ปัญหาใหญ่ที่หนักใจสำหรับพ่อแม่ที่พบมากเกือบจะที่สุดก็คือ ลูกของตัวเองนั้นไม่ยอมกินผัก ไม่ว่าจะเป็นผักสีเขียว หรือสีอื่นๆ แค่เห็นลูกก็ร้องอี๋ หรือแม้พ่อแม่จะพยายามหลอกล่อ ซ่อนผักไว้อย่างไร ลูกก็ยังบ้วนหรือคายผักออกมา วันนี้เรามีสาเหตุรวมถึงวิธีแก้ไขปัญหาลูกไม่ยอมกินผักมาฝาก
ทำไมลูกถึงไม่กินผัก
สาเหตุที่ลูกไม่ยอมกินผักนั้นมีหลากหลายสาเหตุ แต่โดยมากมักจะเกิดจาก
-
เด็กไม่เคยกินผักมาก่อนเลย
การเลี้ยงลูกนั้น พ่อแม่ควรที่จะค่อยๆ เพิ่มผัก ผลไม้ ผสมเข้าไปในอาหารในแต่ละมื้อ เช่น กล้วย, ฟักทอง, มะเขือเทศ, แครอท, ผักกาดขาว ฯลฯ
-
พ่อแม่เป็นคนไม่กินผักอยู่แล้ว
ถ้าพ่อแม่เองเป็นคนไม่กินผักก็จะไม่กินผักให้ลูกเห็น และเมนูอาหารในแต่ละมื้อ (โดยมาก) ก็จะไม่มีผักหรือมีผักน้อยมาก (เพราะพ่อแม่ก็ไม่กินเหมือนกัน) ดังนั้นหากอยากให้ลูกกินผัก ก็ต้องเริ่มเปลี่ยนนิสัยจากพ่อแม่ก่อน ลูกของเราจะเลียนแบบพฤติกรรมการกินจากพ่อแม่ (หรือผู้เลี้ยงดู) ของตัวเอง
-
ผักที่ให้ลูกกิน ชิ้นใหญ่เกินไป
การหั่นผักใส่ในอาหารของลูกนั้น ควรจะเป็นชิ้นเล็ก เพื่อให้ง่ายในการเคี้ยวของลูก
-
ประสบการณ์ด้านกลิ่นอันเลวร้าย
ต้องยอมรับว่าผักบางชนิดมีกลิ่นที่ฉุนและทำให้ท้องอืด เนื่องจากมีปริมาณสารซัลเฟอร์ในผักมาก ซึ่งเด็กบางคนอาจจะชอบหรือไม่ชอบก็ได้ เช่น ผักชี ต้นหอม ฯลฯ พ่อแม่ให้ลูกกินผักครั้งแรกแล้วลูกไม่ชอบกลิ่นของผัก ลูกก็จะเหมารวมถึงผักสีนั้นๆ ไปด้วย เช่น กินต้นหอมแล้วไม่ชอบ ก็จะไม่ชอบผักสีเขียวทุกชนิดตามไปด้วย พ่อแม่ควรจะระมัดระวังเรื่องนี้ให้มาก
วิธีแก้ไขให้ลูกหันมากินผักมากขึ้น
-
เริ่มจากพ่อแม่ก่อน
พ่อแม่ควรเปลี่ยนพฤติกรรมหันมากินผักให้มากจนเป็นนิสัย เมื่อพ่อแม่ชอบกินผัก เมนูต่างๆ ในมื้ออาหารก็จะมีผักร่วมด้วยเสมอ เด็กจะค่อยๆ ซึมซับและกินอาหารตามพ่อแม่
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่พบว่า อาหารที่แม่รับประทานในช่วงให้นมบุตรมีผลต่อความคุ้นเคยของลูก คือ มารดาที่รับประทานผักในช่วงให้นมบุตร บุตรจะสามารถเริ่มอาหารจำพวกผักได้ดีกว่ามารดาที่ไม่รับประทานผักในช่วงดังกล่าว -
หั่นผักให้น่ากิน
ผักบางอย่างเราสามารถหั่นให้อยู่ในรูปแบบน่ารักๆ เหมาะกับเด็กๆ ได้ เช่น ฝักทอง, แครอท ฯลฯ อาจจะใช้แม่พิมพ์ต่างๆ (รูปสัตว์, รูปตัวการ์ตูน ฯลฯ) เข้ามาช่วย ให้ผักมีรูปร่างหน้าตาน่ารัก น่ากิน เพื่อดึงดูดความสนใจให้ลูกลองกินผัก ทั้งนี้ชิ้นของผักก็ควรจะเล็ก เหมาะสมกับฟันของลูก
-
ให้ลูกของเรามีส่วนร่วม
ลองให้ลูกมีส่วนร่วมในการเตรียมผักประกอบอาหารดูบ้าง อาจจะเริ่มจากการเด็ดผัก, ล้างผัก ฯลฯ ลูกจะมีความรู้สึกคุ้นเคยกับผักมากขึ้น แม้จะต้องใช้เวลาในการเตรียมอาหารนานขึ้น แต่เมื่อทำอาหารเสร็จ ลูกก็จะกินผักได้ง่ายกว่า