การไอ (Cough) เป็นอาการเจ็บป่วยธรรมดาที่สร้างความรำคาญใจแก่คนป่วยและผู้คนรอบข้างไม่น้อย แท้จริงแล้ว การไอเป็นการขจัดสิ่งกีดขวางในทางเดินหายใจตามธรรมชาติ เช่น หากมีเสมหะหรือสิ่งแปลกปลอมอุดตันอยู่ ร่างกายจะตอบสนองโดยการไอเพื่อกำจัดสิ่งเหล่านั้นออกมา การไอเป็นอาการป่วยที่ไม่จำเพาะเจาะจงต่อโรค อาการไอจึงมีหลายแบบ ทั้งแบบไอแห้งๆ เพราะคันระคายคอ และไอแบบมีเสมหะ ซึ่งมักไม่รุนแรงและหายได้เองภายใน 2-3 สัปดาห์ ไปจนถึงการไออย่างรุนแรง รวมกับมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หรือไอเป็นเลือด ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับโรคร้ายอื่นๆ ตามมาด้วย
สาเหตุของการไอ มีอะไรบ้าง?
- มีการสูดดมสิ่งแปลกปลอมหรือระคายเคืองเข้าสู่ทางเดินหายใจ เช่น ฝุ่น ควัน สารเคมี ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ ควันบุหรี่ และน้ำหอม หรือแม้แต่การสัมผัสอากาศที่หนาวเย็น สิ่งเหล่านี้ล้วนกระตุ้นอาการไอได้ โดยไม่เกี่ยวข้องกับโรคหรือความเจ็บป่วย
- เกิดจากโรคในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งสัมพันธ์กับโรคต่างๆ มากมายหลายโรค ทั้งโรคติดเชื้อ อย่างไข้หวัด คออักเสบ ปอดบวม วัณโรค ซึ่งโรคติดเชื้อทั่วไปมักหายได้อย่างรวดเร็ว แต่กรณีที่ป่วยเป็นวัณโรคอาจทำให้เกิดการไอเรื้อรังนานหลายเดือน และอาจมีเลือดปนออกมาได้ ไปจนถึงโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เช่น ถุงลมโป่งพอง ไซนัสอักเสบ มะเร็งปอด ภูมิแพ้ กรดไหลย้อน หรือน้ำท่วมปอดจากภาวะหัวใจล้มเหลว เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้มักทำให้เกิดอาการไอเรื้อรัง หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก บางครั้งเสมหะอาจมีเลือดปนหรือมีสีสนิมได้
- เป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง ยาสำหรับผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจตีบ ซึ่งเมื่อหยุดทานยาอาการไอจะหายไปเองได้
การรักษาอาการไอ
หากมีอาการไอร่วมกับเป็นหวัดหรือเจ็บคอ เราสามารถบรรเทาอาการได้โดยดื่มน้ำอุ่นมากๆ และทานยา หรืออมยาอมแก้ไอเพื่อให้ชุ่มคอ หากไอมาก แต่เป็นไอแห้งๆ แพทย์อาจจ่ายยากลุ่ม Antitussives เพื่อระงับอาการไอ หรือถ้าไอมีเสมหะ แพทย์อาจให้ยา Expectorants ร่วมกับยาละลายเสมหะ ยากลุ่ม Antihistamines และยาขยายหลอดลม ในกรณีที่มีอาการหายใจลำบากด้วย หากพบว่าไอจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ก็อาจมีการให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วยตามความเหมาะสม
ยุค New Normal สุขภาพ เป็นสิ่งที่ทุกคนใส่ใจมากยิ่งขึ้น
ถ้าเริ่มมีอาการเจ็บคอ คันคอ ระคายคอ หรือมีเสมหะ เหนียวคอ มาดู 5 วิธี บรรเทาง่ายๆ ได้ผล อย่ารอให้เป็นหนัก
แต่ถ้าพบว่าการไอเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น การสูบบุหรี่ กรดไหลย้อน หรือโรคที่รุนแรง อย่างมะเร็งปอด การรักษาจะเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ร่วมกับการให้ยาหรือการบำบัดที่จำเพาะเจาะจงยิ่งขึ้น
การป้องกันอาการไอ
- หลีกเลี่ยงฝุ่น ควัน มลภาวะ หรือสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ เช่น ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ สารเคมี
- งดการสูบบุหรี่ เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอด และถุงลมโป่งพอง
- ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง โดยการออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ และทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายติดเชื้อโรคง่ายๆ
การดูแลตัวเองเมื่อมีอาการไอ
- ดื่มน้ำอุ่นมากๆ อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน
- อาจใช้น้ำอุ่นผสมเกลือมากลั้วคอ เพื่อช่วยกำจัดเสมหะ
- ทานยาอมหรือยาน้ำแก้ไอ จะช่วยให้ชุ่มคอ และบรรเทาอาการไอได้
- หากไอหนักควรไปพบแพทย์ และทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด