น้อยโหน่ง เป็นไม้ผลรับประทานได้ชนิดหนึ่งที่คนรู้จักกันน้อยมาก เพราะไม่นิยมปลูกเหมือนกับน้อยหน่า ทั้งที่มีรสชาติคล้ายกัน และมีสรรพคุณทางยาไม่แตกต่างกันมากนัก เพียงแต่น้อยโหน่งมีกลิ่นหอมน้อยกว่า จึงไม่นิยมนำมารับประทาน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Annona reticulata L.
ชื่อวงศ์ ANNONACEAE
ชื่ออังกฤษ Bullock’s heart, Corazon, Custard apple, Sugar apple
ชื่อท้องถิ่น น้อยหนัง มะดาก มะเนียงแฮ้ง มะโหน่ง เร็งนา หนอนลาว หมากอ้อ
หมายเหตุ : น้อยโหน่งที่กล่าวถึงในบทความนี้เป็นพรรณไม้คนละชนิดกันกับน้อยหน่า ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Annona squamosa L. แต่จัดอยู่ในวงศ์ ANNONACEAE เช่นกัน
ถิ่นกำเนิดของน้อยโหน่ง
ถิ่นกำเนิดของน้อยโหน่งมาจากอเมริกากลาง เชื่อกันว่าในสมัยอยุธยาได้มีการนำเข้ามาในประเทศไทย ปัจจุบันสามารถพบได้ทั่วไปทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไต้หวัน อินเดีย ออสเตรเลีย และแอฟริกาตะวันตก ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของน้อยโหน่ง
น้อยโหน่งเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 6-7 เมตร เปลือกแก่สีเทา เปลือกอ่อนสีน้ำตาลกระขาว ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปขอบขนานหรือรูปขอบขนานแกมรูปหอก ขอบใบเรียบ ดอกเดี่ยวหรือดอกเป็นกระจุก 2-3 ดอก กลีบดอกสีเหลืองอมเขียว มีกลีบรองกลีบดอกเล็กๆ 3 กลีบ กลีบดอก 6 กลีบ เรียงเป็น 2 ชั้น มีเกสรตัวผู้และรังไข่จำนวนมาก ผลเป็นผลกลุ่มเชื่อมรวมเป็นผลเดี่ยว รูปผลกลมหรือรูปหัวใจ ผิวเปลือกเหนียว บางเรียบ ไม่โปนออกมาตามเปลือกเหมือนน้อยหน่า เมื่อผลยังดิบอยู่เปลือกจะสีเขียวอ่อนปนแดงเรื่อๆ แต่เมื่อสุกจะเป็นสีแดงอมน้ำตาลเข้ม เนื้อข้างในผลมีสีขาวและหนารูปร่างค่อนข้างกลมหรือคล้ายรูปหัวใจ ภายในผลมีเมล็ดอยู่เป็นจำนวนมาก มีสีน้ำตาลแก่ เปลือกแข็ง
น้อยโหน่งต่างจากน้อยหน่าอย่างไร?
ผลน้อยโหน่งจะมีรูปร่างคล้ายผลน้อยหน่ามาก แต่มีขนาดใหญ่กว่า ลักษณะผิวจะบางและเรียบกว่า ส่วนเนื้อในมีรสหวานคล้ายๆ น้อยหน่า แต่มีกลิ่นเหม็นกว่า และมีสรรพคุณทางยาน้อยกว่าน้อยหน่า
สรรพคุณของน้อยโหน่ง
น้อยโหน่งมีสรรพคุณทางยาดังนี้
- แพทย์ชนบทใช้ใบน้อยโหน่งตำพอกแก้แผลฟกบวม ฆ่าพยาธิที่ผิวหนัง แก้กลาก เกลื้อน
- กรณีที่เป็นเหา ให้นำใบน้อยโหน่งมาขยี้ที่หนังศีรษะแทนแชมพู ทิ้งไว้ 10-15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด
- กรณีมีพยาธิภายในลำไส้ ให้นำส่วนใบสดๆ รับประทานเป็นยาขับพยาธิ
- เปลือกรากและเปลือกต้น มีรสฝาด ช่วยสมานแผล หากมีแผลในปาก ให้นำส่วนเปลือกต้นล้างให้สะอาดแล้วเคี้ยวสดๆ หรือนำส่วนเปลือกมาต้มในน้ำเดือด แล้วอมน้ำต้มนี้แทนน้ำยาบ้วนปาก จะช่วยให้แผลภายในช่องปากสมานเร็วขึ้น และบรรเทาอาการเหงือกบวม
- เปลือกผลอ่อนของน้อยโหน่งนำมาตากแห้ง แล้วเอามาฝนกับสุรา พอกแก้พิษงู รักษาแผลเปื่อย แผลผุพอง
- ส่วนรากเป็นยาระบายอ่อนๆ ให้นำส่วนรากมาต้มในน้ำเดือด ต้มเคี่ยวจนน้ำงวดลดลงเหลือ 1 ใน 3 จากปริมาณน้ำทั้งหมด ดื่มน้ำรากน้อยโหน่งก่อนนอน หรือก่อนอาหารเช้า 1 แก้ว
- ผลดิบมีรสฝาด รับประทานแบบสดๆ แก้ท้องเสีย แก้ท้องร่วง แก้บิด ขับพยาธิ แต่ไม่ได้ช่วยลดอาการจุกเสียด แน่นท้อง
- ส่วนเมล็ด นำมาตำให้แหลกผสมกับน้ำมันมะพร้าว ทาบริเวณผิวหนังแก้หิด แก้เหา
ข้อห้ามและข้อควรระวังของการรับประทานน้อยโหน่ง
การรับประทานน้อยโหน่งเป็นผลไม้หรือหวังผลด้านสรรพคุณทางยา มีข้อควรระวังดังนี้
- สตรีมีครรภ์ห้ามรับประทาน เพราะในน้อยโหน่งมีสารชนิดหนึ่งที่กระตุ้นการบีบตัวของมดลูก อาจทำให้แท้งหรือคลอดก่อนกำหนด
- สตรีที่เพิ่งคลอดบุตร ก็ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานน้อยโหน่ง เพราะอาจเสี่ยงต่อการตกเลือดหลังคลอดบุตร
- เมล็ดน้อยโหน่งสามารถใช้ประโยชน์ได้เฉพาะภายนอกร่างกายเท่านั้น ห้ามนำมารับประทาน เพราะมีสารพิษที่ออกฤทธิ์เป็นยาเบื่อสัตว์ได้