ลูกชอบดูดนิ้ว มีผลเสียหรือไม่ พ่อแม่ควรทำอย่างไรดี?

การที่ ลูกชอบดูดนิ้ว เป็นหนึ่งพัฒนาการเด็ก แต่การดูดนิ้วต่อเนื่องจนเกิน 4 ขวบอาจส่งผลเสียต่อช่องปาก นิ้วมือ ทางเดินอาหาร หรือสภาพจิตใจของเด็กได้
เผยแพร่ครั้งแรก 2 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ลูกชอบดูดนิ้ว มีผลเสียหรือไม่ พ่อแม่ควรทำอย่างไรดี?

คุณพ่อคุณแม่คงสังเกตว่าทารกชอบเอานิ้วเข้าปาก เมื่อโตขึ้นมาก็ชอบดูดนิ้วมือหรือนิ้วเท้าของตนเองเวลาว่าง ไม่มีกิจกรรมทำ

พฤติกรรมเช่นนี้บางครั้งอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่เกิดความกังวล ว่าจะเป็นการนำสิ่งสกปรกจากนิ้วเข้าสู่ร่างกาย หรือทำให้เด็กติดดูดนิ้ว เมื่อโตขึ้นอาจจะมีรูปนิ้วไม่สวยงาม ฟันเหยิน

ลูกชอบดูดนิ้วเป็นเรื่องผิดปกติหรือไม่?

ประมาณ 80% ของเด็กทารกที่คลอดออกมาจะมีพฤติกรรมดูดนิ้ว ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่พบได้

มีการศึกษาพบว่า เมื่อถึงอายุ 1 ปีจะมีจำนวนทารก 6 คนใน 100 คนที่ยังดูดนิ้วอยู่ และเมื่ออายุมากกว่า 2 ปี จะเหลือเพียง 3 คนใน 100 คนที่ยังคงดูดนิ้ว

ส่วนใหญ่เด็กจะเลิกดูดนิ้วได้เองเมื่ออายุประมาณ 4 ขวบ ยกเว้นเด็กที่เคยมีปัญหากับคุณพ่อคุณแม่มาก่อนเรื่องการดูดนิ้ว อาจทำให้เลิกช้ากว่าปกติได้

ทำไมลูกจึงชอบดูดนิ้ว?

การดูดนิ้ว เป็นพัฒนาการปกติที่พบได้ตั้งแต่แรกเกิดเป็นต้นไป โดยเด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือนจะเรียนรู้การดูดนิ้วโดยบังเอิญ แล้วพบว่าการดูดนิ้วทำให้ตนเองรู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด ทำให้สงบ

เวลาที่ลูกชอบดูดนิ้วมากที่สุดคือช่วงเหนื่อย หิว เครียด ง่วง เบื่อ ไม่มีอะไรทำ ต้องการการปลอบประโลม รู้สึกไม่ปลอดภัยหรือไม่มั่นคง

เมื่อลูกโตขึ้นจนสามารถคว้าจับสิ่งของต่างๆ ได้ ก็จะเอาของเข้าปากเพื่อเป็นการเรียนรู้ลักษณะสัมผัสรูปร่างของสิ่งนั้นๆ

โดยเด็กจะใช้การดูด อม เลีย เพื่อเรียนรู้สิ่งต่างๆ

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี นอกจากนี้เมื่อกล้ามเนื้อของเด็กพัฒนาความแข็งแรงและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น พบว่าเด็กจะสามารถดูด อม เลีย นิ้วเท้าได้อย่างง่ายๆ ด้วย

ลูกชอบดูดนิ้วมีผลเสียหรือไม่ และมีผลเสียอย่างไร?

แม้การดูดนิ้วจะเป็นพัฒนาการปกติตามวัย แต่หากยังไม่สามารถเลิกดูดนิ้วได้เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ก็อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้ ดังนี้

  1. ผลต่อฟันและช่องปาก เกิดภาวะการสบฟันผิดปกติ เช่น ฟันหน้ายื่น ฟันสบกันไม่สนิท รากฟันผิดปกติ
  2. ผลต่อนิ้วมือ นิ้วมือผิดรูป มีนิ้วด้านหนา จมูกเล็บอักเสบ
  3. ผลต่อระบบทางเดินอาหาร ได้รับสิ่งสกปรกจากนิ้วมือที่ปนเปื้อน
  4. ผลต่อสภาวะทางจิตใจ โดนพ่อแม่หรือญาติว่ากล่าว ขาดความมั่นใจในตนเอง รู้สึกเป็นปมด้อย โดนเพื่อนล้อ เกิดผลเสียต่อความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและกระทบต่อความสัมพันธ์กับผู้อื่น

พ่อแม่ควรทำอย่างไรหากลูกชอบดูดนิ้ว?

เด็กจะใช้การดูดนิ้วเพื่อการเรียนรู้ คุณพ่อคุณแม่และผู้เลี้ยงดูควรทำความเข้าใจ หาสาเหตุที่ทำให้ลูกดูดนิ้วมากขึ้น และหลีกเลี่ยงการดุ ด่า ตี บ่น พยายามดึงมือออกจากปากลูกบ่อยๆ รวมถึงไม่ควรแสดงความไม่พอใจต่อพฤติกรรมของลูก

เพราะสิ่งเหล่านี้จะยิ่งทำให้เกิดความสัมพันธ์ด้านลบระหว่างผู้เลี้ยงดูกับเด็ก และยิ่งทำให้เด็กดูดนิ้วมากขึ้น

สำหรับเด็กวัยต่างๆ คุณพ่อคุณแม่ควรมีวิธีปฏิบัติเมื่อลูกดูดนิ้ว ดังนี้

วัยเด็กเล็ก

ควรแก้ไขที่สาเหตุที่ทำให้ลูกดูดนิ้วเพื่อลดความเครียด ความกังวลและผ่อนคลายตัวเอง เช่น

  • ถ้าลูกดูดนิ้วเพราะหิว ควรหานมให้เด็กกิน
  • ถ้าลูกดูดนิ้วเพราะง่วง ควรพาเข้านอน
  • ถ้าลูกดูดนิ้วเพราะเบื่อ ควรหาของเล่นให้เด็กถือเล่นแทน โดยเลือกของที่มีขนาดไม่เล็กจนเกินไป สะอาด และปลอดภัย

นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่อาจหาสิ่งทดแทนเพื่อช่วยให้ลูกรู้สึกผ่อนคลาย เช่น ใช้จุกหลอกดูดแทน หาผ้าหรือตุ๊กตาให้ลูกโอบกอด เป็นต้น

ในวัยเด็กโตที่อายุมากกว่า 4 ขวบ

คุณพ่อคุณแม่ควรให้ลูกช่วยตัดสินใจและอาศัยความร่วมมือในการเลิกดูดนิ้ว โดยเด็กควรที่จะสนใจและมีความพร้อมก่อน เพราะการบังคับจะยิ่งทำให้การเลิกดูดนิ้วเป็นเรื่องยากขึ้น

คำแนะนำมีดังนี้

  • ควรหลีกเลี่ยงวิธีดุ ว่า หรือลงโทษด้วยความรุนแรง หากเด็กยังเลิกดูดนิ้วไม่ได้
  • ใช้ความเข้าใจ กำลังใจ หรือให้แรงเสริมทางบวก ต่อความพยายามในการเลิกดูดนิ้วของเด็ก
  • สอนให้เด็กรู้ตัวเองว่ากำลังจะดูดนิ้ว เพื่อที่จะได้ห้ามใจตอนเอง
  • พูดคุยอธิบายถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นและทำข้อตกลงกันในการเลิกดูดนิ้ว เช่น “หนูอยากให้แม่เตือนหนูแบบไหนหากหนูเผลอดูดนิ้ว เช่น เรียกชื่อและแตะตัวหนู” “หนูอยากให้แม่หาอุปกรณ์มาใส่ที่มือ เช่น ถุงมือ หรือ เอาบอระเพ็ดมาทาที่มือ เพื่อให้หนูดูดนิ้วลดลง วิธีนี้หนูเห็นว่าอย่างไรจ๊ะ”
  • ในช่วงแรกของการเลิกดูดนิ้ว อาจอนุโลมให้เด็กดูดนิ้วได้เป็นเวลา เช่น ช่วงง่วงนอน เมื่อหลับแล้วค่อยๆ เอามือออก
  • ให้รางวัลเพื่อเป็นแรงเสริมทางบวกเมื่อลูกทำได้ เช่น “หากวันไหนลูกไม่ดูดนิ้ว จะได้สติกเกอร์ดาว เมื่อสะสมครบ 10 ดวง คุณพ่อคุณแม่จะให้รางวัลที่หนูต้องการ” โดยเลือกรางวัลที่มีมูลค่าไม่มาก ไม่ต้องใหญ่โตอะไร แต่เป็นสิ่งที่เด็กต้องการเพื่อให้เห็นถึงความพยายามและความตั้งใจ

บางครั้งหากคุณพ่อคุณแม่ไม่สนใจดูดนิ้วของลูก หรือเพิ่มการให้แรงเสริมทางบวก จะยิ่งส่งเสริมให้เด็กเลิกดูดนิ้วได้เร็วขึ้น

เมื่อไรควรพาลูกไปพบแพทย์?

หากลูกเข้าข่ายต่อไปนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปปรึกษาแพทย์

  1. พ่อแม่และลูกโต้เถียงกันทุกครั้งเวลาจะเลิกดูดนิ้ว
  2. ลูกรู้สึกอับอาย ขาดความไม่มั่นใจในตนเอง
  3. เด็กอายุมากกว่า 6 ปีแล้วยังไม่สามารถเลิกดูดนิ้วได้ กรณีนี้ควรพาไปพบทันตแพทย์เพื่อให้ตรวจสภาพฟัน และพิจาราณาใส่อุปกรณ์ช่วยเหลือ

3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Journal of Pediatrics and Child Health, Transitional objects and thumb sucking (https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1111/jpc.12747), 6 November 2014.
WebMd, 9 Ways to Wean a Child Off Thumb Sucking (https://www.webmd.com/parenting/features/9-ways-to-wean-a-child-off-thumb-sucking#1), 10 September 2015.
หนังสือปัญหาที่พบบ่อยในเด็ก แนวทางการดูแลรักษา, Common Behavioral Problems.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
อาการท้องผูกในเด็ก
อาการท้องผูกในเด็ก

ความรู้พื้นฐานทางกุมารเวช

อ่านเพิ่ม
Latkes ที่ทุกคนจะรัก
Latkes ที่ทุกคนจะรัก

แพนเค้กมันฝรั่งแบบที่ปราศจากกลูเตนและไข่และยังมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ

อ่านเพิ่ม