การทำหมันสำหรับผู้หญิง (Female Sterilization) เพื่อป้องกันการมีบุตรแบบถาวรนั้น ทำโดยการทำให้ท่อนำไข่อุดตัน เพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิเดินทางมาผสมกับไข่ โดยมีหลากหลายเทคนิค เช่น การผูก รัด หนีบ หรือทำลาย ส่วนใดส่วนหนึ่งของท่อทำไข่ ซึ่งการทำหมันหญิงนี้ถือเป็นวิธีคุมกำเนิดที่นิยมวิธีหนึ่งในรายที่ต้องการคุมกำเนิดแบบถาวร
การทำหมันหญิงด้วยการตัดท่อนำไข่ออกบางส่วน
วิธีการนี้เป็นวิธีทำหมันหญิงยอดนิยม เนื่องจากสะดวกและรวดเร็ว วิธีทำคือตัดท่อนำไข่ออกบางส่วน การทำหมันหญิงแบบนี้ยังสามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่
ตรวจ รักษาโรคทางเดินอาหาร วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 116 บาท ลดสูงสุด 74%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
- การทำหมันเปียก เป็นการทำหมันหลังคลอด นิยมทำภายใน 48 ชั่วโมงแรกหลังการคลอดบุตร และไม่เกิน 6 สัปดาห์หลังคลอด โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดบริเวณใต้สะดือ จากนั้นจะทำการผูกท่อนำไข่ แล้วตัดท่อนำไข่บางส่วนออกทั้งสองข้าง การทำหมันด้วยวิธีนี้จะต้องนอนพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน
- การทำหมันแห้ง หรือการทำหมันในช่วงเวลาปกติที่ไม่อยู่ในระยะ 6 สัปดาห์แรกหลังการคลอดบุตร วิธีนี้จะใช้เวลาไม่นาน เมื่อทำเสร็จแล้วนอนพักประมาณ 2-3 ชั่วโมงก็สามารถกลับบ้านได้ โดยแพทย์จะให้ยาแก้ปวดมารับประทานต่อที่บ้าน ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการทำหมันสามารถเลือกได้ว่าต้องการผ่าตัดหน้าท้องด้วยวิธีปกติ (Laparotomy) หรือผ่าตัดผ่านกล้อง (Laparoscopy) ซึ่งจะมีแผลขนาดเล็ก แต่ต้องดมยาสลบ นอนในท่าศีรษะต่ำ และใช้ก๊าซในช่องท้องระหว่างการผ่าตัด
การทำหมันหญิงด้วยการอุดท่อนำไข่ (Tubal occlusion techniques: Essure)
วิธีนี้เป็นการสกัดกั้นไม่ให้ไข่กับสเปิร์มมาเจอกันหรือสามารถปฏิสนธิกันได้ โดยจะใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ขนาดเล็กซึ่งมีลักษณะคล้ายขดลวด 2 ขด สอดเข้าไปในท่อนำไข่ทั้ง 2 ข้าง เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายสร้างพังผืดขึ้นมาปิดท่อนำไข่ ใช้เวลาในการทำเพียง 5 นาที และไม่ทำให้เกิดรอยแผลเป็น เป็นวิธีที่ได้ผลดีและสะดวก ผู้ทำสามารถกลับบ้านได้ทันทีโดยไม่ต้องพักฟื้น และช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการทำหมันด้วยวิธีนี้คือช่วงหลังหมดประจำเดือนใหม่ๆ
การทำหมันหญิงด้วยการตัดมดลูก (Hysterectomy)
การทำหมันหญิงด้วยการตัดมดลูกนั้น แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อนำมดลูกออก โดยไม่มีการตัดรังไข่หรือยุ่งเกี่ยวกับรังไข่เหมือนสองวิธีแรก วิธีนี้สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้แบบถาวร
นอกจากนี้ยังสามารถผ่าตัดเพื่อรักษาโรคร้ายที่เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์หลายๆ โรคได้ เช่น มะเร็งปากมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมะเร็งรังไข่ เป็นต้น
คำแนะนำก่อนทำหมัน (Pre-operative counseling)
- ผู้หญิงที่จะทำหมันควรได้รับคำปรึกษาก่อนทำหมันทุกราย ถึงความคาดหวัง ข้อดีข้อเสียของการเลือกทำหมันแต่ละวิธี รวมถึงประเมินความแน่ใจที่จะคุมกำเนิดแบบถาวรหรือซักหาปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการเปลี่ยนใจหรือการตัดสินใจผิดพลาดภายหลังหลังจากทำหมันไปแล้วด้วย
- ผู้หญิงที่ต้องการทำหมัน ควรทราบว่าการทำหมันไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100% ประสิทธิภาพของการทำหมันขึ้นอยู่กับแต่ละวิธิที่ทำ ซึ่งโดยเฉลี่ยพบการตั้งครรภ์หลังจากทำหมันได้ต่ำกว่า 1%
- การทำหมันเป็นวิธีคุมกำเนิดแบบถาวร การผ่าตัดแก้หมัน (sterilization reversal) สามารถทำได้ แต่ค่อนข้างมีข้อจำกัดและไม่ได้ประสบความสำเร็จในการแก้หมันทุกราย
- ควรศึกษาข้อดีข้อเสียเปรียบเทียบกับการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นๆ ที่สามารถคุมกำเนิดได้ยาวนาน เช่น การทำหมันชาย การใช้กลุ่ม long acting reversible contraceptive methods (LARC) เช่น การใส่ห่วงคุมกำเนิด การใช้ยาฝัง เป็นต้น
- การทำหมันอาจมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูก (ectopic pregnancy)
- การทำหมันมีความเสี่ยงต่อการผ่าตัดและการให้ยาระงับความรู้สึก
- การทำหมันเป็นการคุมกำเนิดที่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ เพือการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ควรใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยทุกครั้ง
การดูแลหลังทำหมันและการตรวจติดตาม (Post-operative care and Follow up)
- หลังทำสามารถดูแลเหมือนการผ่าตัดทั่วไป สามารถให้กลับบ้านได้ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ผู้หญิงหลายคนสามารถกลับไปทำงานประจำได้ภายในไม่กี่วันหลังจากทำการผ่าตัด ควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น มีอาการปวดท้องมากและไม่ดีขึ้น เลือดออกผิดปกติ หรือหากมีเครื่องมือหลุดผ่านออกมาทางช่องคลอดให้มาพบแพทย์
- ตรวจยืนยันการอุดตันของท่อนำไข่ หลังจากทำการผ่าตัด 12 สัปดาห์ ต้องได้รับการตรวจยืนยันว่าท่อนำไข่อุดตันสมบูรณ์ทั้ง 2 ข้าง โดยวิธีมาตรฐานที่ทำคือการตรวจโดยการทำ Hysterosalpingogram อย่างไรก็ตาม การทำ Hysterosalpingogram นั้น ต้องนัดผู้ป่วยกลับมา และใช้เวลาในการตรวจ ซึ่งการตรวจอาจทำให้รู้สึกเขินอาย และต้องเสียค่าใช้จ่าย ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจึงเสนอให้ใช้ทางเลือกอื่นในการตรวจ เช่น การทำอัลตราซาวน์ทางช่องคลอด (TVUS) หรือการทำ pelvic radiograph โดยในปี 2015 FDA ได้ประกาศยอมรับการใช้ TVUS ในการตรวจสอบการอุดตันของท่อนำไข่ได้ แต่ต้องตรวจโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการฝึกฝนและมีใบประกาศสำหรับการใช้ TVUS ตรวจยืนยันแล้วเท่านั้น
การทำหมัน ทำได้ทุกคนหรือไม่?
อย่างไรก็ตาม แม้การทำหมันหญิงจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์มาช่วยให้ดำเนินการได้อย่างง่ายดาย ปลอดภัย เห็นผล และประหยัดเวลามากขึ้น แต่ไม่ใช่ผู้หญิงทุกคนสามารถทำหมันได้ หากร่างกายไม่พร้อม หรืออยู่ในเกณฑ์ต้องห้ามในการทำหมันดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นกรณีไป โดยทั่วไปแล้วกลุ่มผู้ที่ไม่เหมาะแก่การทำหมัน ได้แก่กลุ่มที่มีอาการหรือภาวะผิดปกติบางอย่าง ดังนี้
- ผู้ป่วยโรคหัวใจ
- ผู้ป่วยโรคปอด
- ผู้ที่มีภาวะผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด
- ผู้ป่วยวัณโรคช่องท้อง
- ผู้ที่มีภาวะไส้เลื่อนที่หน้าท้อง หรือกะบังลม
- ผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดช่องท้องมาแล้วหลายครั้ง
- ผู้ที่เป็นเนื้องอกขนาดใหญ่ในช่องท้อง
- ผู้ที่อาการเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
- ผู้ที่อยู่ในภาวะอุ้งเชิงกรานติดเชื้อ
- ผู้ที่ยังไม่แน่ใจว่าอยากมีบุตรอีกหรือไม่ในอนาคต
ดูแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android