กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
พญ.รุจิรา เทียบเทียม
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
พญ.รุจิรา เทียบเทียม

แผ่นแปะคุมกำเนิด (Birth Control Patch)

รู้จักแผ่นแปะคุมกำเนิด การใช้งานอย่างถูกต้อง เหมาะกับใครและไม่เหมาะกับใคร
เผยแพร่ครั้งแรก 16 มี.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 15 ก.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
แผ่นแปะคุมกำเนิด (Birth Control Patch)

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • แผ่นแปะคุมกำเนิดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ 4.5 เซนติเมตร ผิวแผ่นแปะมีลักษณะเรียบ บาง เป็นสีเบจ หรือสีเนื้อ ใช้สำหรับแปะบริเวณผิวหนัง เพื่อให้ตัวยาในแผ่นแปะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์
  • กลไกการออกฤทธิ์จะมีลักษณะเหมือนกับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด หรือยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เพื่อออกฤทธิ์ป้องกันการตกไข่ และส่งผลให้มูกบริเวณปากมดลูกหนาตัวขึ้น ทำให้อสุจิเดินทางไปสู่ไข่ซึ่งอาจหลุดออกมายังมดลูกได้ลำบากมากขึ้น
  • แนะนำให้แปะตั้งแต่วันแรกของรอบเดือน หรือแปะในวันแรกหลังจากเริ่มมีรอบเดือน ทั้งนี้ต้องเปลี่ยนแผ่นแปะทุกๆ สัปดาห์เป็นเวลา 3 สัปดาห์ต่อรอบเดือน 1 ครั้ง ส่วนในสัปดาห์ที่ 4 จะไม่มีการแปะแผ่นคุมกำเนิด เพราะจะเป็นช่วงเวลาที่มีประจำเดือนพอดี
  • แผ่นแปะคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับยาเม็ดคุมกำเนิด นั่นคือ 9 คู่รักจาก 100 คู่รัก จะมีโอกาสตั้งครรภ์จากการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดในปีแรก เนื่องจากอาจแปะแผ่นแปะคุมกำเนิดไม่ตรงเวลา ลืมแปะ หรือการลอกแผ่นแปะคุมกำเนิดออกก่อนเวลา
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจก่อนแต่งงาน

หากคุณตัดสินใจที่จะมีเพศสัมพันธ์ อย่าลืมคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ และความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ด้วย (หากยังไม่พร้อม) 

นอกจากถุงยางอนามัย ยาคุมกำเนิดแล้ว แผ่นแปะคุมกำเนิดก็เป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำหรับช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า แผ่นแปะคุมกำเนิดมีวิธีใช้งานและมีกลไกการทำงานอย่างไร รวมทั้งมีผลข้างเคียงต่อร่างกายหรือไม่

แผ่นแปะคุมกำเนิดคืออะไร

แผ่นแปะคุมกำเนิดเป็นแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ 4.5 เซนติเมตร ผิวแผ่นแปะมีลักษณะเรียบ บาง เป็นสีเบจ หรือสีเนื้อ ใช้สำหรับแปะบริเวณผิวหนัง เพื่อให้ตัวยาในแผ่นแปะดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดและออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ 

กลไกการออกฤทธิ์จะมีลักษณะเหมือนกับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด หรือยาฉีดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม เพื่อควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย

แผ่นแปะคุมกำเนิดทำงานอย่างไร

แผ่นแปะคุมกำเนิดประกอบด้วยฮอร์โมน 2 ชนิด คือ 

ฮอร์โมนทั้ง 2 ชนิดนี้จะออกฤทธิ์ป้องกันการตกไข่ เนื่องจากหากไม่มีการตกไข่เกิดขึ้น การตั้งครรภ์ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เช่นกัน เนื่องจากอสุจิจะไม่สามารถปฏิสนธิกับไข่ได้ 

ฮอร์โมนที่แผ่นแปะจะส่งผลให้มูกบริเวณปากมดลูกหนาตัวขึ้น ทำให้อสุจิเดินทางไปสู่ไข่ซึ่งอาจหลุดออกมายังมดลูกได้ลำบากมากขึ้น 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

นอกจากนี้ฮอร์โมนที่แผ่นแปะยังส่งผลต่อเยื่อบุโพรงมดลูก ทำให้ไข่ที่ได้รับการปฏิสนธิไม่สามารถฝังตัวที่ผนังมดลูกได้

การออกฤทธิ์

แผ่นแปะคุมกำเนิดจะออกฤทธิ์เหมือนกับการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิด หรือห่วงคุมกำเนิด 

แนะนำให้แปะตั้งแต่วันแรกของรอบเดือน หรือแปะในวันแรกหลังจากเริ่มมีรอบเดือน ทั้งนี้ต้องเปลี่ยนแผ่นแปะทุกๆ สัปดาห์เป็นเวลา 3 สัปดาห์ต่อรอบเดือน 1 ครั้ง สามารถแปะแผ่นคุมกำเนิดได้ในบริเวณท้องน้อย ก้น ต้นแขนด้านนอก และลำตัวส่วนบน แต่ไม่ควรแปะบริเวณหน้าอก 

ส่วนในสัปดาห์ที่ 4 จะไม่มีการแปะแผ่นคุมกำเนิด เพราะจะเป็นช่วงเวลาที่มีประจำเดือนพอดี

วิธีการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด

การแปะแผ่นคุมกำเนิดในวันเดียวกันทุกๆ สัปดาห์นั้นสำคัญมาก เพื่อคงประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดไว้ เช่น หากเริ่มแปะแผ่นคุมกำเนิดในวันจันทร์ก็ควรต้องแปะแผ่นคุมกำเนิดทุกๆ วันจันทร์

เมื่อถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแผ่นคุมกำเนิด เพียงแค่ดึงแผ่นเดิมออกแล้วแปะแผ่นใหม่ โดยให้เปลี่ยนบริเวณแปะแผ่นคุมกำเนิดไปตามบริเวณของร่างกายที่แนะนำไปข้างต้น เพื่อลดอาการระคายเคืองและไม่ควรแปะบนผิวที่เป็นแผล หรือเป็นผื่นแพ้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ช่วง 7 วันแรกที่มีการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด แนะนำให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นๆ ร่วมด้วยเพื่อเพิ่มความมั่นใจว่า จะไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น

หากลืมแปะแผ่นคุมกำเนิดแผ่นใหม่ ต้องทำอย่างไร

หากคุณลืมแปะแผ่นใหม่เมื่อถึงเวลา หรือเมื่อแผ่นแปะหลุดออกมา ให้ศึกษารายละเอียดจากฉลากผลิตภัณฑ์ หรือปรึกษาแพทย์ โดยอาจต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นๆ ไปก่อน เช่น การใช้ถุงยางอนามัย หรือหยุดการมีเพศสัมพันธ์ไปก่อนสักระยะ เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ 

หากมีเหตุจำเป็นต้องหยุดใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด คุณจะต้องใช้วิธีการคุมกำเนิดอื่นๆ ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากลอกแผ่นแปะออกแล้ว

ข้อควรระวังในการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด

  • คุณสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติระหว่างที่ใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด ไม่ว่าจะเป็นการว่ายน้ำ หรือออกกำลังกาย แม้แผ่นแปะจะเปียกเมื่อโดนเหงื่อ หรือเมื่ออาบน้ำ แต่คุณไม่จำเป็นต้องลอกแผ่นแปะออก
  • คุณไม่ควรลอกแผ่นแปะคุมกำเนิดออกมาเพื่อเปลี่ยนตำแหน่งในการแปะเมื่อยังไม่ถึงเวลา เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของฮอร์โมนลดลง 
  • หากแผ่นแปะคุมกำเนิดหลุดลอกออกมา แนะนำให้เปลี่ยนแผ่นแปะอันใหม่ และหากยังหลุดลอกอยู่อีก ลองเปลี่ยนขนาดแผ่นแปะคุมกำเนิดให้มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือใช้เทปกาวแปะทับอีกที และต้องปรึกษาแพทย์ทันทีหากแผ่นแปะคุมกำเนิดหลุดร่วงหายไป
  • ไม่ควรใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดกับบริเวณผิวที่มีเครื่องสำอาง โลชั่น แป้ง หรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่างๆ เพราะจะทำให้แผ่นแปะคุมกำเนิดหลุดร่วงได้ง่าย นอกจากนี้สารเคมีจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของฮอร์โมนได้ด้วย
  • เมื่อดึงแผ่นแปะคุมกำเนิดออกมาหลังจากครบกำหนดแล้ว ให้พับด้านกาวเข้าหากันก่อนทิ้ง จะเป็นการป้องกันไม่ให้สารเคมีแพร่กระจายสู่ชิ้นส่วนขยะอื่นๆ ที่อาจถูกฝังลงสู่ดินเพื่อการทำลายต่อไป 
  • ห้ามทิ้งแผ่นแปะคุมกำเนิดที่ใช้แล้วลงในโถส้วมเป็นอันขาด

แผ่นแปะคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดเพียงใด

แผ่นแปะคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพเช่นเดียวกับยาเม็ดคุมกำเนิด นั่นคือ 9 คู่รักจาก 100 คู่รัก จะมีโอกาสตั้งครรภ์จากการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดในปีแรก 

สาเหตุของการตั้งครรภ์นั้น มักเกิดจากวิธีการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดที่ไม่ตรงเวลา ลืมแปะ หรือการลอกแผ่นแปะคุมกำเนิดออกก่อนเวลา ทำให้ลดประสิทธิภาพของฮอร์โมนและเพิ่มโอกาสให้ตั้งครรภ์ได้

สำหรับผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวเกินกว่า 90 กิโลกรัม การทำงานของแผ่นแปะคุมกำเนิดอาจมีประสิทธิภาพลดลง 

โดยทั่วไปแล้ว ประสิทธิภาพของการคุมกำเนิดแต่ละชนิดนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ปัญหาทางสุขภาพอื่นๆ การใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดให้ตรงเวลาเสมอ ความสะดวกในการใช้วิธีการคุมกำเนิด 

แผ่นแปะคุมกำเนิดป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่

แผ่นแปะคุมกำเนิดไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ดังนั้นทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์กับคนใหม่ๆ คุณจึงจำเป็นต้องใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย เพื่อป้องกันโรคติดต่อที่อาจมากับการมีเพศสัมพันธ์ 

อย่างไรก็ตาม วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันการตั้งครรภ์ และการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์คือ การงดมีเพศสัมพันธ์ (abstinence)

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

การใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดถือเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่มีความปลอดภัย เนื่องจากผู้ใช้ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีผลข้างเคียงจากการใช้ แต่การสูบบุหรี่เมื่อมีการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดอยู่ อาจส่งผลให้มีผลข้างเคียงได้ 

ดังนั้นแพทย์จึงไม่แนะนำให้ผู้สูบบุหรี่ใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด 

ผลข้างเคียงจากการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด จะมีอาการคล้ายกับการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ดังนี้

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือมีเลือดออกกะปริดกะปรอย แม้ไม่ได้เป็นช่วงรอบเดือน
  • คลื่นไส้ ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ และปวดคัดเต้านม
  • อารมณ์แปรปรวน
  • เกิดภาวะเลือดจับตัวเป็นลิ่ม ซึ่งเกิดขึ้นน้อยมากในผู้หญิงอายุต่ำกว่า 35 ปีที่ไม่สูบบุหรี่ และผลข้างเคียงนี้อาจเกิดขึ้นกับการใช้แผ่นแปะมากกว่าการรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด

ผลข้างเคียงอื่นๆ ที่เกิดจากการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด

  • แผ่นแปะคุมกำเนิดอาจทำให้ผิวที่ถูกแปะเกิดอาการระคายเคือง
  • มีปัญหาเมื่อใช้คอนแทคเลนส์ เช่น ระยะการมองเห็นของสายตาเปลี่ยน หรืออาจไม่สามารถใส่คอนแทคเลนส์ได้ตามปกติ
  • มีอาการปวดประจำเดือน

อาการที่กล่าวมาจะเกิดขึ้นไม่รุนแรงและจะหายไป 2-3 เดือนหลังจากเริ่มใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด

แผ่นแปะคุมกำเนิดเหมาะกับใคร

การใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดเป็นทางเลือกที่ดีวิธีหนึ่งสำหรับ

  • ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า 90 กิโลกรัม
  • ผู้ที่มักลืมรับประทานยาคุมกำเนิด
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกลืนยา

แต่ใช่ว่าผู้หญิงทุกคนจะสามารถใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดได้ สำหรับผู้ที่มีการรับประทานยารักษาโรค หรือปัญหาทางสุขภาพต่างๆ ก็อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพของฮอร์โมนคุมกำเนิดและอาจเป็นอันตรายได้ 

กรณีลืมแผ่นแปะคุมกำเนิด จะทำอย่างไร

  • กรณีลืมเปลี่ยนแผ่นแปะในสัปดาห์แรกของรอบเดือน ให้แปะยาแผ่นใหม่ทันที่ที่นึกขึ้นได้ วันเปลี่ยนแผ่นยาจะเปลี่ยนใหม่จะเป็นวันใหม่นี้แทน และต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นด้วย เช่น สวมถุงยางอนามัยใน 7 วันแรก
  • กรณีลืมเปลี่ยนแผ่นแปะในสัปดาห์ที่ 2 หรือ 3 ของรอบเดือน
  • หากลืมน้อยกว่า 48 ชั่วโมง ควรปฏิบัติดังนี้ แปะแผ่นยาใหม่ทันทีที่นึกได้ และวันเปลี่ยนแผ่นยาคงเป็นวันเดิม ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย
  • หากลืมมากกว่า 48 ชั่วโมง ควรปฏิบัติดังนี้ แปะยาแผ่นใหม่ทันทีที่นึกขึ้นได้ ให้นับยาแผ่นใหม่ที่แปะนี้เป็นยาแผ่นแรกของรอบการใช้ยาแผ่นใหม่ทันที และต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น สวมถุงยางอนามัยใน 7 วันแรก

กรณีแผ่นแปะหลุดลอกจะทำอย่างไร

  • กรณีแผ่นแปะหลุดน้อยกว่า 1 วัน แปะยาแผ่นใหม่ทันที แล้วเปลี่ยนแผ่นยาใหม่ในวันเปลี่ยนแผ่นยาตามกำหนด
  • กรณีแผ่นแปะหลุดนานเกิน 1 วัน ผู้ใช้ควรหยุดรอบการนับการใช้แผ่นยาเดิม และให้เริ่มต้นการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดรอบใหม่ทีนที และนับวันนี้เป็นวันแรกของการใช้รอบใหม่ และต้องคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น สวมถุงยางอนามัยใน 7 วันแรก

แพทย์จะไม่แนะนำวิธีคุมกำเนิดนี้กับผู้ป่วยที่มีอาการ หรือโรคต่อไปนี้

ส่วนผู้หญิงที่มีเลือดออกทางช่องคลอดในช่วงที่ไม่มีประจำเดือน หรือสงสัยว่า กำลังตั้งครรภ์ จำเป็นต้องหยุดใช้แผ่นแปะ หรือใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นใดไปก่อนและรีบไปพบแพทย์ทันที

ผู้ที่สนใจและต้องการทราบรายละเอียดการคุมกำเนิดรวมถึงผลข้างเคียงของวิธีคุมกำเนิดรูปแบบต่างๆ และการใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด สามารถปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง หรือสูตินรีแพทย์ เพื่อรับคำแนะนำที่ถูกต้องเหมาะสมได้

การพบแพทย์ก่อนใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด

การใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำโดยแพทย์ ซึ่งแพทย์จะซักประวัติทางสุขภาพของคุณ คนในครอบครัว และอาจตรวจร่างกายของคุณก่อน เช่น การตรวจวัดความดันโลหิต การตรวจภายใน

หากแพทย์ยืนยันว่า คุณสามารถใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดได้ แพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการใช้งานต่อไป

ผู้หญิงที่เริ่มใช้แผ่นแปะคุมกำเนิด จะต้องพบแพทย์เพื่อตรวจวัดความดันโลหิตอีกครั้งหลังจากการใช้ไปแล้วประมาณ 1-2 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่า การใช้แผ่นแปะไม่ได้มีปัญหาใดๆ 

หลังจากนั้นแพทย์จะนัดตรวจสุขภาพ 1-2 ครั้งต่อปี หรือเมื่อจำเป็น เพื่อดูว่า การใช้แผ่นแปะคุมกำเนิดเป็นไปอย่างปกติดีหรือไม่

ราคาของแผ่นแปะคุมกำเนิด และจะหาซื้อได้จากที่ใด

แผ่นแปะคุมกำเนิดมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 400-600 บาทต่อเดือน สามารถซื้อได้ตามร้านขายยาขนาดใหญ่ ยี่ห้อที่หาซื้อได้คือ ORTHO EVRA®

ไม่ว่าจะตัดสินใจคุมกำเนิดด้วยวิธีใดนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ การศึกษาวิธีคุมกำเนิดนั้นๆ อย่างละเอียด เงื่อนไขการใช้งาน ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด ข้อเสีย รวมถึงราคา เพื่อเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมนั่นเอง 

ที่สำคัญวิธีคุมกำเนิดแทบทุกวิธี (ยกเว้นการใช้ถุงยางอนามัย) สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้เท่านั้น แต่ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ 

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจก่อนแต่งงาน จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


10 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
WebMD, Birth Control Patch: Side Effects, Effectiveness, Pros and Cons (https://www.webmd.com/sex/birth-control/birth-control-transdermal-patches#1), 21 November 2019.
U.S. Department of Health and Human Services, Birth control methods fact sheet (http://www.womenshealth.gov/publications/our-publications/fact-sheet/birth-control-methods.html), 22 November 2019.
Taneepanichskul S. Norelgestromin/Ethinyl Estradiol Transdermal System. J Med Assoc Thai 2005; 88 (Suppl.2) : S82-4.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป