โรคมะเร็งเต้านม (Breast Cancer) เป็นหนึ่งในโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้หญิงเป็นจำนวนมาก จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติใน พ.ศ.2554 ระบุว่า มะเร็งเต้านมถือเป็นสาเหตุการป่วย และเสียชีวิตของผู้หญิงไทยมากเป็นอันดับ 1
ช่วงอายุที่พบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสูงสุดคือ ผู้หญิงอายุ 50-55 ปี แต่ในระยะหลังพบว่า ช่วงอายุของผู้ป่วยเริ่มลดลงเรื่อยๆ โดยผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปก็มีโอกาสป่วยเป็นมะเร็งเต้านมได้แล้ว และบางครั้งความรุนแรงของโรคยังมากกว่าผู้ป่วยสูงอายุด้วย
ตรวจมะเร็งสำหรับผู้หญิงวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 495 บาท ลดสูงสุด 79%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมสม่ำเสมอ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม และควรทำ เพราะหากตรวจพบมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มต้น จะทำให้สามารถวางแผนการรักษาเพื่อป้องกันไม่ให้มะเร็งแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ และมีโอกาสรักษาให้หายขาดได้
วิธีการตรวจมะเร็งเต้านม ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลักๆ คือ ตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง และตรวจมะเร็งเต้านมโดยแพทย์
ตรวจมะเร็งเต้านม ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ด้วยตัวเอง
การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง (Breast Self-Examination: BSE) เป็นหนึ่งในวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ทำได้ง่ายที่สุด โดยผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปควรทำเดือนละ 1 ครั้ง
ทั้งนี้การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง สามารถทำได้เองที่บ้าน โดยมี 3 ท่าง่ายๆ ดังนี้
ท่าที่ 1 ท่ายืนหน้ากระจก
ท่านี้ใช้การสังเกตด้วยสายตาว่า เต้านม หรือหัวนมมีความผิดปกติหรือไม่ โดยควรสังเกต และเปรียบเทียบขนาด รูปร่าง การบิดเบี้ยวของเต้านม และหัวนม มีทั้งหมด 4 ท่า ได้แก่
- ปล่อยแขนไว้ข้างลำตัวตามสบาย แล้วสังเกตความผิดปกติ
- ประสานมือเหนือศีรษะ แล้วสังเกตความผิดปกติ
- เท้าเอวทั้งสองข้าง แล้วสังเกตความผิดปกติ
- โน้มตัวไปข้างหน้าโดยวางมือทั้งสองข้างบนเข่า หรือเก้าอี้ แล้วสังเกตความผิดปกติ
ท่าที่ 2 ท่านอนราบ
ท่านี้ใช้การสัมผัสเต้านมด้วยการคลำ เพื่อตรวจว่า เต้านม หรือหัวนมมีความผิดปกติหรือไม่ โดยมีขั้นตอนดังนี้
ตรวจมะเร็งสำหรับผู้หญิงวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 495 บาท ลดสูงสุด 79%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
- นอนราบในท่าที่สบาย จากนั้นยกแขนข้างที่จะตรวจขึ้นเหนือศีรษะเพื่อให้เต้านมแผ่ราบ
- ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางของมืออีกข้างคลำให้ทั่วเต้านมและรักแร้ โดยคลำเป็นวงกลม เริ่มจากบริเวณหัวนมไล่ออกไปเรื่อยๆ จนทั่ว และควรคลำไล่ไปถึงรักแร้ และเหนือไหปลาร้าด้วย ขณะคลำจะมีความรู้สึกว่า เต้านมนุ่ม หยุ่นๆ ผิวหนังเรียบเสมอไม่ขรุขระ และต้องไม่มีก้อนเป็นไตแข็งผิดปกติ
- ลองบีบหัวนมดูว่า มีเลือด หรือน้ำเหลืองไหลออกมาหรือไม่
- เมื่อตรวจเสร็จข้างหนึ่งแล้ว ให้ย้ายมาตรวจอีกข้างหนึ่งด้วยวิธีเดียวกัน
ท่าที่ 3 ขณะอาบน้ำ
การตรวจมะเร็งเต้านมขณะอาบน้ำคล้ายคลึงกับการตรวจในท่านอนราบ แต่มีรายละเอียดต่างกันเล็กน้อย ดังนี้
- ผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดเล็ก และขนาดกลาง ให้ยกแขนข้างที่ต้องการตรวจไว้เหนือศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งคลำแบบเดียวกับท่านอนราบ
- ผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดใหญ่ ให้ใช้มือข้างที่ต้องการตรวจประคอง และตรวจคลำเต้านมจากด้านล่าง ส่วนมืออีกข้างหนึ่งตรวจคลำจากด้านบน
ความผิดปกติเบื้องต้นที่อาจบ่งชี้ว่าเป็นมะเร็งเต้านม มีดังนี้
- คลำพบก้อนที่เต้านม โดยก้อนนั้นอาจกลิ้งได้ ยึดติดกับที่ หรือยึดดึงรั้งผิวหนังก็ได้
- เต้านมมีขนาด หรือรูปร่างที่เปลี่ยนแปลงไป
- ผิวหนังบริเวณเต้านมมีการเปลี่ยนแปลง เช่น รอยบุ๋ม ย่น หดตัว หรือหนาผิดปกติ
- หัวนมหดตัว คัน หรือมีผื่นแดงผิดปกติ
- มีเลือด หรือของเหลวไหลออกจากหัวนม
หากตรวจพบความผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กล่าวมา ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยแพทย์
การตรวจมะเร็งเต้านม ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมโดยแพทย์นั้นมีหลายวิธี แต่ละวิธีก็มีรายละเอียดการตรวจที่แตกต่างกันออกไป
วิธีหลักที่นิยมตรวจกันอย่างแพร่หลายมี 3 วิธี ได้แก่
- การตรวจมะเร็งเต้านมโดยแพทย์ (Clinical Breast Examination : CBE)
- การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรม (Mammogram)
- การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยวิธีอัลตราซาวด์ (Ultrasound)
ทั้ง 3 วิธีอาจทำควบคู่กับเพื่อความแม่นยำสูงสุด โดยมีรายละเอียดดังนี้
ตรวจมะเร็งสำหรับผู้หญิงวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 495 บาท ลดสูงสุด 79%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
การตรวจมะเร็งเต้านมโดยแพทย์
การตรวจมะเร็งเต้านมโดยแพทย์ (Clinical Breast Examination: CBE) คือ การตรวจเต้านมด้วยวิธีการคลำและสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ซึ่งกระทำโดยแพทย์ที่มีทักษะชำนาญสูง โดยผลการตรวจที่ได้จะนำไปตรวจหา และวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมต่อไป
การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งไม่ได้มีแค่สำหรับโรคมะเร็งเต้านมเท่านั้น แต่คุณยังสามารถเข้ารับการตรวจโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ กับทางโรงพยาบาลได้ และยังจะช่วยยืนยันให้คุณแน่ใจด้วยว่า ร่างกายของตนเองมีเซลล์มะเร็งกำลังเติบโตขึ้นที่อวัยวะส่วนใดจริงหรือไม่
ผู้ที่ควรตรวจโรคมะเร็งเต้านมโดยแพทย์
การตรวจเต้านมโดยแพทย์เหมาะกับผู้หญิงที่มีอายุ 35-40 ปีขึ้นไป รวมไปถึงผู้หญิงที่เคยมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านมมาก่อน โดยควรตรวจเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
ขั้นตอนการตรวจมะเร็งเต้านมโดยแพทย์
- ซักประวัติ โดยจะสอบถามเกี่ยวกับประวัติความเสี่ยงต่างๆ เช่น อายุ ความเสี่ยงในการสัมผัสกับสารเคมี หรือรังสีต่างๆ การรับประทานยา หรือฮอร์โมน ความผิดปกติของเต้านมที่สังเกตพบได้เองในเบื้องต้น
- ตรวจดูความผิดปกติภายนอก แพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจนั่งบนเก้าอี้ เปิดเต้านมทั้ง 2 ข้าง พร้อมให้ทำท่าทางต่างๆ เช่น ปล่อยแขนข้างลำตัว ชูมือเหนือศีรษะ ขณะทำท่าทางต่างๆ แพทย์จะสังเกตสีผิว ลักษณะของผิวหนัง ขนาด รูปร่าง รอยบุ๋ม รอยนูนของเต้านมและหัวนม
- ตรวจคลำต่อมน้ำเหลือง การคลำต่อมน้ำเหลืองแพทย์จะคลำ 2 จุด คือ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ และต่อมน้ำเหลืองบริเวณเหนือกระดูกไหปลาร้า
- ตรวจคลำบริเวณเต้านม แพทย์จะให้ผู้เข้ารับการตรวจนอนลงและจัดท่าทางต่างๆ ให้เหมาะสมสำหรับการตรวจ จากนั้นจะเริ่มคลำเต้านมเพื่อตรวจหาความผิดปกติ
ทั้งนี้การตรวจเต้านมโดยแพทย์นั้นเป็นเพียงการตรวจคัดกรองขั้นพื้นฐาน ในกรณีที่เกิดความผิดปกติในระยะเริ่มต้น หรือก้อนเนื้อมีขนาดเล็กมาก ก็อาจไม่สามารถระบุความผิดปกติได้
ดังนั้นหากต้องการผลที่แม่นยำมากขึ้นควรตรวจคัดกรองด้วยวิธีอื่นๆ ร่วมด้วย
การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรม
การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรม (Mammogram) เป็นการตรวจทางรังสีชนิดพิเศษคล้ายการตรวจเอกซเรย์ โดยใช้เครื่องมือเฉพาะกดเต้านมให้แบนราบมากที่สุดและถ่ายภาพเต้านมข้างละ 2 ท่า
วิธีนี้มีประสิทธิภาพในการตรวจมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยสามารถตรวจพบสิ่งผิดปกติที่มีขนาดเล็กมากๆ เกินกว่าที่จะคลำได้ ทั้งยังเป็นวิธีที่ปลอดภัยเพราะใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป แต่มีความสามารถในการตรวจที่ละเอียดกว่ามาก
การตรวจเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรมนับว่า เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ได้มาตรฐานและได้รับการยอมรับในระดับสากลว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดในปัจจุบัน
ผู้ที่ควรตรวจมะเร็งเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรม
โดยทั่วไปการตรวจเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรมนั้นเหมาะกับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ซึ่งควรตรวจเป็นประจำทุกปี แต่ในผู้ที่มีความเสี่ยงดังต่อไปนี้ อาจมีรายละเอียดการตรวจที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้
- ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวสายตรง ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมก่อนวัยหมดประจำเดือน ควรเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุ 30 ปี และตรวจเป็นประจำทุกปี
- ผู้ที่มีประวัติยีนผิดปกติ (Gene mutation) ได้แก่ ยีน BRCA1 และ BRCA2 หรือมีญาติสายตรงที่ตรวจพบยีนผิดปกติ ให้เริ่มตรวจมะเร็งเต้านมตั้งแต่อายุ 25 ปี และตรวจเป็นประจำทุกปี
- ผู้ที่มีประวัติฉายแสงบริเวณทรวงอก ขณะอายุ 10-30 ปี ให้เริ่มตรวจเป็นประจำทุกปี หลังจากได้รับการฉายแสงเสร็จสิ้น โดยตรวจเป็นประจำทุกปีต่อเนื่องอย่างน้อย 8 ปี
- ผู้ที่คลำพบก้อนเนื้อ มีเลือดออกที่หัวนม หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ที่เต้านม
- ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคเนื้องอกในเต้านม เพื่อติดตามผลการรักษา
ขั้นตอนการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรม
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรมมีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก ใช้เวลาประมาณ 30 นาทีเท่านั้น ก่อนการตรวจสามารถรับประทานอาหาร และดื่มน้ำได้ตามปกติ
แต่ห้ามทาโลชั่น แป้งฝุ่น บริเวณเต้านมและรักแร้ รวมถึงห้ามฉีดสเปรย์ระงับกลิ่นตัว เพราะสารเคมีเหล่านั้นอาจรบกวนการตรวจได้
ขั้นตอนการตรวจมีดังนี้
- ผู้เข้ารับการตรวจต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าที่โรงพยาบาลเตรียมไว้ โดยถอดเครื่องประดับทุกชิ้นออกให้หมด
- เจ้าหน้าที่จะให้ผู้เข้ารับการตรวจยืน หรือนั่งหันหน้าเข้าเครื่องตรวจ พร้อมจัดท่าทาง ลำตัว แขนให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้บดบังเต้านม
- เครื่องจะค่อยๆ บีบเต้านมทีละข้าง ซึ่งจำเป็นต้องมีการบีบเต้านมให้แนบกับเครื่องมากที่สุด เพื่อให้รังสีสามารถผ่านไปได้อย่างทั่วถึง ใช้เวลาการบีบไม่นานนัก ประมาณ 5 วินาที โดยจะบีบ 2 ลักษณะ คือ จากด้านบนลงล่าง และด้านข้างเข้าหากัน
- จากนั้นจะถ่ายภาพเต้านมที่ละข้าง ข้างละ 2 รูป โดยถ่ายจากด้านบนและด้านข้าง รวมเป็น 4 ภาพมาตรฐาน แต่แพทย์ หรือเจ้าหน้าที่อาจมีการแจ้งให้ถ่ายภาพบางมุมเพิ่มเติม กรณีที่เห็นเนื้อเยื่อส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ชัดเจน หรือสงสัยว่า ส่วนนั้นอาจมีความผิดปกติ
ขณะถ่ายภาพผู้เข้ารับการตรวจควรยืนนิ่งๆ ขยับตัวให้น้อยที่สุด เพราะการขยับตัวอาจทำให้การถ่ายภาพไม่ชัดเจน
ทั้งนี้ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดในการตรวจเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรม คือ 7-14 วัน หลังหมดประจำเดือน เพราะเป็นช่วงที่ฮอร์โมนในร่างกายเริ่มลดลง ทำให้เต้านมไม่คัดตึง ทำให้เวลาตรวจแมมโมแกรมจะเจ็บน้อยกว่า
สำหรับผู้ที่เคยผ่านการผ่าตัดเสริมเต้านม ควรแจ้งแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่เทคนิคทุกครั้ง เพื่อรับการตรวจที่เหมาะสม
แต่แม้ว่า วิธีนี้จะเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดแต่ก็มีข้อจำกัดคือ ในผู้ที่อายุน้อย หรือชาวเอเชียซึ่งมีเนื้อเต้านมค่อนข้างแน่น การแปลผลแมมโมแกรมจะค่อนข้างยากจึงอาจต้องใช้วิธีการอัลตราซาวด์ร่วมด้วย
การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยวิธีอัลตราซาวด์
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีอัลตราซาวด์ (Ultrasound) เป็นการตรวจด้วยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงเข้าไปในเนื้อเต้านม เมื่อคลื่นเสียงกระทบกับเนื้อเยื่อต่างๆ จะสะท้อนกลับขึ้นมาที่เครื่อง ช่วยให้สามารถตรวจจับความแตกต่างของเนื้อเยื่อปกติกับก้อนในเต้านมได้
หากพบว่า มีก้อนในเต้านม ก็สามารถระบุได้ว่า เป็นน้ำ หรือเป็นก้อนเนื้อ ซึ่งหากเป็นก้อนเนื้อ ก็ยังระบุได้อีกว่ าก้อนเนื้อนั้นมีเปอร์เซ็นต์เป็นก้อนเนื้อร้ายมากน้อยเพียงใด
ทั้งนี้การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีอัลตราซาวด์มักทำร่วมกับการตรวจผ่านวิธีทำแมมโมแกรมจะช่วยเพิ่มความแม่นยำ และการวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้น
ผู้ที่ควรตรวจมะเร็งเต้านมด้วยวิธีอัลตราซาวด์
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีอัลตราซาวด์ ควรตรวจเป็นประจำทุกปี โดยเหมาะกับกลุ่มคนดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปี ซึ่งมีเนื้อเต้านมค่อนข้างแน่น
- หญิงตั้งครรภ์ที่ต้องการหลีกเลี่ยงการได้รับรังสี
- ผู้ที่ตรวจพบความผิดปกติ หรือก้อนที่เต้านมด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การคลำ การทำแมมโมแกรม และต้องการการวินิจฉัยเพิ่มเติม เพื่อยืนยันว่า ก้อนที่พบเป็นถุงน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ
ขั้นตอนการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยวิธีอัลตราซาวด์
การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยวิธีอัลตราซาวด์นั้นใช้เวลาไม่นาน เพียงประมาณ 30 นาที ผู้เข้ารับการตรวจไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหาร แต่ห้ามทาโลชัน แป้งฝุ่น บริเวณเต้านมและรักแร้ รวมถึงห้ามฉีดสเปรย์ระงับกลิ่นตัว เพราะสารเคมีเหล่านั้นอาจรบกวนการตรวจได้
ขั้นตอนการตรวจมีดังนี้
- ผู้เข้ารับการตรวจต้องเปลี่ยนเสื้อผ้าที่โรงพยาบาลเตรียมไว้
- แพทย์จะทาเจลหล่อลื่นลงบนผิวหนังบริเวณเต้านม เพื่อให้หัวตรวจเคลื่อนตัวได้อย่างลื่นไหล ซึ่งเจลยังช่วยให้หัวตรวจสัมผัสกับผิวหนังอย่างต่อเนื่อง
- จากนั้นจะใช้หัวตรวจวางแนบลงบนเต้านม และเคลื่อนหัวตรวจไปเรื่อยๆ เพื่อตรวจดูความผิดปกติ
ทั้งนี้หากตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมทั้ง 3 รูปแบบแล้วพบชิ้นเนื้อ หรือพบความผิดปกติใดๆ แพทย์จะแนะนำให้รับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำสูงสุด ด้วยวิธีการ ตรวจเจาะชิ้นเนื้อ ซึ่งทำได้ 2 รูปแบบคือ
- การใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อ
- การผ่าตัดเก็บชิ้นเนื้อ
ทั้งนี้การเลือกวิธีการเจาะชิ้นเนื้อนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ ซึ่งกระบวนการเจาะชิ้นเนื้ออาจต้องอาศัยการอัลตราซาวด์ หรือเครื่องแมมโมแกรมร่วมด้วย เพื่อกำหนดตำแหน่งที่ต้องเจาะชิ้นเนื้อได้แม่นยำขึ้น
ค่าใช้จ่ายในการตรวจมะเร็งเต้านม ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
ค่าใช้จ่ายในการตรวจมะเร็งเต้านมโดยแพทย์นั้นเริ่มต้นที่ 500 บาทขึ้นไป ขณะที่การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยวิธีแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ เริ่มต้นที่ 1,500 บาท
สถานพยาบาลบางแห่งอาจมีการจัดโปรแกรมการตรวจร่วมกันทั้ง 3 รูปแบบ โดยเริ่มต้นที่ 2,500 บาทขึ้นไป ราคาขึ้นอยู่กับค่าบริการทางการแพทย์ และค่าบริการโรงพยาบาลนั้นๆ
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ควบคู่ไปกับการตรวจด้วยวิธีการทางการแพทย์เป็นประจำทุกปี คือ หนึ่งในวิธีที่ช่วยลดความเสี่ยงของการป่วยเป็นมะเร็งเต้านมลงได้
บทความที่เกี่ยวข้อง
รีวิว ตรวจแมมโมแกรม รพ.พญาไท 2 เจ็บไหม รู้ผลเลยไหม? | HDmall
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจมะเร็งสำหรับผู้หญิง จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android