การตั้งครรภ์อาจเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับคู่สมรสบางคู่ที่อยากให้ทายาทมาสืบสกุล แต่การตั้งครรภ์อาจกลายเป็นฝันร้ายได้ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่พร้อมจะมีทายาท หรือเป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ
ด้วยสาเหตุเช่นนี้ จึงมีการคิดค้น "ยาคุมฉุกเฉิน" ขึ้น เพื่อยุติฝันร้ายของการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ของผู้หญิงทั้งหลาย
ทำความรู้จักกับยาคุมฉุกเฉินแบบ 2 เม็ด
ยาคุมฉุกเฉินที่มีเม็ดยา 2 เม็ดในกล่อง มีจำหน่ายในประเทศไทยมานานแล้ว
โดยในปัจจุบัน (วันที่เขียนบทความ: สิงหาคม 2562) มีการจัดจำหน่ายยาคุมฉุกเฉิน 7 ยี่ห้อ
5 ยี่ห้อในนั้นเป็นยาคุมฉุกเฉินชนิดที่มี 2 เม็ด ได้แก่ โพสตินอร์ (Postinor) มาดอนนา (Madonna) แมรี่พิงค์ (Marry pink) นอร์พัก (Norpak) และเลดี้นอร์ (Ladynore)
ในบรรดายาคุมฉุกเฉินทั้ง 5 ยี่ห้อนี้ มีตัวยาสำคัญเหมือนกันคือ ใน 1 เม็ดจะมีตัวยาเลโวนอร์เกสเทรล (Levonorgestrel) 0.75 มิลลิกรัม
แผงหนึ่งมียา 2 เม็ด หมายความว่า ในยาคุมฉุกเฉิน 1 กล่องจะมีตัวยาเลโวนอร์เกสเทรลทั้งสิ้น 1.5 มิลลิกรัม
เปรียบเทียบราคายาคุมแต่ละยี่ห้อโดยประมาณ
ยาคุมแต่ละชื่อการค้า อาจมีราคาแตกต่างกันไป ดังต่อไปนี้
- แทนซี่ วัน (Tansy ONE) ชนิด 1 เม็ด ราคา 80 บาท
- เมเปิ้ล ฟอร์ท (Maple Forte) ชนิด 1 เม็ด ราคา 50 บาท
- โพสตินอร์ (Postinor) ชนิด 2 เม็ด ราคา 60 บาท
- มาดอนนา (Madonna) ชนิด 2 เม็ด ราคา 40 บาท
- แมรี่ พิงค์ (Marry pink) ชนิด 2 เม็ด ราคา 40 บาท
- นอร์พัก (Norpak) ชนิด 2 เม็ด ราคา 40 บาท
- เลดี้ นอร์ (Ladynore) ชนิด 2 เม็ด ราคา 40 บาท
กลไกในการคุมกำเนิดฉุกเฉินของตัวยาเลโวนอร์เกสเทรล
เดิมเคยเชื่อว่า ตัวยาเลโวนอร์เกสเทรลออกฤทธิ์ดังนี้
- ป้องกันก่อนการปฏิสนธิ ยับยั้งการตกไข่ และรบกวนการเคลื่อนตัวของอสุจิ
- ป้องกันหลังปฏิสนธิ รบกวนกระบวนการเตรียมความพร้อมของเยื่อบุมดลูก และการเปลี่ยนแปลงเยื่อบุมดลูก ทำให้ยากแก่การฝังตัวของไข่ที่ผสมกับอสุจิแล้ว
แต่การศึกษาต่อมาชี้ว่า ขนาดการใช้ที่แนะนำให้รับประทานไม่สามารถรบกวนการเคลื่อนตัว และการทำหน้าที่ของอสุจิได้
ดังนั้นกลไกในการป้องกันการตั้งครรภ์จึงน่าจะเกิดจากการยับยั้งการตกไข่ และรบกวนกระบวนการเตรียมความพร้อมของเยื่อบุมดลูกสำหรับให้ตัวอ่อนฝังตัวมากกว่า
การทดลองที่ผ่านมาพบว่า หากได้รับยาคุมฉุกเฉินก่อนที่ฮอร์โมนกระตุ้นให้ไข่ตกจะเพิ่มระดับสูงขึ้น ตัวยาจะสามารถยับยั้ง หรือชะลอการตกไข่ได้
เมื่อไม่มีไข่ตกออกมา อสุจิก็ไม่สามารถผสมกับไข่ได้ จึงป้องกันการปฏิสนธิ หรือการตั้งครรรภ์ได้นั่นเอง
ดังนั้นจึงแนะนำให้รับประทานยาคุมฉุกเฉินให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้คือ ควรรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ แต่หากใกล้จะถึงช่วงไข่ตกแล้ว ยานี้มักจะยับยั้งการตกไข่ไม่ได้
อย่างไรก็ตาม แม้จะยับยั้งการตกไข่ไม่ทัน แต่การได้รับยาเร็วก่อนที่จะมีไข่ตก จะมีประสิทธิภาพสูงกว่าในการรบกวนการเตรียมความพร้อมของเยื่อบุมดลูก และทำให้ระยะเวลาหลังไข่ตกสั้นลง
เมื่อไม่เกิดการฝังตัวของไข่ที่ผสมกับอสุจิ ก็หมายถึงไม่มีการตั้งครรภ์นั่นเอง
จากที่กล่าวมาข้างต้น จึงแนะนำให้รับประทานยาคุมฉุกเฉินโดยเร็วหลังมีเพศสัมพันธ์ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันการตั้งครรภ์ หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยายังมีผลในการป้องกันก่อนจะเกิดการฝังตัวของไข่ที่ผสมกับอสุจิได้สำเร็จ
วิธีรับประทานยาคุมฉุกเฉิน
สามารถรับประทานได้ 2 วิธี คือ
- วิธีดั้งเดิม รับประทานเม็ดแรกโดยเร็วหลังมีเพศสัมพันธ์ จากนั้นรับประทานเม็ดที่สองในอีก 12 ชั่วโมงต่อมา
- วิธีใหม่ รับประทานพร้อมกัน 2 เม็ดในครั้งเดียวให้เร็วที่สุดหลังมีเพศสัมพันธ์
จากการศึกษาพบว่า การใช้ยาทั้งสองวิธีมีประสิทธิภาพ และผลข้างเคียงไม่ต่างกัน จึงแนะนำให้รับประทานพร้อมกันทั้งสองเม็ดไปเลยเพื่อป้องกันการลืมรับประทานยารอบที่สอง และควรใช้ให้เร็วที่สุด หรืออย่างช้าไม่เกิน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์
โดยพบว่า หากรับประทานภายใน 72 ชั่วโมง จะมีอัตราการตั้งครรภ์ต่ำกว่าการรับประทานใน 72-120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยาคุมฉุกเฉิน
หลายคนเข้าใจผิดว่า การรับประทานยาคุมฉุกเฉินทำให้ไม่ตั้งครรภ์ ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจใช้ยาคุมฉุกเฉินแทนวิธีคุมกำเนิดปกติ เพราะใช้ง่ายกว่าวิธีอื่นๆ
ต้องทำความเข้าใจใหม่ให้ถูกต้องว่า แม้การใช้ยาคุมฉุกเฉินจะง่ายกว่าวิธีคุมกำเนิดปกติอื่นๆ ก็จริง แต่กลับมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ต่ำกว่ามาก
ผู้ที่ใช้ยาคุมฉุกเฉินนั้นมีโอกาสคุมกำเนิดล้มเหลว และทำให้เกิดการตั้งครรภ์ 15 – 25% ซึ่งนับว่า สูงมากเมื่อเทียบกับวิธีที่ใช้คุมกำเนิดตามปกติอื่นๆ
ดังนั้น จึงแนะนำให้ใช้ยาคุมฉุกเฉินเฉพาะกรณีฉุกเฉินจริงๆ เช่น ถูกข่มขืน เกิดความผิดพลาดในการคุมกำเนิดปกติ ถุงยางฉีกขาด หรือลืมรับประทานยาคุมกำเนิด
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ คงเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ยาคุมฉุกเฉินแล้วว่า มีโอกาสล้มเหลว และเกิดการตั้งครรภ์ได้มากเมื่อเทียบกับวิธีคุมกำเนิดตามปกติอื่นๆ เช่น การใช้ถุงยางอนามัย ยาเม็ดคุมกำเนิด แผ่นแปะคุมกำเนิด วงแหวนคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด ยาฝังคุมกำเนิด หรือการใส่ห่วงอนามัย
นอกจากการตั้งครรภ์แล้วอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องระวังไม่แพ้กันคือ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการใส่ถุงยางอนามัยเท่านั้น จึงควรใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์
ดูแพ็กเกจตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android