โรคหลอดเลือดสมองโดยทั่วไปจะวินิจฉัยด้วยการตรวจร่างกายร่วมกับการดูภาพถ่ายที่ได้จากการตรวจสแกนสมอง
เมื่อคุณมาถึงโรงพยาบาลด้วยการสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองเป็นครั้งแรก แพทย์มักจะต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับอาการของคุณให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมองจะมีการตรวจหลายวิธีเพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคและช่วยประเมินสาเหตุของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
การตรวจอาจรวมถึงการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดและระดับน้ำตาลในเลือด, การตรวจชีพจรเพื่อดูว่ามีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวัดหรือไม่ และการตรวจวัดความดันโลหิต
การตรวจสแกนสมอง
แม้ว่าจะมีอาการของโรคหลอดเลือดสมองให้เห็นอย่างชัดเจน แต่ควรได้รับการตรวจสแกนสมองร่วมด้วยเพื่อประเมินสิ่งต่างๆ ดังนี้:
- เพื่อประเมินว่าโรคหลอดเลือดสมองที่เป็นนี้เกิดจากการอุดตันของเส้นเลือด (โรคหลอดเลือดสมองชนิดสมองขาดเลือด) หรือ เกิดจากเส้นเลือดในสมองแตก (โรคหลอดเลือดสมองชนิดเลือดออกในสมอง)
- เพื่อดูว่าบริเวณใดของสมองที่ได้รับผลกระทบ
- และเพื่อดูความรุนแรงของการเกิดโรค
โรคหลอดเลือดสมองต่างชนิดกันจะมีวิธีในการรักษาโรคที่แตกต่างกัน ดังนั้นยิ่งวินิจฉัยเร็วเพียงใดก็จะยิ่งทำให้รักษาได้ง่ายขึ้นเท่านั้น
ผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมองควรได้รับการตรวจสแกนสมองภายใน 24 ชั่วโมง และบางคนอาจจำเป็นต้องสแกนสมองภายในเวลา 1 ชั่วโมงหลังมีอาการ โดยเฉพาะผู้ที่เข้าเกณฑ์ดังนี้:
- ผู้ที่อาจได้รับประโยชน์จากการใช้ยาละลายลิ่มเลือด (thrombolysis) เช่น ยา alteplase หรือ ยาต้านการแข็งตัวของหลอดเลือด (anticoagulant)
- ผู้ที่กำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดอยู่ในขณะนี้
- ผู้ที่มีระดับความรู้สึกตัวอยู่ในระดับต่ำ
นี่คือเหตุผลว่าทำไมโรคหลอดเลือดสมองคือภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ และทำไมจึงต้องรีบโทรเรียกรถพยาบาลที่ 1669 ทันทีที่สงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง อย่ารอที่จะนัดหมายแพทย์ เพราะโรคนี้คือภาวะฉุกเฉินที่ต้องพบแพทย์ในทันที
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
วิธีการตรวจสแกนสมองเพื่อประเมินสมองของผู้ที่สงสัยเป็นโรคหลอดเลือดสมองมีอยู่ 2 วิธีด้วยกัน คือ ซีที สแกน/การสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (computerised tomography (CT) scan) และ การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (magnetic resonance imaging (MRI) scan) ซึ่งการเลือกวิธีการตรวจสแกนสมอง แพทย์จะพิจารณาจากอาการที่คุณเป็น
ซีทีสแกน (CT scans) หรือการสแกนด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
การตรวจซีทีสแกนจะคล้ายกับการตรวจเอกซเรย์ (X-ray) แต่จะเป็นการใช้รูปภาพหลายๆ ภาพเพื่อสร้างเป็นภาพสามมิติที่มีรายละเอียดของสมองเพื่อช่วยแพทย์ค้นหาปัญหาที่เกิดขึ้นภายในสมอง
ระหว่างการตรวจสแกนสมอง คุณอาจได้รับการฉีดสีชนิดพิเศษเข้าทางหลอดเลือดดำที่แขนเพื่อช่วยให้ภาพถ่ายซีทีสแกนเห็นได้ชัด และทำให้มองเห็นหลอดเลือดที่นำเลือดไปเลี้ยงสมองได้
หากคุณได้รับการสงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง การตรวจซีทีสแกนจะช่วยบอกได้ว่าคุณกำลังเป็นโรคหลอดเลือดสมองชนิดใด ระหว่างชนิดสมองขาดเลือด (ischaemic stroke) หรือ ชนิดมีเลือดออกในสมอง (haemorrhagic stroke) การตรวจด้วยเครื่องซีทีสแกนมักทำได้รวดเร็วกว่าการตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ซึ่งจะทำให้คุณได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมได้เร็วยิ่งขึ้น
การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ เอ็มอาร์ไอ (MRI scans)
การตรวจเอกซเรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ เอ็มอาร์ไอ เป็นการตรวจด้วยการใช้สนามแม่เหล็กและคลื่นวิทยุร่วมกันสร้างเป็นภาพที่มีรายละเอียดของสิ่งต่างๆ ภายในร่างกายผู้ได้รับการตรวจ
ในผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อน หรือยังไม่ทราบบริเวณของสมองที่ได้รับผลกระทบจากโรคหลอดเลือดสมอง และในผู้ป่วยที่พึ่งหายจากภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (transient ischaemic attack (TIA)) การตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอจะมีความเหมาะสมมากกว่า โดยการตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอนี้จะให้ภาพที่มีรายละเอียดมากขึ้น เห็นรายละเอียดของเนื้อเยื่อสมองมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เห็นรอยโรคที่บริเวณเล็กๆ ในสมอง หรือบริเวณที่ปกติแล้วจะไม่ค่อยเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
การตรวจด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ จะเหมือนกับการตรวจด้วยเครื่องซีที สแกน คือ ผู้ป่วยอาจได้รับการฉีดสีชนิดพิเศษเพื่อช่วยให้เห็นภาพถ่ายจากการสแกนได้ชัดเจนขึ้น
การทดสอบการกลืน (Swallow tests)
การทดสอบการกลืนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ที่มีโรคหลอดเลือดสมองเนื่องจากความสามารถในการกลืนมักได้รับผลกระทบตั้งแต่เริ่มเป็นโรคหลอดเลือดสมอง
เมื่อคนไม่สามารถกลืนอาหารได้อย่างถูกต้องเหมาะสม จะมีความเสี่ยงที่อาหารและเครื่องดื่มอาจเข้าไปในหลอดลมลงไปในปอด เราเรียกว่า การสำลัก (aspiration) ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อในปอด เช่น โรคปอดบวม (ปอดอักเสบ)
การทดสอบทำได้ง่าย ผู้ป่วยจะได้รับน้ำไม่กี่ช้อนชา หากพวกเขาสามารถกลืนได้โดยไม่สำลักและไอ ผู้ป่วยจะได้รับการทดสอบเพิ่มโดยการกลืนน้ำอีกครึ่งแล้ว
หากผู้ป่วยมีปัญหาในการกลืน ผู้ป่วยจะได้รับการส่งต่อไปประเมินกับนักบำบัดเรื่องการพูดและการใช้ภาษา เพื่อประเมินรายละเอียดเพิ่มเติม
ผู้ป่วยมักจะไม่ได้รับอนุญาตให้รับรับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่มจนกว่าจะได้รับการรักษาโรคอย่างเหมาะสม และผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องได้รับสารอาหารและของเหลวเข้าสู่ร่างกายโดยตรงทางหลอดเลือดดำ หรือได้รับผ่านทางสายยางให้อาหาร (ใส่เข้าทางจมูกลงสู่กระเพาะอาหาร)
การทดสอบหัวใจและหลอดเลือด (Heart and blood vessel tests)
การทดสอบหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มเติมในภายหลังอาจทำเพื่อยืนยันสาเหตุการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง บางส่วนของการทดสอบที่อาจทำได้อธิบายไว้ด้านล่างนี้
การตรวจหลอดเลือดใหญ่ที่คอ (Carotid ultrasound)
การตรวจหลอดเลือดใหญ่ที่คอ หรือการตรวจอัลตราซาวด์หลอดเลือดใหญ่ที่คอ จะช่วยให้ทราบว่ามีการตีบแคบหรืออุดตันของหลอดเลือดที่คอที่นำเลือดไปเลี้ยงสมองหรือไม่
การตรวจอัลตราซาวด์ แพทย์จะใช้อุปกรณ์หัวตรวจขนาดเล็กที่เรียกว่า probe ปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าสู่ร่างกาย เมื่อคลื่นเสียงสะท้อนกลับมา จะทำให้เกิดภาพของสิ่งที่อยู่ภายในร่างกายผู้ถูกตรวจ
หากจำเป็นต้องมีการตรวจหลอดเลือดใหญ่ที่คอ มักทำภายในเวลา 48 ชั่วโมง
การบันทึกภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiography)
ในผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการตรวจอัลตราซาวด์อีกชนิดที่เรียกว่า การบันทึกภาพหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ echocardiogram ซึ่งจะทำให้เห็นภาพของหัวใจและเพื่อตรวจเช็คปัญหาที่อาจสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดสมอง
โดยทั่วไปการตรวจนี้แพทย์จะใช้อุปกรณ์หัวตรวจที่เรียกว่า probe เคลื่อนที่ผ่านบริเวณหน้าอกของผู้ป่วย (transthoracic echocardiogram)
แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้การตรวจอีกเทคนิคที่เรียกว่า transoesophageal echocardiography ซึ่งเทคนิคนี้จะเป็นการใช้อุปกรณ์หัวตรวจที่เรียกว่า probe ใส่เข้าทางปากผ่านเข้าไปทางหลอดอาหาร โดยระหว่างการทำจะต้องใช้ยาระงับปวดหรือบางรายอาจต้องใช้ยาสลบ การตรวจนี้จะทำให้หัวตรวจ (probe) อยู่ด้านหลังของหัวใจโดยตรง ทำให้เห็นภาพของลิ่มเลือดและความผิดปกติอื่นที่ชัดเจน ซึ่งอาจมองไม่เห็นจากการตรวจด้วยเทคนิคแรก (transthoracic echocardiogram)
ที่มา : https://www.nhsinform.scot/illnesses-and-conditions/brain-nerves-and-spinal-cord/stroke#diagnosis