ยางนา (Dipterocarpus alatus)

ยางนา พืชที่มีประโยชน์ทั้งทางการเกษตร และยังมีสารสำคัญที่ให้ประโยชน์ต่อสุขภาพ ทั้งในบันทึกแพทย์พื้นบ้านไทย ตำราอายุรเวทอินเดีย และบันทึกการทดลองในห้องปฏิบัติการ
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ยางนา (Dipterocarpus alatus)

ต้นยางนา เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ กระจายอยู่ทั่วแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นต้นไม้ที่ให้มูลค่ามาก

ชาวบ้านนิยมปลูกยางนาบริเวณคันนา เพราะมีคุณสมบัติในการยึดหน้าดิน เหมาะสำหรับปลูกพื้นที่ลาดชัน ภูเขา หรือพื้นที่การเกษตร ป้องกันดินถล่มได้เป็นอย่างดี

เนื้อไม้ของยางนานำมาเป็นวัสดุก่อสร้างได้ นอกจากนี้ ยางนา ยังเป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยา ใช้รักษาโรคต่างๆ ได้อีกด้วย

สรรพคุณทางยาต้นยางนา คืออะไร?

ภูมิปัญญาแพทย์พื้นบ้านในประเทศไทย ใช้ส่วนต่างๆ ของต้นยางนา ดังนี้

  • เปลือกต้น รสฝาดขม นำมาต้มเดือด ดื่มแก้ตับอักเสบ บำรุงร่างกาย ฟอกโลหิต หรือต้มเคี่ยวใช้เป็นน้ำมันนวด ทาภายนอก แก้อาการปวดข้อต่างๆ
  • เมล็ดและใบ รสฝาดร้อน นำมาต้มน้ำผสมเกลือเล็กน้อย อมหลังแปรงฟันเช้า-เย็น ครั้งละประมาณ 10-20 วินาที แก้อาการปวดฟัน
  • น้ำมันยางนา รสร้อน ใช้ทาแก้แผลเน่าเปื่อยหรือแผลมีหนอง แก้โรคเรื้อน นำแอลกอฮอล์กับน้ำยางอัตราส่วน 2:1 มาต้มดื่ม ช่วยขับปัสสาวะ รักษาแผลในระบบทางเดินปัสสาวะ แก้ระดูขาวผิดปกติ หรือใช้ผสมกับเมล็ดกุยช่ายคั่วให้เกรียม บดเป็นผง อุดแก้ฟันผุ

ส่วนตำราการแพทย์อายุรเวทอินเดีย ได้ใช้สรรพคุณจากน้ำมันหอมยางนา (Gurjan oil) เช่น

  • รักษาโรคในระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ โดยในบันทึกเภสัชตำรับของอินเดียกล่าวว่า น้ำยางมีคุณสมบัติในการกระตุ้นสร้างเยื่อเมือก และมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ นอกจากนี้ยังรักษาอาการะดูขาวหรือตกขาวได้
  • รักษาโรคผิวหนัง เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคเรื้อน แผลเน่า แผลเปื่อย ประสิทธิผลจะเพิ่มขึ้นเมื่อใช้คู่กับขี้ผึ้ง
  • ใช้เป็นสุคนธบำบัดหรือการบำบัดด้วยกลิ่นสมุนไพร รักษาภาวะอารมณ์แปรปรวน และช่วยหลั่งสารเคมีในสมอง เช่น เซโรโทนิน (Serotonin) ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย และยับยั้งอาการปวด

นอกจากใช้น้ำมันยางนาแล้ว ตามตำรายาอายุรเวทอินเดียยังใช้เปลือกต้นต้มเป็นยาบำรุงกำลัง ช่วยฟอกลือดและแก้ตับอักเสบ

ยิ่งไปกว่านั้น จากการวิเคราะห์สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพของต้นยางนาในห้องปฏิบัติการ พบว่า

  • ยางนามีฤทธิ์ต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย เชื้อ HIV และต้านการอักเสบ โดยพบสารเรสเวอราทรอลอลิโกเมอร์ (Resveratrol oligomers) ปริมาณมาก ซึ่งเป็นสารที่พืชสร้างขึ้นเพื่อป้องกันตัวเอง มีคุณสมบัติในการต่อต้านสารอนุมูลอิสระมีประสิทธิภาพสูง และยังช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ ควบคุมระดับไขมันในเส้นเลือดให้อยู่ในสภาวะปกติ
  • มีฤทธิ์ในการต่อต้านเซลล์มะเร็ง เนื่องจากมีอนุพันธ์กลุ่มไตรเตอร์พีนอยด์ (Triterpenoid) สามารถต้านมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่เกิดในสุนัข และเซลล์มะเร็งที่เกิดในคน เช่น มะเร็งหลังโพรงจมูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด
  • สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ให้ต้านเชื้อไวรัสได้
  • ใบยางนามีสรรพคุณในการป้องกันโรคฝันผุ เนื่องจากมีฤทธิ์ในการต้าน ยับยั้งการเจริญเติบโต และทำลายเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ S. Mutan
  • ป้องกันโรค เนื่องจากมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ จากการทดลองโดยการต้มน้ำ ส่วนดอก ใบ เปลือก เนื้อไม้และรากยางนา พบปริมาณสารประกอบฟีนอล (Phenol) และฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) มีคุณสมบัติในการป้องกันโรคต่างๆ ได้

เวชสำอางจากยางนา

จากการศึกษาคุณสมบัติของยางนาที่เป็นประโยชน์ทางเวชสำอางของมหาวิทยาลัยขอนแก่น พบว่า สารสกัดจากใบ ดอก และน้ำมันยางนา (Gurjun oil) มีสรรพคุณในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของการเกิดสิว

สามารถยับยั้งเอนไซม์ไทโรซิเนส (Tyrosinase) ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างเม็ดสีเมลานินใต้ผิวหนัง จึงช่วยในการลดฝ้า กระ จุดด่างดำ

สารสกัดจากเปลือกต้นยางนาเมื่อสกัดออกมาแล้วจะมีสารเรสเวอราทรอล (Resveratrol) ซึ่งมักใช้เป็นสารในการเตรียมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต่างๆ และมีคุณสมบัติในการดูแลผิวหน้าครอบคลุมทุกสภาพผิว มีฤทธิ์ชะลอวัย ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนใต้ผิวหนัง ทดแทนเซลล์ผิวหนังชั้นบนที่ถูกทำลายจากสิ่งแวดล้อม ยับยั้งเอนไซม์ทีเกี่ยวข้องในการสร้างเม็ดสี ช่วยให้หน้ากระจ่างใส

ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับผิว ลดการอักเสบและอาการแพ้ได้อีกด้วย

นอกจาการใช้ในเวชสำอางแล้ว ส่วนที่เป็นน้ำมันหอมระเหยของยาวนายังถูกนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของน้ำหอมในแถบยุโรป

อย่างไรก็ตาม การเลือกผลิตภัณฑ์เวชสำอางควรอ่านฉลากและเลือดผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา และควรทดสอบการแพ้ก่อนทาบริเวณใบหน้า

ทั้งนี้หากเกิดอาการแพ้หรือมีข้อสงสัย ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังเฉพาะทาง

ยางนา มีโทษหรือข้อควรระวังในการใช้อย่างไร?

ส่วนต่างๆ ของยางนามีฤทธิ์ร้อน ไม่เหมาะในการใช้สำหรับสตรีตั้งครรภ์ เด็ก และผู้ที่มีไข้

ทั้งนี้ การใช้ประโยชน์ยางนาทางการรักษา ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง ไม่ควรซื้อหามาใช้เอง หากใช้แล้วมีอาการแพ้เช่น หายใจไม่ออก มีผื่นขึ้นตามลำตัว ให้หยุดและรีบพบแพทย์ทันที


6 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.), พืชอนุรักษ์ อพ.สธ. (http://www.rspg.or.th/dipterocarpusalatus/files/doc_4.pdf).
จิราพร ประทุมชัย, กองสื่อสารองค์กร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, ผลงานวิจัยครีมรองพื้นสารสกัดจากยางนาเภสัชฯ มข. แนะสาวไทยสวยด้วยธรรมชาติ (https://pharm.kku.ac.th/psthai/index.php/newsmanager/pharm_news/540),31 พ.ค. 2559.
ทนุวงศ์ แสงเทียน และอุทัยวนนณ แสงวณิช, วารสารวนศาสตร์ 13: 22-28, การเจริญเติบโตของกล้าไม้ยางนา (Dipterocarpus alatus Roxb.) ที่ได้รับการปกเชื้อราแอคโตไมคอร์ไรซา(http://frc.forest.ku.ac.th/frcdatabase/bulletin/fforjournal/v13n1_3.pdf), 2537.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)