กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล นักกายภาพบำบัด
เขียนโดย
กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล นักกายภาพบำบัด

Bell’s Palsy (กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก)

เผยแพร่ครั้งแรก 20 ส.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที

กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยในคลินิกกายภาพบำบัด มีด้วยกันหลายสาเหตุ แต่มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนผู้ป่วยไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ ผู้ป่วยมักตื่นเช้ามาพร้อมกับอาการอ่อนแรงซีกหนึ่งของใบหน้า เมื่อดื่มน้ำมีน้ำไหลออกจากมุมปาก ไม่สามารถหลับตาได้สนิท นอกจากจะทำให้เสียบุคลิกภาพแล้วยังอาจจะนำไปสู่อาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่รุนแรงขึ้นได้อีกด้วย

สาเหตุของอาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก

กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีก (Bell’s Palsy หรือ Facial Palsy) เป็นกลุ่มอาการที่กล้ามเนื้อใบหน้าซีกใดซีกหนึ่งอ่อนแรงอย่างฉับพลัน ผู้ป่วยจะไม่สามารถขมวดคิ้ว ย่นหน้าผาก หรือหลับตาได้สนิท โดยมากเกิดขึ้นไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าสัมพันธ์กับความเครียดและการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ป่วยบางรายที่สามารถวินิจฉัยได้ว่ามีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ หรือการทำงานบกพร่องของเส้นประสาทสมอง (Cranial Nerve) คู่ที่ 7 (Facial Nerve) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของใบหน้า

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

มีรายงานหลายฉบับให้ข้อมูลว่า ความเสี่ยงต่อกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีกสัมพันธ์กับเชื้อเริม งูสวัด การตั้งครรภ์ และโรคเบาหวาน สามารถพบการอ่อนแรงพร้อมๆ กันของกล้ามเนื้อใบหน้าทั้งสองซีก และในกรณีที่รักษาหายได้แล้วยังสามารถเป็นซ้ำได้ ทั้งในด้านเดิมและด้านตรงข้าม

การอาการของกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีกมีอะไรบ้าง?

อาการที่เด่นชัดของกล้ามเนื้อในหน้าอ่อนแรงครึ่งซีกนอกจากไม่สามารถบังคับให้กล้ามเนื้อใบหน้าด้านใดด้านหนึ่งทำงานได้แล้ว ยังพบว่ารอยย่นด้านข้างจมูก (Nasolabial Fold) ของผู้ป่วยจะหายไป สามารถพบว่าผู้ป่วยไม่สามารถหลับตาให้สนิทได้ คิ้วตก มุมปากตก อาจจะมีน้ำลายไหลที่มุมปาก ปวดหู หูอื้อ หรือมีน้ำตาไหลออกมาอยู่ตลอดเวลาในซีกที่อ่อนแรง อาจจะพบอาการลิ้นแข็ง ลิ้นชา พูดไม่ชัด รับรู้รสของอาหารได้น้อยลง หรือกลืนลำบากร่วมด้วยก็ได้ เพราะบางส่วนของลิ้นก็ถูกเลี้ยงด้วยเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 เช่นกัน ซึ่งอาการจะต่างกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ที่อาจจะพบอาการอ่อนแรงครึ่งซีกของใบหน้าได้ ตรงที่ในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองจะพบการอ่อนแรงของร่างกายซีกเดียวกันด้วย ไม่ได้พบการอ่อนแรงที่ใบหน้าเท่านั้น

วิธีการรักษาทางกายภาพบำบัดมีอะไรบ้าง?

โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะถูกส่งมาพบนักกายภาพบำบัดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท หรือแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัดจะเริ่มจากซักถามอาการและประวัติของผู้ป่วยเพื่อคัดกรอง และหาสาเหตุคร่าวๆ ก่อนจะทำการตรวจกำลังกล้ามเนื้อใบหน้ามัดต่างๆ และอาจจะตรวจการรับความรู้สึกของใบหน้าด้วยการใช้สำลีสัมผัสเบาๆ หรือใช้วัสดุปลายแหลมสัมผัสแล้วถามความรู้สึกของผู้ป่วย เนื่องจากกล้ามเนื้อใบหน้าถูกควบคุมให้ทำงานด้วยเส้นประสาทสมองคู่ที่  7 แต่การรับความรู้สึกของใบหน้ารับผิดชอบโดยเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 (Trigerminal Nerve) ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วจะไม่พบความผิดปกติของการรับความรู้สึกของใบหน้า แต่ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรง การติดเชื้อลุกลาม ก็อาจจะทำให้การทำงานของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 มีปัญหาด้วย 

นอกจากนี้การประเมินความสามารถในการแสดงสีหน้าในชีวิตประจำวัน ด้วยแบบทดสอบที่มีชื่อว่า House-Brackman Facial Nerve Grading System ซึ่งประกอบไปด้วยการขอให้ผู้ป่วยแสดงสีหน้าต่างๆ การคลำ และการให้แรงต้านเพื่อดูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อใบหน้า ซึ่งใช้เวลาในการตรวจไม่เกิน 5 นาที ก็ช่วยให้นักกายภาพบำบัดประเมินความรุนแรงของอาการ และมีประโยชน์ในแง่ของการประเมินผลการรักษาด้วย

การรักษาที่เป็นที่นิยมสำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ ได้แก่

  1. การกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อมัดต่างๆ บนใบหน้าด้วยไฟฟ้า (Electrical stimulation) การรักษานี้จะช่วยชะลอการฝ่อลีบของกล้ามเนื้อใบหน้า เนื่องจากกล้ามเนื้อใบหน้ามีขนาดเล็กมาก เมื่อไม่มีการหดตัวนานๆ กล้ามเนื้อจะฝ่อลีบไป เมื่อเส้นประสาทถูกฟื้นฟูให้กลับมาทำงานได้แต่ไม่มีกล้ามเนื้อที่ทำงานได้ ก็จะทำให้การรักษาได้ผลไม่ดี นักกายภาพบำบัดจะเริ่มจากใช้น้ำอุ่นหรือแอกอฮอล์เช็ดบริเวณที่ต้องการทำการรักษา ก่อนจะใช้ขั้วไฟฟ้าขนาดเล็กกระตุ้นตามกล้ามเนื้อต่างๆ มัดละ 30-100 ครั้งให้หดตัว ผู้ป่วยอาจจะรู้ว่ากล้ามเนื้อกระตุกและเจ็บเบาๆ ถ้าทนไม่ไหวต้องรีบแจ้งนักกายภาพบำบัดทันที ในผู้ป่วยที่กล้ามเนื้ออ่อนแรงลงแต่ยังพอขยับได้นักกายภาพอาจจะขอให้ผู้ป่วยเกร็งกล้ามเนื้อตามจังหวะการกระตุ้นของกระแสไฟไปด้วย โดยรวมใช้เวลาในการรักษาประมาณ 15-20 นาที
  2. การกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อใบหน้าด้วยการสัมผัส (Tactile stimulation) เช่น การเขี่ยกระตุ้น (Traping)ให้กล้ามเนื้อนั้นทำงานเบาๆ หรืออุณหภูมิต่ำๆ เช่น การใช้น้ำแข็งกระตุ้น (Ice stimulation) เป็นต้น วิธีนี้ต้องระวังในผู้ป่วยที่การรับความรู้สึกของใบหน้าเสียไป
  3. การประคบด้วยความร้อน ประมาณ 15-20 นาที เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปยังบริเวณเส้นประสาทที่มีปัญหา เพื่อให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้นเนื่องจากได้รับสารอาหารจากเลือดมากขึ้น
  4. การออกกำลังกายกล้ามเนื้อใบหน้าและการฝึกการแสดงสีหน้าในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะมีการออกแบบให้เหมาะสมกับอาการของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ในผู้ป่วยที่ยักคิ้วไม่ได้ นักกายภาพบำบัดอาจจะให้ฝึกยักคิ้วหน้ากระจก หรือร่วมกับพยายามยักคิ้วขึ้นพร้อมกับใช้นิ้วมือเขี่ยไปในทิศทางยักคิ้วขึ้น เป็นต้น

การดูแลตนเองที่บ้านหลังจากมีอาการกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซีกทำได้อย่างไรบ้าง?

ขั้นตอนการฟื้นฟูตนเองที่บ้านที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซึก ได้แก่

  1. นวดกล้ามเนื้อใบหน้าเบาๆ โดยใช้เพียงแค่ปลายนิ้วชี้กับนิ้วกลางนวดวนจากหน้าผากผ่านแก้มลงมาที่คาง ทำติดต่อกันประมาณ 10 นาทีจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด อาจจะใช้แป้งฝุ่นหรือเบบี้ออยล์ทาบางๆ เพื่อลดแรงเสียดทานของผิวด้วยก็ได้
  2. ออกกำลังกายกล้ามเนื้อใบหน้าหน้ากระจก โดยทำท่าทางต่อไปนี้ ยักคิ้ว ขมวดคิ้ว หลับตาปี๋ ย่นจูมก ทำปากจู๋ ยิ้มไม่เห็นฟัน ยิ้มยิงฟัน แสยะยิ้ม และทำแก้มป่องโดยไม่ให้มีลมลอดออกมากจากริมฝีปาก ท่าละ 30 ครั้ง วันละ 1-2 รอบ มักแนะนำให้ทำหลังการนวดใบหน้า หากกล้ามเนื้อไม่สามารถขยับได้เลยอาจจะใช้วิธีพยายามทำหน้ากระจกร่วมกับใช้นิ้วมือเขี่ยกระตุ้นไปด้วย สำหรับผู้ป่วยที่มีมุมปากตกจนน้ำลายไหลตลอดเวลา นอกจากการฝึกย้ายลมในปากแล้ว การอมน้ำในปากแล้วย้ายไปมาคล้ายการบ้วนปาก และการฝึกดูดน้ำจากหลอด ก็สามารถเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อส่วนนี้ได้
  3. ประคบร้อนที่บ้าน ครั้งละ 20 นาที วันละ1-2 ครั้ง
  4. ในผู้ป่วยที่หลับตาได้ไม่สนิท ควรสวมแว่นกันแดดเมื่อต้องออกไปข้างนอก เวลานอนอาจจะใช้ผ้าเช็ดหน้าสะอาดหรือผ้าติดตาเพื่อช่วยให้นอนหลับได้ ถ้ามีอาการตาแห้งมากควรขอคำแนะนำจากจักษุแพทย์เรื่องการใช้น้ำตาเทียม
  5. รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำให้เกิดความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ และเดินทางไปพบนักกายภาพบำบัดตามนัดเพื่อฟื้นฟูและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

ขั้นตอนการเข้ารับการรักษาทางกายภาพบำบัดและราคาโดยประมาณ

การรักษาทางกายภาพบำบัด ผู้ป่วยสามารถเดินทางไปยังคลินิกกายภาพบำบัดได้โดยตรง หรือจะเดินทางไปพบแพทย์ด้านระบบประสาทหรือแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูก่อนก็ได้ ในปัจจันทั้งโรงพยาบาลของภาครัฐและเอกชนสามารถให้บริการด้านนี้ทั่วถึง ค่าใช้จ่ายในการรักษาน่าจะขึ้นกับการกระตุ้นไฟฟ้าเป็นสำคัญ เพราะเป็นการรักษาหลักของกลุ่มอาการนี้ ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 300-1,000 บาทต่อครั้ง ผู้ป่วยควรเดินทางมาพบนักกายภาพบำบัด สัปดาห์ละ 2-3 ครั้งเป็นอย่างน้อยในช่วงแรกที่มีอาการ

ผลของการรฟื้นฟูกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงครึ่งซึกขึ้นอยู่กับการต่อเนื่องของการรักษาเป็นหลัก โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน ผู้ป่วยควรออกกำลังกายตามที่นักกายภาพบำบัดแนะนำและเดินทางมาพบนักกายภาพบำบัดตามนัดเป็นประจำ


14 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Bell's palsy: Causes, treatment, and symptoms. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/158863)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้
ทำไม่ ต้องอ้วนลงพุ่งค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
ปวดกลังปวดเอว.เอ็นข้อศอกอักเสบเรื้อรังไม่หายสักที
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
การปวดหลังเป็นประจำทุกวันเกิดจากอะไร
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
มีลูกเป็นเด็ก CP ค่ะ ตอนนี้ทานอาหารทางสายยาง...ไม่ทราบว่าน้องมีโอกาสต้องเจาะใส่สายทางหน้าท้องหรือป่าวค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)
อาการปวดเมื้อยบริเวณเหนือสะโพก เกิดจากอะไร มีวิธีรักษายังไงคะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)