหรับภาวะรองช้ำทำได้อย่างไรบ้าง?

ผู้ป่วยที่มีภาวะรองช้ำมากกว่าครึ่งเดินทางมาพบนักกายภาพบำบัดในระยะเรื้อรัง ดังนั้นเป้าหมายสำคัญของการรักษาจึงมุ่งเน้นไปที่สามปัญหาหลักคือ ลดความปวด เพิ่มความยืดหยุ่นของพังผืดใต้ฝ่าเท้า และป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ วิธีการรักษาให้บรรลุเป้าหมายของการรักษามีด้วยกันหลายวิธี

วิธีที่สามารถพบเห็นได้บ่อยๆ ในคลินิกกายภาพบำบัดมีดังนี้

  1. การใช้คลื่นกระแทก (Shock wave therapy) คลื่นกระแทกเป็นเครื่องมือทางกายภาพบำบัดที่ได้รับความนิยมอย่างมากสำหรับรักษาอาการรองช้ำหรือพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบ นักกายภาพบำบัดจะใช้อุปกรณืผลิตคลื่นกระแทกกดลงบริเวณจุดที่กดเจ็บที่สุดบนฝ่าเท้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการซ่อมแซมตัวเองของเนื้อเยื่อ หรือโครงสร้างในฝ่าเท้าข้างเคียงที่มีอาการอักเสบเรื้อรัง (Regeneration and reparative process) ให้การรักษาด้วยการนับจำนวนครั้งที่กระแทกโดยทั่วไปสำหรับอาการรองช้ำจะใช้ประมาณ 700-1,000 ครั้ง โดยจะเป็นการกระแทกถี่ๆ รวมเวลาในการรักษาประมาณ 7-10 นาที ขณะทำการรักษาผู้ป่วยจะรู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือน ในบางรายอาจจะรู้สึกปวดตื้อๆ บริเวณที่ทำการรักษาด้วย
  2. การใช้คลื่นเหนือเสียงความถี่สูง (Ultrasound therapy) คลื่นอัลตราซาวนด์เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่นิยม ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดและลดอาการปวดแล้ว ในกรณีผู้ป่วยรองช้ำหลังจากให้การรักษาด้วยคลื่นกระแทกแล้ว อัลตราซาวด์ก็จะสามารถบรรเทาอาการระบม และเร่งการซ่อมแซมของเนื้อเยื่อบริเวณนั้นให้กลับมาสมบูรณ์ได้อย่างรวดเร็วขึ้นอีกด้วย

    ขณะให้การักษาผู้ป่วยอาจจะไม่รู้สึกอะไรเลย หรือรู้สึกอุ่นๆ เท่านั้น ใช้เวลาในการรักษา 7-10 นาที นอกจากนี้แล้ว ปกติการรักษาด้วยเครื่องอัลตราซาวน์นักกายภาพจะใช้เจลกึ่งเหลวเป็นตัวนำคลื่น แต่หากผู้ป่วยมีเท้าเล็กมาก และมีไขมันที่เท้าน้อยจนเห็นปุ่มกระดูกต่างๆ ชัดเจน นักกายภาพอาจจะใช้น้ำเป็นตัวกลางในการนำคลื่น กล่าวคืออาจจะให้ผู้ป่วยแช่เท้าในอ่างน้ำขนาดเล้กขณะทำการรักษาได้
  3. การรักษาด้วยมือ (Manual therapy) นักกายภาพบำบัดอาจจะใช้มือดัด ยืด ดึง เพื่อให้พังผืดที่อักเสบและแข็งตัว อ่อนนุ่มและยืดยุ่นขึ้น ซึ่งเทคนิคที่จะเลือกใช้นั้นขึ้นกับอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย
  4. การออกกำลังกาย (Exercise therapy) การออกกำลังกายที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยรองช้ำสามารถแบ่งออกได้เป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ การเพิ่มความยืดหยุ่น (Stretching exercise) และการเพิ่มความแข็งแรง (Strengtening exercise) การเพิ่มความยืดหยุ่นที่สำคัญคือกล้ามเนื้อน่อง ส่วนการเพิ่มความแข็งแรงจะเน้นไปที่กล้ามเนื้อมัดเล็กๆ ในฝ่าเท้าเป็นหลัก
  5. การรักษาด้วยการติดเทป (Taping) เป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสามารถติดค้างไว้ได้ 1-3 วัน แล้วแต่ชนิดของเทปที่เลือกใช้และวิธีการติด โดยเฉพาะในหมู่นักกีฬา เทปนี้สามารถติดเพื่อกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อ ยับยั้งการทำงานของกล้ามเนื้อ ลดอาการบวม และเพิ่มความมั่นคงให้กับข้อต่อได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามควรได้รับการติดจาดผู้เชี่ยวชาญเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
  6. ให้ความรู้เรื่องการหลีกเลี่ยงท่าทางที่กระตุ้นให้เกิดอาการซ้ำ และการเลือกใช้อุปกรณ์ในชีวิตประจำวันให้เหมาะสม เช่น ไม่ควรยืน หรือเดินนานๆ ติดกันเกินสองชั่วโมง ในผู้ป่วยบางรายที่โครงสร้างเท้าแตกต่างจากบุคคลทั่วไป และสนับสนุนให้เกิดภาวะรองช้ำเรื้อรัง นักกายภาพบำบัดอาจจะแนะนำให้ตัดรองเท้าชนิดพิเศษที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย

5 วิธีฟื้นฟูและดูแลอาการรองช้ำด้วยตนเองที่บ้าน

  1. แช่เท้าในน้ำอุ่น ทันทีหลังตื่นนอนผู้ป่วยรองช้ำคสรแช่เท้าในน้ำอุ่น 15-20 นาที การแช่น้ำอุ่นจะช่วยให้พังผืดใต้ฝ่าเท้าที่อักเสบอ่อนนุ่มลง โลหิตไหลเวียนดีขึ้น และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำกิจกรรมต่างๆ
  2. ยืดกล้ามเนื้อน่อง (Calf stretching exercise) ทำได้ด้วยการนั่งเยียดขาไปด้านหน้า ใช้ผ้าขนหนูคล้องที่ฝ่าเท้าเน้นให้สัมผัสบริเวณก่อนโคนนิ้วเท้าให้มากที่สุด ออกแรงดึงปลายผ้าขนหนูทั้งสองข้างด้วยมือค้างไว้ 30 วินาที ทำซ้ำ 3 เซต สามารถทำได้วันละ 2 รอบ เช้าและเย็น
  3. นวดเท้าด้วยลูกลูกเทนนิส หรือวัสดุกลิ้งได้ เช่น ไม่นวดแป้ง หรือขวด (Dynamic stretching for plantar fascia) ทำได้โดยการใช้เท้าเหยีบวัสดุดังกล่าว ออกแรงกดเบาๆ กลิ้งไปมาในทิศทางต่างๆ เหมือนการด้วยฝ่าเท้าด้วยตนเอง วิธีนี้จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับพังผืดใต้ฝ่าเท้าที่อักเสบ
  4. ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมัดเล็กๆในฝ่าเท้า (Foot muscle strengthening exercise) มีรายงานหลายฉบับยืนยันว่าการอ่อนของกล้ามเนื้อมัดเล็กๆ ในเท้าเป็นสาเหตุหนึ่งของรองช้ำ การออกกำลังกายนอกจากจะช่วยรักษาอาการรองช้ำ ยังช่วยป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีกด้วย มีด้วยกันหลายวิธี แต่วิธีที่ทำได้ง่ายๆ ด้วยตนเองที่บ้านคือ
    • ใช้เท้าขยุ้มผ้าเช็ดหน้าแล้วยกขึ้นจากพื้น วางลง ทำซ้ำ 30 ครั้งต่อวัน
    • สอดกระดาษเข้าไปที่ง่ามนิ้วเท้า ออกแรงหนีบไว้ ก่อนจะใช้มือค่อยๆ ดึงกระดาษออกในลักษณะสู้กัน ปล่อย ทำซ้ำ 30 ครั้งต่อวัน
  5. หลีกเลี่ยงท่าทางที่กระตุ้นในเกิดอาการ และเลือกอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันและการเล่นกีฬาให้เหมาะสม เช่น เลือกรองเท้าที่พื้นเหมาะกับประเภทกีฬาที่เล่น เลือกรองเท้าที่ไม่คับหรือหลวมเกินไป ไม่ออกกำลังกายเกินความสามารถของร่างกาย เปลี่ยนท่าทางทุกๆ 2 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ไม่อยู่ในท่าทางใดท่าทางหนึ่งนานเกินไป

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Carlton J. Covey, Mark D. Mulder.Plantar fasciitis: How best to treat?. J Fam Pract. 2013 Sep; 62(9): 466–471.
Robroy L. Martin, Todd E. Davenport, Stephen F. Reischl, Thomas G. McPoil, James W. Matheson, Dane K. Wukich, Christine M. McDonough, American Physical Therapy Association. J Orthop Sports Phys Ther. 2014 Nov; 44(11): A1–33. doi: 10.2519/jospt.2014.0303
Thomas Martin J, Menz Hylton B, Mallen Christian D. Plantar heel pain BMJ 2016; 353 :i2175

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
การรักษารองช้ำด้วยกายภาพบำบัด
การรักษารองช้ำด้วยกายภาพบำบัด

แนวทางการรักษารองช้ำด้วยกายภาพบำบัด และ 5 วิธีรักษาฟื้นฟูอาการรองช้ำด้วยตนเองเพื่อไม่ให้กลับมาเป็นซ้ำ

อ่านเพิ่ม