อาชาบำบัด...บำบัดความผิดปกติของร่างกายด้วยการขี่ม้า

เข้าใจหลักการและประโยชน์ของอาชาบำบัด รู้จักกลุ่มอาการที่การขี่ม้าสามารถฟื้นฟูได้ รวมถึงแนะนำสถานที่ให้บริการ
เผยแพร่ครั้งแรก 31 ส.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
อาชาบำบัด...บำบัดความผิดปกติของร่างกายด้วยการขี่ม้า

“อาชาบำบัด” เป็นศาสตร์หนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมากในต่างประเทศ ในประเทศไทยก็มีศูนย์หรือสถานบำบัดหลายแห่งให้บริการอาชาบำบัดมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่เพิ่งได้รับความนิยมมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมาไม่นานนี้เอง การทำความเข้าใจหลักการ วิธีการ รวมถึงกลุ่มอาการต่างๆ ที่สามารถรักษาได้ด้วยอาชาบำบัดจึงเป็นเรื่องสำคัญ

อาชาบำบัดคืออะไร?

อาชาบำบัด (Hippotherapy) เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกสองคำคือ “Hippo” ที่แปลว่าม้า กับ “Therapy” ที่แปลว่าการรักษา ฟื้นฟู ดังนั้นอาชาบำบัดจึงหมายถึงการบำบัดรักษา หรือฟื้นฟูความผิดปกติของร่างกายด้วยม้า นอกจากนี้ในภาษาอังกฤษยังมีอีกคำหนึ่งที่มีความหมายใกล้เคียงกัน คือ การทำกิจกรรมร่วมกับม้า (Equine-assisted therapy)

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ที่จริงแล้วการรักษาทางเลือกทั้ง 2 ชนิดนี้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน กล่าวคือ อาชาบำบัดจะเน้นไปที่การฝึกการเคลื่อนไหว การทรงตัว หรือการกระตุ้นพัฒนาการของร่างกายตามวิธีทางกายภาพบำบัด ซึ่งจำเป็นจะต้องทำโดยนักกายภาพบำบัดเท่านั้น ในขณะที่การทำกิจกรรมร่วมกับม้าสามารถทำได้หลายวิธี เช่น ขี่ม้า เล่นเกมหรือทำกิจกรรมต่างๆ บนหลังม้า อาจรวมถึงการให้อาหาร การดูแล หรือปฏิสัมพันธ์กับม้าในลักษณะอื่นๆ ด้วย ซึ่งมีเป้าหมายคือฝึกพัฒนาการด้านสมอง การเข้าสังคม และสมาธิให้กับผู้เข้ารับการบำบัด อย่างไรก็ตามในบทความนี้จะขอเรียกวิธีการรักษาทั้งสองชนิดรวมๆ กันว่าอาชาบำบัดเพื่อให้เห็นภาพคร่าวๆ

ประโยชน์ของอาชาบำบัด

ดังที่ได้กล่าวไว้เบื้องต้นแล้วว่า อาชาบำบัดมีประโยชน์ทั้งด้านการฟื้นฟูร่างกาย พัฒนาการทางอารมณ์ และการเข้าสังคม โดยสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มได้ดังนี้

1. ประโยชน์ของอาชาบำบัดด้านประสาทสัมผัส

ขณะทำการบำบัดบนหลังม้า เด็กต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมดฝึกการทรงตัวและการเคลื่อนไหว ให้สัมพันธ์กับการเคลื่อนที่ของม้า เพื่อให้ทรงตัวบนหลังม้าได้ การฝึกดังกล่าวนอกจากจะกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อมัดต่างๆ ทั้งใหญ่และเล็กให้แข็งแรงขึ้นแล้ว ยังช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานประสานกันอย่างมีประสิทธิภาพ

2. ประโยชน์ของอาชาบำบัดด้านสมาธิ

ในขณะที่เด็กอยู่บนหลังม้า เด็กจะจดจ่อกับการทรงตัวเพื่อไม่ให้ตกลงมา วิธีนี้เป็นการฝึกสมาธิแก่เด็ก ซึ่งอาจจะมีการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น โยนลูกบอล เคลื่อนไหวในท่าทางต่างๆ เสริม ก็จะทำให้เด็กพุ่งความสนใจไปยังกิจกรรมนั้นๆ เป็นการสนับสนุนให้เด็กมีช่วงความสนใจยาวนานขึ้น

นอกจากนี้ยังสามารถควบคุมร่างกายได้พร้อมๆ กับมีสมาธิกับการทำกิจกรรมอื่นๆ ด้วย

3. ประโยชน์ของอาชาบำบัดด้านการควบคุมอารมณ์

ในระหว่างกิจกรรมอาชาบำบัด เด็กต้องมีปฏิสัมพันธ์กับม้า กลุ่มของผู้ให้การบำบัด หรือเด็กคนอื่นๆ ที่เข้ารับการบำบัดด้วยในกรณีของการบำบัดแบบกลุ่มทำจะช่วยให้เด็กได้เรียนรู้การควบคุมอารณ์ การแสดงออกทางอารมณ์ รวมถึงเรียนรู้การตอบสนองทางอารมณ์อย่างเหมาะสมจากบุคคลรอบข้าง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

4. ประโยชน์ของอาชาบำบัดด้านทักษะการเข้าสังคม

เด็กจะได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับสัตว์ ครูฝึก หรืออาจจะมีเด็กคนอื่นด้วย ซึ่งจะทำให้เด็กคุ้นเคยกับการเข้าสังคม ไม่กลัวคนแปลกหน้า และไม่แสดงพฤติกรรมเชิงลบ ทำให้อยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมได้อย่างเหมาะสม

5. ประโยชน์ของอาชาบำบัดด้านจิตใจ

เด็กจะได้เรียนรู้การเห็นอกเห็นใจสัตว์ เพราะได้ทำกิจกรรมกับม้าเป็นประจำ นอกจากนี้ในบางศูนย์หรือสถานบำบัดยังมีการให้เด็กอาบน้ำม้า หรือให้อาหารม้า ซึ่งอาจจะช่วยให้เด็กอ่อนโยนลง เนื่องจากได้เห็นและเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนต่อผู้อื่น หรือต่อสัตว์อย่างอ่อนโยนจากผู้บำบัด หรือผู้ดูแลม้าด้วย

เพื่อให้ได้รับผลการรักษาที่ดี การทำกิจกรรมอาชาบำบัดกับผู้เชี่ยวชาญเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยทั่วไปจะต้องมีผู้ให้การรักษาหนึ่งคน อาจจะเป็นนักกายภาพบำบัด นักกิจกรรมบำบัด หรือนักอาชาบำบัด ผู้ดูแลให้ความปลอดภัยแก่ผู้เข้ารับการรักษาจะคอยดูแลความปลอดภัยด้านซ้ายและด้านขวาของม้า เพื่อป้องกันการพลัดตกลงมา และอีกตำแหน่งสำคัญคือครูสอนขี่ม้าแนวบำบัดรู้จักม้าและนิสัยของม้าอย่างดีที่สุด ผู้ทำตำแหน่งนี้จะดูแลเรื่องการใช้ม้า

ในประเทศไทยและอีกหลายประเทศมักนิยมใช้ม้าที่มีขนาดเล็กกว่าม้าแข่งทั่วไป เพื่อความปลอดภัยของผู้เข้ารับบริการ

ข้อห้ามและข้อควรระวังสำหรับการฟื้นฟูร่างกายด้วยอาชาบำบัด

ถึงแม้อาชาบำบัดจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างมาก แต่ก็มีข้อห้ามและข้อควรระวังอยู่ด้วย โดยผู้ป่วยที่มีอาการไม่คงที่ยังไม่สามารถทรงตัวได้ด้วยตนเองเลย หรือกลุ่มผู้ป่วยเด็กที่มีอาการลมชักที่ยังไม่สามารถควบคุมได้ จะยังไม่สามารถเข้ารับการฟื้นฟูด้วยอาชาบำบัดได้ เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอันตรายจากการพลัดตกจากม้า นอกจากนี้ในเด็กที่กลัวสัตว์ เด็กที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ หรือแพ้ขนสัตว์ ก็ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษขณะเข้ารับการบำบัด

อาชาบำบัดมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยกลุ่มไหนบ้าง?

มีรายงานว่าอาชาบำบัดมีประโยชน์ต่อการฟื้นฟูผู้ป่วยหลายกลุ่ม ทั้งผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกจากโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ผู้ป่วยอัมพาตครึ่งท่อนจากไขสันหลังบาดเจ็บ (Spinal cord injury) รวมทั้งผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการควบคุมปัสสาวะและอุจจาระ ซึ่งมีปัญหามาจากการทำงานของเส้นประสาทไขสันหลัง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

กลุ่มผู้ป่วยที่นิยมใช้การบำบัดด้วยการขี่ม้ามากที่สุดคือ ผู้ป่วยเด็กที่มีความบกพร่องต่างๆ ในที่นี้จึงจะขอให้ความสำคัญแก่ผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นหลัก

การเข้ารับการรักษาด้วยวิธีอาชาบำบัดควรได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ก่อน เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างเหมาะกับอาการและความรุนแรงของความบกพร่อง รวมถึงความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเอง โดยสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้

1. กลุ่มออทิสติกส์ (Autism spectrum disorders: ASD)

เด็กกลุ่มนี้จะมีปัญหาเฉพาะตัวที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน ทั้งการเข้าสังคม การเรียนรู้ มีโลกส่วนตัว เด็กจำนวนมากมีอารมณ์แปรปรวนง่ายและมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น ทำร้ายตัวเอง อย่างไรก็ตามเป็นที่ทราบกันดีว่าเด็กกลุ่มนี้มักมีความสนใจบางกิจกรรมเป็นพิเศษ และจะให้ความสนใจกับกิจกรรมนั้นมาก

สิ่งที่นักกายภาพบำบัดหรือนักกิจกรรมบำบัดทำ คือจัดกิจกรรมที่เด็กสนใจให้ทำบนหลังม้า เพื่อเน้นฝึกทั้งการควบคุมร่างกาย และการกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมทางบวกนั่นเอง

2. กลุ่มดาวน์ซินโดรม (Down syndrome)

อย่างที่ทราบกันดี เด็กที่มีปัญหาในกลุ่มนี้อาจจะมีปัญหาทั้งด้านร่างกายและพัฒนาการทางสมอง นอกจากนี้อาจจะมีอารมณ์แปรปรวนมากร่วมด้วย

นักกายภาพบำบัดจะเน้นฝึกการเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นสำคัญ ในขณะที่นักกิจกรรมบำบัดจะเข้ามามีความสำคัญอย่างมากในการฝึกพัฒนาการด้านสมอง ในหลายประเทศยังมีนักอรรถบำบัด (ผู้ทำหน้าที่แก้ไขการพูด) จำนวนมาก หันมาให้การรักษาเด็กกลุ่มดาวน์ซินโดรมด้วยอาชาบำบัดนี้เช่นกัน

3. กลุ่มสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder: ADHD)

เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้มีปัญหาด้านสมอง แต่มีปัญหาสำคัญคือมีช่วงความสนใจ (Attention span) สั้นกว่าเด็กทั่วไป จึงไม่สามารถจดจ่อกับกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งได้นาน ผู้ให้การบำบัดจะออกแบบกิจกรรมที่เหมาะสำหรับเด็กแต่ละคน เช่น ให้ทรงตัวบนหลังม้าพร้อมๆ กับเล่นเกมอย่างโยนรับลูกบอล ก็จะช่วยให้เด็กทั้งจดจ่อกับกิจกรรมและการทรงตัวไปพร้อมๆ กัน ทำให้บำบัดอาการสมาธิสั้นได้ 

อย่างไรก็ตาม การรักษาเด็กกลุ่มนี้ ผู้ให้การรักษาต้องระวังอุบัติเหตุเป็นอย่างมาก เพราะเด็กมักจะมีความสนใจสั้นและไม่รอบคอบ เช่น อาจกระโดดลงจากหลังม้า หรือลุกขึ้นยืนกะทันหันได้

4. กลุ่มสมองพิการ (Cerebral palsy: CP)

ผู้ป่วยเด็กกลุ่มนี้มักจะมีความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่แตกต่างกันไป เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรงปวกเปียก กล้ามเนื้อเกร็ง กล้ามเนื้อกระตุกและทำงานไม่สัมพันธ์กัน 

ผู้ให้การรักษาเด็กกลุ่มนี้มักจะเป็นนักกายภาพบำบัด โดยเด็กจะได้เรียนรู้การทรงตัวของกล้ามเนื้อแกนกลางลำตัวเพื่อให้นั่งทรงตัวบนหลังม้าได้ เรียนรู้การทำงานประสานสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อแต่ละมัดอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เคลื่อนไหวตามจังหวะเคลื่อนไหวของม้าได้โดยไม่ตกลงมา 

นอกจากนี้การที่เด็กได้นั่งบนหลังม้าที่เดินไปมา มีผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าจะทำให้กล้ามเนื้อและสมองของเด็กจดจำรูปแบบการเคลื่อนไหวได้ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากต่อการเดินของเด็กเอง

5. กลุ่มบกพร่องทางการเรียนรู้ (Learning disabilities)

ผู้ให้การบำบัดมักจะเป็นนักกิจกรรมบำบัด โดยนักกายภาพบำบัดจะทำการประเมินความบกพร่องทางการเรียนรู้ของเด็กก่อน แล้วจึงให้การรักษาการเรียนรู้ที่บกพร่องนั้นๆ ซึ่งแตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน เช่น สี ตัวเลข ตัวเลขและการคำนวณ เป็นต้น

สถานที่ให้บริการอาชาบำบัดในประเทศไทยมีที่ไหนบ้าง?

ในปัจจุบันการฟื้นฟูผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ ด้วยอาชาบำบัดกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ทำให้สถานที่ให้บริการด้านอาชาบำบัดมีมากขึ้นตาม ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 400-1,200 บาท/ชั่วโมง ตัวอย่างสถานที่ให้บริการดังตาราง

ชื่อสถานที่/โครงการ
โทร.
คลินิกอาชาบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล 0-2849-6000
โครงการอนุรักษ์ม้าพันธุ์พื้นบ้าน อุบลราชธานี 08-1955-8369
โครงการอาชาบำบัดเพื่อเด็กออทิสติก กองพันลาดตระเวน สัตหีบ 08-6028-8141
โรงพยาบาลจิตเวช สระแก้ว 0-3726-2995 ต่อ 69137
โครงการอาชาบำบัด โรงพยาบาลค่ายพิชัยดาบหัก 0-5542-8111 ต่อ 119

5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Lessick M, Shinaver R, Post KM, Rivera JE, Lemon B. Therapeutic horseback riding. AWHONN Lifelines. 2004;8(1):46-53.
Heine B. Introduction to hippotherapy. NARHA Strides magazine. 1997;3(2).
Flores FM, Dagnese F, Copetti F. Do the type of walking surface and the horse speed during hippotherapy modify the dynamics of sitting postural control in children with cerebral palsy? Clin Biomech (Bristol, Avon). 2019 Jul 25;70:46-51.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป