คุณมีความเข้าใจเรื่อง “ความดัน” มากน้อยแค่ไหน ? เชื่อหรือไม่ว่าโรคความดันเป็นอีกหนึ่งโรคที่พบมากเป็นอันดับต้น ๆ ซึ่งไม่เพียงในประเทศไทยเท่านั้น แต่ในประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา โรคนี้ก็คร่าชีวิตของประชากรไปไม่น้อย น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนเองกำลังเป็นโรคนี้ เนื่องจากไม่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าตนเองมีภาวะของโรคมาก่อน จึงเกิดผลเสียคือไม่ทันได้ป้องกันหรือรับการรักษา แท้จริงแล้วโรคความดันโลหิตไม่ใช่เรื่องไกลตัวแต่อย่างใด การทำความเข้าใจไว้ก็จะช่วยให้คุณรับมือและป้องกันได้ง่ายขึ้น
ความดันโลหิตคืออะไร วิธีวัดความดันโลหิต?
“ความดันโลหิต” จริง ๆ แล้วเป็นสิ่งที่มีกันทุกคนอยู่แล้ว มันคือแรงดันที่เกิดขึ้นในหลอดเลือดแดง ทำหน้าที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หากใครที่เคยไปพบแพทย์ จะสังเกตว่าพยาบาลมักจะตรวจวัดความดันก่อนเสมอ ตัวเลขที่เห็นเป็นสิ่งที่คุณเองก็สามารถทำความเข้าใจได้ง่าย ๆ การบอกค่าของความดันโลหิตนั้นมักจะบอกเป็น 2 ค่า เรียกให้เข้าใจง่าย ๆ คือค่าความดันโลหิตตัวบนและตัวล่าง
สูตรอาหารเสริม รวมสารสำคัญ 9 ชนิด สำหรับ เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง ความดัน ไขมัน
ซื้อผ่าน HD ประหยัดกว่า / ราคาพิเศษสำหรับ นศ. / ผ่อน 0% / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ค่าความดันโลหิตตัวบน (Systolic Blood Pressure) เป็นการวัดความดันโลหิต “ในขณะที่หัวใจมีการบีบตัว” จะทำหน้าที่ในการดันเลือดออกจากหัวใจไหลตามเส้นเลือดแดงไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เมื่อมีการบีบแล้วก็ต้องมีการคลาย ความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic Blood Pressure) จึงเป็นการวัดความดันโลหิต “ในขณะที่หัวใจมีการคลายตัว” นั่นเอง
ในภาวะที่ร่างกายปกติ ค่าความดันมาตรฐานสำหรับคนทั่วไปคือ 120/80 นั่นหมายถึง ความดันโลหิตตัวบนไม่เกิน 120 มิลลิลิตรปรอท ส่วนความดันโลหิตตัวล่างนั้นก็ไม่ควรเกิน 80 มิลลิลิตรปรอท
เกณฑ์ที่เข้าข่ายว่าระดับความดันต่ำ
ในทางการแพทย์ ความดันโลหิตของผู้ใหญ่ที่มีค่าต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท จะเข้าข่ายเป็นผู้มีความดันโลหิตต่ำ หรือสำหรับผู้สูงอายุที่มีค่าความดันโลหิตต่ำกว่า 100/70 ก็เข้าข่ายเป็นผู้มีความดันโลหิตต่ำเช่นกัน
เกณฑ์ที่เข้าข่ายว่าระดับความดันสูง
ในทางการแพทย์ความดันโลหิตของผู้ใหญ่ที่มีค่าต่ำกว่า 140/90 มิลลิเมตรปรอท จะเข้าข่ายเป็นผู้มีความดันโลหิตสูง
แต่ถ้าหากตัวเลขที่วัดได้อยู่กึ่งกลาง ไม่ว่าจะระหว่างค่ามาตรฐานไปหาต่ำ หรือค่ามาตรฐานไปหาสูง นั่นแปลว่าคุณยังมีภาวะความดันปกติอยู่ จนกระทั่งตัวเลขเริ่มใกล้จะถึงภาวะความดันนั้นอาจแสดงว่าคุณกำลังเริ่มมีความเสี่ยงที่จะเป็นความดันโลหิต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์และรายละเอียดของแต่ละบุคคล
ตรวจพบความดันโลหิตสูงหรือต่ำมากกว่ากัน?
เมื่อพูดถึง “โรคความดันโลหิต” คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าโรคความดันโลหิตต่ำ เนื่องจากโรคความดันโลหิตสูงมีอันตรายมากกว่าและมักพบบ่อยกว่านั่นเอง อย่างไรก็ตามทั้ง 2 โรคนี้มีอันตรายพอ ๆ กัน บ่อยครั้งที่โรคความดันโลหิตมักไม่ส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า ฉะนั้นควรดูแลตัวเองอย่างสม่ำเสมอและตรวจสุขภาพเป็นประจำจะช่วยให้เราเตรียมรับมือกับโรคความดันโลหิตได้
ปัจจัยเสี่ยงที่มักทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าคนไทยเป็นโรคความดันโลหิตสูง 10 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 6 ของประชากรทั้งประเทศเลยทีเดียว ข่าวร้ายของโรคความดันโลหิตสูงคือมักจะไม่ส่อแววหรือส่งสัญญาณเตือนล่วงหน้า เมื่อไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะเสี่ยงจึงไม่ได้รักษาหรือป้องกันอย่างถูกต้อง เมื่อตรวจพบอีกทีถึงรู้ว่าเป็นเสียแล้ว และที่แย่กว่านั้นก็คือมักจะเป็นที่มาของโรคแทรกซ้อนมากมาย เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้หลายคนถึงตั้งฉายาของโรคความดันโลหิตสูงว่า “ฆาตกรเงียบ”
- สาเหตุอันดับแรกคือโรคทางพันธุกรรม หากคนในครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง โอกาสที่เราจะเป็นโรคนี้ก็ย่อมมีมาก
- อายุที่มากขึ้น โรคความดันโลหิตสูงมักไม่ค่อยพบในวัยรุ่น แต่สำหรับผู้สูงอายุโดยเฉพาะ 60 ปีขึ้นไปมักพบว่ามีโอกาสที่จะเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากขึ้นถึง 50% ถือว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับต้น ๆ ของการเกิดโรคความดันโลหิตสูงก็ว่าได้
- น้ำหนักเกิน โอกาสที่จะทำให้เกิดปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงจะมากขึ้น
- คนที่มักรับประทานเค็ม กระทรวงสาธารณะสุขไทยแนะนำปริมาณโซเดียมที่เหมาะสมสำหรับการบริโภคต่อวันคือ 1 ช้อนชาต่อวัน (ไม่เกิน 2,300 มก.) แต่สำหรับคนไทยรับประทานโซเดียมถึง 7,000 มก. ต่อวันเลยทีเดียว การรับประทานโซเดียมมากเกินไปนอกจากจะทำให้ไตทำงานหนักแล้ว ยังทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงด้วย
- ความเครียด จากการสำรวจทางการแพทย์พบว่าคนที่อยู่ในเมืองมักจะมีอัตราส่วนของโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าปกติ สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะคนเมืองมักมีความเครียดจากหลากหลายปัจจัย ฉะนั้นควรหาวิธีผ่อนคลายอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นสปา โยคะ หรือการออกกำลังกายซึ่งเป็นวิธีบำบัดความเครียดที่ดีที่สุด
ปัจจัยเสี่ยงที่มักทำให้เกิดโรคความดันโลหิตต่ำ
หลายคนมักจะบอกว่าโรคความดันโลหิตต่ำสังเกตได้จากการที่เรามักปวดศีรษะหรือหน้ามืดเวลาลุก นั่ง หรือเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็ว แต่จริง ๆ แล้วความดันโลหิตต่ำยังเกิดได้จากหลายสาเหตุ รวมถึงเป็นผลพวงมาจากความผิดปกติของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อาการเหล่านี้มักจะเป็นเพียงชั่วคราว ในทางการแพทย์จึงยากที่จะฟันธงในทันทีว่าเป็นโรคความดันต่ำหรือเป็นเพียงภาวะเสี่ยงเท่านั้น อย่างไรก็ตามสามารถสังเกตอาการที่พบได้บ่อยดังต่อไปนี้
- ภาวะขาดน้ำ การที่ปริมาณน้ำหรือของเหลวในเลือดน้อยลง เกิดการไหลเวียนเลือดลดลง เลือดกลับเข้าสู่หัวใจน้อยลง หัวใจจึงเต้นบีบตัวลดลง ส่งผลให้ความดันโลหิตลดลง เช่น คนที่มีเลือดออกรุนแรง ท้องเสียอย่างรุนแรง รวมทั้งคนที่นั่งหรือนอนนาน ๆ แล้วลุกขึ้นทันทีมักจะเกิดอาการหน้ามืด นั่นเป็นเพราะปริมาณเลือดจะคั่งที่ขา เมื่อเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็วเลือดจึงไหลกลับหัวใจไม่ทัน วิธีแก้ง่าย ๆ คือการดื่มน้ำบ่อย ๆ เพื่อเพิ่มปริมาณของเหลวในเลือด
- การรับประทานยา ยาบางชนิดอาจส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำได้ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาเบต้า บล็อกเกอร์ที่รักษาโรคหัวใจ ยารักษาโรคพาร์กินสัน บางรายพบว่ามักมีอาการความดันโลหิตต่ำเมื่อรับประทานยารักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
- อาการป่วยหรือปัญหาสุขภาพ หรือสภาวะที่ต้องนอนพักอยู่บนเตียงเป็นระยะเวลานาน อาจนำไปสู่ภาวะความดันโลหิตต่ำได้ เช่น โรคโลหิตจาง เนื่องจากเม็ดเลือดมีปริมาณต่ำกว่าปกติหรือมีจำนวนเม็ดเลือดแดงน้อย ความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของหัวใจ ระบบประสาทอัตโนมัติ ปัญหาเกี่ยวกับระบบต่อมไร้ท่อ ในบางรายอาจมาจากโรคเบาหวาน เป็นต้น
- การบาดเจ็บอย่างรุนแรงหรือภาวะช็อก เช่น ผู้ที่เกิดอุบัติเหตุและเสียเลือดจำนวนมากหรือเกิดอาการช็อกมักพบภาวะความดันต่ำได้ ผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียเข้าสู่กระแสเลือด ผู้ที่เกิดอาการช็อกจากการแพ้อาหารหรือยาบางชนิดอย่างเฉียบพลัน เป็นต้น
- คนที่เป็นโรคหัวใจ เมื่อหัวใจเต้นผิดปกติจะลดแรงดันในหลอดเลือด ส่งผลให้ความดันเลือดต่ำได้
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ เนื่องจากต้องเพิ่มเลือดหล่อเลี้ยงทารกในครรภ์ การไหลเวียนโลหิตของมารดาจึงลดลง ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำได้
อย่างไรก็ตามความดันโลหิตเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ หัวใจสำคัญคือการออกกำลังกาย รับประทานอาหารให้ถูกหลัก และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่เป็นต้นเหตุของโรคความดันดังกล่าว ก็จะช่วยป้องกันโรคร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้ หากรู้ว่าตนเองกำลังมีความเครียดควรหาวิธีบำบัด เพราะบ่อยครั้งที่ความเครียดมักกระตุ้นให้ความดันผิดปกติ และสุดท้ายหมั่นตรวจโรคเป็นประจำทุกปีจะช่วยให้เราหาทางป้องกันได้ทันท่วงที