การคุมกำเนิดฉุกเฉินในผู้ที่ใช้ยาบางชนิด

เผยแพร่ครั้งแรก 19 ธ.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
การคุมกำเนิดฉุกเฉินในผู้ที่ใช้ยาบางชนิด

ยาหรือสมุนไพรบางอย่างที่มีผลกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ Cytochrome P450 - 3A4 หรือ CYP3A4 จะมีผลให้ยาคุมกำเนิดถูกเปลี่ยนแปลงและขับออกมากขึ้น จึงอาจทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลงได้ค่ะ

ซึ่งยาที่มีฤทธิ์กระตุ้นที่แรงมากจนมีผลชัดเจนว่าลดประสิทธิภาพของยาคุมได้ และควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน ตามที่ U.S. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use 2016 แนะนำไว้ ได้แก่ ยาบางตัวในกลุ่มยาต้านไวรัสเอดส์, ยารักษาวัณโรค, ยากันชัก และสมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ต

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

โดยยาดังที่กล่าวมา ไม่ได้มีผลกระทบแค่ฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่ยังอาจกระทบกับฮอร์โมนโปรเจสตินด้วย ดังนั้น ไม่ว่ายาคุมที่ใช้จะเป็นชนิดฮอร์โมนรวม (มีทั้งเอสโตรเจนและโปรเจสติน) หรือเป็นชนิดฮอร์โมนโปรเจสตินเดี่ยว ก็ควรต้องระวัง และหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกันค่ะ

และไม่เพียงแต่ยาคุมแบบปกติเท่านั้นที่ต้องหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาดังกล่าว เพราะยาคุมฉุกเฉินเองก็อาจเกิดปัญหา “ยาตีกัน” ได้เช่นกันนะคะ 
โดยมีการศึกษาที่พบว่าเมื่อใช้ยาต้านไวรัส Efavirenz (เอฟฟาไวเร็นซ์) ร่วมกับ Levonorgestrel (ลีโวนอร์เจสเทรล) ซึ่งเป็นยาคุมฉุกเฉินชนิดที่มีใช้ในประเทศไทย ระดับยาในเลือดของลีโวนอร์เจสเทรลจะลดลง 56% 

หรือเมื่อใช้ยารักษาวัณโรค Rifampin (ไรแฟมปิน) ร่วมกับ Ulipristal (ยูลิพริสตัล) ซึ่งเป็นยาคุมฉุกเฉินที่ยังไม่มีใช้ในประเทศไทย ระดับยาในเลือดของยูลิพริสตัลจะลดลงมากกว่า 90% ค่ะ
…แล้วจะเหลืออะไรไปป้องกันการตั้งครรภ์ได้ล่ะเนี่ย!!!

แม้ว่าจะยังไม่มีผลการศึกษากับยาตัวอื่น ๆ ว่าจะมีผลต่อยาคุมฉุกเฉินด้วยหรือไม่ แต่คาดว่าด้วยกลไกที่ไม่ต่างกัน ก็น่าจะเกิดผลกระทบไม่แตกต่างกันมากค่ะ
ดังนั้น จึงมีคำแนะนำว่า หากมีการใช้ยาหรือสมุนไพรที่กระตุ้นเอนไซม์ CYP3A4 อย่างรุนแรง ได้แก่ ยาบางตัวในกลุ่มยาต้านไวรัสเอดส์, ยารักษาวัณโรค, ยากันชัก และสมุนไพรเซนต์จอห์นเวิร์ต ในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา หากจำเป็นต้องคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน ควรเลือกใช้วิธีใส่ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดงแทนค่ะ 

ซึ่งสามารถใส่ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดงภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์ได้ และมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงมาก นั่นคือ มีโอกาสตั้งครรภ์เพียง 0.6 – 0.8% เท่านั้นเองค่ะ อีกทั้งยังมีผลคุมกำเนิดต่อเนื่องไปได้นาน 3 – 10 ปี ขึ้นกับรุ่นของห่วงอนามัยที่ใช้ (แต่ต้องให้สูตินรีแพทย์ใส่ห่วงอนามัยให้นะคะ ไม่สามารถใส่เองได้)

แต่ในกรณีที่ไม่สะดวกที่จะใช้วิธีดังกล่าว และต้องการรับประทานยาคุมฉุกเฉินชนิดตัวยาลีโวนอร์เจสเทรล แม้ไม่มีการระบุเป็นแนวทางปฏิบัติมาตรฐานทั่วไป แต่ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญตามแนวทางของ FSRH UKMEC guidance 2016 แนะนำให้รับประทานเป็น 2 เท่าของขนาดปกติในครั้งเดียว นั่นหมายถึง ต้องรับประทานยารวม 2 กล่องในครั้งเดียวนะคะ 

ซึ่งก็คือ ถ้าใช้ยาคุมฉุกเฉินยี่ห้อโพสตินอร์, มาดอนนา, แมรี่ พิงค์, นอร์แพ็ก และเลดี้นอร์ จะต้องรับประทานยารวม 4 เม็ดในครั้งเดียว
หรือถ้าใช้ยาคุมฉุกเฉินยี่ห้อเมเปิ้ล ฟอร์ท จะต้องรับประทานยารวม 2 เม็ดในครั้งเดียวค่ะ

โดย FSRH UKMEC guidance 2016 จะยังแนะนำให้รับประทานยาคุมฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์นะคะ ซึ่งแตกต่างจาก U.S. Medical Eligibility Criteria for Contraceptive Use 2016 และ WHO: Selected practice recommendations for contraceptive use 2016 ที่แนะนำว่าสามารถใช้ได้ภายใน 120 ชั่วโมงหลังมีเพศสัมพันธ์

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประสิทธิภาพในการป้องกันของการรับประทานยาคุมฉุกเฉินต่ำกว่าการใส่ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดงมากอยู่แล้ว ดังนั้น แม้จะมีการปฏิบัติตามแนวทางนี้ ก็ยังถือว่ามีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ได้มากกว่าวิธีคุมกำเนิดปกติอยู่ดีค่ะ


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Levonorgestrel Drug Information. MedlinePlus. (https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a610021.html)
List of Emergency Contraceptive Pills (ECPs) + Uses, Types & Side Effects. Drugs.com. (https://www.drugs.com/condition/postcoital-contraception.html)
Emergency contraception. World Health Organization (WHO). (https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/emergency-contraception)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป